‘บ้านดง’ นาขั้นบันได ชีวิตที่เริ่มต้นบนเส้นขอบฟ้า

สภาพภูมิประเทศ

บ้านดงเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก ตั้งอยู่กลางหุบเขา ล้อมรอบด้วยภูเขาโมละกา ต้นทางของห้วยเมี่ยง ห้วยปัด ห้วยหมู และห้วยผึ้ง แหล่งน้ำหลักของชุมชน ใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร

สภาพภูมิอากาศ

ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเลเกิน 1,000 เมตร จึงมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 22 องศาเซลเซียส แบ่งเป็น 3 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูฝนที่กินเวลายาวนาน 5 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคม-เดือนกันยายน, ฤดูหนาว ตุลาคม-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 5 องศาเซลเซียส และฤดูร้อน มีนาคม-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ย 32 องศาเซลเซียส

ภูมิหลังชุมชนท้องถิ่น

บ้านดงเป็นหมู่บ้านในป่าทึบ บางตำนานเล่าว่า เดิมทีชาวละเวือะในบ้านดงคือผู้ร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะอพยพหนีทัพพม่าขึ้นสู่ที่สูง ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่ข้อมูลอีกชุดระบุว่า แต่เดิมหมู่บ้านดงเป็นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยง ต่อมาประมาณปี 2430 ได้มีชาวเขาเผ่า ‘ละเวือะ’ หรือ ‘ละว้า’ อพยพเข้ามา ปัจจุบัน บ้านดงจึงเป็นหมู่บ้านของชาวละเวือะ จากการสำรวจในปี 2560 ประชากรในหมู่บ้าน 201 เรือนมีทั้งหมด 927 คน  

พันธุ์ข้าว

สายพันธุ์ข้าวนาพื้นเมืองของชาวละเวือะ เช่น

  • ข้าวนาเมล็ดใหญ่ (เฮงาะเลอ-พิญ)
  • ข้าวสะดือดำ (เฮงาะลองเลอ-ทิญ)
  • ข้าวบ้านดงเมล็ดใหญ่ (เฮงาะยวงราง-เลอ-ทิญ)
  • ข้าวบูมือเหลือง (เฮงาะบูมือเซอเงย, เฮงาะเลือง)
  • ข้าวกอดำ (เฮงาะเพือน)
  • ข้าวมุก (เฮงาะมุก)

ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่ในบ้านดงคือ ‘ข้าวเหลือง’ หรือ ‘เฮงาะเลือง’ มี 3 ขนาด เมล็ดสั้น เมล็ดกลาง และเมล็ดยาว

ข้าวเฮงาะเลือง
รอบการปลูก

ปักดำเดือนเมษายน-พฤษภาคม เก็บเกี่ยวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 250 กิโลเมตร ตั้งต้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลเกิน 1,000 เมตร ภูเขาที่โอบล้อมก่อร่างพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นหุบกว้าง ไล่ระดับจากบนลงล่างคือลำดับขั้นที่มีชีวิต

ยอดและรวงสีทองเรียงเสมอหน้า จากสีทองบนเส้นขอบฟ้า ลดหลั่นลงมาตามภูมิประเทศ เป็นรูปธรรมของบันไดบนผืนดิน บนลงล่าง-ตามแรงดึงดูดของโลก น้ำที่ไหลจากพื้นที่สูงหล่อเลียงชีวิตระหว่างการเดินทางสู่ที่ต่ำ 

ทั้งหมดคือผืนนาขั้นบันไดที่แผ่เป็นสีเหลืองทองแห่งบ้านดง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซ่อนอยู่กลางหุบเขาเขียวเข้ม บางยอดหลบหลังก้อนเมฆที่ลอยต่ำ แต่โชคดี ท้องฟ้ายังเปิดช่องให้แสงแดดสาดลงมาที่นาขั้นบันไดแห่งบ้านดงยาวนานกว่าสัปดาห์ หลังจากเมฆขมุกขมัวและอากาศหนาวเย็นยึดครองพื้นที่มาหลายวัน

“ก็ต้องดูฟ้าฝน ถ้าแดดออกจ้าประมาณสัก 2 อาทิตย์ก็เริ่มเกี่ยวได้ เพราะที่นี่การเก็บเกี่ยวมันจะพร้อมกัน” 

วิทุน ขยันใหญ่ยิ่ง บอกไว้เมื่อปลายเดือนตุลาคม ณ จุดหนึ่งของนาผืนใหญ่ ยอดและรวงถูกเกี่ยวด้วยคมเคียวของใครหลายคน ผลงานในมือซ้ายถูกวางเป็นระเบียบบนตอซัง อุปกรณ์ในมือขวายังทำหน้าที่อย่างขะมักเขม้นเป็นจังหวะ ระนาบนาข้าวแต่ละขั้นบันไดค่อยๆ เตี้ยลง จากสูงกว่าเอวเป็นสั้นเสมอเข่า

“เวลาเกี่ยวของที่นี่จะกำหนดไว้ประมาณวันที่ 25 ตุลา-15 พฤศจิกา เหมือนที่ว่าเมื่อกี้ ถึงแม้จะปลูกห่างกันประมาณ 15 วัน การเก็บเกี่ยวจะอยู่ในช่วงเดียวกัน” 

หมู่บ้านละเวือะ

โทรศัพท์บางระบบไม่มีสัญญาณ ในครัวมีแสงสลัว เตาไฟแบบเก่าตั้งอยู่ไม่ไกลจากกลางห้อง บนนั้นมีของแห้งวางแผ่บนเสื่อผืนหนึ่ง ในฤดูหนาว ห้องครัวกลายเป็นห้องนอนอบอุ่น ในวันทั่วๆ ไป ห้องริมสุดของบ้านนี้จะอวลควันไปทั่ว แทรกตัวด้วยกลิ่นของอาหารที่ถูกยกลงจากเตาไฟในแต่ละมื้อแต่ละวัน 

“อยู่บ้านนี้ต้องกันเอง” ในฐานะผู้มาเยือน ประโยคนี้แทบจะกลายเป็นคำทักทายจากครอบครัวขยันใหญ่ยิ่งตั้งแต่พบหน้ากันครั้งแรก

จากปากคำของคนเฒ่าคนแก่ เมื่อครั้ง ‘บ้านดง’ ยังเป็นส่วนหนึ่งของป่าทึบ ต้นขนุนเรียงเป็นดงรายรอบหมู่บ้าน วิทุนบรรยายภาพปัจจุบันซึ่งกลายเป็นที่เตียนเปิดโล่ง มองเห็นผืนนาและถนนดินเส้นเล็กๆ ที่ตัดผ่านว่า “เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ขนุนตายไปตามอายุขัยของมัน” 

ชาวละเวือะเรียกตัวเองว่า ‘ละเวือะ’ ขณะที่ศัพท์พื้นราบจะคุ้นชินกับ ‘ละว้า’ (Lawa) ตามการออกเสียงภาษาอังกฤษ แต่ในความคล้ายคลึงของคำ ชื่อที่ออกเสียงใกล้เคียงกันกลับมีความหมายและนัยต่างกันมากกว่าที่คิด 

“จริงๆ ละเวือะเป็นศัพท์ชนเผ่าของละว้า ละว้าอาจจะเป็นภาษากลางทั่วไป ถ้าเราคุยกับคนพื้นราบหรือกะเหรี่ยง ก็เรียกละว้า แต่ถ้าละเวือะคือเป็นภาษาละว้า จะมีอีกคำที่ไม่ค่อยสุภาพคือ ‘ลัวะ’ ก็เรียกได้อยู่ แต่เป็นศัพท์ที่ฟังแล้วไม่ค่อยปลื้มเท่าไรสำหรับชนเผ่า”

วิทุนอธิบายในเบื้องต้น เป็นการทำความรู้จักกับบ้านดงบทที่ 1 ก่อนที่บทสนทนาต่อๆ ไปจะเริ่มต้นขึ้น

ขั้นบันไดบนดอยสูง

จากจุดต่ำสุดของพื้นที่ มุมเงยประมาณ 30 องศา จะพาสายตาไปสุดที่ขอบฟ้า ยอดรวงข้าวสีทองบนจุดสูงสุดไหวตัวเล็กน้อยตามแรงลมเดือนตุลาคม ฤดูหนาวกำลังจะมาเยือนในอีกไม่กี่วัน ผืนนาไล่เรียงสูง-ต่ำตามลำดับชั้น ภูเขากับพื้นราบนั้นแตกต่าง ความสูงชันอนุญาตให้ทำการเกษตรได้ไม่กี่อย่าง เมื่อไม่อาจทำให้ภูเขาปรับตัวเข้าหาเรา มนุษย์จึงต้องสร้างสรรค์หาที่ทางทำกินตามสภาพ วิทุนเล่าว่า นาขั้นบันไดไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ด้วยวัย 40 กว่า ภาพของนารูปแบบนี้อยู่ในสายตาของเขามาตั้งแต่เด็ก 

“วิถีชีวิตคนบ้านดง เมื่อก่อนทำไร่เลื่อนลอยเยอะ มีนาขั้นบันไดเพิ่มขึ้นตอนที่โครงการหลวงแม่ลาน้อยมาส่งเสริมอาชีพ นาที่นี่จะสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ใช้น้ำเหมืองดึงจากห้วยไปถึงที่นา จะไม่ใช้ระบบแรงดันจากท่อ นาขั้นบันไดมันก็ตามสภาพพื้นที่ ตามความลาดชัน มีระดับ การทำเป็นขั้นที่ผ่านมาก็ใช้แรงคนทั้งหมด แม้กระทั่งตอนไถ ที่นี่เมื่อก่อนใช้ควาย หลังๆ สังคมพัฒนาขึ้นก็ใช้รถไถเดินตาม” 

เส้นโค้งที่วาดระบัดไปตามระดับความสูงของพื้นที่ไม่มีการออกแบบตายตัว ธรรมชาติคือสถาปนิกผู้กำหนดแบบร่างหุบเขาเอาไว้ตามความลาดชันและทางไหลของน้ำ (form follows function) รูปแบบของนาแต่ละแปลงก็เช่นกัน ความโค้งของขั้นบันไดยึดตามสภาพพื้นที่และทางน้ำไหลเป็นเกณฑ์ มีกฎง่ายๆ 2 ประการ หนึ่ง-ให้ระดับน้ำในแปลงเท่ากัน สอง-เป็นแปลงขนาดเล็ก เพื่อให้การจัดการน้ำทำได้ง่าย 

เฮงาะเหลือง ข้าวพื้นเมืองบนนาขั้นบันได

“ของที่นี่จะมีอยู่ 2 แบบ คือหนึ่ง-ใช้กับนาขั้นบันได มีประมาณ 7 สายพันธุ์ กับที่ปลูกเป็นไร่เลื่อนลอย อันนั้นจะใช้อีกแบบ โดยเฉพาะข้าวนาจะใช้ ‘เฮงาะเลือง’ หรือข้าวเหลือง มันจะมี 3 สายพันธุ์ เมล็ดสั้น เม็ดกลาง เม็ดยาว”

คำละเวือะ ‘เฮงาะ’ แปลว่า ‘ข้าว’ วิทุนอธิบายว่า ข้าวพื้นเมืองบ้านดงที่ปลูกและบริโภคกันทั่วไปคือ ‘เฮงาะเหลือง’ หรือข้าวเหลือง ซึ่งเมล็ดข้าวบนรวงจะมีสีเหลือง แต้มลายสีน้ำตาล แบ่งตามขนาดเมล็ดคือ เฮงาะเลืองเมล็ดสั้น เฮงาะเลืองเมล็ดกลาง เฮงาะเลืองเมล็ดยาว

เช่นเดียวกับข้อมูลจาก ธนันชัย มุ่งจิต พี่เลี้ยงนักวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย โครงการจัดการท่องเที่ยววิถีชาวนาในบริบทของชุมชนชาวละเวือะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ให้ความแตกต่างของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองละเวือะว่ามีหลากหลาย ทั้งสายพันธุ์ และการนำไปใช้งาน 

“พันธุ์ข้าวภาษาถิ่น เมื่อก่อนก็มีหลายพันธุ์ คือหนึ่ง-การทำไร่หมุนเวียนจะใช้พันธุ์ต่างหาก แต่จะให้แยกเป็นชนิดอีกก็มี เฮงาะลอง เฮงาะพรี เฮงาะอะเลก นี่คือข้าวไร่ที่ใช้ไร่หมุนเวียน ถ้าเป็นข้าวที่ใช้กับนาก็มี เฮงาะอะเซะ เฮงาะอะติง เฮงาะปิด เฮงาะเลืองซึ่งมี 3 อย่าง เฮงาะเลืองสั้น เฮงาะเลืองกลาง เฮงาะเลืองยาว

“อย่างบ้านดงที่ยังรักษาไว้อยู่ก็จะเป็นพันธุ์ข้าวนาเป็นหลัก เพราะระบบการทำไร่หมุนเวียนจะไม่มีแล้ว พันธุ์ข้าวนาก็จะเหลืออยู่ 4 พันธุ์หลักๆ ซึ่งก็จะแยกย่อยออกไปอีก ซึ่งถ้ารวมตัวย่อยของมันจะรวมเป็นประมาณ 7 สายพันธุ์ที่มีอยู่ อย่างข้าวเหลืองจะแยกออกเป็น 3 ลักษณะตามที่ว่า มันก็มีความแตกต่างของมันอยู่”

การอนุรักษ์พันธุ์อย่างง่ายเพื่อไม่ให้ข้าวพื้นเมืองหายไป คือจะมีการหมุนเวียนพันธุ์ข้าวในแปลง ไม่ใช้ข้าวชนิดใดชนิดหนึ่งปลูกติดกันเกิน 2 ปี เช่น ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่ในบ้านดงคือข้าวเหลือง ถ้าปีนี้ใช้ข้าวเหลืองเมล็ดสั้น อีก 2 ปีถัดไป นาแปลงนั้นก็อาจกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเหลืองเมล็ดยาวแทน ธนันชัยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวยังคงอยู่ 

“ข้าวท้องถิ่นถูกอนุรักษ์ ทำให้ยังไม่ต้องซื้อข้าวข้างนอกกิน เมื่อสามารถรักษาข้าวนาข้าวไร่ไว้ได้ กระบวนการผลิตก็ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีมากมาย เนื่องจากตัวพันธุ์ข้าวมันมีความต้านทานในตัวเองและมีความเหมาะสมกับพื้นที่อยู่แล้ว”

ชีวิตชาวนาใน 1 ปี

เดือนเมษายน-พฤษภาคม คือช่วงเริ่มต้นของชีวิตชาวนา หว่าน ดำ ตามขั้นตอน ก่อนจะไปเก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ชาวนาบ้านดงทำนาเพียงปีละ 1 ครั้ง และแม้ว่าเวลาปลูกจะเหลื่อมหรือไม่ตรงกัน ข้าวที่ปลูกเดือนต้นเดือนเมษายนกับข้าวที่ปลูกปลายพฤษภาคม ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ไม่เกินกลางเดือนพฤศจิกายนเหมือนกัน

“ลักษณะการปลูกของเราเป็นข้าวต้นเดี่ยว เมื่อก่อนบรรพบุรุษเคยปักดำ 4-5 กล้า ทีนี้ก็มีหน่วยงานวิจัยของโครงการหลวงเข้ามาทำ 3 ปี แรกๆ ก็ยังไม่ยอมรับว่าการปลูกข้าวต้นเดียวมันได้ผล แต่พอทำไปสักพัก ความสูงตอนแตกกอของข้าวต้นเดี่ยวมันจะพร้อมกันมากกว่า แข็งแรงกว่า”

อากาศเริ่มแห้ง แดดยังร้อน ทว่าลมเริ่มเย็น เมื่อใกล้ช่วงเวลาเกี่ยว ก่อนหน้าวันที่กำหนดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ น้ำจากลำเหมืองจะถูกปิด ปล่อยให้พื้นดินในนาแห้ง ไม่มีสีเขียวแทรกตัวอยู่ในขั้นบันไดของผืนนาแล้ว ต้นข้าวที่ออกรวงแล้วเริ่มเปลี่ยนสีเป็นเหลืองทอง เช่นเดียวกับเมล็ดข้าวนับหมื่นแสน

“การปิดน้ำก่อนเก็บเกี่ยวมันจะมีอยู่ 2 ระดับ บางแปลงมันจะเป็นพื้นที่น้ำซึมตลอด ไม่แห้ง ในส่วนนี้เราอาจจะปิดก่อนสัก 15-20 วัน ถึงมันจะชุ่มเพราะน้ำซึมอยู่แล้ว น้ำก็จะไม่เพิ่มขึ้น ส่วนบริเวณที่น้ำไม่ซึม ทิ้งไว้ไม่ต่ำกว่าอาทิตย์ก็ใช้ได้เลย ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวกัน”

แม้เป็นนาขั้นบันได แต่การเกี่ยวข้าวก็คือการเกี่ยวข้าว แรงงานคนเดินไล่เก็บผลผลิตทีละแปลง ข้าวที่เกี่ยวแล้วจะถูกกองไว้บนตอซังทีละมัด เรียงแถวกันไปอย่างเป็นระเบียบ กระทั่งสองวันผ่านไป ผู้คนกลุ่มเดิมก็จะรวบรวมรวงข้าวมาเก็บที่ลานกว้างไม่ไกลจากผืนนา 

“พอตากเสร็จก็เอามากองๆ รวมๆ กัน ที่นี่จะไม่ใช้เครื่องจักร ใช้แรงคนฟาด ทั้งแปลงอาจจะกองไว้สัก 2 จุด ทีนี้เอาผ้าสักวาหนึ่งมารวบเป็นมัดพอที่เราจะฟาดได้ พอฟาดปุ๊บก็จะมีไม้เกี่ยวเอามาแยกให้เมล็ดร่วงอีกที”

เมล็ดข้าวเปลือกที่แห้งดีจะเก็บไว้ได้นาน วิทุนบอกว่า เก็บไว้สัก 2-3 ปีก็ไม่มีอะไรเสียหาย ส่วนวิธีวัดความชื้นทำได้ง่ายๆ ด้วยการลองแทะเมล็ดดูว่าแข็งและแห้งแค่ไหน  

“แต่ละครัวเรือนจะมียุ้งข้าว ข้อแตกต่างของวิธีบนดอยคือถ้าจะสีต้องตากข้าวเปลือกก่อน ให้เม็ดมันแข็ง พอแข็งปุ๊บ การหุงมันง่าย การเก็บรักษาก็ง่าย ถ้าไม่ตากก่อน เก็บไว้สัก 2 อาทิตย์ข้าวสารจะเกาะกันเป็นก้อนๆ จะเก็บแบบทั่วไปไม่ได้ เพราะบางเดือนอากาศชื้นมาก”

เพราะเป็นการทำนาปีละ 1 ครั้ง หลังการเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลง ที่หลงเหลือในนาปราศจากต้นข้าวคือตอซังเรียงเป็นแถวแนว ผลผลอยได้นี้ไม่ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เพราะจะถูกนำไปเลี้ยงสัตว์บ้าง ปล่อยให้เน่าในแปลงกลายเป็นปุ๋ยบ้าง แต่หลังจากโครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมอาชีพ ชาวนาบ้านดงหลายคนที่ยังพอมีแรงงานก็ไม่ปล่อยนาหลังฤดูเก็บเกี่ยวไว้เปล่าดาย ในพื้นที่เดียวกัน ขั้นบันไดที่ไม่กี่เดือนก่อนเต็มไปด้วยข้าวก็จะถูกแปลงเป็นพื้นที่ปลูกผักหลากชนิด

“ถ้าจะทำพืชผักต่อ ก็มีปลูกมะเขือบ้าง ปลูกพริกบ้าง ปลูกผักที่โครงการหลวงส่งเสริม ส่วนมากหลักๆ ก็ส่งโครงการหลวง แต่ของเราถ้าทำมันก็ต้องคุมด้วย GP (green productivity) คือการจัดการในแปลงจนถึงผู้บริโภค”

ด้วยเหตุผลว่าไม่มีแรงงานเพียงพอ พื้นที่นาของวิทุนจึงถูกปล่อยร้างจนกว่าฤดูกาลใหม่จะวนมาถึง แม้ ‘การทำนา’ จะเป็นเหมือนอาชีพ แต่นั่นก็เพียงช่วงระยะหนึ่งของปี เวลาส่วนที่เหลือ วิทุนเลี้ยงไก่ในบริเวณบ้าน เลี้ยงหมู นอกจากนี้ สิ่งที่ทำรายได้เลี้ยงครอบครัวเป็นตัวเงิน สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี คือการปลูกพืชส่งโครงการหลวง ทั้งฮ่องเต้ เบบี้คอส ผักสลัด โดยเฉพาะอะโวกาโด ที่วิทุนใช้คำว่า “เป็นงานหลักๆ ของผม”


ช่วงเวลาของการทำนาขั้นบันได

1. ต้นเดือนเมษายนเตรียนพื้นที่หว่านกล้า และเริ่มหว่านต้นกล้าในเดือนพฤษภาคม โดยวิธีหว่านกล้ามี 2 แบบคือ

  • แบบที่ 1 หว่านในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยปล่อยน้ำในพื้นที่เตรียมไว้ แล้วหว่านกล้า
  • แบบที่ 2 หว่านในพื้นที่ดอนใกล้นา โดยเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ แล้วหว่านกล้า จากนั้นรอจนกว่าฝนจะตก

2. หลังจากต้นกล้ามีอายุได้ 25 วัน จะเริ่มไถนา ซ่อมเหมืองปล่อยน้ำ และเริ่มปล่อยน้ำเข้ามาในนาให้ดินอ่อนตัว 

3. เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ 50-60 วัน จะเริ่มถอนกล้าข้าว และทำการปักดำภายใน 1-2 วัน

4. ในวันเริ่มดำนา จะมีการชวนผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนมาทำพิธีเลี้ยงเจ้าที่ (โนกจาตี) โดยใช้ไก่หรือหมู ในกรณีนาที่มีหัวเหมือง ก็จะทำการเลี้ยงผีหัวเหมืองในวันเดียวกัน จากนั้นชวนญาติหรือเพื่อนบ้านมาช่วยลงแรงแบบเอามื้อเอาวันกัน

5. เดือนสิงหาคม จะเอาหญ้าออก 1 รอบ จากนั้นปล่อยน้ำออกประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วปล่อยน้ำเข้าอีกรอบ

6. เดือนกันยายนข้าวเริ่มตั้งท้อง ต้องดูแลน้ำในนาแต่ละแปลงไม่ให้แห้ง พร้อมกับการถางหญ้าที่คันนา

7. ต้นเดือนตุลาคม ข้าวเริ่มออกรวง กระทั่งรวงข้าวเริ่มเหลืองจะปล่อยน้ำออก เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว

8. การเก็บเกี่ยวจะเริ่มต้นขึ้นปลายๆ เดือนตุลาคม เมื่อเกี่ยวเสร็จจะตากข้าวไว้ 2-3 วัน 

9. เมื่อข้าวแห้งจะเริ่มขั้นตอนการนวดข้าว โดยนวดข้าวกับพื้น ต่อมาจะใช้ไม้นวดซ้ำ จากนั้นจะทำการพัดเศษฟางออก และบรรจุลงถังหรือกระสอบ


ชาวนาที่ไม่ขายข้าว

หากเป็นนาพื้นราบ ต่างพันธุ์ข้าว ต่างช่วงเวลา ต่างวิธี วัตถุประสงค์หลักคือการปลูกเพื่อขาย ตัวเลขผลผลิตคือเป้าหมายหนึ่งของการลงมือลงแรง ขณะที่ชาวนาบนดอยสูงเลือกวิถีทางอีกแบบ ด้วยเหตุผลหลายประการ ทำให้การทำนาครั้งหนึ่งเต็มไปด้วยการคำนวณ-คำนวณว่าใน 1 ปี ครอบครัวต้องการข้าวไว้กินในปริมาณเท่าไร ทำให้ ‘ปลูกเองกินเอง’ กลายเป็นคอนเซปต์หลักในการทำนาของบ้านดง 

“ยอมรับและให้ความชัดเจนเลยว่าของที่นี่จะปลูกข้าวไว้เพื่อกิน ถ้าจะทำเพื่อตลาด กว่าจะเก็บเกี่ยวได้ ตั้งแต่เมษาจนถึงพฤศจิกา มันจะไม่คุ้มกับค่าแรงที่เราได้กลับมาจากผลผลิตของเรา แต่ถ้าทำเพื่อบริโภค ของที่นี่จะปลูกเองทุกครัวเรือน”

ตัวเลขคร่าวๆ ของครอบครัวขยันใหญ่ยิ่งที่มีสมาชิก 4 คน วิทุนบอกว่า การปลูกเพื่อกินที่ว่านี้ เป้าหมายขั้นต่ำของเขาคือประมาณ 70 ถังต่อปี

“ปีหนึ่งจะหมดข้าวเปลือกสัก 70 ถัง หรือว่าถ้าเป็น 90-100 ถัง ก็อาจจะเหลือนิดหน่อย เพราะเรากำหนดก่อนปลูกว่าจะเอาข้าวแค่ไหน พื้นที่เท่านี้ได้เท่านี้ ปีนี้จะหมดข้าวประมาณเท่าไร ถ้าข้าวเปลือก 100 ถัง สีเรียบร้อยแล้วก็จะได้ข้าวสารอยู่ที่ประมาณ 50-70 ถัง” 

เมื่อไม่ได้เป็นการปลูกข้าวปริมาณมากมายเพื่อขายตลอดทั้งปี ชาวนาบนที่สูงจึงไม่ต้องการโรงสีขนาดใหญ่ และแม้การพัฒนาของเครื่องจักรจะทำให้การหาเครื่องสีข้าวขนาดเล็กไม่ได้เป็นภาระยากเย็นเกินไปนัก แต่ชาวนาที่บ้านดงเลือกที่จะลดภาระของครอบครัว ด้วยการใช้บริการโรงสีครัวเรือนเล็กๆ ที่รับสีข้าวให้คนในชุมชน โดยมีราคาค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 8 บาทต่อข้าวเปลือก 1 ถัง 

ธนันชัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ผู้คุ้นเคยกับวิถีชีวิตชาวนาบนพื้นที่สูง ไม่ว่าจะเป็นบ้านดง ป่าแป๋ และละอูบ บอกว่า ทั้ง 3 หมู่บ้านของชาวละเวือะที่ฝากชีวิตไว้กับนาขั้นบันไดมีแนวคิดการทำนาไม่แตกต่างกัน คือปลูกแค่พอกินในครอบครัว 

“ในแม่ฮ่องสอนการผลิตข้าวมันเป็นวิถีชีวิต เพราะว่าที่นี่หลักๆ บ้านดง ป่าแป๋ ละอูบ ไม่ได้ปลูกข้าวไว้เพื่อขาย วัตถุประสงค์หลักคือปลูกข้าวไว้กินอย่างเดียว กินให้เพียงพอ หนึ่ง-ในตัววัตถุประสงค์กับกระบวนการผลิตมันต่างกันอยู่แล้ว สองก็คือ กิจกรรมรูปแบบการผลิตก็ต่างกันไป”

ความแตกต่างในความหมายของธนันชัย คือการทำนาภาคกลางจะเน้นเรื่องการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต เพื่อมาตอบสนองโจทย์ที่ว่า “ทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตมากที่สุด” เพื่อจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่ที่แม่ฮ่องสอน การทำนายังตั้งอยู่บนฐานเดิม คือมีวิถีชีวิตเป็นเครื่องกำกับ 

“เป็นการเอามื้อ เวลาจะเกี่ยวก็ต้องไปช่วยกัน ตั้งแต่การหว่านกล้า การไถ การเตรียมการ จนถึงการเก็บเกี่ยว มันยังเป็นเรื่องของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตัวกระบวนการผลิตอาจมีการพึ่งพาเทคโนโลยีบ้าง แต่ก็ยังต้องพึ่งพาภูมิปัญญาของพี่น้องชนเผ่าที่ใช้ในกระบวนการผลิตข้าวอยู่”

จากการสังเกตด้วยตา สัมผัสลักษณะและรสชาติ ‘เฮงาะเลือง’ หรือข้าวเหลืองเมล็ดสั้นและกลางของบ้านดง แม้มีความแข็งของเมล็ดตอนเป็นข้าวสาร แต่เมื่อนำมาหุงจะมีความเหนียว ไม่นุ่มมาก เมื่อจัดวางบนจานจะให้ความต่างจากข้าวหอมมะลิหรือพันธุ์ข้าวส่งเสริมอื่นๆ ที่คนพื้นราบเคยชินทุกมื้อทุกวัน 

และด้วยความแตกต่างของสายพันธุ์นี่เอง ทำให้ชาวนาอย่างวิทุนยืนยันสิ่งที่ตนเองปลูกและเก็บเกี่ยวด้วยสองมือ ว่าสัมผัส ความนวลของเมล็ด วิธีการหุง และรสชาติ ไม่เหมือนกับข้าวพื้นราบที่ซื้อกินแน่นอน 

“ถ้าเป็นข้าวไร่ตอนหุงจะใช้ปริมาณน้ำเยอะหน่อย ไม่อย่างนั้นเมล็ดจะแข็ง ข้าวสารบนดอยอาจจะใช้น้ำประหยัดกว่าข้าวข้างล่างหน่อย เพราะข้าวบนดอยถ้าใช้น้ำเยอะจะแฉะมาก สำหรับคนในพื้นที่อย่างผม ถ้ากินข้าวข้างล่างกับข้าวบนดอย รสชาติจะแตกต่าง ข้าวบนดอยอาจจะแข็งกว่า อย่างของบ้านเรา ระหว่างบ้านดงกับตัวอำเภอแม่ลาน้อยก็ยังแตกต่างกัน”  

วิถีชาวละเวือะบนพื้นที่สูงเกิน 1,000 เมตร

ไม่ว่าจะเป็นคนบนพื้นที่สูงหรือที่ราบ ข้าวยังคงเป็นอาหารหลักประจำวัน แน่นอนว่าปัจจุบันอาหารการกินมีความหลากหลายมากขึ้นไปตามสังคมและวัฒนธรรมที่พัฒนา บางครั้งความหลากหลายนี้มีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายให้ได้มา แต่ด้วยวิถีชีวิตแบบชาวนาบ้านดง ที่มีคอนเซปต์หลักคือการปลูกไว้กินเอง ความหลากหลายทางอาหารที่ต้องจ่ายจึงมีมูลค่าเท่ากับศูนย์

“ชาวนามันก็ต้องปลูกข้าวอยู่ดี ตามความเข้าใจของชุมชน นาก็คือปลูกข้าวได้อย่างเดียว แต่ของเราที่ว่าเป็นเชิงเกษตร เพราะปลูกพืชไร่ก็ได้ พืชผักก็ได้ ข้าวก็ได้ ไม้ผลก็ได้” 

ที่บ้านของวิทุน มื้ออาหารที่ ‘กันเอง’ นอกจากข้าวที่ได้จากนาของตัวเองแล้ว สัดส่วนของผักก็มีไม่น้อยเช่นกัน

ฟักหม่นสีออกเหลืองที่เก็บมาจากสวนถูกผ่าครึ่ง ขนาดทรงกลมมนของมันออกจะใหญ่ไปสักหน่อยสำหรับการกินให้หมดภายใน 1 วัน มื้อแรกจึงถูกหั่นออกมาแค่ส่วนหนึ่ง ผัดอย่างง่าย วางบนสำรับคู่กับไข่เจียว มื้ออาการ ‘กันเอง’ เรียบง่ายแบบนี้

วันถัดมา ฟักลูกเดิมถูกหั่นเป็นชิ้น สีขาวนวลฉ่ำสด กินกับน้ำพริกผักอีหลึง มีความซ่าซ่านเป็นเอกลักษณ์ เน้นกลิ่นมากกว่ารส และไม่ใช่แค่ฟัก ผักอื่นๆ ที่วิทุนปลูก นอกเหนือจากส่งโครงการหลวงแล้วก็ยังนำมารับประทานในครอบครัวได้

ภาคอื่นอาจมีกะปิ น้ำปลา หรือซีอิ๊ว ที่ทำให้อาหารมีรสเค็มและมีกลิ่น ถั่วเน่าคือกลิ่นและรสคู่สำรับของคนบนพื้นที่สูง ใส่ได้ทั้งแกง น้ำพริก หรือจะคลุกเคล้าปรุงรสแล้วนำไปปิ้งแบบห่อหมกก็เป็นกับข้าวที่กินคู่ได้กับทุกอย่าง

“อาหารที่นี่จะใช้เครื่องปรุงไม่เยอะ จะใส่ก็มีแต่ถั่วเน่า”

น้ำพริกถั่วเน่า ห่อใบตอง ปิ้งบนเตาถ่าน

คำว่า ‘เน่า’ ไม่ใช่ความเหม็นบูดเสีย แต่คือผลจากการหมักดอง และต่างจากถั่วเน่าของบางพื้นที่ที่ทำเป็นแผ่น ต่างจากถั่วเน่าของญี่ปุ่นที่ยังคงความเป็นเม็ด คำแนะนำในห้องครัวของ วิทุน ขยันใหญ่ยิ่ง ที่ปรุงอาหารแทบทุกอย่างด้วยถั่วเน่า บอกสูตรไว้ว่า ถั่วเน่าของบ้านดงทำอย่างง่าย ด้วยการต้มถั่วเหลืองผสมเกลือ เก็บทิ้งไว้สัก 2-3 วันก็ขึ้นราสีขาว เริ่มมีกลิ่น จากนั้นตำให้ละเอียด เก็บใส่กระปุกที่รองด้วยใบตอง ปรุงอาหารได้สารพัด  

ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญที่สุดของหมู่บ้านละเวือะคือ ‘สะเบื๊อก’ ชื่อที่ได้ยินตั้งแต่วันแรกๆ ที่เดินทางมาถึงบ้านดง

เพราะไม่ได้หากินง่ายดายหรือเป็นกับข้าวที่ทำกันบ่อยๆ สะเบื๊อกเป็นอาหารที่จะทำกันในวาระพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นงานไหว้ผีบรรพบุรุษ งานแต่งงาน กระทั่งงานศพ ซึ่งมีการฆ่าสัตว์เพื่อเซ่นไหว้ เช่น สะเบื๊อกหมู คือการนำเนื้อหมูที่แบ่งสรรกันในหมู่บ้านมาหั่น ต้ม แล้วยำผสมกับพริก หอมแดง ต้นหอม ผักชี หรือผักมีกลิ่นอื่นๆ ส่วนน้ำที่เหลือจากการต้มก็จะปรุงรสและใช้เป็นซุปวางเคียงกันบนสำรับ

เมื่อพูดถึงอาหารที่ใช้ในพิธี วิทุนเล่าว่า ประเพณีสำคัญที่สุดของคนบ้านดงคือ ‘การเลี้ยงผีตะงอ’ ซึ่งจะทำหลังช่วงเก็บเกี่ยว เป็นงานใหญ่ประจำปี ถึงขั้นต้องปิดหมู่บ้าน คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า

“มีความเป็นมาที่คนเฒ่าเล่าสืบทอดกันมาว่ามีฟ้าผ่ายอดเจดีย์หลวง ทีนี้ถ้าตีความหมาย ตะงอคือฟ้าผ่า ทีนี้ละเวือะก็เลี้ยงตามความเชื่อ การเลี้ยงผีตะงอจะทำช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อก่อนไม่มีนา เป็นข้าวไร่ มีการเก็บเกี่ยวตั้งแต่ผัก ไม้ผล ฟักทอง ฟักหม่น แล้วก็มีถั่ว หลังเก็บเกี่ยวก็เอาข้าวมาเป็นตัวหลัก ส่วนของเลี้ยงผีตะงอก็ใช้วัว 2 ตัว หมูอีก 4 ตัว ไก่ตามกำลังของแต่ละครัวเรือน ครอบครัวละ 2 บ้าง 3 บ้าง แล้วแต่กำลังทรัพย์” 

‘อำกอเป๊อะ’ คือคำเริ่มต้นบทสนทนาทักทายเมื่อพบหน้า “สบายดีไหม” คือความหมายตรงไปตรงมาที่วิทุนบอก 

สำหรับชาวละเวือที่บ้านดง เด็กทุกคนจะเคยชินกับการพูดจาภาษาถิ่นตั้งแต่เยาว์วัย ลูกชายและลูกสาวของวิทุนก็เช่นกัน แม้จะไปทำงานหรือศึกษาต่างถิ่นต่างที่ แต่ภาษาและ ‘ความเป็นชาวละเวือะ’ ก็ยังติดตัวไปตลอด 

“ลูกชายลูกสาวทุกคนก็ภาคภูมิใจว่าเราเป็นชนชาติพันธุ์หนึ่ง มีภาษาชนชาติพันธุ์ สามารถไปเจอกับเพื่อนฝูงในสังคม พูดภาษาเมืองก็ได้ พูดภาษากลางก็ได้ บางคนมีความสามารถก็อาจพูดกะเหรี่ยงได้ ไทยใหญ่ได้” 

ประเพณีเลี้ยงผีตะงอ

เป็นประเพณีเก่าแก่ทีจัดขึ้นทุกปีหลังฤดูเกี่ยวข้าวในเดือนพฤศจิกายน ประเพณีเลี้ยงผีถูกจัดขึ้นเพื่อเลี้ยงบรรพบุรุษหรือผีที่ปกครองหมูบ้านให้ร่มเย็นเป็นสุข โดยจะจัดขึ้นในเช้าของวันอังคารถึงบ่ายของวันพุธเท่านั้น แต่ไม่กำหนดวันที่ตายตัว จะมีการปิดทางเข้า-ออกของหมู่บ้าน หรือที่เรียกว่า ‘คนในห้ามออก คนนอกข้ามเข้า’ ถ้าใครฝ่าฝืนจะต้องเสียค่าปรับ 5,000 บาท

ประเพณีเลี้ยงผีตะงอมีรายละเอียดในการประกอบพิธีคร่าวๆดังนี้คือ

1. คืนวันที่หนึ่ง ชาวบ้านช่วยกันเฝ้าวัวถึงรุ่งเช้าที่ศาลผีประจำหมู่บ้าน

2. เช้าวันที่สอง คนหนุ่มช่วยกันสร้างศาลบริเวณหัวหมู่บ้าน เพื่อปิดทางเข้า-ออก

3. เช้าวันที่สอง ชาวบ้านช่วยกันแห่วัวจากศาลไปยังศาลหัวหมู่บ้าน (ตะงอ)

4. ชาวบ้านนำเครื่องสังเวยไปยังศาลหัวหมู่บ้าน (ตะงอ)

5. รับประทานอาหารร่วมกับเครือญาติ 

6. คืนวันที่สอง คนหนุ่มสาวรวมตัวกันไปเยี่ยมเยียนบ้านสมาชิกจนครบ

7. วันที่สาม ผู้หลักผู้ใหญ่เยี่ยมเยียนพร้อมอวยพรให้ลูกบ้าน โดยระหว่างเช้าวันที่สองถึงเช้าวันที่สามเป็นวันปิดหมู่บ้าน คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า

ทางเดินที่ขาดหายบนขั้นบันไดและคันนา

“ละอ่อนรุ่นใหม่นี่ไม่เอาแล้ว เขาไปทำงานในเมืองแล้ว ส่วนมากเหลือแต่คนเฒ่าคนแก่ คนทำนาน้อยลง” 

อีกด้านของลานฟาดข้าว บุญสม แก่นเจิง อดีตผู้ใหญ่บ้าน พูดเสียงดังฟังชัด พื้นหลังเสียงไม้ฟาดรัวเป็นจังหวะ สลับกับเสียงเมล็ดข้าวนับร้อยพันที่ร่วงลงบนผืนผ้าใบตามแรงกระทบ 

ก่อนเที่ยงวันไม่กี่นาที พระอาทิตย์เกือบตรงศีรษะ ไม้ไผ่ทรงตะขอคู่จากสองมือของชาย 2 คนออกแรงฟาดลงใส่มัดข้าวอย่างสม่ำเสมอ ก่อนที่ฟางจะถูกโยนไปกองไว้ด้านหนึ่ง แม้ผู้ใหญ่บุญสมไม่ได้ลงมือออกแรง แต่ก็ยังมานั่งมองที่นาขนาด 5 ไร่ ของตัวเองอยู่เงียบๆ 

  “อายุ 78 แล้ว ตอนนี้ลูกทำ แต่ก็มาช่วยกอง ให้ฟาดนี่ฟาดไม่ได้ ไม่มีแรงแล้ว เกี่ยวยังพอได้อยู่” 

บุญสม แก่นเจิง

ผู้ใหญ่บุญสมเล่าว่า สมัยยังไม่มีถนนหนทาง คนบ้านดงส่วนใหญ่ยังทำไร่เลื่อนลอย เวลาข้าวไม่พอกินก็ต้องเดินเท้าออกจากหมู่บ้านไปหลายวัน พักกลางทางอีกหลายคืน จุดหมายอยู่ที่สะเรียง แม่ลาน้อย เชียงใหม่ 

“ข้าวไม่พอกินต้องไปเบิกข้าวสาร เบิกเกลือจากฮอดบ้าง คนสมัยก่อนลำบากมาก ไปที 5-6 คน ช่วยๆ กันตอนนั้นนาไม่ค่อยมี มาทำนาให้พอกินก็รุ่นพ่อนี่แหละ บุกเบิกเอง ตามห้วยนี่ก็เยอะ นาเก่าๆ แก่ๆ สมัยก่อนทำไร่เลื่อนลอยด้วยเพราะมันไม่พอกิน แต่ตอนนี้พอกินแล้ว ไม่ทำไร่เลื่อนลอยแล้ว ทำนาอย่างเดียว ทำเพื่อกิน” 

ต่างจากการทำนายุคใหม่ที่มีตัวช่วย อย่างน้อยก็รถไถเล็ก ผู้ใหญ่บุญสมเล่าว่า สมัยก่อนเพื่อให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไป-กลับระหว่างนากับบ้านบ่อยๆ ตอนไถและปลูกก็นอนเฝ้าควายหลายตัวอยู่ที่นา

“ตอนไปทำนา ข้าวลิตรหนึ่งกินหมดนะครับ กินเยอะ เดี๋ยวนี้ลิตรหนึ่งกิน 4 คนยังเหลือ ตอนนั้นที่กินเยอะเพราะใช้แรงเยอะ แล้วไม่มีอย่างอื่นให้กิน กินข้าวอย่างเดียว กับน้ำพริก กับเกลือ 

“สมัยก่อนขายบ้าง กินบ้าง เดี๋ยวนี้ไม่ขายแล้ว ทุกคนทำพอกินอย่างเดียว บางทีก็กินไม่หมด เพราะว่าเด็กรุ่นใหม่ไปทำงานในเมือง บางคนก็เป็นครู เป็นเกษตรไปแล้ว บางคนก็ไปรับจ้างบริษัท กรุงเทพฯ บ้าง เชียงใหม่บ้าง เด็กๆ รุ่นใหม่ไม่ค่อยมีในบ้านแล้ว

“นาของผมคนรุ่น 30-40 ยังมีทำอยู่ แต่รุ่นหลานเด็กกว่านี้ไม่มีแล้ว”

ขั้นบันไดในบ้านดงอาจยังเต็มไปด้วยข้าว แต่ก็มีไม่น้อยที่ค่อยๆ กลายสภาพเป็นที่รกร้าง ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับครอบครัวของพ่อใหญ่บุญสม

“จากที่นาที่มีมูลค่า ตอนนี้กลายเป็นไม่มีใครสนใจ มันร้าง ไม่มีคุณค่า บางที่ทิ้งไว้ 3 ปี บางที่ก็ให้คนมาปลูกกะหล่ำปลีให้หญ้ามันไม่ขึ้น ไม่งั้นก็ร้าง 4-5 ปีก็จะไม่เหลือความเป็นขั้นบันไดแล้ว” วิทุนพูดถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นที่บ้านดง ยกตัวอย่างขั้นบันไดขนาดย่อมที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขา

“เพราะเขาไม่มีแรงงาน แล้วตอนนี้เขามีตัวเลือก คำว่าตัวเลือกคือปลูกผัก ไม้ผลบ้าง ข้าวจะปลูกเพื่อกินปีต่อปี นี่คือแถวบ้านผม ไปแล้ว 2 เจ้า เจ้านี้ถ้าไม่มีใครทำต่อ ทำฟรีๆ ก็เป็นป่า น่าเสียดายเหมือนกัน”

‘ละอ่อน’ ในความหมายของผู้ใหญ่บุญสมคือคนรุ่นหนุ่มสาวในบ้านดง เช่นเดียวกับลูกสาวและลูกชายของครอบครัวขยันใหญ่ยิ่ง ที่คนโตรับราชการทหาร อีกคนเพิ่งจบมหาวิทยาลัย

“อย่างของเราก็น่าจะเป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะลูกบ่าว เขาไม่มีเวลามาดูส่วนนี้ เสาร์-อาทิตย์ก็ไม่พอที่จะมาช่วยได้” 

พิม ขยันใหญ่ยิ่ง ในวัยต้น 40 เปรียบเทียบกับยุคที่คนบ้านดงยังไม่ค่อยออกไปเรียนหรือทำงานข้างนอก หลายบ้านแข่งกันปลูกข้าวจนกินไม่หมด 

“เมื่อก่อน บ้านแต่ละหลังไม่มีใครซื้อข้าว ไม่มีใครขายข้าว บ้านพี่เมื่อก่อน 200-300 ถังต่อปี มันกินไม่หมด ตอนนี้ปลูกเฉลี่ยสัก 120 ถัง มันอยู่ได้นะ สำหรับครอบครัวแบบพี่”

พิม ขยันใหญ่ยิ่ง

จากครอบครัวที่เคยมีข้าวกินตลอดทั้งปี จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวันหนึ่ง ‘ชาวนา’ ต้องเสียเงินเพื่อซื้อข้าว วิทุน ผู้เป็นพ่อ ตอบอย่างสั้นกระชับ “ถ้าหลานไม่กลับมาทำมันก็เป็นรูปแบบนั้น” 

“อย่างเราส่งลูกเรียน ก็มีข้อเปรียบเทียบว่าเรียนสูงแล้วจะมาทำเหมือนเราเหรอ เราสมบุกสมบันกับการเกษตร แต่การศึกษามันไม่ใช่เรื่องเกษตร พอเรียนจบแล้วจะมาทำนา โดยเฉพาะลูกสาวเรียนสายครู เขาอาจจะไปอีกด้าน ถ้าช่วยบางช่วงโอเคอยู่ แต่จะให้มาทำจริงจังมันก็คงไม่ไหว เพราะใช้เวลานาน ไม่ได้ขาย แล้วก็ใช้แรงงานคนอย่างเดียว”

ท้ายประโยคของสามี พิมในฐานะแม่เสริมว่า “ทำไม่ได้ จะให้เขามาจับรถไถ ปลูกข้าว ดูๆ แล้วทำไม่ได้  ถ้าไม่รักการเกษตรจริงๆ จะออกมาทำการเกษตรหายาก”

อนาคตคือวันคืนที่รออยู่ข้างหน้า ทุกวันนี้ผืนนายังมีชีวิต ข้าวยังคงเติบโต 

อนาคตอีกเช่นกันที่ทำให้คนรุ่นหนึ่งสูงอายุขึ้น  เมื่อถึงวันหนึ่งชีวิตนาขั้นบันไดอาจกลายเป็นอดีต 

“เป็นป่าโดยปริยาย” เป็นคำที่บรรจุอยู่ในหลายประโยคของวิทุน  

“พื้นที่ส่วนหนึ่งจะกลายเป็นพื้นที่ร้าง เป็นธรรมชาติ มันก็มีข้อแตกต่าง ค่าครองชีพย่อมเพิ่มขึ้น เพราะต้องซื้อข้าวกิน แต่ข้อดีคือป่ามันจะฟื้นเป็นธรรมชาติโดยปริยาย สัก 5 ปีคำว่า ‘เป็นขั้น’ จะหายไป  

“น่าเสียดายถ้าเราหมดแรงหมดพลัง  แต่มันก็เป็นธรรมชาติของมัน บางที่เจ้าของไม่เอา ให้คนอื่นทำ ไม่คิดค่าเช่า แค่ให้พื้นที่มันไม่มีหญ้าขึ้นเท่านั้น 

“คนรุ่นหลังก็มีสนใจทำนา แต่มันติดอยู่ที่ช่วงเวลาของแต่ละคน ความรับผิดชอบหน้าที่จะนำไป  ถ้าเทียบว่าเป็นอาชีพระหว่างคนบนดอย พื้นที่สูง กับพื้นที่ราบ การเก็บเกี่ยวกับอายุข้าวมันต่างกันมาก ของบ้านดงจะหว่านกล้าตั้งแต่กลางเมษา กว่าจะไถปลูกก็กลางๆ พฤษภา ไม่เกินกลางเดือนมิถุนา ถ้าปลูกหลังกลางเดือนมิถุนาข้าวก็จะไม่ให้ผลผลิต ไม่ให้เมล็ด ได้เฉพาะต้น พอจะเก็บเกี่ยว ก็ตุลา พฤศจิกา ถ้าเทียบที่นี่กับแม่ลาน้อย แม่ลาน้อยปลูกไป 3 เดือนครึ่งก็ได้เกี่ยวเลย ถ้าทำข้าวเป็นอาชีพ หาเงินเสริม ก็ยังไม่ได้เลยครับ ที่นี่อายุข้าวแทบจะ 2 เท่าของพื้นราบ นี่คือข้อแตกต่าง” 

จากจุดต่ำสุดของพื้นที่ มุมเงยประมาณ 30 องศา จะพาสายตาไปสุดที่ขอบฟ้า ยอดรวงข้าวสีทองบนจุดสูงสุดไหวตัวเล็กน้อยตามแรงลมเดือนตุลาคม ลัดเลาะตามถนนดินขนาดกว้างกว่าคนเดินได้ไม่มากนัก ที่จุดสูงสุดของพื้นที่บ้านดง ขั้นบันไดลดหลั่นแผ่ผ่านหุบเขาไปสุดสายตา ข้อเท็จจริงที่ว่าโลกกลมถูกพิสูจน์ซ้ำด้วยผืนนายาวลิบราวกับไปจบลงที่เส้นขอบฟ้าอีกด้านหนึ่ง 

แม้จุดเว้าแหว่งของนาขั้นบันไดจะเพิ่มจำนวนขึ้น ตามที่วิทุนบอกบ่อยครั้งว่า มันจะกลายเป็น “ป่าโดยปริยาย” แต่สำหรับชาวบ้านดงที่เป็นชาวนา-คนปลูกข้าวเพื่อกิน ข้าวยังคงเป็นทุกอย่าง เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีค่ากว่าสิ่งใดๆ 

“ถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา เราไม่มีเงิน ไม่มีอะไรสักอย่าง อย่างน้อยก็มีข้าวตุนไว้ เพื่อไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องดิ้นรน มีข้าว มีเกลือ มีพริก ก็สามารถพยุงชีวิตได้ ถ้าเราไม่มีข้าว ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรสักอย่าง เราก็จะกังวลว่าเย็นจะกินอะไร ความสบายใจก็คือ ถึงเราไม่มีอะไร ถ้ามีข้าวก็อยู่ได้”

สารคดีชิ้นนี้เก็บข้อมูลในการเขียนเมื่อช่วงปี 2562
โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Photographer

สิทธิกร ขุนนราศัย
วิดีโอครีเอเตอร์รสมือจัดจ้านของ WAY สนใจตั้งแต่วัฒนธรรมตลาดล่างจนถึงประวัติศาสตร์กรีกโบราณ เติบโตมาในยุคสมัยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนิยมผลิตวาทกรรมคนดี นี่อาจเป็นแรงถีบให้เขาเลือกนิยามตัวตนตรงกันข้าม และนิยมคลุกคลีกับ 'คนพรรค์นั้น' ในเพจ เดอะ ลูซเซอร์ คลับ

Photographer

ศรุตยา ทองขะโชค
นักศึกษาจบใหม่สายวารสาร อยากสั่งสมประสบการณ์และค้นหาความลงตัวให้ชีวิต เป็นคนไม่หยุดอยู่กับที่ เขียนไดอารี่ทุกทีที่ไปเที่ยว พร้อมแชะภาพเก็บไว้เป็นความทรงจำ ชอบถ่าย candid เป็นชีวิตจิตใจ และกำลังเริ่มต้นใหม่กับการถ่าย portrait

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า