ถ้าโทนี่กลับมา วัยรุ่นคิดไง

ท่ามกลางบรรยากาศการประท้วงของประชาชนจำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ภายใต้แคมเปญ #ไล่ประยุทธ์ สถานการณ์ปัจจุบันยิ่งคุกรุ่นขึ้นเมื่อตัวละครในตำนานอย่าง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย และเจ้าของเครื่องหมายการค้า big deal ผู้เคยประกาศไว้ว่าตนยังไม่แพ้ เพราะยังไม่หยุดสู้ กลับมามีบทบาทมากขึ้นในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ผ่านการพูดคุยกับประชาชนในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคของตน ไปจนถึงวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ 

‘ทักษิณ’ ซึ่งวันนี้เป็นที่รู้จักในนาม ‘พี่โทนี่’ (Tony Woodsome) ทุกวันนี้มีท่าทีที่ชัดเจนว่าอยากกลับบ้านมากอบกู้วิกฤติ ซึ่งก็เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจอะไร เมื่อดูจากความพยายามในการกลับมาของโทนี่ครั้งแล้วครั้งเล่าในอดีต แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงความเป็นไปได้ของ Return of Tony อย่างจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่นักคิดอย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับ Matichon TV ในวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า “ความคิดเรื่องการเอานายกฯ คนนอก มันมีมูลอยู่…ในบรรดาคนที่ถูกคาดหมาย คนที่ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่สุดคือ โทนี่” 

ในขณะเดียวกัน รายการ We Talk ตอน ‘ถ้าโทนี่กลับมา วัยรุ่นคิดไง’ เผยแพร่ทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ We Watch เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม เวลา 20.00-21.00 น. ได้นำคนรุ่นใหม่จาก 5 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย กีกี้-ธันยธรณ์ โรจน์มหามงคล ประธานฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ เดฟ-ชยพล ดโนทัย ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บี-บิลาล หนูชูสุข รองประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เบ๊น-ธิดารัตน์ ดวงรัตน์ สมาชิกกลุ่มโกงกาง มหาวิทยาลัยบูรพา และ เมสซี-ประกาศิต เส็งตากแดด อดีตประธานกลุ่มนิสิตพรรคชาวดิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาร่วมให้เห็นความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ 

WAY ถอดบทสนทนาของคนรุ่นใหม่ทั้ง 5 คน มาฝากผู้อ่านเพื่อประกอบการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการกลับมาของทักษิณและปฏิกิริยาสังคมที่อาจเกิดขึ้น 

ภาพจำต่อทักษิณ ก่อนและหลัง Tony Woodsome เป็นอย่างไร 

ประกาศิต: ผมรู้สึกเฉยๆ กับความเป็นคุณทักษิณแต่ก่อนนะ ไม่มีความพิเศษอะไรมากมายในความทรงจำของผม ด้วยความที่ครอบครัวผมไม่ได้มีอาชีพเกษตรกรจ๋า ไม่ได้มีสวนยางพารา หรือไร่มัน ยุคของคุณทักษิณที่ราคายางสูง ราคามันดี อะไรดีไปหมด ครอบครัวผมก็ไม่ได้มีส่วนได้จากตรงนี้ ก็เลยไม่มีภาพจำที่วิเศษอะไร พอมาช่วงนี้ที่แกเริ่มมีบทบาทบ่อยๆ ผมก็เริ่มกลับไปศึกษาแกมากขึ้น ก็รู้สึกว่าแกก็เป็นคนที่เก่งคนหนึ่ง สามารถวิเคราะห์การเมืองได้ดี มีแนวทางเสนอแนะได้ดี แต่ผมก็ยังมีข้อสงสัยต่อประวัติศาสตร์อีกมาก เช่น กรณีสลายการชุมนุมที่ตากใบที่ตัวผมเองก็ยังไม่กระจ่าง

บิลาล: ต้องบอกก่อนว่า ผมเองเป็นเด็กต่างจังหวัด ความเป็นเด็กต่างจังหวัดนี้ ทำให้การเสพข้อมูลเกี่ยวกับคุณทักษิณในยุคสมัยของพรรคไทยรักไทยไม่ได้เป็นไปอย่างรอบด้านและหลากหลายเท่าไหร่นัก แต่เราก็จะจำได้จากคนรุ่นพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องบัตรทอง 30 บาท บ้านเอื้ออาทร และนโยบายอื่นๆ แต่ส่วนตัวแล้วขอใช้คำว่าไม่อินก็แล้วกัน ซึ่งก็อาจเป็นเพราะในวัยเด็กเรายังไม่ได้สนใจการบ้านการเมืองอะไรมากมาย แต่พอขยับมาในช่วงที่คุณทักษิณกลายเป็นพี่โทนี่ และเริ่มปรากฏตัวใน Clubhouse ช่วงแรกๆ ผมก็ได้อ่านข้อมูลเพิ่มขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างผมและเพื่อนๆ หลายคนย้อนกลับไปดูผลงานของไทยรักไทยมากขึ้น รวมถึงย้อนไปดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นในปี 2549 ด้วย เพราะการกลับมาของคุณทักษิณในฐานะพี่โทนี่ มันทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีปฏิกิริยาที่เห็นได้ชัด นี่ก็ทำให้มันเป็นเรื่องที่ยิ่งน่าสนใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผลงานของคุณทักษิณในอดีตถูกขุดขึ้นมาพูดถึงในหมู่วัยรุ่นมากขึ้น 

ถึงผมจะเรียนอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ผมเองไม่ได้เป็นคนที่นั่น ที่นั่นเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์บาดแผลกับคุณทักษิณเยอะ ซึ่งเรื่องที่ทำให้ผมเองและพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงไม่กระจ่างในคำตอบของคุณโทนี่ในวันนั้น ผมรับรู้ว่าคนฝั่งหนึ่งอาจจะพูดถึงคุณโทนี่ในแง่ของนโยบาย แต่คนที่สามจังหวัดเขาจะพูดถึงในอีกมุมหนึ่ง ฉะนั้น ผมมองว่าภาพจำของคุณโทนี่จะแบ่งเป็นหลายมุม มุมคนที่เชียร์ก็มุมหนึ่ง แต่พี่น้องที่ยังไม่กระจ่างในสิ่งที่คุณโทนี่เคยทำไว้ก็มีอีกมุมหนึ่ง

ธันยธรณ์: ถ้าเราพูดถึงยุคที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ทุกคนก็คงนึกถึงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ พัฒนาการของพรรคการเมืองที่มีความเข้มแข็ง การแข่งขันเชิงนโยบายต่างๆ แน่นอนว่าเราเห็นความเจริญเมื่อมองย้อนกลับไป แต่คุณทักษิณก็มีภาพจำในด้านที่ไม่ดีเหมือนกัน เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพี่น้องภาคใต้ เรื่องความเป็นผู้นำที่ครองอำนาจบาตรใหญ่ ตัดสินใจรวดเร็วฉับไว จนฝ่ายตรงข้ามนำไปโจมตีว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา ผมรู้สึกว่าประเด็นเหล่านี้ติดตัวคุณทักษิณมาตลอดจนถึงวันนี้ 

จนกระทั่งเมื่อคุณโทนี่โผล่มาใน Clubhouse ภาพลักษณ์ต่างๆ ก็เริ่มถูกรีแบรนด์ไปบ้างแล้ว โดยรวมผมคิดว่า สิ่งที่เราเห็นแน่ๆ แกเป็นคนมีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกลอยู่เสมอ แต่ภาพที่ไม่ดีก็อย่างที่ว่าไป มันเป็นเงาตามตัวอยู่เหมือนกัน 

ชยพล: ผมก็เป็นคนใต้ ในช่วงตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ภาพจำที่เรามีต่อคุณทักษิณมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน หรือล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่พอเวลาผ่านไป มันก็พิสูจน์ให้เห็นว่าข้อกล่าวหาทั้งหลายมันถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมือง ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่อย่างเราๆ หลายคนอาจเคยถูกล้างสมองด้วยชุดข้อมูลต่างๆ แต่เมื่อถึงยุคที่พวกเราสามารถสืบค้นข้อมูลได้เอง เข้าถึงข้อมูลเบื้องลึกได้มากขึ้น เราก็จะเริ่มมองเห็นคุณูปการของคุณทักษิณในอดีตมากขึ้นเรื่อยๆ 

ปัจจุบันพอเรามองคุณทักษิณ เราเห็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งตอนที่เราอยู่ในยุคของ คสช. มาถึง 7 ปี กับพลเอกประยุทธ์ เราก็ไม่เห็นว่าจะมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เลย แม้คุณทักษิณจะอยู่ต่างประเทศ แต่พอเขาพูด เราก็จะเห็นว่าผู้นำดีๆ มันมีอยู่ แต่เราดันซวยมาเจอผู้นำแย่ๆ เท่านั้นเอง 

ธิดารัตน์: จริงๆ ก็จำอะไรไม่ค่อยได้ เพราะตอนเด็กๆ ไม่ค่อยจะสนใจเรื่องการเมืองเท่าไหร่ แต่โตขึ้นมาหน่อย เราก็ได้ยินคนรอบข้างบอกว่าตอนนั้นที่เขาเป็นนายกฯ เศรษฐกิจเมืองไทยมันดีมาก ยาบ้าน้อยลง มี 30 บาท รักษาทุกโรค มีกองทุนหมู่บ้าน อะไรทำนองนี้ พอเราโตขึ้น เราหาข้อมูล จึงได้รู้ว่านโยบายเหล่านี้มันไม่ได้มีแค่ชื่อเสียงในทางที่ดีอย่างเดียว มันมีสิ่งเลวร้ายควบคู่มาด้วยเหมือนกัน เช่น ช่วงที่มีการพยายามลดยาเสพติดก็ใช้วิธีการรุนแรง เป็นต้น เรารู้สึกว่าการที่เขาทำแบบนั้น คือการใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้มันอาจจะได้ผล แต่ถ้าเรามองความเป็นมนุษย์บ้าง เราก็รู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลย พอมาถึงในปัจจุบันที่คุณโทนี่พยายามจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เราก็เห็นเลยว่าเขาพยายามที่จะสร้างพื้นที่ของตัวเองบางอย่างขึ้นมา พยายามที่จะสื่อสารกับโหวตเตอร์ 

แต่เรากลับรู้สึกว่า คุณโทนี่ไม่ได้ต่างอะไรกับชนชั้นนำที่พยายามจะมีอำนาจอยู่ตลอด คอยชักใย คอยดีลกับคนนั้นคนนี้ไปเรื่อยๆ 

คิดอย่างไรถ้าทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ 

ชยพล: ถ้าท่านกลับมาก็ยินดีครับ แต่กระบวนการต้องโปร่งใสเป็นธรรม ต้องมาจากกระบวนการที่ประชาชนยอมรับกันได้ทั้งหมด ผมเชื่อว่าในช่วงที่สถานการณ์ยังวิกฤติแบบนี้ พลเอกประยุทธ์ไม่สามารถจัดการได้แน่นอน คนติดเชื้อเป็นหมื่นๆ ต่อวัน คนเสียชีวิตเป็นร้อยต่อวัน ยังไงพลเอกประยุทธ์ก็ต้องไป แต่การที่คนมีความสามารถจะเข้ามาแทน ผมยืนยันว่าเขาต้องมาจากกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น

ธันยธรณ์: ถ้าคุณทักษิณกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างแรกที่จะเกิดขึ้นคือ บ้านเมืองจะมีความหวังมากขึ้น ประชาชนจะมีความหวัง เพราะถ้าเทียบกับความหวังที่เรามีต่อพลเอกประยุทธ์นั้นเทียบไม่ได้ แต่ถ้าคุณทักษิณจะมา แน่นอนว่าต้องมาตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่วิธีอื่น

ในสถานการณ์วิกฤติที่ผู้คนต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน เพราะทุกวินาทีแลกด้วยชีวิต ถ้าคุณทักษิณมาในฐานะ ‘นายกฯ คนนอก’ ซึ่งไม่ผิดรัฐธรรมนูญ จะยอมประนีประนอมได้ไหม 

ธิดารัตน์: ถ้าถามความรู้สึกจากใจจริง ก็ไม่อยากให้ทำแบบนั้น เพราะเราเคารพในหลักการประชาธิปไตย 

ไม่ว่ายังไงก็ตาม คุณทักษิณต้องมาตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าคุณทักษิณไม่ได้มาด้วยหลักการ ก็แสดงว่าการเข้ามาของคุณมันต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ใครเป็นผู้สนับสนุนคุณเข้ามา เรื่องนี้เราอ่อนข้อให้ไม่ได้

ประกาศิต: ผมไม่สามารถยอมรับได้อยู่แล้ว ผมยังเชื่อมั่นในหลักการ ถ้าคุณทักษิณจะมา ก็ต้องมาตามหลักการ ก่อนจะมาก็ต้องเคลียร์ปัญหาที่เคยมีไว้ให้จบ ให้มันชัดเจน ไม่ต้องมีความคาใจอะไรอีก ถ้าสมมุติว่ามีเหตุการณ์นั้นจริงๆ ผมรู้สึกว่าขบวนการของคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยเองก็จะมีกระแสต่อต้านพอสมควร นี่ยังไม่นับว่าคนที่เชียร์ประยุทธ์ก็จะออกมาต่อต้านเหมือนกัน

บิลาล: ผมยอมรับวิสัยทัศน์ของคุณโทนี่ นับว่าเป็นคนที่บริหารประเทศอยู่ในขั้นดีพอสมควร แต่ถ้าจะกลับมาก็ต้องกลับให้ถูกวิธี ซึ่งถ้ากลับมาในรูปแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผมถือว่าเป็นการไม่เคารพต่อพี่น้องประชาชนและพี่น้องนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย

เรายังคงเชื่อมั่นในหลักการว่า อำนาจสูงสุดคืออำนาจของประชาชน เพราะฉะนั้นแม้จะต้องต่อสู้กับการบริหารจัดการสุดห่วยของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ถ้าจะเอาคนที่มีคุณภาพเข้ามาแทนที่ ก็ขอให้เข้ามาด้วยประชาธิปไตย 

ทีนี้ถามว่า เราจะอ่อนข้อไหม ส่วนตัวไม่อยากกลืนน้ำลายตัวเอง เราต่อสู้กันมาตลอดว่า เราต้องการให้หลักการมันคงอยู่ ถึงแม้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร การต่อสู้ของเราต้องมีความหมาย 

ถ้าคุณทักษิณกลับเข้ามาแบบนายกฯ คนนอกได้จริง คุณคิดว่าจะเกิดความขัดแย้งในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเองไหม 

ชยพล: กระบวนการในการเลือกนายกฯ โดยเฉพาะเมื่อไม่ใช่การเลือกในรายชื่อแคนดิเดตคนใน สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ส.ว. 250 คน ผู้ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้น จึงพูดได้ยากว่าการเลือกนายกฯ คนนอก เป็นกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่ามันจะชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็อย่างที่เรารู้ว่า มันไม่เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้น เราก็ต้องสื่อสารออกไปว่าจะปล่อยให้ ส.ว. 250 คน เลือกนายกฯ ไม่ได้ ผมเชื่อว่าคนที่ต่อต้านพลเอกประยุทธ์เกือบทุกคนต่อต้าน ส.ว. 250 คน อย่างแน่นอน 

ธันยธรณ์ : ถ้าเป็นแบบนั้น สิ่งหนึ่งที่จะส่งผลเสียแน่ๆ คือพัฒนาการทางประชาธิปไตยของประเทศเรา ทุกครั้งที่ประเทศไทยพอจะตั้งต้นเป็นประชาธิปไตยได้ เราก็มักถูกตัดตอนทุกครั้ง มักมีนายกฯ คนกลางบ้าง คนนอกบ้าง คนเหล่านี้มาด้วยข้ออ้างว่าเพื่อความสงบสุขของประเทศ ไม่ให้คนทะเลาะกัน ผมรู้สึกว่าประเทศไทยมันต้องมีพัฒนาการด้วยตัวมันเอง จะต้องไม่มีวิธีการนอกระบบ แม้คุณทักษิณเข้ามา มันก็จะเป็นแบบเดิมอีก เราต้องหยุดพึ่งพาคนกลาง คนนอก 

ทีนี้ถามว่าเราจะสื่อสารยังไง ผมมีข้อสังเกตคือ คุณทักษิณเป็นคนที่มีบุคลิกผูกติดกับความนิยมของประชาชนที่เป็นฐานเสียงนับล้าน การที่คุณทักษิณจะกลับมาเป็นนายกฯ คนนอก ตามมาตรา 272 คุณทักษิณจะสูญเสียลักษณะเดิมที่เป็นผู้นำของประชาชนไปเลย 

ธิดารัตน์: ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ต้องสื่อสารออกไปว่า คนรุ่นใหม่อย่างเราไม่เห็นด้วย เพราะว่าคนรุ่นใหม่ไม่เอาลัทธิบูชาตัวบุคคล 

เราต้องการสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มั่นคงในระยะยาว ถึงแม้ว่าทักษิณจะเข้ามาแก้ไขปัญหาได้ภายใน 2 เดือน 3 เดือน แล้วโครงสร้างระยะยาวล่ะ ทุกอย่างมันก็จะยังเหมือนเดิมใช่ไหม 

ถ้าไม่เอานายกฯ คนนอก มีใครมีความหวังกับความสามารถของนายกฯ คนในตามบัญชีรายชื่อแคนดิเดตบ้าง ยกมือ

(…ไม่มีใครยกมือ)

เช่นนั้นแล้ว ในการเลือกตั้งรอบหน้า (ถ้ามี) อยากได้ใครมาแก้วิกฤติ 

บิลาล: มันค่อนข้างตอบยาก จากลิสต์ของแคนดิเดตนายกฯ คนในตอนนี้ ผมยังไม่เห็นใครที่จะกล้าไปแตะโครงสร้างเลย ทีนี้พอคนรุ่นใหม่อย่างเราที่ต้องการให้โครงสร้างมันแข็งแรงขึ้น ต้องการให้ทุกอย่างมันประคับประคองไปด้วยระบอบประชาธิปไตยและเห็นหัวพี่น้องประชาชนมากที่สุด เราเลยต้องการคนที่คิดว่าน่าจะพยุงให้ระบอบประชาธิปไตยเดินคู่กับพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าจะเป็นใคร 

ประกาศิต: ผมไม่รู้เลยว่าใครที่จะสามารถมาแก้ปัญหาตรงนี้ได้ มันก็ต้องปล่อยให้เขาแข่งกันในเชิงนโยบาย สำหรับผมยังไม่มีใครในใจ ขอแค่คนคนนั้นมาจากกระบวนการการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนอื่นต้องไปแก้รัฐธรรมนูญให้เอื้อต่อคนที่มีความสามารถเข้ามาให้ได้ก่อน 

ธิดารัตน์: เป็นใครก็ได้ที่เขากล้าที่จะพูดถึงการจำกัดอำนาจของชนชั้นนำ และผลักดันรัฐสวัสดิการ 

ธันยธรณ์: มันตอบยาก เพราะเลือกตั้งครั้งหนึ่งมันจะมีเซอร์ไพรส์โผล่ขึ้นมาเสมอ คราวที่แล้วก็เป็นพรรคส้ม เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะต้องดูกันต่อไปว่า พรรคการเมืองไหนที่ประชาชนเขาชอบ หรือพรรคไหนมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่จะต่อสู้ต่อไป 

ชยพล: ใครก็ตามที่จะเข้ามา เขาจะสามารถทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีการรื้อระบอบสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถ้าแก้สองอย่างนี้ได้ ผมเชื่อว่ารัฐบาลจะทำงานได้ ส่วนจะทำได้ดีแค่ไหนก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยระบอบประชาธิปไตย เราจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

คิดว่าการที่ม็อบ #ไล่ประยุทธ์ มีความดุดันขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องกระบวนการหลังประยุทธ์ออกไป จะเป็นปัญหาไหม 

 บิลาล: มันค่อนข้างที่จะขยับไปสู่ปัญหามากขึ้น ผมเข้าใจว่าการออกมาของแต่ละกลุ่มในการขับไล่พลเอกประยุทธ์ เป็นความเห็นพ้องกันว่าพวกเราไม่ไหวกับการบริหารจัดการประเทศแบบนี้แล้ว มันเป็นความโกรธแค้นที่เราต่างมีตรงกัน 

ผมก็เห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนว่า ถ้าพลเอกประยุทธ์ออกไปแล้ว เราจะเสนอใครเป็นนายกฯ หรือกระบวนการเป็นแบบไหนต่อไป แต่คนที่เชียร์พี่โทนี่อยู่ก็คงมีหวังลึกๆ ว่าจะได้พี่โทนี่กลับมา แต่คนที่ไม่เชียร์ก็บอกว่า ถ้าโทนี่กลับมาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่าแต่ละกลุ่มคงมีในใจกันอยู่ เพียงแค่ไม่สามารถที่จะพูดออกมาให้สื่อรับฟังได้ อาจเป็นเพราะกลัวว่ากระแสจะตีกลับ ซึ่งความไม่ชัดเจนตรงนี้จะเกิดขึ้นในวันที่พลเอกประยุทธ์ลาออก

ตอนนี้ประชาชนผนึกกำลังกันภายใต้ธง #ไล่ประยุทธ์ กังวลไหมว่าถ้าไล่ประยุทธ์ไปแล้ว กำลังที่ผนึกได้จะแตกร้าวอีกรอบ 

ชยพล: อย่างน้อยวันนี้ประชาชนมีเป้าตรงกันในข้อใหญ่ ส่วนเป้าอื่นๆ ผมว่าเป็นเรื่องของอนาคตที่เราต้องไปตกผลึกร่วมกันอีกที 

ธันยธรณ์: การที่มวลชนไม่ได้มีทางออกที่ชัดเจนว่าจะเอาใครมาแทน ผมคิดว่าไม่ได้เป็นปัญหาขนาดนั้น เพราะในบรรดาขบวนการไล่นายกฯ ที่ผ่านมาก็มีน้อยมากที่จะมีทางออกชัดเจนว่าจะเอาคนนั้นคนนี้ขึ้นมาแทน 

ตอนนี้เรากำลังพูดถึงความล้มเหลวของรัฐบาล เน้นวิพากษ์วิจารณ์พลเอกประยุทธ์เป็นหลัก ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะเหมือนตัวแทนนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มาสนับสนุนคนนั้นคนนี้แล้วก็จากไป ฉะนั้น ผมคิดว่าการที่ไม่มีทางออกที่ชัดเจนว่าจะเอาใคร อาจจะไม่ได้เป็นปัญหา แต่มันจะแสดงอาการหลังจากนั้น มันจะทะเลาะกันแน่นอน 

แต่ผมคิดว่ามันน่าจะมีทางออกร่วมกันได้ ต่อให้ไม่มีความชัดเจนในตอนนี้ แต่ภายหลังที่ไล่พลเอกประยุทธ์ออกไปได้ ก็คงจะมีกระบวนการบางอย่างที่สามารถสรุปออกมาได้ว่าใครจะเป็นนายกฯ แทน 

ธิดารัตน์: สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าพลประยุทธ์จะออกหรือว่าใครออก เราก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราต้องเอา ส.ว. 250 คน ออกไป เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่เอา 250 คนนี้ออกไป ไม่ว่าเราจะมีนายกฯ คนนอกหรือคนใน มันก็อาจจะเกิดการดีลกันขึ้น แล้วก็หาคนมาสืบทอดอำนาจของ คสช. อยู่ดี ถ้าเราแก้ไขรัฐธรรมนูญ เอา ส.ว. 250 ออกไปแล้ว ใครจะเป็นนายกฯ ค่อยว่ากันอีกที

ประกาศิต: ผมยังมองไม่เห็นภาพที่ประยุทธ์จะออกเลย ถึงแม้เขาจะออก สุดท้ายแล้วด้วยระบบโครงสร้างที่ยังไม่ได้แก้ เราก็จะมีประยุทธ์สอง ประยุทธ์สาม ไปเรื่อยๆ ส่วนตัวผมยังโฟกัสอยู่ภายในกรอบของการต่อสู้ตรงหน้า การที่เรายังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นนายกฯ คนต่อไป มันเลยยังไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่

เชื่อว่าจะมี super deal ไหม ใครเชื่อ ยกมือ

(ทุกคนยกมือ ยกเว้นประกาศิต) 

ประกาศิต: ผมมองว่าโอกาสที่เขาจะกลับมา มันแค่ประมาณ 0.01 เปอร์เซ็นต์ ด้วยระบบโครงสร้าง หรือระบบยุติธรรมของประเทศ ณ ตอนนี้ ถ้าเขามา ก็เหมือนมาเสี่ยง ไม่รู้ว่ามาแล้วจะไปยังไงต่อ อีกทั้งจะถูกต่อต้านจากขบวนการที่สนับสนุนประชาธิปไตยอีก 

คนอื่นๆ วิเคราะห์การเกิดขึ้นของ super deal จากอะไร 

บิลาล: ที่ให้น้ำหนักไปว่ามันอาจจะเป็นไปได้ เพราะว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ครั้งนี้ถือว่ามีความชัดเจนพอสมควร ทั้งการออกมามีบทบาทใน Clubhouse ทั้งผ่านกลุ่ม Care ค่อนข้างที่จะมีความมั่นใจ ผ่านคำพูดและความคิดเห็น แต่จะกลับมาในลักษณะไหน หรือจะมาได้สำเร็จไหม ผมไม่การันตี

ธิดารัตน์: รู้สึกว่าเขาพยายามสื่อสารกับโหวตเตอร์ของเขาหนักมากในช่วงนี้ พยายามสร้างพื้นที่สำหรับสื่อสารกับคนรุ่นใหม่เยอะ แล้วยังชอบพูดเน้นว่า กลับแน่ๆ เขามั่นใจมากในระดับหนึ่ง เพราะตัวเขาเองก็เป็นซูเปอร์อภิมหาแห่งการดีลอยู่แล้ว 

ธันยธรณ์: มันมีการดองเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่ว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ อันนี้ตอบไม่ได้ แต่ยังไงมันก็มีการดีล เพราะเราเริ่มมองเห็นทีมงานในพรรค นอกพรรค สื่อสารในลักษณะที่เน้นไปยังตัวคุณทักษิณมากขึ้นเรื่อยๆ และคุณทักษิณเริ่มมีการตอบโต้กับกระแสสังคม ทำให้รู้สึกว่าเขาเริ่มมีจุดยืนในประเด็นทางสังคมที่คนรุ่นใหม่สนใจ เหมือนกำลังเตรียมความพร้อม 

ชยพล: ผมเชื่อว่าการปรากฏตัวในรอบหลังๆ เป็นสัญญาณแน่นอน ตอนแรกมาเป็นเสียง ตอนนี้มาเป็นวิดีโอแล้ว เขาทำให้เขาดูเข้าถึงง่าย ปกติเวลาเราเห็นคุณทักษิณอยู่ต่างประเทศ จะอยู่ใน YouTube แต่ว่าทุกวันนี้คนรุ่นใหม่สามารถพูดคุยกับดอกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ได้ง่ายๆ มันก็แปลกใหม่ 

ถ้ามีโอกาสได้คุยกับพี่โทนี่ วันนี้เราอยากบอกอะไร

ธิดารัตน์: คงบอกว่าในฐานะคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง เราเป็นคนที่เคารพในหลักการประชาธิปไตย ถ้าคุณจะมาโดยไม่ชอบ หรือมาโดยใช้อำนาจบางอย่าง เราไม่เอาคุณแน่นอน

 ประกาศิต: ถ้ากลับมาก็ดีใจ แต่ก็ยังไม่ใช่ตอนนี้ ถ้าจะมาจริงๆ ก็ขอให้มาตามระบบ ตามกระบวนการของประชาธิปไตย มาเคลียร์ปัญหาต่างๆ ที่ยังมีข้อคาใจ ทั้งคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่าที่ยังมีข้อคาใจกับพี่โทนี่อยู่ 

บิลาล: คุณโทนี่เองก็มีบ้าน ผมเองก็มีบ้าน บ้านคือที่ที่สบายใจที่สุด ขอให้การกลับมาของท่านสง่างาม โดยเคารพในระบอบประชาธิปไตยและประชาชน

ธันยธรณ์: คุณโทนี่เป็นคนที่หลายๆ คนมองแล้วเชื่อใจ เชื่อในฝีมือในระดับต้นๆ ของประเทศ เพราะฉะนั้นคุณทักษิณไม่ควรทำลายภาพจำของตัวเองที่ดีๆ เหล่านี้โดยการมาเป็นนายกฯ คนนอก ผมคิดว่าจริงๆ แล้วถ้าท่านมาตามกระบวนการประชาธิปไตย ผมก็ไปเลือกท่าน และคิดว่าหลายๆ คนก็เลือกท่าน พร้อมเลือกท่านแน่นอน ขอแค่มาตามประชาธิปไตย

ชยพล: 15 ปี ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 เป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ แล้วก็ไม่ใช่แค่บทเรียนเดียว มันมีมาเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าคุณทักษิณมีบทเรียนมากพอแล้วกับการคุยกับคนเหล่านั้น แล้วผมก็เชื่อว่าถ้าคุณโทนี่กลับมาด้วยกระบวนการที่พวกเรายอมรับกันได้ เป็นประชาธิปไตยและชอบธรรม คุณโทนี่จะกลับมาอย่างสง่างาม

โอมาร์ หนุนอนันต์
นักศึกษาสาขาการเมืองระหว่างประเทศผู้สนใจในความคิด อุดมการณ์ และอำนาจการครอบงำที่อยู่ในสิ่งสามัญรอบตัว หลงใหลในภาษาและการสื่อสาร ที่มักซ่อนเร้นความจริงบางอย่างที่มนุษย์ผู้ใช้ภาษาไม่เคยควบคุมมันได้

ณัฎฐณิชา นาสมรูป
นักศึกษากราฟิกดีไซน์ ผู้สนใจในเรื่องเพลง การเมือง และประเด็นทางสังคม เป็นคนพูดไม่เก่งแต่มีเรื่องราวมา Deep conversation กับเพื่อนเสมอ เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือมาก แต่ตอนนี้ชอบนอนมากกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า