สื่ออังกฤษ The Guardian เปิดเผยว่า สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ประสบความสำเร็จในการล็อบบี้รัฐบาลให้เปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายเพื่อปกปิดทรัพย์สินส่วนพระองค์ต่อสาธารณะ
The Guardian เปิดเผยบันทึกข้อความในหอจดหมายเหตุแห่งชาติพบว่าทนายส่วนตัวของ อลิซาเบธ วินด์เซอร์ (พระนามของควีนอลิซาเบธที่ 2) ล็อบบี้ให้เหล่ารัฐมนตรีแก้ไขร่างกฎหมายเพื่อป้องกันการเปิดเผยทรัพย์สินและการถือครองหุ้นของพระองค์ต่อสาธารณะในปี 1973
ภายหลังจากการแทรกแซงอำนาจของควีนอลิซาเบธ ทำให้รัฐบาลได้แทรกข้อความในร่างกฎหมาย เพื่อให้บริษัทที่ใช้ในพระราชกรณียกิจของ ‘ประมุขแห่งรัฐ’ ได้รับการยกเว้นในกฎระเบียบความโปร่งใสใหม่
ข้อตกลงดังกล่าว เกิดขึ้นในปี 1973 ทำให้ข้อมูลการถือหุ้นและการลงทุนส่วนตัวของควีนอลิซาเบธเป็นความลับมาจนถึงปี 2011 เป็นอย่างน้อย และจน ณ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปิดเผยความมั่งคั่งของพระองค์อย่างแน่ชัด ถึงแม้จะมีการประเมินว่าควีนอลิซาเบธมีทรัพย์สินมูลค่าหลายร้อยล้านปอนด์ก็ตาม
Queen’s Consent
เอกสารที่เผยแพร่โดย The Guardian ชึ้ให้เห็นถึงการใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการทางรัฐสภาอย่างลับๆ หรือที่เรียกว่า Queen’s Consent หรือ ‘การตราพระราชบัญญัติ’ ซึ่งเป็นกระบวนการที่รัฐสภาขอความยินยอมเมื่อมีการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติที่จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งกระบวนการนี้แตกต่างจาก Royal Assent หรือพระบรมราชานุญาต
ตามกฎหมายรัฐมนตรีต้องแจ้งเตือนพระราชินีเมื่อมีการออกกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อพระราชอำนาจหรือผลประโยชน์ส่วนตัวของพระองค์
เว็บไซต์ของราชวงศ์กล่าวว่า Queen’s Consent คือประเพณีที่ปฏิบัติกันมาช้านาน และนักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญเห็นว่า การตราพระราชบัญญัติ เป็นเพียงพิธีการหนึ่งในการออกกฎหมายเท่านั้นไม่มีผลกระทบต่อข้อกฎหมายใดๆ
แต่เอกสารที่ค้นพบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติซึ่ง The Guardian เผยแพร่ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการตราพระราชบัญญัติ ซึ่งทำให้ควีนอลิซาเบธและทนายความของเธอสามารถมองเห็นช่องทางในการแทรกแซงอำนาจรัฐสภาก่อนที่จะมีการตรากฎหมาย
โธมัส อดัมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดผู้ตรวจสอบเอกสารฉบับใหม่กล่าวว่า “การดำรงอยู่ของขั้นตอนการตราพระราชบัญญัติ ดูเหมือนจะทำให้พระราชินีมีอิทธิพลอย่างมาก ต่อร่างกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อพระองค์”
อย่างไรก็ตามพระราชวัง Buckingham ปฏิเสธข้อกล่าวหาของ The Guardian ว่าพระราชินีมีการใช้ขั้นตอนการตราพระราชบัญญัติเพื่อกดดันรัฐบาล
ในแถลงการณ์โฆษกของสมเด็จพระราชินีกล่าวว่า กระบวนการการตราพระราชบัญญัติเป็นกระบวนการของรัฐสภาซึ่งเป็นประเพณีโดยทั่วไปของการใช้อำนาจอธิปไตย
“รัฐสภาจะต้องได้รับความยินยอมจากพระราชินีหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นกับผลกระทบต่อผลประโยชน์ส่วนตัวของพระราชินีรวมถึงทรัพย์สินส่วนพระองค์”
แถลงการณ์ย้ำว่า การรับรองกฎหมายจะต้องทำตามประเพณีการปกครองที่ต้องทำตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีและต้องเป็นบันทึกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
อ้างอิง