ศึกษากรณีกราดยิงในสหรัฐ นักจิตวิทยาชี้ เพราะ ‘ความเกลียดชัง’ มากกว่าความเจ็บป่วยทางจิต

  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า “อาการป่วยจิตและความเกลียดชังคือตัวการลั่นไก ไม่ใช่ปืน”
  • ผู้ป่วยจิตเวชขั้นรุนแรงเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีประวัติก่ออาชญากรรมรุนแรงประเภทใดๆ และผู้ป่วยจิตเวชขั้นรุนแรงเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ก่อเหตุรุนแรงด้วยอาวุธปืน
  • มีข้อมูลชี้ว่า ผู้ป่วยทางจิตขั้นรุนแรงกลับมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปมากกว่า 10 เท่า

เมื่อวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม เกิดเหตุกราดยิงที่ร้านสะดวกซื้อ Walmart ในเมืองเอล ปาโซ (El Paso) รัฐเท็กซัส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 คน บาดเจ็บอีกกว่า 20 คน ไม่ทันข้ามวัน สหรัฐอเมริกาก็เกิดเหตุกราดยิงขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ที่รัฐโอไฮโอ ชายอีกคนใช้อาวุธปืนสังหารคน 9 คน หนึ่งในนั้นเป็นน้องสาวแท้ๆ และมีผู้บาดเจ็บอีก 29 คน

ปี 2019 ผ่านไปเพียงครึ่งปีเศษเท่านั้น แต่มีเหตุกราดยิงในประเทศสหรัฐถึง 255 ครั้ง โดยนับเหตุที่มีมือปืน 1-2 คน และมีผู้ถูกยิงบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 4 รายขึ้นไปในสถานที่และเวลาเดียวกัน แต่ไม่นับรวมผู้ถูกยิงหรือเสียชีวิตที่เป็นคนก่อเหตุ ข้อมูลจากกลุ่มรวบรวมข้อมูลความรุนแรงจากอาวุธปืน (Gun Violence Archive) ตัวเลขล่าสุดชี้ว่า ในปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนทุกกรณียกเว้นการฆ่าตัวตาย รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 8,939 คน บาดเจ็บอีกกว่า 17,677 คน

ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มหาเสียงในปี 2016 ความถี่ของการก่ออาชญากรรมที่มีแรงจูงใจมาจากความเกลียดชัง (hate crime) พุ่งสูงเป็นครั้งแรกของปี และกลับมาสูงอีกครั้งระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2018

สำนักข่าว Independent ได้รวบรวมสถิติการเกิดเหตุกราดยิงเฉพาะในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2017 เกิดเหตุกราดยิงครั้งที่นับได้ว่ารุนแรงมากขึ้นแล้ว 4 ครั้ง

เทศกาลดนตรี Route. 91 Harvest Festival ลาสเวกัส 2017 – ผู้เสียชีวิต 58 ศพ

สตีเฟน แพดด็อค (Stephen Paddock) ชายวัย 64 ปี ชาวเมืองเมสคีท (Mesquite) รัฐเนวาดา ใช้อาวุธปืนอัตโนมัติรัวยิงจากชั้น 32 ของโรงแรม The Mandalay Bay Resort Casino ใส่ผู้ชมคอนเสิร์ต 22,000 คน มือปืนผู้ก่อเหตุเสียชีวิตลงหลังจากนั้นท่ามกลางกองอาวุธภายในห้องพักโรงแรม

โบสถ์ในซูเธอร์แลนด์ สปริง 2017 – ผู้เสียชีวิต 26 ศพ

วันที่ 5 พฤศจิกายน เดวิน แพทริค เคลลี (Devin Patrick Kelly) มือปืนกราดยิงโบสถ์เล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองซูเธอร์แลนด์สปริง (Sutherland Springs) รัฐเท็กซัส ผลจากเหตุครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 ราย หนึ่งในนั้นเป็นทารกในครรภ์ที่ยังไม่คลอด เดวินเสียชีวิตจากการถูกยิงเข้าที่หัวระหว่างถูกไล่ล่า ตำรวจสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการยิงตัวตาย

เอล ปาโซ 2019 – ผู้เสียชีวิต 22 ศพ

มือปืนกราดยิงใส่ฝูงชนในห้างสรรพสินค้า Walmart เมืองเอล ปาโซ รัฐเท็กซัส ตำรวจเชื่อว่าผู้กระทำการเชื่อในแนวคิด ‘คนผิวขาวนั้นดีที่สุด’ (white supremacist) ผู้ต้องสงสัยคือแพทริค ครูเชียส (Patrick Crusius) วัย 21 ปี เนื่องจากเชื่อว่าเขาเป็นผู้เขียนแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งถูกเผยแพร่หนึ่งวันก่อนเกิดเหตุกราดยิง

โรงเรียนมัธยมสโตนแมน ดักลาส 2018 – ผู้เสียชีวิต 17 ศพ

นิโคลาส์ ครูซ (Nikolas Cruz) อดีตนักเรียนที่ถูกไล่ออกเนื่องจากปัญหาด้านความประพฤติ กลับมาก่อเหตุกราดยิงในโรงเรียนมัธยมปลายมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส (Marjory Stoneman Douglas High School) เมืองปาร์กแลนด์ รัฐฟลอริดา ในวันวาเลนไทน์ปีนั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างน้อย 17 ราย นิโคลาส์ถูกตั้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนทั้งสิ้น 17 กระทง

เมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาประณามสาเหตุหลายอย่างว่าเป็นสาเหตุของเหตุการณ์น่าเศร้า เป็นต้นว่า แนวคิดเหยียดเชื้อชาติและการถือตนว่าคนผิวขาวนั้นดีที่สุด (white supremacy) อินเทอร์เน็ต หรือเกมที่มีเนื้อหารุนแรง

ทรัมป์ยังกล่าวอีกว่า “อาการป่วยจิตและความเกลียดชังคือตัวการลั่นไก ไม่ใช่ปืน”

ประธานาธิบดีสหรัฐบรรยายลักษณะผู้ก่อการว่าเป็น “ชายวิปริต” และเป็น “แค่ปีศาจอีกตัวที่มีจิตใจบิดเบี้ยว” นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการเร่งรัดใช้โทษประหารและกฎหมายธงแดง (red flag law) ซึ่งให้สิทธิเจ้าหน้าที่รัฐริบปืนจากผู้มีแนวโน้มว่าจะเป็นอันตรายต่อสังคมโดยรวม

พีท เออร์ลีย์ (Pete Earley) อดีตนักข่าว Washington Post ในฐานะคณะกรรมการประสานระหว่างหน่วยงานเรื่องผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง (Interdepartmental Serious Mental Illness Coordinating Committee: ISMICC) ที่ก่อตั้งโดยสภาคองเกรส และพ่อที่มีลูกชายป่วยด้วยโรคทางจิตเวช แสดงความคิดเห็นตอบโต้คำพูดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า

“ท่านประธานาธิบดี ปัจจัยด้านความเกลียดชังที่ท่านกล่าวมาเป็นเรื่องจริง แต่ที่ท่านกล่าวโทษโรคจิตเวช ท่านพูดผิด”

พีท เออร์ลีย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องง่ายที่จะโทษว่าผู้ก่อเหตุสังหารหมู่มีอาการป่วยทางจิต ในเมื่อหลายรายในนั้นก็มีอาการจิตเวชขั้นรุนแรงจริง แต่การสื่อว่าผู้ป่วยจิตเวชในสหรัฐที่มีอยู่ราว 46 ล้านคน และ 11.2 ล้านในนั้นที่มีอาการจิตเวชขั้นรุนแรง เช่น โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นพวกอันตรายและมีแนวโน้มจะเป็นฆาตรกร คือการเหมารวมที่ผิดพอๆ กับการเหมารวมว่าคนผิวขาวซึ่งมีอยู่ราว 329 ล้านคนในสหรัฐมีโอกาสก่อเหตุกราดยิงหมู่

งานศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการกราดยิงและอาการเจ็บป่วยทางจิต โดย เจมส์ แอล. โนลล์ ที่สี่ (James L. Knoll IV) และ จอร์จ ดี. แอนนัส (George D. Annas) สรุปว่า การถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจริบปืนมักมีสาเหตุจากความเสี่ยงที่ผู้ครอบครองปืนอาจใช้เพื่อฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นสถิติการเสียชีวิตจากอาวุธปืนที่พบได้มากกว่า แต่มักไม่เป็นที่สนใจเท่าการกราดยิง ผู้ป่วยจิตเวชขั้นรุนแรงเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีประวัติก่ออาชญากรรมรุนแรงประเภทใดๆ และผู้ป่วยจิตเวชขั้นรุนแรงเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ก่อเหตุรุนแรงด้วยอาวุธปืน

เอมี บาร์นฮอร์สต์ (Amy Barnhorst) เขียนในนิตยสาร Psychology Today ว่า

“ส่วนมากที่พบ มือปืนกราดยิงมักไม่ได้ทำไปเพราะเสียงในหัวหรือภาพหลอนบงการ แต่ถูกกระตุ้นด้วยความปรารถนาที่จะใช้อำนาจของตนข่มคนอื่นกลุ่มหนึ่ง พวกเขาโกรธที่รู้สึกว่าคนอื่นทำให้เขาไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งผู้หญิงที่ไม่อยากนอนกับเขา นักเรียนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้ชื่นชมความสามารถที่เขามี ชนกลุ่มน้อยที่เริ่มมีสิทธิมีเสียง สิทธิซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นอภิสิทธิ์เฉพาะกลุ่มคนผิวขาวอย่างพวกเขาเท่านั้น”

บาร์นฮอร์สต์เขียนไว้ว่า ปัจจัยกระตุ้นมือปืนเหล่านี้มักเป็นความรู้สึกว่าตนมีอภิสิทธิ์ ความรู้สึกไม่มั่นคงในอำนาจ และความเกลียดชัง ถึงแม้บางคนอาจมีอาการของโรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรือสมาธิสั้นร่วมด้วย แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักให้ตัดสินใจสาดกระสุนใส่คนแปลกหน้า

ในทางตรงกันข้าม เว็บไซต์ MentalHealth.gov โดยกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐ ชี้ว่า ผู้ป่วยทางจิตขั้นรุนแรงกลับมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปมากกว่า 10 เท่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ระบุเช่นกันว่า ผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตมีแนวโน้มทำร้ายตัวเองมากกว่าผู้อื่น เนื่องจากสถิติการตายด้วยปืนถึง 2 ใน 3 เป็นการฆ่าตัวตาย

โรคทางจิตเวชจึงไม่เท่ากับความเกลียดชัง และแม้จะมีส่วนทับซ้อนกันอยู่บ้าง แต่ผู้ป่วยทางจิตขั้นรุนแรงก็ยังไม่เท่ากับมือปืนกราดยิงหัวรุนแรง

การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาพูดเช่นนี้จึงอันตราย เนื่องจากการกระจายข้อมูลชิ้นหนึ่งซ้ำๆ กระทั่งผู้คนเริ่มเชื่อว่าเป็นจริง หรือที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ‘ปรากฏการณ์ความจริงลวงตา’ (illusory truth effect) ส่งผลให้คนสหรัฐ 47 เปอร์เซ็นต์รู้สึก ‘ค่อนข้างอึดอัดใจ-อึดอัดใจอย่างมาก’ ที่มีผู้ป่วยโรคจิตเวชขั้นรุนแรงเป็นเพื่อนบ้าน และอีก 41 เปอร์เซ็นต์รู้สึกอึดอัดใจเช่นกันที่ต้องทำงานร่วมกับผู้ป่วยเหล่านี้

และเมื่อเราโทษว่าปัญหาความรุนแรงจากปืนมีสาเหตุจากโรคทางจิตเวช เกมออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ต ฯลฯ อาจทำให้สิ่งที่ควรพูดถึงจริงๆ อย่างความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง การติดสารเสพติด การเหยียดเชื้อชาติและเหยียดเพศหญิง ความรุนแรงในครอบครัว หรือการตรวจสอบอย่างหละหลวมจนปล่อยให้ผู้มีภาวะเสี่ยงเข้าถึงอาวุธปืน ถูกละเลยไป

โรคทางจิตเวชที่สมควรถูกหยิบยกขึ้นมาพูดเมื่อมีเหตุกราดยิงจึงควรเน้นไปที่การเยียวยาหลังประสบเหตุ เนื่องจากประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงจากปืนอาจส่งผลกระทบต่อผู้รอดชีวิตและญาติในระยะยาว เช่น อาการซึมเศร้าชนิดรุนแรง (major depression) ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder: PTSD)

[table id=2 /]

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า