คุยกันก่อน
เมื่อหลายเดือนก่อน คุณรุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ บรรณาธิการของ WAY มาทาบทามให้ผู้เขียนเขียนคอลัมน์ประจำให้ WAY สักคอลัมน์หนึ่ง ผู้เขียนนิ่งไปพักใหญ่ คิดหลายอย่างอยู่ในหัว แต่คำถามแรกๆ ที่ถามคุณรุ่งฤทธิ์กลับไปคือ “คิดดีแล้วหรือ?” อีกฝั่งตอบกลับมาว่าคิดมาดีแล้ว เพราะกองบรรณาธิการอยากจะเปิดประตูความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น
ผู้เขียนออกจะหวั่นใจในฐานะที่เป็นนักวิชาการ ก็เกรงว่าสิ่งที่เขียนส่งไปจะมีความเป็นวิชาการจ๋า ออกเหนียว และย่อยได้ยาก
หลังจากกลับไปครุ่นคิด จึงนำไอเดียกลับไป ‘ขาย’ และบอกคุณรุ่งฤทธิ์ไปว่าผู้เขียนไม่อยากเขียนเกี่ยวกับอาเซียนหรือประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ เพราะมีทั้งนักข่าว คอลัมนิสต์ และนักวิชาการเขียนเรื่องนี้มากพออยู่แล้ว และเห็นว่าองค์ความรู้พื้นๆ เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นแทบจะไม่มีผู้หยิบยกขึ้นมาพูดในพื้นที่สื่อกระแสหลัก เพราะถูกมองว่าทั้ง ‘หนัก’ และ ‘ลึก’ เกินกว่าจะนำมาพูดกันนอกห้องเรียน
พอกลับไปวนอ่านบทความสารพัดใน WAY ก็ต้องกลับมานั่งทบทวนใหม่ เนื่องจากบทความใน WAY นั้นแม้จะดูหนักอยู่บ้าง แต่ก็อ่านสนุกและเพลิดเพลิน จนไม่เหลือเค้าของความเป็นวิชาการเหลืออยู่สักเท่าไหร่
คอลัมน์ ‘อ่าน-อุ่น อุษาคเนย์’ นี้นำเสนอประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเรื่องเล่าจากอุษาคเนย์ หรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ผ่านหนังสือและตำราภาษาอังกฤษดีๆ 50 เล่ม ที่คนในแวดวงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษายอมรับ และใช้ศึกษากันมานานปี
มาตรฐานที่ผู้เขียนใช้เลือกหนังสือทั้ง 50 เล่มนี้มาจากทั้งประสบการณ์ของผู้เขียนเอง คำแนะนำของเพื่อนร่วมงาน และจาก reading list ของอาจารย์ผู้สอนอีกหลายคน บทความในคอลัมน์มีลักษณะใกล้เคียงกับ book review หรือบทความวิเคราะห์กับวิจารณ์หนังสือ แต่ผู้เขียนก็อยากจะให้ผู้อ่านรู้จักผู้เขียนและบริบทที่หนังสือเล่มนั้นๆ ถูกเขียนขึ้นมาด้วย คอลัมน์นี้จึงมีพื้นที่ให้กับตำรารุ่นเก่าที่มีอายุเกือบ 100 ปี และหนังสือใหม่ๆ ที่เพิ่งออกสู่พื้นบรรณพิภพได้ไม่กี่ปี
ยกตัวอย่างเช่นหนังสือตำราประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคบุกเบิก A History of South-East Asia ของบรมครูอย่าง ดี.จี.อี. ฮอลล์ (D.G.E. Hall) ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 1955 หรือหนังสือประวัติศาสตร์สังคมอ่านสนุกราวนวนิยายขายดี อย่าง Bones around My Neck หรือประวัติชีวิตสุดพิสดารของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ที่ ทามารา ลูส (Tamara Loos) ร้อยเรียงเขียนขึ้นจากบันทึกและเอกสารมากมายจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
หนังสือทั้งหลายที่เราจะนำมารีวิวกันในคอลัมน์นี้มิได้เรียงตามลำดับเวลา ไม่เรียงตามประเทศ และไม่ได้เรียงจากความสำคัญมากน้อย จุดประสงค์ของคอลัมน์นี้คือนำผู้อ่านไปสู่โลกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ทั้งในองค์รวม ในฐานะภูมิภาคหนึ่งที่ไม่เคยอยู่โดดเดี่ยว เป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองโลกเสมอมา และในแต่ละประเทศ ซึ่งมีประสบการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกัน
คอลัมน์นี้ไม่ได้ยึดอยู่กับหนังสือหรือตำราด้านประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผู้เขียนเห็นว่า การเรียนการสอนด้านมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ในปัจจุบันมีลักษณะ ‘ข้ามศาสตร์’ (multi-disciplinary) มากขึ้น จนทำให้เส้นแบ่งระหว่างนักประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ หรือนักมานุษยวิทยา เริ่มจางลงทุกที ท่ามกลางบรรยากาศทางวิชาการที่คึกคักขึ้น เราได้ยินนักวิชาการหลายคนเริ่มนิยามตนเองว่าเป็น ‘นักสังคมศาสตร์’ หรือ ‘นักมนุษยศาสตร์’ และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น บทเรียนชั้นดีจากศาสตราจารย์ชั้นเยี่ยมไม่ได้ปรากฏเฉพาะในห้องเรียนอีกต่อไปแล้ว แต่ยังปรากฏอยู่ใน ‘ไลฟ์สด’ ที่มีบ่อยจนดูกันไม่หวาดไม่ไหวในปัจจุบัน
ผู้เขียนหวังว่าคอลัมน์นี้จะทำหน้าที่พื้นที่อ้างอิงเล็กๆ สำหรับผู้เรียน ผู้สอน และผู้ที่สนใจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหวังว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไทยจะขยายตัว ไม่ใช่เป็นความหมกมุ่น หรือเป็นกระแสเห่ออาเซียนฟีเวอร์เป็นพักๆ แต่เป็นความเข้าใจที่ยั่งยืน เข้าใจเพื่อนบ้านของเราแต่ละประเทศ ที่มีภูมิหลัง ประสบการณ์ บาดแผล และสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกัน มีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีแง่มุมมากมายที่ชวนให้ศึกษา หรือในฐานะภูมิภาค ที่ไม่ใช่เพียงคำสวยหรูหรือคอนเซ็ปท์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่ออวดอวยกันเอง
หากแต่เป็นภูมิภาคที่สามารถสร้างเอกภาพ จากความเข้าอกเข้าใจ และความปรารถนาที่จะเห็นภูมิภาคนี้เติบโตไปด้วยกันอย่างแท้จริง