อุปสงค์ & อุปทาน หลากกลเม็ดสร้างรายได้ในตลาดมืดของวงการวิจัยโลก

วงการวิจัยไทยร้อนระอุในรอบไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีการเปิดโปงด้านมืดว่า นักวิจัยไทยจำนวนไม่น้อยจ่ายเงินซื้อผลงานวิจัย เพื่อให้ได้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ ทำให้หลายสถาบันพากันออกแถลงการณ์ประณามการกระทำดังกล่าว และเริ่มกระบวนการตรวจสอบผลงานวิจัยของบุคลากรในสังกัด ทั้งในทางลับและทางแจ้ง 

ทว่าปรากฏการณ์นี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของธุรกิจมืดในตลาดบทความวิชาการระดับโลก ที่อุปทานถูกขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์จำนวนมหาศาลของแวดวงวิชาการในหลายประเทศ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น

เริ่มต้นที่อุปสงค์ เมื่อคุณภาพนักวิชาการต้องถูกการันตีด้วยปริมาณงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่

แวดวงวิชาการในหลายประเทศกำหนดให้จำนวนผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และจำนวนการได้รับการอ้างอิง เป็นปัจจัยสำคัญในการขอเลื่อนตำแหน่ง หรือการขอตำแหน่งทางวิชาการ กฎเกณฑ์เหล่านี้มีส่วนในการสร้างอุปสงค์ให้ตลาดบทความวิจัย และประเทศไทยก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของตลาดนั้น

คณะกรรมการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ.) ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านความสามารถทางวิชาการที่ยกระดับขึ้นทุกปี ล่าสุดปี 2565 กพอ. กำหนดเกณฑ์ของผู้ที่จะขอตำแหน่งศาสตราจารย์ในสายวิทยาศาสตร์ไว้ว่า ต้องมีงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารที่มีฐานข้อมูลของ Scopus อย่างน้อย 10 ชิ้น ผู้ขอต้องเป็นนักวิจัยชื่อแรก (first author) หรือเป็นนักวิจัยที่รับผิดชอบผลงานวิจัยนั้นโดยตรง (corresponding author) ต้องมีผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงทั้งหมด (life-time citation) อย่างน้อย 1,000 รายการ ไม่นับงานวิจัยที่อ้างอิงตนเอง ต้องมีค่า h-index ไม่น้อยกว่า 18 และต้องเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ

ส่วนตำแหน่งศาสตราจารย์ในสายสังคมศาสตร์ บางสาขาก็กำหนดคุณสมบัติไว้ค่อนข้างสูง เช่น สาขาบริหารธุรกิจ ต้องมีงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงจากวารสารเกรด Scopus รวมอย่างน้อย 500 รายการ ไม่นับผลงานวิจัยที่อ้างอิงตนเอง มี life-time h-index ไม่น้อยกว่า 8 และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากแหล่งทุนภายนอกอย่างน้อย 30 โครงการ

อุปสงค์ในตลาดบทความวิจัยไทยยังเกิดจากกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายที่ประสงค์จะเรียนต่อสายวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากในปัจจุบันการรับนักศึกษารอบแรกหรือที่เรียกกันว่ารอบพอร์ต (มาจาก portfolio) ไม่ได้วัดจากคะแนนสอบ แต่จะพิจารณาจากเกรดเฉลี่ยสะสมและผลงานที่ผ่านมาของนักเรียน การมีบทความวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชานั้นๆ ได้รับการตีพิมพ์ จะทำให้ผู้สมัครได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษจากคณะกรรมการ จนเกิดธุรกิจสถาบันติวเข้มด้านการวิจัยที่รับประกันว่า ผู้เรียนจะมีชื่อเป็นผู้แต่งคนแรกในผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาประเทศ เพื่อนำไปยื่นพอร์ต

ประเทศที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวชัดเจนไม่แพ้กันคือ จีน มหาวิทยาลัยจำนวนมากในจีนผูกโอกาสการได้รับตำแหน่งทางวิชาการของบุคลากรไว้กับจำนวนงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารกลุ่ม SCI (Science Citation Index) ภายในเวลา 5 ปี ก่อนยื่นขอตำแหน่ง ถ้าเป็นผู้แต่งชื่อแรกหรือเป็นผู้รับผิดชอบบทความจะได้รับโอกาสมากเป็นพิเศษ 

แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐของจีนเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องแบกรับความกดดันในการผลิตบทความวิจัย เพราะการเลื่อนตำแหน่งและความก้าวหน้าทางวิชาชีพขึ้นอยู่กับจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ใน SCI ไม่ใช่คุณภาพในการรักษาคนไข้ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยบางแห่งยังกำหนดว่า ผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกได้ นอกจากต้องมีวิทยานิพนธ์ของตนเองแล้ว ยังต้องมีงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารกลุ่ม SCI ด้วย

อิหร่านเป็นอีกประเทศที่สถาบันการศึกษาต้องการเห็นบุคลากรของตนมีบทความวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ อุปสงค์ในประเทศอิหร่านมาจากนักวิชาการและนักศึกษาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่นอกจากต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์แล้ว นักศึกษาอิหร่านส่วนใหญ่ยังต้องการคนรับจ้างทำวิทยานิพนธ์อีกด้วยโดยเฉพาะนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยานิพนธ์เป็นใบเบิกทางที่สำคัญในการทำงานของสายอาชีพนี้ 

ส่วนอาจารย์หรือนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ผลงานตีพิมพ์ของพวกเขาจะถูกใช้เป็นมาตรวัดคุณภาพและยกระดับชื่อเสียงและ ranking ของสถาบัน ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษาของอิหร่านที่มีจำนวนถึง 2,540 แห่ง ต่างก็ต้องแข่งกันเพื่อดึงดูดนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาจากต่างประเทศ เพื่อเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่า อุปสงค์จำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดอุปทานตามมาในหลากหลายรูปแบบในวงการวารสารวิชาการระดับโลก

วารสารวิชาการที่เข้าถึงฟรี (open access journal) จากเครื่องมือปลดแอกสู่แหล่งรายได้และเครดิตจอมปลอม

open access journal หมายถึงวารสารที่ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ต้องเสียค่าสมัครสมาชิกหรือซื้อบทความ วารสารประเภทนี้เพิ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี 

open access journal กำเนิดขึ้นเพื่อต่อต้านสำนักพิมพ์บทความวิจัยขนาดใหญ่ที่เรียกเก็บค่าสมาชิกหรือค่าบทความราคาแพง บางรายบังคับซื้อสิทธิในการเข้าถึงบทความเป็นพวง (bundle) คือบังคับให้เป็นสมาชิกวารสารของสำนักพิมพ์ทุกเล่มทำให้ค่าสมัครแพงขึ้น จนกลายเป็นภาระของห้องสมุดและนักวิจัยทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่ต่างก็ประสบปัญหาในการเข้าถึงบทความวิชาการเหล่านั้น กระทั่งเกิดกระแสต่อต้าน และเกิดธุรกิจวารสารวิชาการรูปแบบใหม่ที่ผู้เขียนบทความเป็นผู้รับผิดชอบค่าตีพิมพ์ และผู้อ่านสามารถเข้าอ่านได้ฟรี

open access journal ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว เพราะนอกจากนักวิจัยจะสามารถเผยแพร่ผลงานได้ง่ายขึ้น ยังทำให้นักวิจัยรุ่นใหม่สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างสะดวก โดยไม่เสียต้นทุนทางเศรษฐกิจ เมื่อสำนักพิมพ์ในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น ก็เริ่มเกิดการแข่งขันในตลาดวิชาการ บางเจ้าเริ่มทำการตลาดทางตรง (direct marketing) คือ ให้กองบรรณาธิการส่งจดหมายเชิญนักวิจัยเพื่อให้ส่งบทความมาลงวารสารโดยตรง หรือเชื้อเชิญนักวิจัยมาร่วมงานในฐานะกองบรรณาธิการ  

อย่างไรก็ดี open access journal ส่วนหนึ่งกลายสภาพจากเครื่องมือต่อสู้เพื่อปลดแอกจากสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ เป็นตลาดวิชาการที่ซื้อ-ขายบทความวิจัยที่ไม่มีคุณภาพ ปัจจุบันสำนักพิมพ์ open access journal หลายแห่งให้บริการครบวงจร ตั้งแต่คิดหัวข้อวิจัย ออกแบบงานวิจัย แปลงานวิจัยภาษาต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ ปรับและเรียบเรียงภาษาให้ได้มาตรฐานมากขึ้น กระบวนการ peer review ไปจนถึงทำการตลาดหลังตีพิมพ์ เพื่อให้ยอดเข้าชมและจำนวนการอ้างอิงของบทความเพิ่มขึ้น

รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล อดีตผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนบทความเตือนนักวิจัยในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 ให้ระวังการส่งบทความแก่สำนักพิมพ์ open access journal ที่ไม่มีคุณภาพ โดยให้ข้อสังเกตว่า สำนักพิมพ์ที่ไม่มีคุณภาพมักยอมรับบทความอย่างง่ายดาย และตีพิมพ์ออกมาในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งสำนักพิมพ์เหล่านี้มักไม่ระบุตำแหน่งที่ตั้งของสำนักงาน ข้อมูลส่วนใหญ่มีเพียงอีเมล หรือต่อให้มีที่ตั้งระบุไว้ ก็มักตั้งอยู่ในแถบตะวันออกลาง แอฟริกา หรือเอเชียใต้ เช่น อินเดียและปากีสถาน

Cloned Journal วารสารปลอมที่เหมือนจริงทุกประการ ยกเว้นความน่าเชื่อถือและคุณภาพ

Web Cloned Journal หมายถึงเว็บไซต์วารสารวิชาการของปลอมที่ทำเลียนแบบเว็บไซต์ของวารสารที่มีอยู่จริง เพื่อลวงให้นักวิชาการส่งผลงานไปตีพิมพ์ 

หลักการทำงานของเว็บไซต์ประเภทนี้ไม่ต่างจากแก๊งมิจฉาชีพที่สร้างลิงก์หรือเว็บปลอมของสถาบันการเงินหรือกรมสรรพากร เพื่อหลอกให้คนกดเข้าไปทำธุรกรรม แล้วดูดเงินออกจากระบบ เมื่อกดเข้าไปในเว็บวารสารปลอมจะพบว่า หน้าตาของวารสารในนั้นเหมือนวารสารจริงทุกประการ มีบทความที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่  มีวารสารฉบับเก่าให้สืบค้น มีรายละเอียดเงื่อนไขการรับพิจารณาบทความ และมีกระทั่งการเชิญชวนให้ส่งบทความ 

เมื่อนักวิชาการหลงเชื่อ และส่งบทความไปยังเว็บไซต์เหล่านี้ ก็มักจะเข้าใจว่า ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมานั้นคือการตีพิมพ์ในวารสารจริง ทั้งๆ ที่มันถูกเลียนแบบขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ cloned journal มักเลียนแบบวารสารแบบ open access เพื่อลวงให้เจ้าของบทความยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้ตีพิมพ์

ทุกวันนี้ cloned journal กำลังระบาดหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย เหยื่อของเว็บไซต์ประเภทนี้คือนักวิชาการที่ไม่รู้ว่าเป็นวารสารปลอม แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนที่ยอมส่งบทความไปตีพิมพ์ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นวารสารที่ถูกโคลนหรือทำปลอมขึ้นมา เพราะส่วนใหญ่วารสารเหล่านี้เป็นวารสารเกรด Scopus  และระบบการตรวจสอบภายในประเทศไม่เข้มแข็งพอที่จะแยกได้ว่า วารสารที่ตีพิมพ์บทความนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม ประกอบกับ cloned journal เหล่านี้มักเปิดรับบทความตลอดทั้งปี และไม่จำกัดสาขาวิชา ทำให้นักวิจัยหลายคนยอมรับความเสี่ยง เพื่อเพิ่มเครดิตทางวิชาการของตนเองในเวลาอันสั้น  

Authorship for sale ตลาดซื้อขายชื่อผู้แต่งในบทความวิจัย

Authorship for sale หรือ authorship commerce เป็นธุรกิจสำคัญในวงการวารสารงานวิจัยระดับโลกมานานกว่าทศวรรษ โดยเริ่มได้รับความนิยมครั้งแรกในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2014 แล้วจึงตามมาด้วยอิหร่าน ก่อนจะขยายความนิยมไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ธุรกิจซื้อขายชื่อผู้ประพันธ์งานวิจัยจะดำเนินโดยนายหน้าซึ่งทำหน้าที่เชื่อมระหว่างผู้เขียนบทความตัวจริงกับนักวิชาการที่ต้องการมีชื่อเป็นผู้เขียนโดยไม่ต้องลงมือเอง นายหน้าพวกนี้จะมีเครือข่ายนักวิจัยในหลากหลายสาขาที่คอยเขียนบทความป้อนเข้าตลาด เพื่อให้นักวิจัยคนอื่นเลือกซื้อว่าต้องการบทความไหน และเป็นผู้เขียนลำดับที่เท่าไร ในราคาที่กำหนดอย่างชัดเจน 

วิธีการเช่นนี้จะทำให้นักวิจัยที่ทุนหนาสามารถมีชื่อในผลงานวิจัยปีละหลายร้อยบทความได้ไม่ยาก และสามารถมีผลงานข้ามสาขาวิชาที่ตนถนัดได้ตามใจชอบ และ authorship for sale ก็เป็นตลาดมืดของโลกวิชาการที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในประเทศไทยขณะนี้

ราคาซื้อขาย authorship ในตลาดโลกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่นงานวิจัยที่ต้องทำการทดลองจะมีราคาสูงกว่า ชื่อผู้แต่งคนแรกจะแพงกว่าตำแหน่งอื่นๆ หรือถ้าต้องการตีพิมพ์ในวารสารเกรด Scopus ราคาก็จะแพงขึ้น ราคาบทความวิจัยทั่วไปในประเทศอิหร่านอยู่ระหว่าง 600-1,600 ดอลลาร์ ส่วนในประเทศจีน ราคาซื้อขายชื่อผู้แต่งรายแรกในบทความคุณภาพ SCI คือ 14,800 ดอลลาร์ และหากต้องการใส่ชื่อผู้แต่ง 3 คน ก็ต้องจ่าย 26,000 ดอลลาร์

จีนยังเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจซื้อขายชื่อผู้ประพันธ์ Science Magazine ที่ตีพิมพ์ในปี 2013 รายงานว่า จำนวนบทความด้านวิทยาศาสตร์ในระบบ SCI ของนักวิจัยชาวจีนพุ่งจาก 41,417 บทความ ในปี 2002 เป็น 193,733 บทความ ในปี 2012 นับว่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา 

ขณะเดียวกัน Science Magazine ยังพบว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านก็ผลิตบทความในวารสารต่างๆ เพิ่มขึ้นในเวลาอันสั้น เอาเฉพาะในปี 2015 มีบทความด้านวิทยาศาสตร์สัญชาติอิหร่านมากถึงกว่า 30,000 บทความ นับเป็น 20 เท่า ของจำนวนบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1979 ไม่เพียงเท่านั้น อิหร่านยังเป็นประเทศที่นักวิทยาศาสตร์ถูกถอดบทความ (retract) ออกจากวารสารต่างๆ จำนวนมากด้วย ปี 2016  BioMed Central และ Springer วารสารด้านวิทยาศาสตร์ในเครือ Nature สำนักพิมพ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับระดับโลก ถอดบทความของนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่าน 282 คน รวม 58 บทความ ออกจากระบบ เนื่องจากพบว่าทุกบทความมีการบิดเบือนชื่อผู้แต่ง (authorship manipulation) กระบวนการ peer-review มีความผิดปกติ และพบหลักฐานการคัดลอกผลงาน (plagiarism) ในบทความเหล่านั้น

ปี 2021 วารสาร Applied Nanoscience ของสำนักพิมพ์ Springer ถอนบทความ 51 บทความ โดย 2 บทความ มีชื่อ วานิช สุขสถาน อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นผู้ร่วมแต่ง สำนักพิมพ์ให้เหตุผลว่า พบข้อสงสัยน่ากังวลในบทความหลายประการ ตั้งแต่กระบวนการ peer-review การทำงานของบรรณาธิการรับเชิญ รายการอ้างอิงที่ไม่สอดคล้องกับเนื้อหาของบทความ และเนื้อหาที่ไม่อยู่ในขอบเขตของวารสาร

บทความ 2 เรื่องที่ถูกถอดจากวารสาร Applied Nanoscience คือ Serum level estimation of some biomarkers in diabetic and non-diabetic COVID-19 infected patients และ Cancer stages and demographical study of HPV 16 in gene L2 isolated from cervical cancer in Dhi-Qar province, Iraq ทั้งนี้ หลังเรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยในโซเชียลมีเดียได้ไม่นาน วานิชก็แถลงต่อวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ว่า การถูกถอนบทความไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นจริยธรรมการวิจัย

ธุรกิจ peer-review ที่อุดมไปด้วยผู้เชี่ยวชาญผีและมือปืนรับจ้าง

peer-review เป็นขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการผลิตวารสารวิชาการ กองบรรณาธิการจะจัดให้มีคณะผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา เป็นผู้อ่าน ตรวจสอบ ให้ความเห็น และตัดสินว่า บทความที่ส่งมานั้นควรได้รับการตีพิมพ์ (accepted) ปฏิเสธ (rejected) หรือส่งกลับไปปรับปรุงแก้ไข (revised) เพื่อควบคุมคุณภาพผลงาน แต่ในตลาดมืดของธุรกิจวารสารวิชาการ กระบวนการ peer-review มักถูกบิดเบือนด้วยความรู้เห็นเป็นใจของบรรณาธิการวารสาร

นิค ไวส์ (Nick Wise) และ อเล็กซานเดอร์ มากาซินอฟ (Alexander Magazinov) แห่ง For Better Science เขียนเปิดโปงในปี 2022 ว่า กระบวนการ peer-review แบบลักไก่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจซื้อขายชื่อผู้ประพันธ์ ไวส์และมากาซินอฟพบว่า วารสารบางฉบับสร้างนักวิจัยอวตารขึ้นมา โดยเปิดตัวด้วยการเป็นผู้เขียนบทความบางชิ้นก่อน เพื่อให้มีเกียรติประวัติมากพอที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นจึงนำชื่อเดียวกันนี้มาใส่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่รีวิวบทความ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นบทความที่ซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้บทความเหล่านั้นผ่านการพิจารณาในระยะเวลาอันสั้น 

ไวส์และมากาซินอฟยังเปิดเผยว่า เมื่อขุดคุ้ยประวัติจากรายชื่อของผู้รีวิว (reviewer) ให้วารสารหลายเล่ม กลับพบว่า คนเหล่านั้นไม่มีตัวตนจริง และบทความที่ใช้ ‘ผู้เชี่ยวชาญผี’ เหล่านี้มักมีความบกพร่องทางวิชาการ เช่น ใส่รายการอ้างอิงไม่ตรงกับเนื้อหาในบทความ หรือเนื้อหาบทความไม่สอดคล้องกับประเด็นหรือสาขาของวารสารนั้นๆ 

นอกจากผู้เชี่ยวชาญผี ในตลาดมืดของวารสารบทความวิชาการยังมีบริษัทรับทำ peer-review บทความก่อนส่งวารสารโดยเฉพาะ บริษัทเหล่านี้ให้เหตุผลในการให้บริการว่า ต้องการให้นักวิจัยเจ้าของบทความได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อปิดจุดอ่อนและเพิ่มโอกาสที่บทความจะได้รับการยอมรับจากวารสารกลุ่ม SCI โดยเฉพาะในจีน ข้อมูลที่น่าตระหนกคือ บริษัทรับทำ peer-review มักโฆษณาว่า ผู้เชี่ยวชาญของพวกเขาคือคนกลุ่มเดียวกันกับผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่อ่านบทความให้กับวารสาร SCI หลายฉบับ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุปสงค์และอุปทานในตลาดมืดของวารสารวิชาการระดับโลกของวารสารวิชาการ หากมองลึกลงไป ฐานของภูเขาน้ำแข็งก้อนมหึมานี้ยังซุกซ่อนรายละเอียดปลีกย่อยและแง่มุมมืดๆ อีกมาก ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นความน่าวิตกกังวลของแวดวงวิชาในโลก

ที่มา

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า