นักเรียนขบถ ร.ศ. 242 (พ.ศ. 2566)

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ถ้าเมื่อปี 2516 ถึง 2518 โรงเรียนสวนกุหลาบฯ ทำกับผมแบบเดียวกับที่หยกถูกลงโทษทั้งจากโรงเรียนและถูกก่นด่าจากสังคมในทุกวันนี้ ผมคงไม่มีโอกาสเติบโตต่อมา อาจจะถูกไล่ออกก่อนจบมัธยม หรือคงไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ไม่มีโอกาสค้นพบตัวเองว่าพอจะเอาดีทางวิชาการได้ คงจะถูกปรามาสว่าเป็นคนที่สูญเปล่า เอาดีอะไรไม่ได้เลย

เพราะนอกจากผมเป็นนักเรียนขบถคนหนึ่งแล้ว ผมยังเป็นหนึ่งในหัวโจกของนักเรียนขบถสมัยนั้นอีกหลายคนด้วย

โชคดีที่ว่าโรงเรียนผมในวันนั้นไม่บ้องตื้น บ้าใช้อำนาจกับนักเรียนวัยรุ่น ถึงแม้จะมีเพื่อนนักเรียนไม่ชอบผมมากพอควร มีอาจารย์หลายท่านหมายหัวผม แต่ก็มีมากกว่าที่อดทนกับผม และมีคนที่เข้าใจนักเรียนขบถอย่างผมด้วย โดยรวมแล้วผมไม่ถูกทำร้ายและอนาคตของผมไม่ถูกทำลาย แถมมีเพื่อนดีๆ มากมายคอยช่วยเหลือ ไม่ลงสมุดว่าผมขาดเรียน แม้ผมแทบจะไม่โผล่หน้าเข้าห้องเรียนเลย (อาจารย์ก็รู้ทุกคนเช่นกัน) และแม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับความคิดหรือวิธีการขบถของผมก็ตาม

นักเรียนขบถไม่ใช่เชื้อโรคร้ายที่จะแพร่ไปสู่คนอื่นได้ง่ายๆ เพราะมีความเสี่ยงและค่าเสียหายแพงมากที่ต้องจ่าย ความเสี่ยงสำคัญที่สุดคืออาจจะไม่ได้เข้าสอบ หรือเสี่ยงสอบตก ผมเองก็เกือบตก รอดมัธยมปลายมาได้อย่างหวุดหวิดแค่นั้น

นักเรียนขบถมีหลายแบบ ขบถแบบที่หนึ่งมุ่งเข้าหาสิ่งที่เป็นโทษเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น เช่น ยาเสพติด หรือชีวิตเสเพลเป็นอันธพาล จนหลายคนอาจไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าพฤติกรรมเช่นนี้อาจจะเป็นการขบถแบบหนึ่ง 

นักเรียนขบถแบบที่สอง ดูคล้ายแบบแรก หลายคนใช้ชีวิตทำนองเดียวกับแบบแรก แต่ที่จริงเพราะเขาทนไม่ได้กับโรงเรียนแบบอำนาจนิยมที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบคับแคบไร้สาระ ขัดแย้งกับช่วงชีวิตวัยรุ่นซึ่งต้องการแสวงหาตัวเอง ต้องการโลดโผนโจนทะยานทดลองสิ่งใหม่ๆ แต่ระบบโรงเรียนไทยกลับพยายามทำลายความปรารถนาในอิสระและอยากค้นหาตัวตนของเขา 

นักเรียนขบถแบบที่สามเป็นขบถชัดๆ ตรงๆ ต่อระบบโรงเรียนและการศึกษาแบบอำนาจนิยม ต้องการขบถเพื่อการเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าเขายังไม่มีความเข้าใจปัญหาซับซ้อนมากพอ (หรือผู้ใหญ่ที่ก่นด่าหยกเข้าใจ?) แต่ก็เร่าร้อนเกินกว่าจะมัวอดทนกับความไร้สาระคับแคบของอำนาจนิยมในโรงเรียน ยิ่งถ้าเขาไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มองค์กรพอที่จะทำการต่อสู้ที่ดูเรียบร้อย แต่ก็ยังไม่ถูกสยบจนสงบเสงี่ยม ก็จะออกมาในรูปของขบถแบบประท้วงเดี่ยวในสารพัดเรื่องไปหมด

วิธีการร่วมๆ ของนักเรียนขบถทั้งหลายคือ โดดเรียนและขบถต่อกฎระเบียบวินัยอันเป็นเปลือก ไม่ใช่สาระสำคัญของการศึกษา เช่น เครื่องแบบ (โดยอาจจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามว่ากฎระเบียบวินัยพรรค์นั้นเป็นสาระสำคัญมากๆ ของโรงเรียนและระบบการศึกษาไทย มากยิ่งกว่าการศึกษาอย่างเทียบกันไม่ได้) เขาจะขอฝืนขอท้าทายอำนาจที่ตนไม่พอใจ ไม่ว่าท้าทายดังๆ หรือฝืนเงียบๆ ก็ยังดี (เช่น ผมเคยแกล้งทำเป็นเจ็บนิ้วเท้าอยู่นับเดือนเพื่อจะได้ใส่รองเท้าแตะไปโรงเรียน)

สิ่งที่ต่างกันระหว่างขบถเหล่านี้ก็คือวิธีการขบถ รูปแบบที่แสดงออกต่างกันไป หรือชัดๆ คือเอาเวลาไปทำอะไร

ถ้าโรงเรียนมีภารกิจในการปลูกฝังเยาวชนให้เป็นจอมเผด็จการอำนาจนิยมรุ่นถัดๆ ไป นักเรียนขบถโดยเฉพาะแบบที่สาม อย่างเช่นหยก ย่อมเป็นภัยต่อโรงเรียนมากกว่าแบบอื่น มากกว่านักเรียนที่เหลวไหลไม่เอาดีเสียอีก

ถ้าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนได้ทดลองค้นหาตัวเอง เรียนรู้จักความเหมือนต่างจากเพื่อนๆ เรียนรู้จักจัดการกับความเสี่ยงที่ตนก่อขึ้น เรียนรู้จักความผิดหวังที่โรงเรียนและผู้คนรอบข้างไม่ร่วมขบถตาม เรียนรู้เหล่านี้ได้อย่างปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ นักเรียนขบถแบบที่สาม อย่างเช่นหยก น่าวิตกน้อยที่สุด 

เราสามารถเห็นและแยกแยะนักเรียนขบถแบบที่สามออกจากแบบอื่นๆ ได้ง่ายมาก แต่อาจจะจัดการยากที่สุดเพราะเขามักไม่ยอมประนีประนอม ยอมหักไม่ยอมงอ กล้าชนแบบไม่หาทางเอาตัวพอรอด

แต่ขบถประเภทนี้มิใช่หรือที่มีศักยภาพสำหรับอนาคต ขบถประเภทที่สามนี่แหละที่โรงเรียนดีๆ ในโลกยินดีต้อนรับ (ยกเว้นในระบบที่มีโรงเรียนไว้ทำให้เยาวชนสมองฝ่อ) เพราะเห็นศักยภาพในตัวเด็กเหล่านั้น แต่ต้องหาวิธีจัดการที่เหมาะสม เพื่อผันพลังของความกล้าเผชิญความเสี่ยง พลังของความกล้าคิดกล้าวิพากษ์วิจารณ์ และพลังของความปรารถนาสิ่งที่ดีกว่าให้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์

น่าเสียดายที่นักเรียนขบถประเภทนี้เป็นคนที่โรงเรียนตามระบบการศึกษาไทยกลัวที่สุดและจ้องทำลาย 

ผมโชคดีที่มีครูอาจารย์ในโรงเรียนและเพื่อนฝูงรอบข้างที่ไม่จ้องทำลาย ทั้งยังช่วยเหลือเสมอเท่าที่เขาไม่ลำบากใจ หัวโจกนักเรียนขบถในวันก่อนจึงพอมีโอกาสเอาดีพอได้ในวันนี้ 

ในขณะที่นักเรียนขบถรุ่นปัจจุบันถูกก่นด่า ไม่เข้าใจ ไม่ให้โอกาส หลายคนเจอคดีความผูกมัดรัดอนาคตกันถ้วนหน้า จนหลายคนเลือกทิ้งโรงเรียนทิ้งบ้านเลือกลี้ภัยไปต่างประเทศ 

เพราะระบบโรงเรียนไทยและสังคมไทยกลัวขบถเด็ก ไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับเด็กที่ท้าทายอำนาจของระบบ บวกกับคิดสั้น ไม่รู้จักการจัดการปัจจุบันเพื่ออนาคต 

โรงเรียนไทยในวันนี้ยังมีพื้นที่สำหรับนักเรียนขบถที่มีพลังสร้างสรรค์ที่จะอยู่อย่างมีความหวังหรือกำลังประกาศปิดประตูตายใส่หน้าเขา?

ถ้าเป็นอย่างหลัง โปรดตระหนักว่านักเรียนขบถเช่นนี้ไม่ตาย แต่โรงเรียนไทยต่างหากที่ตายสนิท

Author

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า