‘ม็อบชาวนา’ ด้วยฝ่าเท้าและแผ่นหลัง

24 มกราคม 2565 กลุ่มชาวนาผู้เดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน เดินทางจากบ้านเกิดในหลายจังหวัดทั่วประเทศเข้าสู่กรุงเทพฯ ตัดสินใจปักหลักค้างคืนเพื่อเรียกร้องและยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยขอให้ออกมติโอนหนี้จากธนาคารและสถาบันการเงินไปให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งดอกเบี้ยถูกกว่าและผ่อนชำระได้นานกว่า รวมถึงทวงถามถึงเงินชดเชยจากราคาผลผลิตตกต่ำ

แม้สองเท้าจะยืนอยู่กลางเมืองหลวง หรือออกเดินขบวนกดดัน ท่าทีของรัฐบาลกลับดูไม่เท่าทันความทุกข์ยากของประชาชน มติ ครม. ถูกเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐบาลได้ส่งตัวแทนออกมารับข้อเสนอ และสัญญาจะนำมติเข้า ครม. ในสัปดาห์หน้า นั่นคือหลังจากที่แผ่นหลังของชาวนานอนราบไปกับพื้นทางเท้าข้างถนนเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน

เย็นย่ำแล้วตอนผมเดินทางไปถึงบริเวณที่เป็นจุดพักค้างคืนของชาวนา ริมถนนราชดำเนินนอกเรียงรายด้วยเสื่อที่ใช้ปูนอน มุ้ง และผืนผ้าใบที่ขึงไว้ผ่อนแรงแดดและน้ำค้าง

ยังไม่ทันได้ถามอะไร หนึ่งในกลุ่มชาวนาจากจังหวัดพิษณุโลกก็ชวนร่วมวงมื้อเย็น ผมยิ้มเขินๆ กล่าวขอบคุณ ก่อนจะเดินไปคุยกับหญิงกลางคนที่ดวงตายิ้มตลอดเวลา เธอเล่าถึงหนี้ที่ติดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมาตั้งแต่ยังเป็นสาว เธอพยายามผ่อนชำระหนี้ แต่เงินก็หมดไปกับค่าปรับและดอกเบี้ย เงินต้นแทบไม่ลด ยังไม่นับเรื่องราคาข้าวที่ตกต่ำลง สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ไหนจะภัยธรรมชาติ หลายคนจึงเป็นหนี้ตั้งแต่เด็กจนตอนนี้แก่แล้วก็ยังใช้หนี้ไม่หมด

ผมถามเธอว่า ระยะเวลา 1 เดือนที่รอให้รัฐตอบรับอย่างเป็นรูปธรรมนั้นนานเกินไปไหม “จะว่านานก็นานนะ” เธอพูดแล้วหยุดหัวเราะ “แต่เรารอได้ เรายังหวังว่าเขาจะได้ยินเสียงของเรา”

“พี่คิดว่าถ้าพวกพี่ชาวนาไม่จากบ้านมาอยู่ตรงนี้เป็นเดือนๆ เขาจะตอบรับแบบนี้ไหม” ผมถามต่อ

“คงไม่…” เธอยังหัวเราะทั้งดวงตา “ตอนแรกเราอยู่กันหน้ากระทรวงการคลัง เขาก็เงียบ เราเลยเดินขบวนกัน 11 กิโล ก็วัยอย่างที่เห็นนั่นแหละ พอเดินแล้วเขายังเงียบอีก ทีนี้เราเลยย้ายเข้ามาใกล้ขึ้น วันนี้คุณแรมโบ้เป็นคนออกมารับข้อเสนอ”

“มันเหมือนกับว่าถ้าพวกพี่เข้ากรุงเทพฯ มาเฉยๆ ไม่ทำกิจกรรมกัน เขาก็จะไม่มีท่าทีตอบรับ” ผมสงสัย

“น่าหดหู่ใช่ไหมล่ะ อย่างเราอยู่ตรงนี้ คนผ่านไปผ่านมาไม่มีใครถามเลยว่าเรามาทำไม มาทำอะไร บางคนน่าจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีม็อบชาวนาอยู่ตรงนี้”

ผมเดินจากกลุ่มพี่ชาวนาจังหวัดพิษณุโลกไปตามทางเดินผ่านกลุ่มชาวนาจังหวัดอื่นๆ ทุกคนยิ้มรับทักทาย เมื่อผมกล่าวสวัสดี ผมอาจจะคิดไปเองก็ได้ว่า พวกเขาดีใจที่อย่างน้อยมีใครสักคนมาไถ่ถามความเป็นอยู่

ฟ้ามืดสนิทแล้วตอนผมพบพี่เด่นกับพี่บัง ผู้ประสานงานของม็อบชาวนา พี่เด่นพาผมเดินไปพบชาวนาจากจังหวัดต่างๆ แม้แสงสว่างจะมีจำกัด ในความมืดยังสัมผัสได้ถึงกำลังใจที่เข้มแข็ง อีกด้านมีเสียงเพลงหมอลำดังจากรถเข็นขายไส้กรอกอีสาน เด็กสาวคนหนึ่งรำตามจังหวะสนุก ขณะเด็กน้อยอีกคนอยู่ในชุดโกโกวา คุณป้าคุณลุงจับกลุ่มคุยกันใต้แสงไฟริมทาง บางคนกำลังพิมพ์ข้อความ บ้างคุยโทรศัพท์กับใครสักคน

ผมยืนคุยกับพี่เด่นและพี่บังอยู่นานทีเดียว กล่าวตามตรง นี่คือครั้งแรกที่ผมได้พบกับชาวนาตัวจริง และได้รับฟังปัญหา รับรู้วิถีชีวิต รวมถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวนาเป็นหนึ่งในอาชีพที่เดือดร้อนและยากจนมาหลายยุคสมัย

“แรมโบ้-เขาออกมาคุยกับเราแล้ว ได้ข้อสรุปว่ารอมติเข้า ครม. อีกทีวันที่ 8 มีนา รัฐอยากให้เราพากันกลับบ้านวันนี้เลย แต่เราประชุมกันแล้ว ตกลงว่าจะอยู่ต่ออีก 1 สัปดาห์ รอจนมติเข้า ครม. รอจนเขาเซ็นอนุมัติ”

ประเด็นสำคัญของม็อบชาวนาในครั้งนี้คือ การขอให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือโยกย้ายหนี้จาก 4 สถาบันการเงินไปที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งไม่ต้องเสียค่าปรับ และดอกเบี้ยถูกกว่า มีระยะเวลาการผ่อนชำระที่นานกว่า พี่เด่นบอกกับผมว่าปัญหาหนี้สินของชาวนา คือสิ่งที่ทำให้ชาวนาไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ สิ่งนี้กัดกินคุณภาพชีวิตของชาวนาจากรุ่นสู่รุ่น

“เวลาไปต่างประเทศ นายกฯ เอาข้าวไทยไปโชว์ ชาวนาไทยไม่ได้เลี้ยงแค่คนไทยนะ เราส่งออกข้าวเลี้ยงชาวโลก แต่ดูชีวิตชาวนาไทยสิ ผูกคอตายไปก็เยอะ เพราะไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน” พี่เด่นเล่าต่อว่า ชาวนาอยากให้รัฐเข้ามามีบทบาทพัฒนาและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรรม สร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริม รวมถึงควบคุมต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อพูดถึงต้นทุน พี่บัง-ชาวนาจากจังหวัดอยุธยา เสริมว่า เมื่อก่อนต้นทุนค่าปุ๋ยค่ายาประมาณไร่ละ 3,000 บาท เดี๋ยวนี้ขึ้นเป็น 6,000 กว่าบาท “ไม่มีเงิน หรือเงินไม่พอ ก็ต้องไปกู้เถ้าแก่ เอาปุ๋ยเอายามาก่อนบ้าง พอเกี่ยวข้าวเสร็จเขาก็มารอแล้ว หักค่าความชื้น หักหนี้ หักดอกเบี้ย ชาวนาไม่เหลือกำไร แล้วก็ต้องไปกู้ใหม่”

ต้นทุนคืออีกปัจจัยหลักที่ชาวนาต้องทนแบกรับ ด้วยไม่มีภาคส่วนใดจากรัฐเข้ามากำหนดหรือออกมาตรการควบคุมราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ในขณะที่คนธรรมดาซื้อข้าวกินในราคาที่แพงขึ้น ชาวนากลับมีรายได้ที่ต่ำลง นายทุนคือผู้เล่นที่กินพื้นที่ส่วนใหญ่ในตลาด นอกจากเป็นคนขายปุ๋ยขายยาฆ่าแมลงให้กับชาวนา นายทุนยังมีโรงสี เรียกได้ว่ากินรวบตั้งแต่ต้นจนจบ ยิ่งไปกว่านั้นหากชาวนาคนใดไปต่อไม่ไหว ที่นาก็จะถูกขายทอดตลาด และคงเดาได้ไม่ยากว่า ผู้ที่ส่งตัวแทนมารอซื้อแทบจะหน้าที่นา ก็คือนายทุนนั่นเอง

“ถ้ายังเป็นแบบนี้ อีกหน่อยชาวนาก็คงต้องทำนาแบบตอกบัตร ที่นาไม่มีเหลือ ชาวนากลายเป็นพนักงานบริษัทกินเงินเดือน ทำนาให้บริษัทนายทุน” พี่เด่นพูดกึ่งตลกกึ่งตัดพ้อ ผมที่ยืนฟังได้แต่นึกภาพว่ามันจะเศร้าเพียงใด ถ้าประชาชนคนธรรมดาทุกอาชีพกลายเป็นพนักงานของเจ้าสัวที่กินรวบทุกสิ่งในประเทศ

อีกเรื่องที่ผมเองก็เพิ่งนึกถึง เมื่อพี่เด่นบอกกับผมว่า อาชีพชาวนาไม่สามารถตั้งราคาข้าวเองได้ อย่างขายอาหาร ขายขนม คุณคิดต้นทุน คุณตั้งราคาเองได้ แต่ชาวนาทำไม่ได้ เกี่ยวข้าวเสร็จนายทุนเจ้าหนี้ก็มารอแล้ว ขายขาดทุนก็ต้องขาย

“เราเคยได้ถึงเกวียนละ 15,000 เคยมีกินมีใช้ เหลือเก็บด้วยซ้ำ ดูตอนนี้อย่างมากเกวียนละไม่เกิน 6,000 บางคนบอกว่าทำไมชาวนาไม่สามัคคีกัน หยุดขายข้าวทั้งประเทศ ทำได้ก็ดีสิ แต่ที่มันทำไม่ได้เพราะชาวนาเป็นหนี้ ไม่ขายได้ยังไง แถมหนี้และความจำเป็นของชาวนาแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน หนี้ทำให้ชาวนาไม่มีอะไรไปต่อรองกับใครได้ ไม่ว่าจะรัฐหรือนายทุน”

เกือบ 3 ทุ่ม ผมกล่าวลาพี่เด่น พี่บัง และพี่ๆ ชาวนาบริเวณนั้น ขณะกำลังเดินกลับผ่านกลุ่มคุณป้าชาวนาจากจังหวัดสมุทรสาคร กลิ่นน้ำมันมวยชวนให้หันไปกล่าวสวัสดี คุณป้ายิ้มรับ ผมเลือกที่จะนั่งคุยเรื่องความเป็นอยู่ทั่วไป เรื่องอาหารการกิน เรื่องที่เบาสบายมากกว่าการเดาใจผู้มีอำนาจ ระหว่างพูดคุยคุณป้าสองสามคนต่างนวดเฟ้นหัวเข่า ฝ่าเท้าของตัวเองไปด้วย ขณะที่บางคนนอนเอนกายอยู่ด้านหลัง สายตามองมาจากความมืด

จรณ์ ยวนเจริญ
มนุษย์ขี้กลัว ผู้ที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตอีกครั้ง ทาสหมาแมวจรจัด สนใจศิลปะ วรรณกรรม และผู้คน แม้จะเข้าหาผู้คนไม่เก่งนัก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า