เชสเตอร์ เบนนิงตัน (Chester Bennington) นักร้องนำของ Linkin Park ใช้เข็มขัดผูกคอตาย หลายเสียงสรุปว่า อาการซึมเศร้าสะสมยาวนานทำให้ระเบิดเวลาในตัวเขาปะทุออกมาจนถึงจุดจบในบ้านพัก
ก่อนหน้านั้นไม่นาน คริส คอร์เนลล์ (Chris Corrnell) ฟรอนท์แมน Soundgarden และ Audioslave ฆ่าตัวตายด้วยวิธีใกล้เคียงกัน คริสใช้ยางยืดออกกำลังกายผูกคอตัวเองกับขอบประตูห้องน้ำในโรงแรม เขามีประวัติความผิดปกติทางจิต ยาทางจิตเวชที่ใช้ประจำถูกพบอยู่ในที่เกิดเหตุ
แม้ความโศกเศร้าจะส่งเสียงดัง แต่การจบชีวิตตัวเองอย่างเงียบๆ ก็เป็นสิ่งที่ทั้งสองต้องการ และทำสำเร็จ
เกิดการตั้งคำถามว่า สำหรับผู้มีความผิดปกติทางจิต (mental disorder) หรือ อาการป่วยทางจิต (mental illness) ทั้งซึมเศร้า ไบโพลาร์ ptsd (post trauma stress disorder) ที่มักเกี่ยวโยงกับการทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตาย
ในสายตาสังคม ‘ฆ่าตัวตาย’ คือการตายที่ไร้ค่า แรงกว่านั้นคืออ่อนแอ บาปกรรม
แต่จริงหรือไม่ว่า สำหรับผู้มีความผิดปกติทางจิตบางคน สิ่งที่ทำให้ชีวิตของพวกเขามีค่ามากที่สุด มีเกียรติที่สุด คือการจบชีวิตลงด้วยความสมัครใจของตัวเอง
หากเขาพิจารณาถี่ถ้วนแล้ว ว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ ชีวิตที่จะใช้ต่อไปข้างหน้านั้นหนักหนา การรอคอยการฆ่าตัวตายในวันพรุ่งนี้หรือวันข้างหน้าเป็นเรื่องเสียเวลา ความคิดฆ่าตัวตายคือน้ำหนักสะสม ไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ และการทำให้ตัวเอง ‘หายไป’ อาจทำให้ปมปัญหาที่คนอื่นรอบข้างต้องแบกรับเบาบางลง – เขามีสิทธิ์แค่ไหน ในการร้องขอความช่วยเหลือที่จะหยิบยื่น ‘ความตาย’ ให้ตนเอง
ได้โปรดให้ฉันตาย
เมษายน 2002 เนเธอร์แลนด์คือประเทศแรกที่มีกฎหมายรองรับการทำการุณยฆาต (euthanasia) และการฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ (assisted suicide) โดยมีข้อกำหนดคร่าวๆ คือ ผู้ป่วยต้องอยู่ในภาวะเจ็บปวดที่ไม่อาจทนได้ รักษาไม่หาย และการร้องขอต้องทำขณะมีสติรู้ตัว
ปีเดียวกัน เบลเยียมเป็นประเทศที่สองที่กฎหมายอนุญาตให้ทำการุณฆาต โดยแพทย์สามารถช่วยเหลือให้ผู้ป่วยจบชีวิตตนเองเพื่อหนีความทุกข์ทรมานเจ็บปวดของตัวเอง สำหรับกรณีการุณยฆาตจะทำให้กับผู้ป่วยที่พิจารณาแน่ชัดแล้วว่า อยู่ในภาวะโคม่าจนไม่อาจฟื้นคืนมาได้อีก
เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ก็อนุญาตให้มีการช่วยให้ฆ่าตัวตายได้ในบางกรณี ที่น่าสนใจและรู้จักกันวงกว้างคือ สวิตเซอร์แลนด์ ที่ครอบคลุมถึงผู้ที่ไม่มี ‘แรงบันดาลใจในการมีชีวิตอยู่ต่อไป’ (self-seeking motives) และมีการตั้งองค์กรอย่าง Dignitas และ Exit มาเพื่อหยิบยื่นความตายที่มีเกียรติให้กับผู้ที่สมัครใจและมีคุณสมบัติพร้อมจะจบชีวิตตัวเองลงจริงๆ
เรื่องของ Bill C-14 กฎหมายช่วยตายในแคนาดา
เว็บไซต์ dyingwithdignity.ca เขียนถึงการเข้าถึงสิทธิ์ในการตาย ‘อย่างมีเกียรติ’ ตาม Bill C-14 กฎหมายฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือ Medical Assistance in Dying (MAID) ที่ออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2016 ไว้ว่า
ความช่วยเหลือทางการแพทย์แบบใดบ้างที่ได้รับอนุญาต
- แพทย์หรือพยาบาลเวชปฏิบัติ สามารถจัดการให้สารที่ทำให้ถึงแก่ความตายกับบุคคลที่ร้องขอ
- แพทย์หรือพยาบาลเวชปฏิบัติ สามารถมอบหรือเขียนใบสั่งยาให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยจัดหาและจัดการให้สารที่ทำให้ถึงแก่ความตายด้วยตนเอง
ในกฎหมายใหม่ บุคคลใดมีคุณสมบัติได้รับ MAID
ภายใต้ Bill C-14 ผู้ป่วยต้องได้รับการประเมินจากผู้ให้บริการทางการแพทย์ผู้ชำนาญการสองคน เพื่อตัดสินว่า ผู้ป่วยรายนั้นๆ สมควรได้รับ MAID โดยผู้ป่วยจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องมีคุณสมบัติสี่ข้อดังต่อไปนี้
- ป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่ไม่สามารถรักษาหายได้ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ
- อยู่ในอาการป่วยขั้นรุนแรงที่ไม่สามารถทำให้ทุเลาลง รักษา หรือทำให้หายได้
- เผชิญความทุกข์ทรมานในระดับยากจะทนได้
- ผู้ป่วยอยู่ในช่วงท้ายของชีวิต และมีเหตุผลเหมาะสมว่า ความตายตามธรรมชาติกำลังจะมาถึง
ผู้มีอาการสมองเสื่อม (dementia) ผ่านเกณฑ์การรับ MAID หรือไม่
ภายใต้ Bill C-14 การร้องขอความตายของชาวแคนาดาที่ถูกวินิจฉัยว่า มีสถานะเป็นบุคคลไร้ความสามารถ เช่น อัลไซเมอร์ หรือฮันทิงตัน จะไม่ได้รับความยินยอมขณะที่พวกเขามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ แต่หากไม่มีการยื่นคำขอล่วงหน้า จะถือว่าผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ผ่านเกณฑ์การรับ MAID เพราะพวกเขาอาจกำลังจะเป็นบุคคลไร้ความสามารถก่อนที่จะมีคุณสมบัติครบ
รัฐบาลได้เริ่มการตรวจประเมินขั้นต้นเพื่อศึกษาคำขอล่วงหน้า แต่ไม่มีการการันตีการเข้าถึง MAID ผ่านคำขอล่วงหน้าจะได้รับการอนุญาตภายใต้ Bill C-14 นั่นหมายความว่า ผู้ป่วยที่มีสถานะจิตเสื่อมหรือสมองเสื่อม อาจไม่ผ่านเกณฑ์การได้รับ MAID เลยก็ได้
บุคคลผู้มีความผิดปกติทางจิตอย่างรุนแรงผ่านเกณฑ์การได้รับ MAID หรือไม่
Bill C-14 ไม่ได้มีข้อห้ามที่แน่ชัดสำหรับทางเลือกในการฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ให้แก่บุคคลผู้มีอาการป่วยทางจิตรุนแรง แต่ในทางปฏิบัติ กฎหมายมักจะคัดชาวแคนาดาผู้ได้รับความทรมานจากโรคทางจิตเวชออก และไม่ถูกนับเป็น ‘ความตายที่กำลังจะมาถึงอย่างสมเหตุสมผล’ และพวกเขาจะไม่ผ่านเกณฑ์ที่ Bill C-14 กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตผู้ป่วยด้วยอาการทางจิตบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก ‘อาจจะ’ สามารถผ่านเกณฑ์นี้ก็ได้
แพทย์สามารถปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกระบวนการ MAID ได้หรือไม่
Bill C-14 ไม่ได้บังคับให้หมอต้องช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงความตาย หรือรับรองผู้ป่วยให้ผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์อื่นๆ ลงมือแทน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะมีคู่มือสนับสนุนผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ที่ไม่ประสงค์หรือไม่สามารถให้ MAID หรือรับรองผู้ป่วยให้ผู้อื่นได้ ตัวอย่างเช่น ในออนตาริโอ ผู้ปฏิเสธการให้ MAID ต้องมีข้อมูลอ้างอิงที่มีประสิทธิผลให้กับแพทย์หรือผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ที่สามารถรับเป็นผู้ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงความตายได้
Dying with Dignity Canada ตระหนักถึงสิทธิ์ของผู้ปฏิบัติการณ์ที่ยืนยันปฏิเสธการ MAID แต่หากผู้ป่วยผ่านเกณฑ์ MAID คือสิ่งที่ควรทำ เพราะผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานต้องไม่ถูกทอดทิ้ง
สิทธิ์การตายของ อดัม ไมเยอร์-เคลย์ตัน
อดัม ไมเยอร์-เคลย์ตัน (Adam Maier-Clayton) เป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ออกมาเรียกร้องต่อรัฐบาลแคนาดาว่า ผู้มีความผิดปกติทางจิต ควรได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อ ‘ทำให้ตาย’
ความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญในแต่ละวันที่ต้องตื่นขึ้นมาพร้อมกับลมหายใจ คือหนึ่งในเหตุผลที่เขาเรียกร้องหา ‘สิทธิ์ในการตาย’ (right to die) ที่ควรครอบคลุมถึงผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต ไม่ใช่แค่การทำการุณยฆาตให้แก่ผู้ป่วยทางกายในระยะสุดท้าย
“ผมทำทุกวิถีทางแล้ว ผมเคยรักษาด้วยยาแปดหรือเก้าชนิด ผมลองทำจิตบำบัดแบบ Freudian การปรับความคิดพฤติกรรมบำบัด วิธีอย่าง ERP (Exposure and Response Prevention Therapy) การให้สัญญาและยอมรับความจริง ในโลกที่เพอร์เฟ็คท์ ผมน่าจะดีขึ้น แต่ในชีวิตจริง มันมีโอกาสที่อาการของผมจะแย่ลงไปเท่ากับที่มันเคยเป็นเมื่อสามปีก่อน ผมไม่อยากต้องทนกับความทรมานนี้ไปไม่รู้จบ” เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อแคนาดา The Globe and Mail
อดัมบอกว่า อาการทางจิตเริ่มต้นตั้งแต่จำความได้ 3-4 ขวบ มีความผิดปกติแสดงออกทางกาย เขากะพริบตาถี่ ร้องแปลกๆ ใบหน้ากระตุก ที่สุดแล้ว เขาได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder: OCD) และโรควิตกกังวล
“สมัยเรียน ผมทำได้ดี แต่ OCD และความวิตกกังวลก็กลับมา แล้วผมเริ่มเจ็บปวดมากขึ้นโดยที่ผมก็ไม่เข้าใจ ผมคิดว่ามันจะหายไป แต่ความเจ็บปวดทรมานทางจิตก็แย่ลง คุณรู้ไหม มันเหมือนคุณสัมผัสปลายเท้า แล้วรู้สึกถึงความร้อนที่ไหม้ลามมาที่ด้านหลังขา มันเหมือนกับขึ้นมาที่หน้าผม หลัง หัว แล้วมันไม่ยอมหยุด”
อาการนี้พัฒนาเป็นบุคลิกภาพผิดปกติ (Depersonalization Disorder: DPD) และสูญเสียความรู้ตัวจากความวิตกกังวล อดัมหลุดออกจากร่างไปอยู่ในโลกความฝันที่ไม่สามารถดิ้นรนออกมาได้ เขาทนทุกข์กับภาวะต่างๆ นี้ยาวนานสามปี
ความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายของเขาไม่ได้มาจากความเกลียดชังตัวเองหรือต้องการหนีไปไกลๆ “ผมคิดว่าโลกนั้นสวยงาม แต่ความเจ็บปวดหนักหนานี้มันยากจะทนจริงๆ” ต่างจากความป่วยไข้ทางกายที่รักษาได้ง่าย ความเจ็บปวดภายในเป็นอีกแบบ บางคนรักษาหาย บางคนทำได้เพียงบรรเทา รอวันที่มันจะกลับมา
“แน่นอน สำหรับทุกคนที่ป่วย เราต้องทำทุกทางที่เราสามารถทำได้เพื่อให้มันดีขึ้น มันจริงที่ว่า มันยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับความช่วยเหลือที่ดีจริงๆ เมื่อคุณมีอาการป่วยทางจิต ผมคิดว่าระบบสุขภาพจิตต้องการการปรับปรุงครั้งใหญ่หรือเปล่า…ใช่ มันไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้คนได้สิทธิ์ในการตาย ถ้าพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ แต่ไม่ว่าเราจะทุ่มงบลงไปให้โปรแกรมสุขภาพจิตมากแค่ไหนก็ตาม มันก็จะนำไปสู่ปัญหา เพราะเราไม่มีทางที่จะรักษาอาการป่วยพวกนี้ บางคนอาจต้องถูกบังคับให้มีชีวิตอยู่กับความทุกข์ทรมานที่น่าหวาดกลัว ที่ไม่มีการรักษาขนานไหนสามารถหยุดมันได้
กับคนที่ป่วยมากๆ จนหมดทางหาวิธีการรักษามาทำให้พวกเขาดีขึ้นได้ และเขาต้องการจะตาย มันไม่มีเหตุผลเลยที่ไม่ยอมให้เขาเข้าถึงความตาย เพราะอย่างแรกเลย มันคือการบังคับให้พวกเขาต้องเจ็บปวดไปชั่วชีวิต สอง – และนี่คือจุดสำคัญมากๆ คนที่ต้องการจะตาย…กำลังจะตาย
“มันไม่มีเหตุผลสำหรับการออกกฎหมายของรัฐบาลที่ต้อนคนจนมุม และบังคับให้พวกเขาต้องอยู่กับชีวิตของตัวเองอย่างโหดร้าย”
เราไม่สามารถตัดสินขนาดของบาดแผลในผู้ป่วยทางจิตได้ แม้ต้องเผชิญความเจ็บปวดรุนแรง อดัมก็ยังพอใช้ชีวิตได้ เขาเป็นนักเรียนที่กระตือรือร้น และเป็นนักกีฬาให้กับมหาวิทยาลัย University of Windsor and Algonquin College
“คนชอบพูดกันว่า เราไม่มีทางรู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะรู้สึกยังไง ซึ่งมันถูก ไม่มีใครมีไทม์แมชีน แต่ถ้าคุณมีใครสักคนที่ต้องทนทรมานมา 10 ปีติดๆ ไม่ว่าจะใช้ความพยายามหรือรักษาด้วยวิธีไหน เขาก็ยังมั่นใจกับการตัดสินใจของตัวเองมาโดยตลอด มันไม่มีเหตุผลที่จะบอกว่า ‘เฮ้ คุณไม่รู้ว่าอะไรกำลังจะมาถึง รออยู่กับที่เถอะ’ ” เขาบอกว่า ผู้ป่วยที่ทรมานมายาวนานไม่สามารถทนรอวิทยาการสมัยใหม่ที่จะผลิตยามารักษาพวกเขาได้ในอนาคต…ที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่
สำหรับเขา อาการทางจิตที่รุนแรงคือความทุกข์ทรมานแสนสาหัส และไม่มีวิธีการใดรักษาให้หายได้ แต่กรณีของผู้ป่วยทางจิตลักษณะนี้ ยังไม่เข้าข่ายได้รับ MAID ตาม Bill C-14 ของแคนาดา เขามองว่านี่คือขอบเขตที่คับแคบ และเลือกปฏิบัติ อดัม ไมเยอร์-เคลย์ตัน จึงเป็นกระบอกเสียงต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ผ่านโลกออนไลน์มาโดยตลอด ตั้งแต่บอกเล่าเรื่องการรักษาด้วยยาทางจิตเวชต่างๆ การทำจิตบำบัดและบำบัดด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จเลยตลอดหลายปี
13 เมษายนที่ผ่านมา อดัม ไมเยอร์-เคลย์ตัน อายุ 27 ปี ฆ่าตัวตายที่โรงแรมแห่งหนึ่ง โพสต์สุดท้ายบนทวิตเตอร์ของเขาคือ “I am my own savior. Always have been, always will be.” ผมคือพระผู้ช่วยให้รอดของตัวเอง เหมือนที่เคยเป็นมา และจะเป็นตลอดไป
ก่อนปิดท้ายด้วยซาวน์แทร็คของเกม Halo 2 ‘Unforgotten’
อาการทางจิตกับการฆ่าตัวตาย
มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) เปิดเผยข้อมูลการป่วยทางจิตกับการฆ่าตัวตายไว้ว่า ผู้ป่วยด้านจิตเวชส่วนใหญ่ไม่ได้มีจุดจบที่การฆ่าตัวตาย แต่ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลงมือฆ่าตัวตาย คือผู้มีปัญาทางจิต
– ผู้ป่วยที่มีอาการไบโพลาร์ 3-20 เปอร์เซ็นต์ฆ่าตัวตาย
– ผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้า 2-15 เปอร์เซ็นต์ฆ่าตัวตาย
– ผู้ป่วยที่มีอาการจิตเภท 6-15 เปอร์เซ็นต์ฆ่าตัวตาย 75-95 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ชาย
ลูกชายของฉัน…ต้องอยู่กับความเจ็บปวดแบบนั้น ต้องต่อสู้เพื่อการตายอย่างมีเกียรติ จนวันที่เขาจบชีวิต” คือสิ่งที่ มากาเร็ต ไมเยอร์ (Margaret Maier) เขียนถึงบุตรชาย ขณะที่พ่อ เกรแฮม เคลย์ตัน (Graham Clayton) ยืนยันจะเรียกร้องในแนวทางของบุตรชาย เพื่อให้รัฐบาลแคนาดาขยายสิทธิ์การฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ให้ครอบคลุมไปถึงผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานอยู่กับอาการทางจิต
ชานาซ โกคูล (Shanaaz Gokool) CEO ขององค์กร Dying with Dignity Canada กล่าวว่า “สิ่งที่อดัมทำตลอดปีที่แล้วและปีนี้ เขาตั้งคำถามยากๆ ทางการแพทย์มากมาย เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ คนที่มีอาการทางจิตรุนแรง และผู้ป่วยทางจิตเวช”
ล่าสุด รัฐบาลแคนาดาได้ทำการปรึกษา Council of Canadian Academies ให้ทำรายงานศึกษาว่า จะออกกฎหมายให้ครอบคลุมผู้ป่วยทางจิตได้หรือไม่ ซึ่งการศึกษานี้จะรายงานผลกลับมาในปี 2018
ผู้ป่วยทางจิตสมควร ‘ได้รับความตาย’ หรือเปล่า
การหยิบยื่นความตายโดยความช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น MAID หรือการุณยฆาต ได้ทำให้การตัดสินใจตายมีโอกาสข้ามเส้นจาก ‘การฆ่าตัวตาย’ มาสู่ ‘การตายอย่างมีเกียรติ’ ซึ่งอาจเป็นการป้องกันผู้ป่วยทางจิตจากการฆ่าตัวตายได้
ปี 2014 การการุณยฆาตและการฆ่าตัวตายเป็นประเด็นขึ้นมา เมื่อ ฟิลิป นิทช์เก (Philip Nitschke) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทางการแพทย์ หลังจากนิทช์เกตัดสินใจช่วยให้ ไนเจล เบรย์ลีย์ (Nigel Brayley) จบชีวิต ทั้งที่รู้ว่า เบรย์ลีย์ไม่ได้ป่วยระยะสุดท้าย แต่ตามรายงาน เบรย์ลีย์ติดต่อนิทช์เกผ่านทางอีเมล ว่าเขากำลังทุกข์ทรมานอย่างหนักและไม่มีความสุขกับชีวิตอีกแล้ว ซึ่งนิทช์เกไม่ได้ส่งเคสนี้ไปยังจิตแพทย์ หรือแม้แต่ให้ได้รับความช่วยเหลืออื่นๆ
‘ความช่วยเหลือ’ ของนิทช์เกถูกวิจารณ์กว้างขวาง โดยเฉพาะผู้สนับสนุนการการุณยฆาตที่พยายามวางตัวออกห่างๆ จากการช่วยให้ฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่ว่า การทำการุณยฆาตไม่สมควรทำกับผู้ป่วยทางจิต จะไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และต้องใช้การพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
ไอเดียอาจจะดูใจกว้าง แต่ในเชิงปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย และพ่วงด้วยข้อถกเถียงมากมาย โดยเฉพาะการระบุว่า อาการป่วยทางจิตหรือภาวะเจ็บปวดทางใจเป็นอาการที่ ‘รักษาไม่หาย’ จริงหรือไม่ และหากมีการอนุญาตสิทธิ์ในการตายครอบคลุม ‘เกินไป’ กว่าผู้ที่พร้อมรับความตายจริงๆ จะเป็นสิ่งอันตราย ขณะเดียวกัน การบีบให้ผู้ป่วยทางจิตไม่ให้เข้าถึงสิทธิ์การจบชีวิตตนเอง ก็ดูเหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติ เมื่อเทียบกับการทำการุณยฆาตให้ผู้ป่วยโรคอื่นๆ
ที่อังกฤษ ปี 2012 โรงพยาบาลถูกสั่งให้หยุดการรักษาด้วยการบรรเทาอาการของหญิงวัย 32 ปี ซึ่งป่วยเป็นแอนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) และให้กินอาหารด้วยการบังคับป้อน แม้จะทุกข์ทรมานจากการใช้ความรุนแรง เธอยืนกรานปฏิเสธการกินอาหารมาเป็นเวลาหลายปี
ศาลตัดสินว่า เธอมีปัญหาความผิดปกติด้านการกิน (Eating Disorder) ทำให้เธอเป็นบุคคลไร้ความสามารถที่กฎหมายจะตัดสินให้ปฏิเสธการรักษาได้ พูดให้ตรงคือ ผู้ป่วยแอนอเร็กเซียไม่สามารถตัดสินใจจบชีวิตตนเองได้ ไม่ว่าความทุกข์ทรมานจากโรคที่รักษาไม่หายจะมีมากขนาดไหน
จากกรณีนี้ ครอบครัวของเธอแสดงความไม่พอใจ พวกเขาบอกว่า มันเป็นเรื่องแปลก ที่คนไม่มีสิทธิ์ตาย แม้ว่าจะไม่มีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับการป่วยด้านกินที่ผิดปกติเหลืออีกแล้ว
การทำการุณยฆาตเป็นสิ่งถูกกฎหมายในเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ การช่วยให้เข้าถึงความตายจากความทุกข์ทางใจได้รับอนุญาต โดยพิจารณาจากอายุ สภาพทางจิต และความทุกข์ทรมานที่ทำให้อยู่ในสภาพที่ ‘ไม่สามารถรักษาได้’ ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดที่เกินทนต่อเนื่องยาวนาน
ปี 2012 ตัวเลขการการุณยฆาตของเบลเยียมอยู่ที่ 1,432 ราย 52 รายมาจากอาการทางจิต ส่วนที่เนเธอร์แลนด์ ผู้ป่วยทางจิตที่เข้าถึงสิทธิ์การตายมีจำนวน 42 ราย จากทั้งหมด 4,829 รายในปี 2013
และในช่วงห้าปีที่ผ่านมา กรณีการุณยฆาตเพิ่มขึ้น 75 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนั้น เหตุผลทางจิตเวชเพิ่มขึ้นจาก 0.1 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1 เปอร์เซ็นต์
ความตายของเธอที่เนเธอร์แลนด์
ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการการุณยฆาตแห่งชาติ หรือ Dutch Euthanasia Commission เผยตัวเลขของผู้ที่ขอสิทธิ์ในการตายเนื่องจากอาการป่วยทางจิตและอารมณ์ในประเทศเนเธอร์แลนด์เพิ่มจำนวนขึ้นตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมา (ราวปี 2013-2017) และเฉพาะตัวเลขปี 2015 มีผู้ป่วยทางจิตเวชขอใช้สิทธิ์ 56 คน และผู้ป่วยที่มีอาการจิตเสื่อมอีก 109 คน ซึ่งอาจถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ หากเทียบกับเมื่อห้าปีก่อน (ราวปี 2008-2012) ที่มีผู้ขอใช้สิทธิ์เพียงสองคน
กรณีศึกษาของ ‘หญิงสาว’ ที่ขอใช้สิทธิ์ตายรายหนึ่ง ถูกบันทึกไว้ในบัญชี Dutch Euthanasia Commission รายละเอียดส่วนตัวของหญิงสาวรายนี้เช่น ชื่อ-นามสกุลไม่ถูกระบุไว้ เพียงระบุอายุ ’ประมาณ’ 20 ปี แพทย์เซ็นรับรองว่า เธอมีอาการซึมเศร้ารุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่อายุ 15 ปี เนื่องมาจากการถูกคุกคามรุนแรงทางเพศ
ข้อมูลระบุอาการความเจ็บป่วยทางจิตของเธอว่า มีปัญหาสภาพจิตใจอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง หลังต้องทนกับความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดสะเทือนใจ คิดถึงการฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง อยู่ในภาวะเครียดรุนแรง และมีข้อความว่า เธอได้รักษาอย่างต่อเนื่องทุกวิธี จนหมดหนทางรักษาแล้ว
จากผู้ป่วยถึง Bill C-14
อาร์เธอร์ กัลแลนท์ (Arthur Gallant) คอลัมนิสต์ด้านจิตวิทยาของ Huffington Post แคนาดา เขียนถึง Bill C-14 ไว้ว่า เขาถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางจิตตั้งแต่อายุ 12 เขาเคยวางแผนฆ่าตัวตายสองครั้ง และเมื่อเขานึกถึงเรื่องนี้ เขามักกังวลเสมอว่า วันหนึ่งเขาอาจจะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย
กัลแลนท์สนับสนุนทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความป่วยไข้ทางจิต อย่างไรก็ตาม การฆ่าตัวตายไม่เคยหมดไป ถ้าใครสักคนต้องการจะจบชีวิตตนเอง เขาก็จะหาทางทำจนสำเร็จ และเป็นเรื่องยากมากๆ ที่ใครจะขัดขวางความตั้งใจของพวกเขาได้
สำหรับคนที่ต้องอยู่กับความเจ็บป่วยทางจิต เขาอาจจะมีอาการแค่ช่วงสั้นๆ ในชีวิต แต่สำหรับคนแบบผม ผมต้องอยู่กับความป่วยไข้นี้ไปตลอดชีวิต มันคือช่วงเวลาที่มืดมิดมาตลอด และมันจะมืดมนมากขึ้นในอนาคตที่จะมาถึง
กัลแลนท์เสนอว่า ถ้าเรายอมรับความตายจากการช่วยเหลือของแพทย์ หรือการุณยฆาต ว่าเป็น ‘การเยียวยา’ ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยทางกาย เราก็ต้องยอมรับว่า การฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ คือ ‘การเยียวยา’ ที่เหมาะสมสำหรับผู้ต้องแบกรับความทุกข์ทรมานกับอาการทางจิตเช่นกัน
“เมื่อผมคิดว่า การฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์อาจจะเหมาะสมสำหรับบางคนที่อยู่กับอาการป่วยทางจิต ผมคิดถึงคนที่ยินดีกับผลที่เกิดขึ้นจากทางเลือกของเขาทั้งดีร้าย คนที่ยอมรับการรักษาอาการทางจิตที่มีรายงานโดยผู้ป่วยเองว่า มันไม่ได้ผล และผมคิดถึงคนที่ต้องทุกข์ทรมานกับบาดแผลทางจิตที่จะทำลายชีวิตที่มองไม่เห็นอนาคตสำหรับตัวเขาเองเลย”
อย่างไรก็ตาม แม้จะสนับสนุนการฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ กัลแลนท์บอกว่า การตัดสินใจนี้ต้องทำการทดสอบหลายขั้นตอน ต้องพบแพทย์เพื่อทำการประเมินมากกว่าหนึ่งครั้ง ซึ่งการเตรียมการหลายขั้นนี้อาจจะช่วยทำให้พวกเขามีเวลาไตร่ตรองมากขึ้น สำหรับการติดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต
คนที่ป่วยด้วยอาการทางจิต ควรได้ตายอย่างมีเกียรติเช่นกัน
หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดกำลังมีปัญหาสุขภาพจิต ติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่กรมสุขภาพจิต สายด่วน 1323
หากต้องการพบจิตเพทย์ สามารถดูรายชื่อ โรงพยาบาลรัฐ และ โรงพยาบาลเอกชน ได้ที่นี่ (ที่มา: เพจสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย)
อ้างอิงข้อมูลจาก: buzzfeed.com
theglobeandmail.com
theconversation.com
dyingwithdignity.ca
bbc.com
depts.washington.edu
huffingtonpost.ca