สิ้นปีเหมือนสิ้นใจ เราหมดใจหรือยุคสมัยทำให้เราหมดแรง เมื่อเทรนด์การลาออกยังดำเนินต่อไป

นอกจากโอกาสเฉลิมฉลองอันชื่นมื่นแล้ว วาระสิ้นปียังเป็นช่วงเวลาในการคิดทบทวนชีวิตในหลายทาง ไม่มากก็น้อย การขบคิดเรื่อง ‘งาน’ ย่อมเป็นหมุดหมายหนึ่งของคนทำงาน

การขาดความก้าวหน้าในสายงาน วัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ ค่าตอบแทนไม่เพียงพอ งานที่ทำไร้คุณค่า ไม่ถูกกับหัวหน้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลใหม่ในการลาออก และภาวะ ‘คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า’ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์คนทำงาน มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตหนึ่งชีวิตและดูจะเป็นเรื่องธรรมชาติของทุนนิยม

ท่ามกลางกระแสการลาออกระลอกใหญ่ทั่วโลกที่กำลังดำเนินไป หากมองในมุมกว้างก็อาจถึงเวลาที่สังคมโลกต้องทบทวนความหมายของการทำงานอย่างจริงจังเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่สมดุลกับชีวิตจริง และหากมองในมุมปัจเจกก็อาจต้องระลึกไว้เสมอว่า คนธรรมดาเป็นเฟืองจักรเล็กๆ ที่ต้องตอบสนองระบบการทำงานที่ผิดปกติ ซึ่งท้ายสุด การลาออกอาจเป็นเพียงการเปลี่ยนสถานะที่คุ้มค่าในความรู้สึก

ค่าตอบแทนที่ดี งานที่มีความหมาย ความยืดหยุ่น และผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจแรงงาน ล้วนเป็นปัจจัยเชิงบวกที่โน้มน้าวให้คนในอยากอยู่ต่อและเป็นสิ่งที่คนทำงานต้องการ 

ฉะนั้น ที่ทำงานในฝันอาจเริ่มจากการพูดคุยอย่างมีเหตุมีผลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งต้องอาศัยทักษะที่ขาดแคลนอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 นั่นคือ การเปิดใจรับฟังอย่างไร้อัตตาและนำข้อเท็จจริงมาถกเถียงกัน ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ท้ายสุดประโยชน์จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย

‘คนในอยากออก’ ความรู้สึกสากลของคนทำงาน

“คุณไชนาสกี ทำไมถึงคุณถึงออกจากงานที่การรถไฟ”

“อ๋อ…ผมมองไม่เห็นอนาคตที่นั่นน่ะ”

“แต่พวกเขาก็มีสหภาพแรงงาน มีประกันสุขภาพ แถมยังมีบำนาญนะ”

“สำหรับคนรุ่นผม คิดว่ามันไม่จำเป็นแล้ว”

“แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าคุณจะยังทำงานกับ ‘เรา’ ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด”

“ผมก็ไม่ทราบได้”

“คุณหมายความว่ายังไง”

“ก็คุณบอกไว้ในโฆษณาว่า มีงานสำหรับคนมุ่งมั่นมองหาอนาคต ถ้าไม่มีอนาคตผมก็คงออก”

ไชนาสกีได้งานนี้และลาออกในอีก 3-4 วันถัดมา เพราะได้ค่าแรงไม่เท่ากับเพื่อนร่วมงาน

ข้างต้นคือตรรกะของตัวละคร ‘ไชนาสกี’ ของ ชาลส์ บูเคาว์สกี (Charles Bukowski) ในนิยายเรื่อง งานบัดซบ (Factotum) ความดื้อแพ่งของเขาในสถานที่ทำงานคือการต่อต้านระบบแรงงานที่ไม่เป็นธรรม และบทสนทนาข้างต้นสะท้อนความตรงไปตรงมาที่ว่า สำหรับไชนาสกีแล้ว ‘อนาคต’ เป็นสิ่งที่เรามองหาไม่ได้จากการทำงาน

ตัดมาที่โลกนอกหนังสือ การลาออกระลอกใหญ่ (The Great Resignation) เป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 สะท้อนถึงจำนวนผู้ออกจากงานเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มการระบาดโควิด-19 และมีแนวโน้มไม่จบในเร็ววัน แม้โควิด-19 จะเริ่มสร่างซาและชีวิตปกติจะหวนคืน

เว็บไซต์จัดหางาน Adecco Thailand เผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 34,200 คน ใน 25 ประเทศทั่วโลก เมื่อเดือนตุลาคม 2022 พบว่า 27% ของผู้ตอบแบบสำรวจ บอกว่าพวกเขาจะลาออกจากงานปัจจุบันภายใน 12 เดือนข้างหน้า

PwC บริษัทตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษา มีผลการสำรวจที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน โดยชี้ว่า 1 ใน 5 ของคนงานทั่วโลกวางแผนลาออกในปี 2022 ข้อค้นพบนี้สำรวจจากคนงานมากกว่า 52,000 คน ใน 44 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดทำขึ้นในเดือนมีนาคม 2022 โดยระบุว่า ‘ค่าจ้าง’ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนต้องการเปลี่ยนงาน และคิดเป็น 71% ของสาเหตุในการลาออก

McKinsey บริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่อีกแห่ง สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานกว่า 13,000 คนในออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ พบว่า พนักงานกว่า 41% ลาออกจากงานเพราะรู้สึกขาดความก้าวหน้าในสายงาน ขณะที่เหตุผลรองลงมาคือ ค่าตอบแทนไม่เพียงพอ ผู้นำไร้การใส่ใจพนักงาน งานที่ทำไม่มีความหมาย มากไปกว่านั้น คนที่ลาออกตั้งแต่เมษายน 2020 จนถึงเมษายน 2022 กว่า 65% ตัดสินใจไม่กลับมาทำงานในสายงานเดิมอีก

หากมองประเทศโลกที่หนึ่งสุดเสรีอย่างสหรัฐฯ FlexJob ระบุว่า ในช่วงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2022 จนถึง 7 มีนาคม 2022 มีคนกว่า 62% ลาออกจากงานเพราะวัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ ขณะที่ค่าตอบแทนต่ำและไม่เป็นธรรมก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่สำคัญไม่ต่างจากผลสำรวจของบริษัทอื่นๆ แต่ที่น่าตกใจคือ 68% ลาออกโดยที่ไม่มีงานอื่นรองรับ 

การลาออกแบบไม่มีงานอื่นรองรับอาจสอดคล้องกับช่วงอายุ รายงานของ Randstad Workmonitor ในปี 2022 เผยว่า พนักงานกว่า 40% ที่เป็น Gen Z (อายุระหว่าง 18-24 ปี) ยอมว่างงานมากกว่าทำงานที่พวกเขาไม่ชอบหรือทำงานที่พวกเขาไม่มีความสุข ในแง่นี้จึงมองได้ว่า การเปลี่ยนงานหรือการลาออกของคนรุ่นใหม่อาจสะท้อนถึงความไม่ปกติของกลไกเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่เป็นธรรมของการจ้างงาน

จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เกิดคำใหม่ๆ อย่าง ‘Quitfluencer’ หรือคนที่เห็นเพื่อนร่วมงานลาออกและกลับมาพิจารณาตัวเองว่าควรลาออกดีหรือไม่ ซึ่ง 50% ของคนกลุ่มนี้จะตัดสินใจลาออกภายใน 12 เดือนหลังจากนั้น

เช่นเดียวกับกระแส ‘Quiet Quitting’ ในปี 2022 ที่เกิดขึ้นกับคนทำงานที่หมดใจและหมดแรงหนุนเสริมในการทำงาน แต่ไม่สามารถเสี่ยงที่จะลาออกจากงานในสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง จึงทำงานเพียงขอบเขตของตนต่อไป แม้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการจะถูกปล้น จนหวังเพียงกอบกู้ตัวตนจากเศษซากที่ทุนนิยมมอบให้เท่านั้น

รายงาน ‘Great Attrition’ or ‘Great Attraction’? The choice is yours (2021) ของ McKinsey ชี้ให้เห็นว่า นายจ้างส่วนใหญ่ยังคงไม่เข้าใจว่าทำไมพนักงานของตนถึงลาออก เดิมทีนายจ้างมักให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการแลกเปลี่ยน เช่น ค่าตอบแทน ความสมดุลในชีวิตการทำงาน รวมถึงสวัสดิการด้านสุขภาพกายและจิตใจ แต่ผลการสำรวจพนักงานในรายงานชิ้นนี้ยังระบุถึงเหตุผลอื่นๆ ของลูกจ้าง เช่น รู้สึกว่าองค์กรหรือผู้จ้างไม่ได้ทำให้ตนรู้สึกมีคุณค่า หรือไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน และหากย้อนไปไกลก่อนโรคระบาด จะเห็นว่าแนวโน้มของกระแสการลาออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2019

เมื่อมองในภาพใหญ่ จะพบว่าการลาออกไม่ใช่ผลจากปัจจัยภายนอกอย่างโดดๆ หากแต่ปัจจัยภายในอย่าง ‘ความรู้สึก’ ถือเป็นตัวชี้วัดการตัดสินใจอย่างมีนัยยะ และปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกดังกล่าวเป็นผลจากหลายปัจจัยซ้อนทับเหลื่อมกันไปมามากกว่าที่แบบสำรวจใดจะประเมินได้

สิ่งที่น่าขบคิดต่อคือ ‘อนาคต’ ที่ไชนาสกีนิยามไว้คือ ความก้าวหน้าในสายงานหรืองานที่มีความหมายสำหรับเขาคืออะไรกันแน่ และ ‘คนรุ่นผม’ สำหรับเขาอาจไม่ใช่แค่คนที่เติบโตยุคสมัยเดียวกัน แต่อาจหมายถึง ‘คนที่เพิ่งเริ่มก้าวสู่โลกการทำงานแบบผม’ เสียมากกว่า ซึ่งนั่นทำให้ภาพของตัวละครของบูเคาว์สกีที่เปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น มีสภาพคล้ายคลึงกับเหล่าคนทำงานในช่วงอายุ 20-24 ปี ในทุกยุคสมัย 

งานก็หายาก แต่ทำไมคนถึงยังลาออกกันล่ะ

หากอ้างอิงรายงานของ Randstad Workmonitor อาจกล่าวได้ว่า คนลาออกเพราะงานที่ทำไม่มีความสุข แต่ในรายละเอียดพบว่า ‘ช่วงเวลา’ ก็ส่งผลต่อความคิดเรื่องการลาออกอย่างมีนัยยะ

“เราเรียนรู้ว่า สิ่งที่ส่งผลต่อผู้คนจริงๆ คือความรู้สึกที่ว่าพวกเขาเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ หรือเมื่อเปรียบเทียบกับ ‘จุดหนึ่งของชีวิต’ ตามทัศนคติของพวกเขาเอง” ไบรอัน ครอปป์ (Brian Kropp) หัวหน้าทีมทรัพยากรบุคคลของ CEB บริษัทด้านเทคโนโลยีในวอชิงตัน กล่าว

งานวิจัยของ CEB ค้นพบว่า วันครบรอบการทำงาน (หรือรวมถึงวันครบรอบการเลื่อนตำแหน่ง) มักเป็นช่วงเวลาตามธรรมชาติสำหรับการทบทวนชีวิต กิจกรรมการหางานจึงเพิ่มขึ้น 6% และ 9% ตามลำดับ 

ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายตัวแปรที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง เช่น วันเกิด (และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่กำลังล่วงเลยเข้าสู่วัยกลางคน เช่น วันเกิดครบรอบอายุ 40 หรือ 50 ปี) ปัจจัยเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนอาชีพของตนและตัดสินใจลาออก หากพวกเขาไม่พอใจกับผลประเมินส่วนตัวเช่นนี้ ดังสถิติที่พบว่ามีการหางานเพิ่มขึ้น 12% ก่อนถึงวันเกิด 

นอกจากนี้ การพบปะสังสรรค์แบบจัดเต็มของเพื่อนร่วมงาน ก็เป็นปัจจัยเร่งปฏิกิริยาได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติที่ส่งผลให้ผู้คนมักจะวัดความก้าวหน้าของตนโดยเทียบกับผู้อื่น กล่าวคือ มีการหางานใหม่เพิ่มขึ้น 16% หลังจากการนัดรวมกลุ่มกัน

ครอปป์สรุปว่า “ข้อค้นพบที่สำคัญคือ ไม่เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตส่วนตัวของพนักงานก็เป็นตัวกำหนดว่า อาจถึงเวลาต้องตัดสินใจมองหางานใหม่ได้แล้ว”

แม้การลาออกจะเป็นสถานการณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนใจ แต่การเปรียบเทียบหรือการมองเห็นตัวเองในตำแหน่งแห่งที่ของตลาดแรงงานอาจเป็นสิ่งที่สั่นคลอนและน่าหวั่นใจเสียยิ่งกว่า หากเชื่อตามครอปป์ เราจึงเข้าใจได้ว่า ‘จุดหนึ่งของชีวิต’ ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง และการลาออกคือรูปสัญญะที่ชัดเจนรูปแบบหนึ่ง แต่หากจะเจริญรอยตามไชนาสกี ‘จุดหนึ่งของชีวิต’ อาจมาถี่ระดับจักรเย็บผ้าที่เดินเครื่องด้วยคนงานฝีมือพระกาฬ และนั่นทำให้การลาออกเป็นเรื่องปกติราวการหายใจเข้า-ออก 

ภาพตัดมาที่คุณไชนาสกีที่กำลังเดินโซซัดโซเซไปที่บริษัทจัดหางาน ก่อนเดินไปที่บาร์เพื่อดวดเบียร์ ซื้อไวน์กลับห้อง ได้งานใหม่ ลาออก ดวดเบียร์ เมา ได้งานใหม่ และลาออก

น่าสนใจว่า สาเหตุที่ไชนาสกีออกจากงานในครึ่งแรกของเรื่องก็คือ ค่าแรงต่ำเตี้ยเรี่ยดินและงานที่ทำไม่มีความหมายสำหรับเขา สอดคล้องกับผลสำรวจของ McKinsey และ PwC (ส่วนครึ่งเรื่องหลัง ไชนาสกีถูกไล่ออกด้วยสันดานส่วนตัว) 

คำใหม่ๆ ในยุคปัจจุบันอย่าง ‘Burn Out’ หรือ ‘Quiet Quitting’ ล้วนเป็นสิ่งที่ไชนาสกีประสบและรู้สึกมาตลอดในสังคมอเมริกันทศวรรษ 1940 ซึ่งเป็นพื้นหลังของนิยาย งานบัดซบ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1975 ท่ามกลางบริบทโลกยุคสงครามเย็นและค่านิยม ‘American Dream’ กำลังแพร่ระบาด ด้วยเหตุนี้ งานบัดซบ โดยตัวมันเองจึงเสมือนกระจกที่สะท้อนกลับมาว่า ยุคสมัย ความต่างระหว่างวัย หรือกระทั่งระเบียบการเมืองโลก อาจไม่ใช่ปัญหาก้อนใหญ่หากพูดถึงโลกของการทำงาน เพราะสิ่งเดียวที่ยังไม่เปลี่ยนคือระบบเศรษฐกิจอย่าง ‘ทุนนิยม’ ที่มองคนเป็นเพียงผู้บริโภค แรงงาน และเครื่องจักร 

การว่างงานคือธรรมชาติของทุนนิยม

ฮาจุน ชาง (Ha-Joon Chang) อาจารย์และนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า เพื่อนนักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลีเล่าว่า ในปี 2009 เพื่อนคนหนึ่งของเขาไปเที่ยวเมืองบอลซาโน อันเป็นเมืองมั่งคั่งร่ำรวยทางตอนเหนือของอิตาลี เขาพบว่า จีอาโคโมเป็นเพียงคนเดียวที่ว่างงานท่ามกลางประชากรราว 100,000 คนในเมืองนั้น นั่นทำให้เขารู้สึกประหลาดใจ และถามคนขับแท็กซี่ว่า เป็นไปได้อย่างไรที่เมืองนี้มีคนว่างงานแค่คนเดียว คนขับแท็กซี่ไม่เพียงไม่แสดงความเห็นใจ แต่ยังบอกว่าจีอาโคโมสมควรตกงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะหากเขาได้งานเมื่อไร อย่างน้อยพนักงานที่ศูนย์จัดหางาน 4 คน ต้องตกงานเป็นแน่

ไม่ว่าเรื่องเล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนความเข้าใจต่อสำนึกคิดเกี่ยวกับงาน 2 ข้อ

หนึ่ง – เราอยู่ในสังคมที่ชินชากับอัตราการว่างสูง ซึ่งสะท้อนว่าสังคมเราผ่านพ้นยุคทองของทุนนิยม (1945-1973) ที่มีการว่างงานระดับต่ำมานานแล้ว

สอง – สังคมเรามอบคุณค่าของชีวิตเท่ากับการทำงาน เพราะการไร้งานไม่เพียงแต่ส่งผลต่อปากท้อง แต่ยังลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในแง่นี้ งานได้มอบเหตุผลให้ชีวิตมีความหมายในตัวเองผ่านการลงแรงกับงานที่เราทำ

ในหมวกของนักเศรษฐศาสตร์ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และโจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) เสนอว่าการว่างงานเป็นธรรมชาติของทุนนิยม เพราะในระบบการผลิต ไม่ว่านายทุนจะพยายามข้ามเส้น ลดทอน หรือสอดส่องเพื่อให้แรงงานทำงานเสมือนเครื่องจักรเพื่อประสิทธิผลสูงสุด แต่ท้ายสุด แรงงานคือปัจเจกที่มีชีวิตและจิตใจ พวกเขายังคงมีพื้นที่ตัดสินใจในกระบวนการใช้แรงงาน (labour process) ดังนั้น ทางออกของนายทุนสำหรับการแก้ปัญหาแรงงานไร้ประสิทธิภาพคือ นายทุนควรเพิ่มค่าแรงเพื่อให้แรงงานมีต้นทุนในการตกงานที่สูงขึ้น กล่าวอย่างง่ายคือ การเพิ่มค่าจ้างสามารถลดการอู้งานและกดดันทางอ้อมให้แรงงานทำตัวเสมือนจักรกลเพื่อลดความเสี่ยงในการตกงาน

แต่นายทุนกลับทำตรงกันข้าม พวกเขาคงค่าแรงไว้เท่าเดิม ผลคือการว่างงานสูงขึ้น มาร์กซ์จึงเรียกคนว่างงานกลุ่มนี้ว่า กองทัพของแรงงานสำรอง (reserve army of labour) หรือระบบที่มีคนพร้อมจะแทนที่คนตกงานตลอดเวลา หรือเรียกว่า การว่างงานเชิงระบบ (systematic unemployment)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เมื่อเราออกจากงานเดิมได้แล้ว ระบบเศรษฐกิจที่มีอยู่ก็บีบให้เราต้องหางานใหม่ด้วย แน่นอนว่าการโยกย้ายเปลี่ยนบริษัท เปลี่ยนสายงาน หรือเฝ้ารองานใหม่ เป็นธรรมดาของชีวิต และการลาออกเพื่อข้อเสนอหรือโอกาสที่ดีกว่าก็ถูกเรียกรวมๆ ว่า การว่างงานชั่วคราว (frictional unemployment) เพื่อรอโอกาสกลับเข้าสู่วงจรคนทำงานนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ฮาจุน ชาง ชี้ว่า การว่างงานเชิงระบบได้หายไปเกือบหมดตามการสิ้นสุดยุคทองของทุนนิยม เขาอธิบายว่า การว่างงานในปัจจุบันส่วนใหญ่คือ การว่างงานตามวัฏจักร (cyclical unemployment) ที่เกิดขึ้นเพราะอุปสงค์มวลรวมของประเทศลดลง แต่อัตราการว่างงานโดยรวมที่เพิ่มขึ้นกลับไม่ได้รับความสนใจเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ

ท้ายสุด ฮาจุน ชาง เชื่อว่าบทบาทสำคัญที่สุดของการงานคือ การสร้างตัวตน แต่ไม่ว่าในประเทศที่ยากจนหรือในประเทศที่ร่ำรวย งานก็สามารถมอบความเบื่อหน่ายและกดดันไม่ต่างกัน เขาจึงเน้นย้ำว่า หากต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจที่สมดุลหรือสังคมที่เปี่ยมคุณค่า การขบคิดเกี่ยวกับองคาพยพของ ‘งาน’ อย่างจริงจัง คือสิ่งจำเป็นและเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ก่อนจะลาออก

บรรดาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาจมีหน้าที่ขบคิดหรือสะท้อนภาพรวมของตลาดแรงงาน ทฤษฎี และทางออกของปัญหาเศรษฐกิจ แต่ในมุมมองของปัจเจก ไม่ว่าจะตัดสินใจเรื่องอะไร ก็ไม่ควรบุ่มบ่ามทั้งนั้น

ไบรอัน โรบินสัน (Bryan Robinson) ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา คอลัมนิสต์ของ Forbes เสนอว่า หากเราใช้เวลากว่า 1 ใน 3 ในการทำงานและเริ่มทุกข์ใจกับมัน อย่างน้อยๆ การสื่อสารและหาจุดโฟกัสคือสิ่งที่เราทำได้ในเบื้องต้น

  • ค้นหาต้นตอความเครียด เริ่มจากตั้งคำถามง่ายๆ ว่าอะไรเกี่ยวกับงานที่ทำให้คุณไม่พอใจ เช่น เนื้องานน่าเบื่อ เงินขัดสน ภาระงานหนัก หรือตารางเวลาไม่ยืดหยุ่น เจ้านายไร้หัวใจ ฯลฯ เมื่อแยกออกได้แน่ชัดแล้วว่าอะไรคือปัจจัยที่นำไปสู่ความเครียด ขั้นต่อมาคือการพิจารณาว่าตัวคุณสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าไม่ อาจถึงเวลาที่จะเริ่มมองทางเลือกอื่นๆ
  • ออกจากสถานที่ทำงานที่เป็นพิษ หากคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่บั่นทอนจิตใจ ก็ไม่คุ้มที่จะเสียสุขภาพจิตของตัวเอง คุณไม่ได้เห็นแก่ตัวหรอกหากจะปฏิเสธการงานที่กัดกินความมีชีวิตชีวา พึงระลึกไว้เสมอว่า คุณเป็นคนธรรมดาที่ต้องตอบสนองสถานการณ์การทำงานที่ผิดปกติ
  • ตัดสินใจอย่างมีเหตุผล สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ การออกจากงานอย่างหุนหันพลันแล่น ไร้แผนสำรอง ตรวจสอบให้แน่ใจว่าอารมณ์ไม่ได้อยู่เหนือเหตุผลการตัดสินใจ 
  • ปรึกษาเพื่อนร่วมงานเพื่อขอแรงสนับสนุน ลองคุยกับเพื่อนร่วมงานเพื่อตรวจสอบดูว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายกันหรือไม่ แลกเปลี่ยนวิธีการจัดการปัญหา และหากเพื่อนร่วมงานอยู่ในจุดสุดอัดอั้นเช่นกัน ควรรวมกลุ่มและชี้แจงสภาพปัญหาที่พบเจอต่อเจ้านาย เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการหาทางออกที่สร้างสรรค์ร่วมกัน
  • เปิดอกพูดคุยกับเจ้านาย หากงานของคุณเริ่มขูดเลือดขูดเนื้อและการอดรนทนงานมาจนถึงขีดสุด ให้ใช้เนื้องานเป็นประเด็นพูดคุย เมื่อคุณมีโอกาสพบกับผู้จัดการ เจ้านาย หรือหัวหน้า ให้มุ่งประเด็นที่ความสำคัญของชีวิตส่วนตัว เช่น มีภาระทางบ้านเพิ่มขึ้น จึงต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้น หรือต้องการทำงานแบบ Work From Home รวมถึงพูดถึงความคาดหวังของคุณต่อหน้าที่การงาน ที่สำคัญ ทำให้แน่ใจว่าอีกฝ่ายเข้าใจมุมมองของคุณอย่างถี่ถ้วน 
  • เตรียมความพร้อมทางการเงิน การศึกษาของ ConsumerAffairs ในปี 2021 พบว่า 60% ของคนที่ออกออกจากงานได้สำเร็จ เพราะมีการเตรียมพร้อมด้านการเงิน ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นการจัดสรรเงินออมสำหรับค่าใช้จ่ายรายเดือน กำหนดงบประมาณรายเดือน และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ถึงที่สุดแล้ว การสื่อสารและการพยายามทำความเข้าใจภาพรวมที่มากไปกว่าความรู้สึกนึกคิดของเรา อาจช่วยในการจัดการชีวิตได้ถนัดถนี่คล่องมือมากขึ้น แต่แน่นอนว่า หากเรามีระบบเศรษฐกิจที่สมดุลหรือมีเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ดี งานที่มีความหมาย และการทำงานที่ยืดหยุ่น ย่อมเป็นผลดีต่อทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และตัวองค์กร รวมถึงคนอย่างไชนาสกี…นักตกงานมืออาชีพ

อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า