ชีวิตคนอีสานมีสัญชาตญาณของข้าวไร่
“ข้าวไร่ต้องการปริมาณน้ำน้อยกว่าข้าวนา ข้าวนาต้องการน้ำมาก หากขาดน้ำผลผลิตจะน้อย วัชพืชจะเยอะ”
แสวง ดาปะ สังเกตธรรมชาติอันแตกต่างระหว่างข้าวไร่กับข้าวนา ก่อนที่จะกล่าวในเชิงอุปมาอุปไมยเพื่อทำให้เห็นว่าชีวิตคนอีสานมีสัญชาตญาณแบบข้าวไร่ พวกเขาเปี่ยมความสามารถในการเอาตัวรอด แม้แล้งน้ำแล้งฝน ข้าวไร่ก็สามารถดูดน้ำหมอกน้ำค้างเลี้ยงตัวให้ชีวิตรอด
เราเดินทางมายัง ‘ไร่นาป่าสวนขุนเลย’ ของแสวงเพื่อสำรวจข้าวในนา ข้าวในยุ้ง ข้าวในก่องข้าวเหนียว และข้าวในความทรงจำของผู้คน แต่คำตอบเรื่องข้าวเผยชีพจรของคนปลูกและคนกิน
ชีวิตของเกษตรกรที่นี่ล้วนเคยอยู่ในระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวตามการส่งเสริมของรัฐ ตรอมตรมทั้งใจและกาย ใจหมองเศร้าเพราะหนี้สินจากการเกษตร กายบอบช้ำเพราะสารเคมีการผลิต สิ่งแวดล้อมก็ได้รับผลกระทบ วกวนเป็นห่วงโซ่ขึ้นสนิม
“เราเห็นปัญหาการพังทลายของหน้าดิน การไหลบ่าของน้ำในช่วงฤดูฝน การผลิตที่ผ่านมาไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของชุมชน” แสวงเล่าถึงที่มาของการเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นเกษตรผสมผสาน เขาออกแบบพื้นที่เป็นนาขั้นบันได ขุดคลองไส้ไก่ ไล่ระดับพื้นที่ มีโคก มีหนอง มีนา ใช้หลักการปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง
ชีวิตของเกษตรกรที่นี่ไม่ต่างไปจากชาวอีสานพลัดถิ่น ชาวเมืองเลยนิยมเดินเร่ขายลอตเตอรี่ในเมืองใหญ่จนกลายเป็นภาพจำของสังคมไทย
แสวงเกิดในปี 2512 เติบโตมาจากครอบครัวชาวไร่ชาวนา เผชิญชีวิตมาทั้งในและนอกภาคการเกษตร กระทั่งปัจจุบันเขาปลีกตนเองออกมาจากระบบการผลิตเชิงเดี่ยว เป็นแกนนำรวมกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการออกแบบชีวิตตนเอง ขยายแนวทางเพื่อทำให้เห็นความเป็นไปได้ของระบบผลิตเกษตรยั่งยืนผ่านการก่อตั้ง ‘ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงบ้านศรีเจริญ’ ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย
นอกจากนี้ ผลผลิตทางการเกษตรยังถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในนาม ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์เกษตรยั่งยืนบ้านศรีเจริญ’
เมื่อถูกถามว่าชีวิตของเกษตรกรไทบ้านมีลักษณะคล้ายธรรมชาติของข้าวนาหรือข้าวไร่ เขาตอบทันทีว่า ชีวิตของไทบ้านเมืองเลยเป็นเหมือนข้าวไร่
“ไม่มีน้ำ เราก็อยู่ได้” คือคำตอบของแสวง
ข้าวที่ถูกบังคับให้สูญหาย
“เรากินข้าวเหนียว ความทรงจำก็จะอยู่กับข้าวเหนียว” ในฐานะเกษตรกรผู้ปลูกและกินข้าวเหนียวมาทั้งชีวิต ข้าวเหนียวชั้นดีในมุมมองของแสวงมี 2 สายพันธุ์ “ถ้าเป็นข้าวไร่ต้องกิน ‘พระยาลืมแกง’ แต่ถ้าข้าวนาก็ ‘ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย’”
คล้ายชีวิตของชาวอีสานพลัดถิ่น ข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองอย่าง ‘ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย’ เพิ่งจะถูกนำมากลับมาปลูกในหมู่ชาวนาเมืองเลยเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา การหายไปของข้าวพื้นเมืองเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตที่ได้รับการส่งเสริมจากนโยบายของส่วนราชการ เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์ผสมจากกรมการข้าวอย่าง กข 6 กข 10 และต้องยอมรับว่าปัจจุบันพื้นที่นาส่วนมากก็ยังถูกข้าวพันธุ์ผสมเหล่านี้ยึดครอง
“ข้าวเหนียวแดงเมืองเลยสูญพันธุ์ไปพร้อมกับระบบนี้ครับ เรียกได้ว่าหายไปจากความทรงจำของผู้คน” แสวงเล่า
บ้านศรีเจริญตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำคู้ ลำน้ำสาขาของแม่น้ำเลย การเกษตรเชิงเดี่ยวได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ขิง ลูกเดือย ยางพารา มะขามหวาน ผลที่ตามมาของการเกษตรเชิงเดี่ยวคือปริมาณการใช้สารเคมี ทุกคนในชุมชนแม้แต่เด็กเล็กตรวจเจอสารเคมีในเลือดแทบทุกคน ซึ่งได้ข้อสรุปว่ามาจากอาหาร ขณะเดียวกันความเสียหายของหน้าดินก็เป็นปัญหาสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม
สุขภาพแย่ ผลผลิตก็ขายไม่ได้ราคา หน้าดินเสื่อมคุณภาพ นี่คือดีลที่ Lose-Lose ไม่มีใครได้ประโยชน์จากเกมนี้
แสวงเล่าถึงช่วงเวลาในปี 2543 ว่าปีนั้นเป็นปีที่เขาเปลี่ยนความคิดเรื่องระบบผลิตเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสาน ปีนั้นเป็นปีที่ลูกเดือยมีราคากิโลกรัมละ 5 บาท จากที่เคยมีราคากิโลกรัมละ 15 บาท “เกษตรกรพากันไปปิดถนนประท้วงในจังหวัดเลย เราถือป้าย ‘ลูกเดือยไม่มีราคา ชวลิตจ๋าทำยังไง’ ผมยังจำได้ดีเลยครับ เพราะเป็นปัญหาที่ทำให้เราต้องหันมาทบทวนเรื่องการพัฒนา” แสวงเล่าถึงความทรงจำบาดแผลเมื่อหลายปีมาแล้ว
เกษตรกรประท้วง แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น พวกเขามองหน้ากันในหมู่ผู้ประท้วง เห็นแต่ความชิงชังและสิ้นหวัง แต่ราคาลูกเดือยยังคงต่ำคือเก่า จึงจับกลุ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มออมทรัพย์เกษตรยั่งยืน เดินทางไปศึกษาดูงานว่าชุมชนอื่นเขามีระบบการผลิตอย่างไร กระทั่งรวมกลุ่มกันเปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสานด้วยการปลูกข้าว พืช ผัก ผลไม้อินทรีย์ต่างๆ โดยไม่ใช้สารเคมี
ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย
จากการเดินทางไปเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร ทำให้แสวงได้พบกับประวัติศาสตร์ที่หายไปจากชุมชน เมื่อเขาได้พบกับพันธุ์ข้าวที่ชื่อว่า ‘แดงเมืองเลย’ แต่ปรากฏอยู่ในบูธของเกษตกรชาวยโสธร เขาแปลกใจที่ไม่รู้จักข้าวพันธุ์นี้มาก่อน จึงสอบถามเกษตรกรจากเมืองยโสธรซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งเรื่องการอนุรักษ์สายพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน เมื่อทราบว่าต้นกำเนิดสายพันธุ์ของข้าวอยู่ที่จังหวัดเลย แสวงไม่รอช้าที่จะซื้อข้าวกลับมา 5 กิโลกรัม เพื่อนำมาขยายพันธุ์ข้าวแจกจ่ายในศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงบ้านศรีเจริญ และเริ่มสืบค้นหาที่มาของข้าวพันธุ์นี้ แต่ “ช่วงที่หาข้อมูล คนที่เราเดินทางไปหาล้วนแต่ไม่รู้เรื่องราวความเป็นมาของข้าวพันธุ์นี้เลย” แสวงเล่าว่า แม้แต่สถาบันที่ศึกษาเรื่องข้าวก็ไม่สามารถไขคำตอบที่มาของ ‘ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย’ ได้
คำบอกเล่าของผู้เฒ่าและสำนวนกลอนที่ท่องต่อกันมาที่ว่า “บ้านเล้าข้าวเน่า บ้านเก่าแก่ บ้านหนองงิ้วเหล่าแปน บ้านตากแดด กะแฮงนาซำแซง ห้วยผูก กกกะท้อน ซอนลอน ติวน้อย ค้อยๆ บ้านถิ่น บ้านหัวนา” คือเบาะแสเดียวที่ช่วยเผยร่องรอยการมีอยู่ของข้าวแดงเมืองเลย
“คำโบราณที่ว่า ‘บ้านเล้าข้าวเน่า’ น่าจะมาจากพันธุ์ข้าวแดงเมืองเลยที่เป็นข้าวนาปี ซึ่งมีระยะเวลาการปลูก-เก็บเกี่ยวที่ยาวนาน บางปีฝนตกมากทำให้เกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งไม่ทัน เก็บผลผลิตไม่ทันก็ทำให้ข้าวเน่า ก็เลยเป็นฉายา บ้านเล้าข้าวเน่า” แสวงเล่า
ในฐานะหัวหน้าโครงการนักวิจัยท้องถิ่นบ้านศรีเจริญ แสวงเล่าถึงที่มาและถิ่นเกิดของข้าวแดงเมืองเลย ข้าวพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดจากบ้านเล้า อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย แต่คนที่นั่นก็ไม่ค่อยรู้จักข้าวเหนียวแดงเมืองเลยเสียเท่าไร ทำให้แสวงและเกษตรกรพบว่าการจะทำให้ข้าวพันธุ์นี้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ก็ต้องปลูกและกินเท่านั้น เพราะอาหารคือความทรงจำ การกินจึงเป็นการจดจำและส่งต่อความหมายที่อยู่ทั้งในและนอกเมล็ดข้าวไปยังคนรุ่นถัดไป รวมถึงอนุรักษ์และขยายการปลูกออกไป เพื่อไม่ให้สูญหายไปจากจังหวัดเลยอีก
ในงานมหกรรมพันธุ์ข้าวที่จังหวัดยโสธร แสวงส่งข้าวเหนียวแดงเมืองเลยเข้าประกวด กลิ่นหอมของแดงเมืองเลยทำให้ได้รางวัลชนะเลิศในการประกวดข้าวที่มีข้าวเข้าประกวดกว่า 90 สายพันธุ์
“แดงเมืองเลยหอมที่สุดในงานครับ ถ้าใครได้มีโอกาสลองแกะข้าวเปลือกมากัด จะได้กลิ่นหอมคล้ายดอกไม้” แสวงเล่าเรื่องที่คล้ายจะทำให้เราได้กลิ่นหอมของดอกไม้
แดงเมืองเลย เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดเลย ลักษณะเด่นคือความหอมและมีเปอร์เซ็นต์ของน้ำตาลต่ำ ข้าว 1 ต้น จะแตกกอได้ 26-42 ต้น หนึ่งรวงให้ผลผลิตประมาณ 280-360 เมล็ด ลำต้นสูงประมาณ 1-1.4 เมตร มีความหอมเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ ปลูกในฤดูนาปี (กรกฎาคม-สิงหาคม) ให้ผลผลิตประมาณ 720-1,000 กิโลกรัมต่อไร่
เกษตรกรแห่งกลุ่มวิสาหกิจบ้านศรีเจริญได้นำข้าวเหนียวแดงเมืองเลยเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อเป็นกลไกในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน
นอกจากข้าว เกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านศรีเจริญยังปลูกฝ้ายตุ่ย ฝ้ายพันธุ์พื้นเมือง และยังแปรรูปผลผลิตตระกูลเบอร์รีอย่างหมากเม่าและหมากหลอด
“เราต้องการสร้างตลาดที่ยั่งยืน เวลาที่นักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชน เราต้องทำให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เกษตรกรทำมันมีเรื่องราวนะ คุณมาที่นี่คุณจะได้ฟังเรื่องราวของข้าวแดงเมืองเลย ฝ้ายตุ่ย ขี้ช้าง น้ำหมากเม่า กาแฟ” แสวงเล่าถึงสินค้าของแบรนด์ ‘ขุนเลย’
แบรนด์ขุนเลย
ขุนเลย คือชื่อแบรนด์สินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์เกษตรยั่งยืนบ้านศรีเจริญ พวกเขาขายในสิ่งที่ปลูก และแปรรูปออกมาเป็นสินค้า
“ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่กลุ่มทำอยู่ตอนนี้ อย่างน้ำมัลเบอร์รีบรรจุขวดพร้อมดื่ม ขายอยู่ที่ราคาขวดละ 25 บาท แต่น้ำหมากเม่า 100 เปอร์เซ็นต์ ขวดละ 50 บาท” อุบล ดาปะ สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจบ้านศรีเจริญ เล่าถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ตระกูลเบอร์รีของกลุ่ม นอกจากน้ำผลไม้พร้อมดื่ม ผลไม้เหล่านี้ยังถูกแปรรูปเป็นแยมหมากหลอด แยมหมากเม่า “อันนี้ ขวดละ 50 บาทค่ะ” อุบลแจ้งราคา
นอกจากนี้ เธอยังคิดสูตรน้ำหมากหลอดผสมน้ำหมากเม่ารวมอยู่ในขวดเดียวกัน
“พอเราทำน้ำหมากเม่าและน้ำหมากหลอด ก็มีแนวคิดว่าน่าจะเอาน้ำหมากเม่ากับน้ำหมากหลอดมาอยู่ในขวดเดียวกัน เหมือนน้ำมิกซ์เบอร์รีที่เขาขายกัน” อุบล เล่าถึงจินตนาการที่แปรรูปของ ‘ขุนเลย’
นอกจากนี้ เกษตรกรยังปลูกฝ้ายตุ่ย ฝ้ายพันธ์ุพื้นเมือง ซึ่งมีการแปรรูปฝ้ายมาเป็นเสื้อผ้าบุรุษ-สตรี ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เสื้อผ้าเด็ก
ชีวิตของคนเมืองเลยผูกพันกับเส้นฝ้าย จริญญา ทองแบบ เล่าว่า ชีวิตของคนที่นี่มีความเกี่ยวพันกับเส้นฝ้ายตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งวันตาย
“เมื่อก่อนไม่ค่อยสังเกต เราเพิ่งมาสังเกตการใช้ฝ้ายในชีวิตประจำวันของคนบ้านเรา เด็กแรกเกิดก็มีฝ้ายผูกแขนรับขวัญ พอมีการตายก็ใช้ฝ้ายในการทำสายสิญจน์หรือมัดตราสัง มันสะท้อนให้เห็นว่าฝ้ายอยู่ในชีวิตของคนบ้านเราตั้งแต่เกิดจนตาย” จริญญา เล่าว่า เธอเป็นทั้งเกษตรกรผู้ปลูกฝ้าย ดีไซเนอร์ คนย้อมสีผ้าฝ้าย และคนเก็บขี้ช้าง
เสื้อผ้าแบรนด์ขุนเลยใช้สีจากขี้ช้างในการย้อมผ้าฝ้าย
กลับบ้านมาเก็บขี้ช้าง
“เราจะเซ่นไหว้ช้างก่อนทุกครั้ง เป็นการไม่ลบหลู่ เรามีความเชื่อว่า ช้างในภูหลวงเป็นพญาช้าง มีประวัติมายาวนาน เวลาเราจะย้อมต้องขออนุญาตเขาก่อน” ดีไซเนอร์แห่งขุนเลยเล่า
ขี้ช้างที่ได้จากราวป่าภูหลวง จะถูกนำมาเคี่ยวในหม้อ มิกซ์แอนด์แมทช์กับคู่สีที่จริญญาต้องการ เช่น หากเธอต้องการสีเขียวจากใบหม่อน ก็จะนำใบไม้ลงไปเคี่ยวเพื่อนำสีเขียวมาใช้กับผ้าฝ้าย ทั้งหมดนี้ต้องผ่านการลองผิดลองถูก ทำความเข้าใจสีจากใบไม้และสีจากขี้ช้าง
“ขี้ช้างนี้ไปได้ไอเดียตอนไปดูงานที่สุรินทร์ เขาย้อมฝ้ายจากขี้ควาย แต่บ้านเราขี้ช้างเยอะ ขี้ช้างต่างจากขี้ควาย ช้างกินเยอะกว่า สีของขี้ช้างก็จะไม่คงที่ เพราะพืชที่กินก็มีผลต่อสีของขี้ช้าง” จริญญาเล่า
ในวันนี้ จริญญาต้องการทั้งสีเขียวและสีเหลือง “เราจะย้อมครั้งเดียวแต่จะได้ทีเดียวสองสี ก็จะลองดู หม้อนี้คือหม่อน ส่วนในปี๊บที่กำลังต้มคือขี้ช้าง ซึ่งจะให้สีต่างกัน เราจะต้มจนขี้ช้างละลาย แล้วก็กรองกากออก จากนั้นก็จะนำฝ้ายลงย้อม” จริญญาเล่ากระบวนการที่ทำตรงหน้า
จริญญาเล่าว่าด้วยภูมิอากาศที่หนาวเย็นจึงกลายเป็นสภาพบังคับให้ผู้หญิงทอผ้าเป็นกันทุกคน ส่วนผู้ชายก็ต้องทำกี่และกระสวยรวมถึงอุปกรณ์การทอผ้า
“ผู้ชายจะสืบทอดมาจากพ่อ ผู้หญิงก็จะสืบทอดมาจากแม่ ผู้ชายต้องทำกระสวยเป็นทำกี่เป็น เพราะอากาศบ้านเราหนาวเย็น ทุกบ้านต้องทอผ้าห่มผ้านวม”
จริญญารักงานออกแบบและงานเย็บปักถักร้อย เธอจึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการแปรรูปฝ้ายเป็นเสื้อผ้าที่ขายในนาม ‘ขุนเลย’ นำภูมิปัญญาอย่างการเข็นฝ้ายด้วยกี่มาผสมผสานกับการย้อมผ้าฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ และออกแบบโครงสร้างของเสื้อผ้าให้ร่วมสมัยด้วยลายฝ้ายทอมือที่คิดค้นขึ้นใหม่ชื่อ ‘ลายน้ำเลย’
เช่นเดียวกับชาวบ้านศรีเจริญ จริญญาเติบโตมาจากครอบครัวชาวไร่ชาวนา เธอจึงมีความทรงจำถึงข้าวพื้นเมือง “หลายพันธุ์ มีทั้งข้าวลืมผัว ข้าวปัดหิน ข้าวแผ่สรรค์ ข้าวหางปลาไหล ข้าวปลาซิวเล็ก ปลาซิวใหญ่ ข้าวฮาว ชาวนาจะปลูกข้าวตามความชอบ ครอบครัวนี้ชอบกินข้าวเม็ดใหญ่ เขาก็จะเก็บพันธุ์ไว้ เขาก็จะคัดพันธุ์ไว้ ปีต่อปี”
เช่นเดียวกับเกษตรกรบ้านศรีเจริญ ครอบครัวของเธอหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริมในแต่ละช่วงเวลา “เราปลูกข้าวโพดปี พ.ศ. 2529 จากนั้นมาก็ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก”
เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวไทบ้านเมืองเลย จริญญาเดินทางเข้าไปทำงานที่โรงงานเย็บผ้าที่กรุงเทพฯ ตอนอายุ 17 ปี ตอนนั้นเป็นปีที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำประท้วง รสช.
“จากนั้นมันก็เริ่มรุนแรงขึ้น เจ้าของโรงงานก็สั่งปิด ให้กลับบ้าน พอกลับบ้านมาดูทีวีที่บ้าน เขายิงกัน เราว่าถ้าเราอยู่ตายแน่ เราอยู่ศูนย์กลางด้วย อยู่ตรงหัวหมาก”
เช่นเดียวกับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จริญญาตกงาน และพบว่าชีวิตที่พลัดพรากจากบ้านเกิดมีแต่ความว่างเปล่า เธอจึงกลับบ้านมาเป็นนักวิจัยท้องถิ่นจากคำชวนของแสวง ดาปะ
“พ่อมิ้น-แสวง ชวนฉันมาเป็นทีมวิจัยไทบ้านก่อน แล้วก็ทำวิจัยท้องถิ่นของ สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) เราต้องการค้นหาวิธีที่จะทำให้คนในท้องถิ่นมีรายได้ มีความมั่นคงด้านอาหาร พอสืบค้นความรู้ในชุมชนก็เลยทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตกับเส้นฝ้าย” จริญญาเล่า
สินค้าแปรรูปอย่างฝ้ายจึงเริ่มต้นจากศูนย์ ก่อนจะนับหนึ่ง สอง สาม อย่างทุกวันนี้ ฝ้ายทำให้วัยรุ่นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกแปลกแยกจากบ้านเกิด ค้นพบความสุขและคุณค่าของสิ่งที่เธอทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ความหวังของชีวิตในวันหวยไม่ออก
เมื่อถึงวันที่ 7 ของทุกเดือน ชีวิตของคนอำเภอภูหลวงไม่ต่างจากคนอำเภออื่นๆ ของจังหวัดเลย พวกเขาเดินทางออกจากบ้านไปเร่ขาย ‘โชคชะตา’ ในเมืองต่างๆ ทั้งปทุมธานี รังสิต ชลบุรี กรุงเทพฯ บ้างเดินเท้า บ้างถีบบันไดจักรยานเลาะไปตามตรอกซอกซอย ก่อนจะกลับบ้านมาทำไร่หลังวันที่ 16 เมื่อเวลาบนปฏิทินเดินทางมาถึงช่วงปลายเดือน ชีวิตต้องเคลื่อนย้ายอีกครั้ง พวกเขาเก็บของเดินทางลงเมืองล่าง เร่ขายลอตเตอรี่ หลังจากหวยออกในวันที่ 1 ของเดือนถัดไป จึงหอบเอากำไรกลับบ้าน
ชีวิตของคนภูหลวงเป็นเหมือนดาวเคราะห์ ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง หมุนตามวงโคจรของรอบการออกสลากกินแบ่ง
“เมื่อคุณไปซื้อลอตเตอรี่ เขาขายใบละ 100 บ้างล่ะ 110 บ้างล่ะ อย่าไปว่าเขา อย่าไปสาบแช่งเขา เขารับมาจากยี่ปั๊วก็ใบละร้อยแล้ว” ศาสนา สินผา อธิบายถึงภาวะการถูกกดทับกันมาเป็นทอดๆ จากยี่ปั๊วลงมาถึงคนขายลอตเตอรี่ ยี่ปั๊วลอตเตอรี่ไม่ได้มีแค่เจ้าเดียว แต่ประหนึ่งสายโซ่ที่คล้องกันมา ไทบ้านคือชั้นล่างสุดของห่วงโซ่อุปทาน
ในภาคการเกษตร พวกเขาไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้ นอกภาคการเกษตร พวกเขาก็ไม่สามารถกำหนดราคาซื้อขายผลิตภัณฑ์ได้
จากสนามบินน้ำตรงดิ่งมาวังสะพุง ราคาของสลากกินแบ่งถีบตัวมันเองขึ้นไปหลายตังค์ ไทบ้านเมืองเลยเดินเร่ขายลอตเตอรี่ เจอช่องทาง สะสมทุน ก็ขยับมาเป็นยี่ปั๊ว แต่เป็นได้แค่ยี่ปั๊วในหมู่บ้าน ยังต้องโดนหักหัวคิวอีกหลายทอด
ชีวิตของคนภูหลวงเมืองเลย เป็นแบบนี้ แทบทุกครัวเรือน
พวกเขาใช้เวลาอยู่บ้านประมาณเดือนละ 15 วัน อีก 15 วัน เร่ขายลอตเตอรี่ เวลาที่เหลือก็ทำไร่ ภูมิศาสตร์ของอำเภอภูหลวงคือภูเขาสูงชัน ปลูกพืชทนแล้งบนภูเขา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา เอาเข้าจริงๆ แล้ว ต้องบอกว่าเกษตรกรแห่งภูหลวงปลูกพืชทุกชนิดที่เขาว่าดี ลอตเตอรี่ก็เช่นกัน
ข้อมูลของอำเภอวังสะพุงระบุว่า มีผู้เดินขายลอตเตอรี่ในจังหวัดเลยประมาณ 30,000-45,000 คน ตลาดนัดลอตเตอรี่สหกรณ์การเกษตรวังสะพุงจำกัด มีเงินหมุนเวียนประมาณ 500 ล้านบาทต่องวด
ทำไมคนเมืองเลยนิยมอาชีพเดินขายลอตเตอรี่ จากคำบอกเล่าต่อกันมาระบุว่า ชายชื่อ ‘เยียน’ แห่งหมู่บ้านทรายขาว เป็นคนนำเข้าอาชีพขายลอตเตอรี่ให้คนเมืองเลย เรื่องนี้เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2524 นายเยียนเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ เฉกเช่นชาวอีสานที่กระจัดพลัดพรายไปทำงานเมืองต่างๆ เขาเดินขายลอตเตอรี่ที่กรุงเทพฯ ต่อมาได้ชักชวนญาติพี่น้องไปเดินขายด้วย ปรากฏว่าได้ผลตอบแทนดี มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จึงชักชวนราษฎรในหมู่บ้านอื่นๆ ไปเดินขายด้วย เป็นที่มาของวัฒนธรรมการขายลอตเตอรี่ของคนเมืองเลย
“เฮาบ่มัก เฮาเป็นคนบ่ง้อคน” ศาสนา ระบุตัวตนของตัวเอง และเล่าว่า เขาเคยไปขายลอตเตอรี่แถวรังสิต เพราะอยากทดลอง “เห็นเขาไปก็อยากไปลอง ฮ่วย ชีวิตคือขี้ร้ายแท้ ต้องง้อเขา ต้องเอาใจเขา บาดนี่เขาบ่หัวซาเฮาเดะ ปานว่าเฮาสิไปฆ่าเขา มันอึดอัด ขายได้สองงวด เฮาทิ่มแผงกระดานกับรถจักรยานเมือบ้านเลย”
หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาพัฒนาชุมชน ศาสนาเริ่มต้นงานส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน ซึ่งเกี่ยวพันกับระบบการเกษตรอย่างยั่งยืนประหนึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน
ปัจจุบัน ศาสนาเป็นผู้จัดการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงบ้านศรีเจริญ ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย เขาเป็นทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพรปลอดสารเคมี เป็นนักพัฒนาชุมชน ทำงานส่งเสริมด้านการเกษตรให้กับไทบ้าน
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงบ้านศรีเจริญ ปลูกพืชสมุนไพร เช่น ขมิ้น เปราะหอม ไพล โดยใช้รูปแบบของเครือข่าย ซึ่งก็คือชาวบ้านนั่นเอง พวกเขานำผลผลิตปลอดสารมาแปรรูป เข้าร่วมกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่มีนโยบายรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านในราคาสูงแทนการซื้อจากบริษัท
“เราไม่ใช่สารเคมีเลย ตามเงื่อนไขข้อตกลงที่ทำให้กับผู้รับซื้อ ในศูนย์พยายามพัฒนาให้เกิดรายได้ และทำให้เป็นตัวอย่างให้ไทบ้านเห็นว่ามันสามารถทำได้นะ” ศาสนาบอกเล่าภารกิจในฐานะผู้จัดการศูนย์กสิกรรม
เป็นภารกิจสร้างความหวังให้เกิดขึ้นทั้งในวันที่หวยออกและวันที่หวยไม่ออก นี่คือฐานที่มั่นของชีวิต
ครั้งหนึ่งของชีวิต แสวง ดาปะ เคยเดินเร่ขายลอตเตอรี่แถบเมืองชลบุรี
ครั้งหนึ่งของชีวิต จริญญา ทองแบบ เคยเป็นสาวโรงงานเย็บผ้าที่เคยเกือบตายเพราะความรุนแรงทางการเมือง
ครั้งหนึ่งของชีวิต ศาสนา สินผา เคยทิ้งแผงขายลอตเตอรี่และจักรยานไว้ในเมืองกรุง แล้วดั้นด้นกลับบ้าน
แต่ทุกคนต่างก็กลับมาเจอสภาพปัญหาหนี้สินจากภาคการเกษตร การไม่สามารถกำหนดราคาพืชผลของตนเองได้ ปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมี และสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลข้างเคียงจากระบบการผลิตเชิงเดี่ยว การเกษตรผสมผสานจึงเป็นเหมือนบ้านของพวกเขา
ข้อเท็จจริงหนึ่งมีอยู่ว่า คำว่า ‘บ้าน’ มักมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับคำกิริยาอย่างคำว่า ‘กลับ’ และ ‘ปรับปรุง’