เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 รัฐบาลเยอรมนีได้บุกจับกุมอดีต ส.ส. ฝ่ายขวา Birgit Malsack-Winkemann พรรค Alternative für Deutschland (AfD) และผู้เกี่ยวข้องอีก 25 คน ในข้อหาพยายามล้มล้างการปกครอง ประกอบไปด้วยคนหลากที่มา ทั้งทหารชั้นสูง นักกฎหมาย ไปจนถึง ‘เจ้าชาย’ โดยมีเป้าหมายในการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์กลับขึ้นมาบนแผ่นดินเยอรมนีอีกครั้ง
การจับกุมครั้งนี้ นำไปสู่การเปิดโปงแผนการลับของกลุ่มเคลื่อนไหว ‘The Reichsbürger’ ที่สมาทานแนวคิดของฝ่ายขวา ต่อต้านระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และนิยมเผด็จการตามแบบการปกครองของเยอรมนีสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงเพราะเชื่อว่า เยอรมนีในปัจจุบันคือผลพวงการประกอบสร้างของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส จึงทำให้พวกเขาออกมาชุมนุม ทำร้ายผู้เห็นต่าง สร้างความปั่นป่วนระบอบการปกครองของเยอรมนีในหลายพื้นที่
ในบางเขตถึงกับพยายามตั้งกองทัพเป็นของตนเอง ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่าง พิมพ์พาสปอร์ตและใบขับขี่ตามระบอบเก่าที่เป็นเป้าหมายของกลุ่มไว้ใช้งานอีกด้วย
ความพยายามรื้อฟื้นระบอบเก่าของทหาร นักกฎหมาย และศักดินาเยอรมนี จึงมีความน่าสนใจในฐานะที่เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปที่พัฒนาแล้ว มีความเจริญหลายด้าน ทว่าเพราะเหตุใดจึงยังมีความล้าหลังอย่างการพยายามก่อรัฐประหารโดยกลุ่มศักดินาเกิดขึ้นอยู่ จนนำไปสู่การบุกจับกุมในฐานะศัตรูของระบอบประชาธิปไตย
สภาใต้ดินของผู้ก่อการ ความพยายามที่ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก
ทางการเยอรมนีระบุว่า กลุ่มผู้ก่อการครั้งนี้ที่ประกอบไปด้วย เจ้าชายไฮน์ริชที่ 13 แห่งรอยส์ (Heinrich XIII, Prince of Reuß) นายทหารนอกราชการอย่าง Rüdiger von Pescatore และอดีต ส.ส. Birgit Malsack-Winkemann รวมถึงผู้ก่อการอีก 25 ชีวิต เริ่มประชุมกันในนามลับ ‘Rat’ ด้วยรูปแบบของสภาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2021 และมีประชุมแยกย่อยบ่อยครั้งเรื่อยมา
แผนการของพวกเขา ต้องการที่จะล้มระบอบการเมืองการปกครองเยอรมนีในปัจจุบัน โดยมีกระทรวงที่อยากจะรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ทั้งสิ้น 3 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มเชื่อว่าจำเป็นต้องใช้กำลังเท่านั้นในการแย่งชิงอำนาจรัฐมา ซึ่งการใช้กำลังดังกล่าวรวมไปถึงการฆาตกรรมเหล่าผู้แทนของรัฐ
กลุ่มของพวกเขาเริ่มอยู่ในความสนใจของรัฐ เพราะมีการเปิดโปงแผนลักพาตัว รมว.สาธารณสุข คาร์ล เลาเตอร์บัค (Karl Lauterbach) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการที่จะสร้างสภาวะสงครามกลางเมืองขึ้นในเยอรมนี และทำให้การโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันเกิดขึ้นได้โดยง่าย
การชิงอำนาจครั้งนี้ Rüdiger von Pescatore ถูกวางตัวเป็นผู้นำ เพื่อดึงทหารนอกราชการจำนวนมากมาเข้าร่วม รวมถึงวางแผนให้กลุ่มอดีตหน่วยรบพิเศษเข้าสังหารเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลในระดับท้องถิ่น
ขณะเดียวกันในการจับกุมยังพบว่า หนึ่งในผู้ร่วมก่อการอย่างน้อย 1 คน เป็นชาวรัสเซีย และอาจจะมีการติดต่อกับทางการรัสเซียในแผนการดังกล่าว ซึ่งสถานทูตรัสเซียประจำกรุงเบอร์ลินให้การปฏิเสธ
ในอดีตความเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาจัดเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว สามารถสืบย้อนกลับไปถึงปี 2020 ที่รัฐบาลกลางค้นพบว่า หน่วยรบพิเศษอย่าง KSK (Kommando Spezialkrafte หรือ the Special Operations Forces Command) ที่มีภารกิจปราบปรามผู้ก่อการร้าย ได้มีแนวคิดขวาจัดสุดโต่งจนนำไปสู่การยุบหน่วยนี้ถึง 1 กองร้อยเป็นอย่างต่ำ ซึ่งต่อมาอดีตสมาชิกหน่วยนี้ได้กลายเป็นกำลังสำคัญของ Rüdiger von Pescatore และเป็นปีเดียวกันที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงที่บาร์ใกล้เมืองแฟรงเฟิร์ต การกราดยิงดังกล่าวถูกระบุว่ามีต้นเหตุสำคัญมาจากการเหยียดเชื้อชาติ
แท้จริงแล้วโดมิโนตัวแรกที่ล้มลงและส่งผลกระทบระยะยาวมาจนถึงปัจจุบัน อาจมาจากการที่พรรคฝ่ายขวาจัดอย่าง Alternative for Germany (AfD) ที่มี Birgit Malsack-Winkemann เป็นสมาชิก สามารถเข้าสู่สภาได้ในปี 2017 เนื่องจากเป็นพรรคฝ่ายขวาสุดโต่งพรรคแรกที่สามารถเข้าสู่สภาได้ในรอบ 60 ปี และการรุกคืบของกลุ่ม The Reichsbürger ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แผนการที่จะทำให้เยอรมนี ‘ขวาหัน’ จึงเริ่มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
‘Reichsbürger’ กลุ่มฝ่ายขวาหัวรุนแรงผู้ปฏิเสธระบอบใหม่
กลุ่มเคลื่อนไหว The Reichsbürger หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่า ‘พลเมืองแห่งไรส์’ มีแนวคิดขวานิยมสุดโต่ง หัวใจสำคัญคือพวกเขาไม่ให้การยอมรับรัฐเยอรมนีในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเชื่อว่ารัฐเยอรมนีที่เราทุกคนรู้จักนี้เป็นเพียงสิ่งที่โลกตะวันตกอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส สร้างขึ้น การพยายามรื้อฟื้นระบอบการปกครอง เส้นเขตแดน และค่านิยมแบบสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นเป้าหมายสูงสุด
กลุ่มดังกล่าวมักมีความเคลื่อนไหวสำคัญอยู่ในมลรัฐ Brandenburg มลรัฐ Mecklenburg ด้านตะวันตกของมลรัฐ Pomerania และมลรัฐ Bavaria โดยพวกเขาจะไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น พยายามหาทางที่จะไม่จ่ายภาษี รวมไปถึงมีการพิมพ์พาสปอร์ตและใบขับขี่เป็นของตนเองด้วย ซึ่งพวกเขาจะเรียกอาณาเขตในจินตนาการที่พวกเขาถือครองอยู่ว่า ‘จักรวรรดิเยอรมันที่ 2’ ‘รัฐอิสระปรัสเซีย’ หรือ ‘ราชรัฐเยอรมาเนีย (Principality of Germania)’
ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวของ The Reichsbürger จะไร้พิษภัยต่อระบอบการปกครองและสร้างความน่ารำคาญใจเสียมากกว่า แต่รัฐบาลเยอรมนีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวนี้อยู่ใต้การสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิดจากสำนักปกป้องรัฐธรรมนูญ (the Office for the Protection of the Constitution: BfV) ซึ่งวิเคราะห์ออกมาแล้วว่า The Reichsbürger มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 21,000 คนในเยอรมนี โดยมีจำนวนร้อยละ 5 จากสมาชิกทั้งหมดที่ถูกรัฐบาลกลางจัดประเภทเป็นพวกฝ่ายขวาสุดโต่ง
ข้อค้นพบต่อไปยังพบว่า สมาชิกกลุ่ม The Reichsbürger ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งมีแนวคิดแบบประชานิยมฝ่ายขวา หลงใหลในแนวคิดแบบนาซีสมัยใหม่ และชอบเผยแพร่ข้อมูลชวนให้ผู้อ่านหลงผิด (malcontents) ไปทั่วประเทศ
ในปัจจุบัน BfV ระบุว่า The Reichsbürger เริ่มติดอาวุธให้กับตัวเองมากขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้กำลังอย่างรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายของตน ตัวอย่างสำคัญคือกลุ่มย่อยอย่างกลุ่มรัฐอิสระปรัสเซีย ในเขตฮอกซ์เตอร์ (Höxter) บริเวณทางเหนือของไรน์และเวสท์ฟาเลิน ได้พยายามจัดตั้งกลุ่มทางการทหารของตนเองด้วยการลักลอบนำเข้าอาวุธปืนตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งทำให้เกิดการบุกจับและยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐบ่อยครั้ง
‘Heinrich XIII’ เจ้าชายแห่งรอยส์ ผู้กลายเป็นศัตรูของประชาธิปไตย
หนึ่งในคณะผู้ก่อการกบฏครั้งนี้ มีผู้ที่อยู่ในระดับ ‘เชื้อพระวงศ์’ รวมอยู่ด้วย คือ เจ้าชายไฮน์ริชที่ 13 แห่งรอยส์ ผู้มีอายุ 71 ปี ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มกบฏแล้ว หากก่อการสำเร็จก็จะขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลในระบอบการปกครองที่พวกเขาพยายามจะสร้างขึ้นมาอีกด้วย
ตระกูลรอยส์ในอดีตปกครองบางส่วนของเขตเมืองทูรินเจีย (Thuringia) ในเยอรมนีตะวันออกมากว่า 900 ปี ซึ่งเจ้าชายไฮน์ริชกล่าวอ้างว่า ถูกทำให้หมดคุณค่าต่อรัฐบาลเยอรมนีไปให้หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเบื้องหลังการด้อยค่าตระกูลของเขานั้นเกิดมาจากฝีมือของมหาอำนาจตะวันตก ทั้งยังเชื่ออีกด้วยว่าความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลกสมัยใหม่ มีที่มาจากตระกูลรอธส์ไชลด์ (Rothschild) และสมาคมลับฟรีเมสัน (The Freemason)
ปัจจุบันก่อนการถูกจับกุมไฮน์ริชมีรายได้จากการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการผลิตสปาร์คกลิ้งไวน์ อย่างไรก็ตามตระกูลของเขาไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดขวาสุดโต่งเช่นนี้ทั้งหมด โดยผู้นำตระกูลรอยส์-ไกรซ์ (Reuß-Greiz) เจ้าชายไฮน์ริช ที่ 15 ในฐานะรอยส์แห่งไกรซ์ (Greiz) ได้ระบุว่า เจ้าชายไฮน์ริชที่ 13 เป็นเพียงชายแก่ที่สับสน ซึ่งทิ้งตระกูลนี้ไปตั้งแต่ 14 ปีก่อนแล้ว
ดังนั้นเจ้าชายไฮน์ริช ที่ 13 จึงเป็นภาพสะท้อนอันดีของระบอบเก่า สัญลักษณ์ของความเรืองโรจน์ในอดีตที่ล้าสมัยไปแล้ว แต่ยังพยายามที่จะนำโลกใบเดิมกลับมาสู่ยุคปัจจุบันด้วยการทำลายโลกใบใหม่ที่ทุกคนให้การยอมรับ
ระบอบใหม่ vs ระบอบเก่า มวยถูกคู่ที่จะยังคงอยู่ต่อไป
การบุกจับครั้งนี้อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของเยอรมนี เนื่องจากภาครัฐเยอรมนียังเชื่อว่ามีผู้ร่วมก่อการอีกมาก รวมไปถึงฝ่ายขวาสุดโต่งที่กำลังวางแผนอยู่อีกหลายร้อยคนทั่วประเทศ โดยการบุกจับครั้งนี้ต้องใช้กำลังตำรวจกว่า 3,000 นาย ครอบคลุมอาคารกว่า 130 หลัง เป็นของผู้ต้องสงสัยกลุ่มแรกกว่า 52 คน ซึ่งอยู่ในพื้นที่กว่า 11 มลรัฐ
“เรารู้วิธีป้องกันตัวด้วยพละกำลังของเรา ต่อศัตรูของระบอบประชาธิปไตย” คือคำกล่าวของ แนนซี เฟเซอร์ (Nancy Faeser) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเยอรมนี หลังการบุกทลายกลุ่มก่อการดังกล่าว และตอกย้ำความพยายามที่ไร้ผลของกลุ่มเคลื่อนไหว The Reichsbürger การพูดลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันระหว่างระบอบการเมืองการปกครองคนละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี
ในยุคปัจจุบัน ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีคือระบอบการปกครองที่แพร่หลายไปทั่วโลก ส่วนมากมักเป็นการก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นจุดจบของระบอบการเมืองแบบเผด็จการอำนาจนิยม ทำให้ประชาธิปไตยมักตั้งขึ้นมาใหม่บนฐานรากของระบอบเก่าที่ไม่เสรีนัก
ความพยายามในการทำรัฐประหารของกลุ่ม The Reichsbürger จึงชี้ให้เห็นได้ว่า ประชาธิปไตยยังคงเป็นสิ่งที่มีผู้จ้องจะโค่นล้มอยู่เสมอ โดยหากภาครัฐไม่ใส่ใจมากพอ กลุ่มเหล่านี้จะยิ่งเติบโต มีสมาชิกมากขึ้น เผยแพร่แนวคิดและข้อมูลของตนเองมากขึ้น จนอาจทำให้กลไกของรัฐประชาธิปไตยประสบปัญหา แน่นอนว่ากลุ่มฝ่ายขวาสุดโต่งไม่มีที่ยืนในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรี เนื่องจากกลุ่มลักษณะนี้มักมีเป้าหมายในการลบล้างความเป็นประชาธิปไตย ลบล้างความเป็นเสรี และมีท่าทีที่จะใช้กำลังได้เสมอ เช่นเดียวกับที่ The Reichsbürger กระทำ
ในประเทศที่เกิดการเปลี่ยนผ่านไปแล้วอย่างเยอรมนี จึงมีการตรวจสอบ จับตา และจับกุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กลุ่มสุดโต่งเหล่านี้ขยายตัวจนไปกดทับสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของสมาชิกในรัฐคนอื่น ถึงขนาดต้องมีหน่วยงานอย่าง BfV มาคอยตรวจสอบดูแล
คำถามสำคัญที่น่าสนใจจึงถูกโยนกลับไปยังประชาคมโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนผ่าน หรือเปลี่ยนผ่านแต่ยังไม่แล้วเสร็จ ว่า ภาครัฐควรทำอย่างไรต่อกลุ่มขวาจัดที่กำลังขยายตัวขึ้นทุกวัน จะเริ่มดำเนินการก่อนเกิดการลงมือแบบเยอรมนี หรือต้องรอให้เกิดความรุนแรงก่อนแล้วตามแก้ในภายหลัง
ที่มา
- DW https://www.dw.com/en/what-is-germanys-reichsbürger-movement/a-36094740 และ https://www.dw.com/en/germany-arrests-suspect-in-health-minister-kidnapping-plot/a-63426563 และ https://www.dw.com/en/how-dangerous-are-germanys-far-right-reichsbürger/a-64020300 และ https://www.dw.com/en/german-police-arrest-25-suspects-over-plot-to-overthrow-state/a-64011136
- The Guardian https://www.theguardian.com/world/2022/dec/07/key-figures-behind-alleged-far-right-plot-to-overthrow-german-government?CMP=Share_iOSApp_Other
- CNN https://edition.cnn.com/2022/12/07/europe/germany-far-right-arrests-grm-intl/index.html