ภาคประชาชน-นายจ้าง ชำแหละ MOU ต่ออายุแรงงานข้ามชาติ กระทบกว่า 2 ล้านคน แนะใช้ระบบ One Stop Service ปิดช่องรีดไถ

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ที่โรงแรมพูลแมน คิง พาวเวอร์ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group: MWG) ร่วมกับกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว (Group of Entrepreneurs with Foreign Workers: GEFW) จัดเวทีเสวนา ‘ชำแหละมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กันยายน 2567 การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ’ เพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาและข้อกังวลของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน 

มาตรการต่ออายุแรงงานต่างด้าวจากประเทศต้นทาง ยิ่งซ้ำเติมปัญหา 

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน MWG กล่าวว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 กระทบต่อแรงงานข้ามชาติ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่จะจดทะเบียนใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการในระยะเวลาอันสั้นภายใน 15 วัน โดยคาดการณ์ว่าจะมีผู้ขึ้นทะเบียนใหม่ถึง 700,000 คน ซึ่งอาจทำให้ระบบออนไลน์ของกระทรวงแรงงานล่มได้ 

ส่วนอีกกลุ่มที่จะมีปัญหาคือ กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งมติ ครม. กำหนดให้ต่อ MOU กับประเทศต้นทาง ขั้นตอนคือให้นายจ้างหรือบริษัทเป็นผู้ยื่นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวในระบบ เพื่อติดต่อกับประเทศต้นทาง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้แรงงานต่อใบอนุญาตไม่ทันกำหนด เนื่องจากประเทศต้นทางไม่มีความพร้อม 

อดิศร กล่าวต่อว่า ในกรณีของพม่าจะมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะมีจำนวนแรงงานในรอบนี้กว่า 2 ล้านคน โดยในระบบ MOU จะมี 5 ขั้นตอน คือ 1) ยื่นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว 2) ให้กรมการจัดหางานอนุมัติรายชื่อ 3) ติดต่อประเทศต้นทางเพื่อจองคิวรับรองเอกสาร 4) ตรวจสุขภาพ ตรวจโรค ซื้อประกัน และ 5) ยื่นขอใบอนุญาตจากกรมการจัดหางาน จัดทำวีซ่าและบัตรชมพู ขั้นตอนทั้งหมดนี้ต้องทำให้เสร็จภายใน 13 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งระยะเวลากระชั้นชิดมาก 

“แม้จะดำเนินการในประเทศ แต่มีศูนย์ดำเนินการเพียง 3 แห่งคือ สถานทูตพม่าใน กทม. กับสถานกงศุลพม่าที่เชียงใหม่และระนอง โดยนายจ้างเกือบ 400,000 คน ต้องไปดำเนินการเอง แต่ละศูนย์ต้องรับภาระวันละประมาณ 1,000-3,000 คน ดังนั้นจึงน่าจะเกิดปัญหาการต่อใบอนุญาตไม่ทันแน่นอน” 

เผยแรงงานพม่าหวั่นถูกเรียกตัวกลับไปเป็นทหาร 

อดิศร กล่าวว่า ประเด็นต่อมาคือเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น เพราะพม่ามีเงื่อนไขเรื่องการเสียภาษี 2 เปอร์เซ็นต์ และต้องแสดงหลักฐานการส่งเงินกลับบ้าน 25 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงต้องมีการตรวจโรค เก็บข้อมูลลักษณะใบหน้า สแกนม่านตา ก็ยิ่งเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้นอีก จึงประเมินว่าไม่น่าจะทันตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้

“ตัวแรงงานพม่าเองก็มีความกังวลใจที่ต้องไปติดต่อกับประเทศต้นทาง เพราะพม่ามีเงื่อนไขค่อนข้างเยอะ และล่าสุดมีการประกาศว่าหากหมดสัญญาทำงานในไทยแล้ว ให้บริษัทจัดหางานของพม่าสามารถเรียกคนกลับมาเป็นทหารได้ถ้าหากทางรัฐบาลต้องการ ซึ่งมีแรงงานที่หนีการเกณฑ์ทหารเข้าในไทย 1.4 ล้านคน จึงทำให้เกิดภาวะหวั่นวิตกกันมาก” อดิศรกล่าว

ใช้ระบบ One Stop Service ปิดช่องเอื้อนายหน้า 

อดิศรมีข้อเสนอว่า ควรตัดเงื่อนไขจากประเทศต้นทางออก และให้ใช้วิธีการต่อใบอนุญาตภายในประเทศแทนทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนกระชับลง ไม่ต้องรอคิวจากประเทศต้นทาง และค่าใช้จ่ายก็จะถูกลงด้วย เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าประเทศต้นทางจะเรียกเก็บค่าดำเนินการเท่าไร คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,500 บาท หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นการเอื้อและเปิดช่องให้นายหน้าหรือผู้นำเข้าแรงงานหาประโยชน์จากส่วนนี้

ด้านนิลุบล พงษ์พยอม ตัวแทนกลุ่มนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าว กล่าวว่า มติ ครม. นี้ทำให้ขั้นตอนการต่อใบอนุญาตของแรงงานมีความยุ่งยากมาก เพราะต้องมีเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับประเทศต้นทาง และแรงงานกังวลว่าอาจถูกรีดไถเงินเพื่อไปสนับสนุนการสู้รบในพม่า

“แรงงานทุกคนตั้งใจจะขึ้นทะเบียนกันทั้งหมด แต่พอกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เอาประเทศต้นทาง เอาพม่าเข้ามาเกี่ยวข้อง เขารู้สึกไม่ปลอดภัย และคนที่บ้านเขาก็ไม่ปลอดภัยเช่นกัน เพราะมีการเผาบ้าน ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน เกิดขึ้น ซึ่งตัวแรงงานมาร้องขอความเห็นใจจากนายจ้างว่าไม่ขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ ทำให้เป็นปัญหากับนายจ้างอย่างมาก และตัวนายจ้างเองก็ไม่เคยต่อสัญญาการจ้างงานในรูปแบบ MOU มาก่อน ทำให้ไม่รู้ว่าจะดำเนินการหรือติดต่อสถานทูตอย่างไร และต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง” นิลุบลกล่าว

แนะขยายเวลาต่อใบอนุญาต-รัฐบาลเจรจาประเทศต้นทาง 

ด้านอรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ ตัวสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า มติ ครม. มีปัญหาในเงื่อนระยะเวลาการดำเนินการที่สั้นมาก สุดท้ายแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ก็จะถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายพิเศษหรือมีการเรียกรับส่วย และพวกตัวแทนนายหน้าก็ได้ประโยชน์ไป 

อรรถพันธ์เสนอว่า รัฐบาลควรขยายระยะเวลาการต่อใบอนุญาตออกไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และรัฐบาลต้องมีการเจรจากับประเทศต้นทางโดยเฉพาะพม่า 

“เราเป็นประเทศที่สร้างเงินสร้างรายได้ให้กับเขามากมาย ซึ่งในภาวะที่สงบก็ยังเจรจายาก ยิ่งมีปัญหาการสู้รบยิ่งยากขึ้นไปอีก แต่ถ้ารัฐบาลเราเข้มแข็งจริงๆ ก็ควรไปเจรจากันอย่างจริงจัง” ตัวแทนสมาคมกล่าว 

โฆษก กมธ.แรงงาน ระบุวิธีการขึ้นทะเบียนแรงงานต้องง่าย-เร็ว-ถูก 

ขณะที่ สหัสวัต คุ้มคง สส. ชลบุรี พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติมีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการที่ควรจะเป็นคือทำให้การขึ้นทะเบียนง่าย เร็ว และถูกที่สุด 

สหัสวัต กล่าวว่า พม่ากำลังเผชิญสถานการณ์การสู้รบภายในประเทศ แต่รัฐบาลไทยกลับพยายามดึงรัฐบาลพม่าเข้ามามีส่วนในกระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงาน ซึ่งแรงงานพม่าจำนวนมากไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาลของประเทศตัวเอง ทั้งที่ในความเป็นจริงรัฐบาลไทยสามารถขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวได้ 

กระทรวงแรงงานมั่นใจระบบ MOU ไม่มีปัญหา 

ทั้งนี้ มติ ครม. นี้ไม่ใช่การต่ออายุ แต่เหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ โดยวิธีการหารือประเทศต้นทางว่าจะทำอย่างไรให้เขาอยู่ในไทยได้ยาวนานกว่าเดิม โดยอนุญาตครั้งละ 2 ปี และต่ออายุได้อีก 2 ปี

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า