ผ่านมาแล้วร่วม 1 เดือน หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังคงไม่ประกาศรับรองผล ส.ส. ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ จนนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ กกต. ว่าไร้ประสิทธิภาพและไม่น่าไว้วางใจในหลายๆ เรื่อง อย่างแฮชแท็กในทวิตเตอร์ #กกตมีไว้ทำไม ซึ่งติดอันดับทุกครั้งที่ปรากฏความผิดพลาดของ กกต. ออกมาผ่านสื่อ
ในวันที่ใกล้จะถึงเส้นตายของการประกาศรับรองผล ส.ส. เราขอชวนย้อนดูสารพัดปัญหาในการเลือกตั้ง 2566 ที่เกิดจากความผิดพลาดในการทำหน้าที่ของ กกต. จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความโปร่งใสขององค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระแห่งนี้
บัตรโหล ต่างเขต-ต่างเบอร์ สุดสับสน
ในการเลือกตั้งใหญ่ 2566 ที่ผ่านมา กกต. ประกาศให้กลับมาใช้ระบบหมายเลขผู้สมัครแบบ ‘ต่างเขต-ต่างเบอร์’ ที่ถึงแม้ว่าผู้สมัครจะอยู่พรรคเดียวกัน แต่ผู้สมัครแต่ละคนจะได้รับหมายเลขไม่เหมือนกัน รวมไปถึงอาจจะไม่ตรงกับหมายเลขพรรคตนเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการจับสลากหมายเลขผู้สมัครและหมายเลขพรรค ซึ่งในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะมีเพียงหมายเลขผู้สมัครและช่องกากบาทเท่านั้น แต่ไม่มีรายละเอียดอื่นๆ อย่างโลโก้พรรคหรือชื่อพรรค จนถูกเรียกว่า ‘บัตรโหล’
คำอธิบายของ กกต. ก็คือ บัตรโหลมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ช่วยลดบัตรเสียที่อาจเกิดจากความสับสนในบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบและง่ายต่อการจัดส่งบัตรในการเลือกตั้งทั้งในและนอกราชอาณาจักร รวมไปถึงช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งอีกด้วย
แต่ในอีกด้านหนึ่ง บัตรโหลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านอกจากไม่ได้เอื้ออำนวยต่อพรรคการเมืองในการรณรงค์ให้ประชาชนจดจำหมายเลขได้แล้ว กลับเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนในการที่จะต้องจดจำทั้งหมายเลขผู้สมัครในเขตและหมายเลขพรรคที่ไม่ตรงกัน
ข้อมูลผู้สมัคร-พรรค ไม่ครบถ้วน
ในช่วงก่อนการเลือกตั้งได้ปรากฏความผิดปกติมากมายในเอกสารแนะนำผู้สมัครและพรรคการเมือง โดยข้อมูลของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองบางพรรคไม่ชัดเจนหรือถูกทำให้เข้าใจผิด ไม่ว่าจะเกิดจากความสะเพร่าหรือจงใจก็ตาม ซึ่งมีหลายๆ กรณีที่ประชาชนได้ตรวจพบข้อผิดพลาด และตั้งคำถามถึง กกต. ว่าจงใจทำให้สับสนหรือเข้าใจผิดหรือไม่ ตัวอย่างเช่น
- กรณีที่สัญลักษณ์พรรคก้าวไกลในเอกสารรายชื่อที่ซีดจางจนแทบมองไม่เห็น ต่างจากโลโก้พรรคการเมืองอื่นๆ ในเอกสารเดียวกัน ก่อนที่ทาง กกต.จะแก้เป็นภาพสี ทำให้เห็นสัญลักษณ์พรรคชัดเจนขึ้นในภายหลัง
- กรณีรูปภาพผู้สมัคร ส.ส. สลับพรรค ในเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ส ของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยพบว่าใส่ภาพผู้สมัครสลับกัน ระหว่าง เอกภาพ หงสกุล จากพรรคเพื่อไทย กับว่าที่ ร้อยตรีเทวิน พิมพ์พันธุ์ จากพรรคอนาคตไทย ก่อนที่ กกต. จะตรวจสอบความผิดพลาดและรีบแก้ไขในภายหลัง
- กรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอบริเวณหน้าคูหาเลือกตั้งที่ได้เผยให้เห็นเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครทับซ้อนกัน โดยมีการติดเอกสารทับซ้อนผู้สมัครพรรคก้าวไกล
รวมไปถึงกรณีเขียนชื่อพรรคการเมืองผิดในเอกสารแนะนำ กรณีซองบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าชำรุด และกรณีอื่นๆ อีกมากมายที่ กกต. ถูกร้องเรียน ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความผิดพลาดในการทำหน้าที่ของ กกต. ชุดปัจจุบันที่สร้างความสับสนงุนงงให้กับผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง
ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ กปน.
หลังการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ความผิดพลาดของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ได้เกิดเป็นกระแสถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ กกต. ขึ้นมาอีกครั้ง สื่อสังคมออนไลน์ได้เปิดเผยถึงความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ กปน. มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการระบุหมายเลขเขตเลือกตั้งหรือเลขรหัสเขตการเลือกตั้งบนจ่าหน้าซองผิด หรือเขียนจ่าหน้าซองไม่ตรงตามเขต เนื่องด้วย กปน. บางส่วนขาดความเข้าใจในกระบวนการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดความสับสนแก่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันนั้นและทำให้บัตรเลือกตั้งล่วงหน้า 300,000 ใบ ถูกจัดส่งล่าช้า เนื่องจากไปรษณีย์ไทยไม่สามารถอ่านลายมือของ กปน. บนซองได้
กกต. ยอมรับว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ของเรา แต่ทุกอย่างปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่ต้องตรวจสอบว่าเป็นความผิดพลาดโดยสุจริตหรือไม่” พร้อมทั้งระบุว่า “ขอให้มั่นใจว่าบัตรเลือกตั้งที่ประชาชนลงคะแนนแล้วจะส่งไปถึงหน่วยเลือกตั้ง และนับคะแนนในวันที่ 14”
ความผิดพลาดดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการจัดฝึกอบรมของ กกต. และการให้ข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ กปน. ว่ายังคงไม่มีความรอบคอบมากเพียงพอจนเกิดความเข้าใจผิดในการปฏิบัติหน้าที่
ยกเลิกระบบรายงานผลแบบเรียลไทม์
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีประกาศระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 ลงในราชกิจจานุเบกษา โดยตัดหมวดที่ว่าด้วยการรายงานผลไม่เป็นทางการออกไป ทำให้ในวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ไม่มีการรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ โดยเปลี่ยนจากการใช้แอปพลิเคชัน Rapid Report ที่เคยใช้ในการเลือกตั้ง 2562 มาเป็นระบบ ECT Report แทน แล้วให้ กปน. แต่ละเขตเลือกตั้งส่งใบสรุปผลคะแนน (ใบ ส.ส. 5/18) ไปยัง กกต.เขต เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลผลการนับคะแนนลงในระบบ ECT Report ผ่าน Google Drive ก่อนส่งรายงานผลการนับคะแนนให้กับสื่อมวลชนในขั้นตอนสุดท้าย
โดยทาง กกต. ได้ให้เหตุผลในการยกเลิกระบบรายงานผลแบบเรียลไทม์ไว้ว่า “เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดจากการกรอกคะแนน เพราะคณะกรรมการประจำหน่วยการเลือกตั้ง (กปน.) มีความเหนื่อยล้าจากการทำงาน 15-18 ชม. และการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดในการกรอกคะแนนได้” พร้อมทั้งเน้นย้ำอีกว่า “จะทราบผลคะแนนว่าผู้สมัครใด หรือพรรคการเมืองใดได้คะแนนจำนวนเท่าใด ในคืนวันเลือกตั้งทันที”
ในขณะเดียวกันได้มีข้อกังวลถึงวิธีการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการแบบใหม่นี้ว่า ถึงแม้ว่าระบบการรายงานคะแนนแบบใหม่จะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดในการกรอกคะแนนได้เพราะใช้เจ้าหน้าที่น้อยลง รวมไปถึงการใช้ Google Drive ที่มีความเสถียรกว่าแอปพลิเคชันที่ กกต. จัดทำขึ้น แต่ในกระบวนการกรอกคะแนนดังกล่าวกลับทำโดย กกต.เขต เพียงไม่กี่คนและทำในสถานที่ปิด ทำให้ยังคงเป็นข้อครหาอยู่ว่า ‘ข้อมูลที่ถูกจัดการ’ โดย กปน. มีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด
การรับรองผลการเลือกตั้งอันล่าช้า
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 127 กำหนดให้ กกต. ต้องตรวจสอบและประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ‘โดยเร็ว’ โดยกำหนดกรอบเวลา ‘ภายใน 60 วัน’ ทว่าหลังจากการเลือกตั้งใหญ่ 2566 สิ้นสุดลง กกต. ยังคงไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
กกต. ให้เหตุผลที่ยังไม่สามารถทยอยประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ กกต. ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 และในขณะพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งยังคงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงยังต้องรอดูความเห็นของผู้ตรวจการเลือกตั้งด้วย จึงทำให้ทาง กกต. ยังไม่สามารถที่จะประกาศรับรองผลการเลือกให้เสร็จโดยเร็วได้
อย่างไรก็ตาม หากลองย้อนดูการเลือกตั้ง 4 ครั้งล่าสุด จะพบว่า 3 ใน 4 ครั้ง กกต. สามารถประกาศผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 อย่างเป็นทางการได้ภายในไม่เกิน 30 วัน
ในส่วนของภาคประชาชนและนักวิชาการจึงตั้งคำถามว่า หากการนับคะแนนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหตุใด กกต. ถึงยังไม่ประกาศรับรอง ส.ส. กระทั่งเกิดเป็นกระแสกดดันเร่งให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และ iLaw ที่เรียกร้องให้ กกต. จำเป็นต้องประกาศผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 อย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดประชุมรัฐสภาและเลือกนายกรัฐมนตรีได้
ความโปร่งใสที่ถูกทวงถาม
แม้ว่าการเลือกตั้งใหญ่ 2566 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ กกต. ในฐานะองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องท่ามกลางความไม่ไว้วางใจ ตั้งแต่กรณีบัตรโหลจนมาจนถึงการรับรองผลการเลือกตั้งล่าช้า รวมไปถึงข้อครหาในการตัดสินคดีคำร้องต่างๆ อย่างกรณีพรรคพลังประชารัฐเก็บบัตรประชาชน กรณีเลเซอร์หาเสียงบนสะพานพระราม 8 หรือกรณีหุ้นสื่อของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ตาม นั่นยิ่งทำให้ กกต. ถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสยิ่งกว่าเดิม
เมื่อลองย้อนดูความผิดพลาดของ กกต. 2566 แล้ว เป็นที่น่าสนใจต่อไปว่า ปลายทางของ กกต. ในอนาคตจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ ท่ามกลางกระแสความต้องการปฏิรูปองค์กรอิสระเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก และในการเลือกตั้งครั้งต่อไป กกต. จะยังคงถูกทวงถามถึงความโปร่งใสอยู่หรือไม่ ดังคำว่า ‘โปร่งใส’ ที่หายไปจากคำขวัญ กกต.