ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์ค (University of York) ในอังกฤษ ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำใน 72 ประเทศ และพบว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างที่เก็บมานั้นปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา เช่น บังคลาเทศ ปากีสถาน เคนยา กานา และไนจีเรีย ที่มีการปนเปื้อนอยู่เกินระดับปลอดภัย
ระดับปลอดภัยที่ว่านี้คือ 20,000-32,000 นาโนกรัมต่อลิตร ขึ้นอยู่กับชนิดของยา กรณีที่แย่ที่สุดคือบังคลาเทศ ที่พบยา Metronidazole ซึ่งใช้รักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียบนผิวหนัง ทางเดินหายใจ และช่องคลอด เกินระดับปลอดภัยถึง 300 เท่า
ทีมวิจัยตั้งต้นมองหายาปฏิชีวนะที่ใช้กันทั่วไป 14 ชนิด ที่พบบ่อยมากถึง 43 เปอร์เซ็นต์คือ Trimethoprim ซึ่งใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ปอดอักเสบ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และยังพบอีกว่า Ciprofloxacin ยารักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง กระดูก และข้อต่อ และระบบทางเดินหายใจ อยู่เกินระดับปลอดภัยถึง 51 แห่ง
ข้อมูลที่ถูกเก็บจาก 711 จุดจากพื้นที่ในแม่น้ำสายสำคัญของโลก ทั้งเจ้าพระยา ดานูบ แม่น้ำโขง แซน เธมส์ ไทเบอร์ และไทกริส พบว่า จุดอันตรายมักอยู่ใกล้โรงบำบัดน้ำเสียหรือบริเวณกองขยะ รวมถึงอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง จนไม่มีใครเข้าไปจัดการ
การค้นพบที่จะนำเสนอในการประชุมประจำปีของ Society of Environmental Toxicology and Chemistry ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ แสดงให้เห็นว่า ปัญหายาปฏิชีวนะที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำเกินกว่าระดับปลอดภัย มักพบในประเทศกำลังพัฒนา ข้อมูลจากยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ แสดงให้เห็นว่าการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในแม่น้ำเป็นปัญหาระดับโลก
จอห์น วิลกินสัน (John Wilkinson) จากภาควิชาสิ่งแวดล้อมและภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยยอร์ค กล่าวว่า “ส่วนสำคัญของงานชิ้นนี้คือการเริ่มต้นตอบคำถามว่า ‘แล้วไงเหรอ’ หรือมากว่านั้นคือ ‘การปนเปื้อนที่ว่านี้มันเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจริงหรือเปล่า’ ”
วิกฤติระดับโลก
เดือนที่ผ่านมา สหประชาชาติเรียกการดื้อยาปฏิชีวนะว่าเป็น ‘วิกฤติระดับโลก’ ภาวะดื้อยานี้เป็นสาเหตุของการสูญเสียชีวิตทั่วโลกราว 700,000 รายต่อปี ซึ่งรวมถึง 230,000 รายที่เสียชีวิตจากวัณโรคดื้อยาหลายชนิด (multidrug-resistant tuberculosis: MDRTB) อ้างอิงจากรายงานการดื้อยาต้านจุลชีพของ Interagency Coordination Group (IACG) ขององค์การสหประชาชาติ และหากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง ทีมผู้จัดทำรายงานประมาณคร่าวๆ ว่า ภายในปี 2030 จะมีผู้เสียชีวิตจากภาวะดื้อยาถึงปีละ 10 ล้านคน
อลิสแตร์ บอกซอลล์ (Alistair Boxall) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยยอร์ค เรียกการค้นพบสารปนเปื้อนในแม่น้ำครั้งนี้ว่าทำให้ “ตาสว่างและน่าหนักใจ” เพราะมันกำลังบอกว่าการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในแม่น้ำอาจเป็น “ผู้สนับสนุนที่สำคัญ” ที่จะนำไปสู่ภาวะดื้อยาต้านจุลชีพ
เพื่อเป็นการสู้กับภาวะดังกล่าว บอกซอลล์กล่าวว่า มันจำเป็นมากที่จะต้องลงทุนกับระบบสาธารณูปโภคด้านการกำจัดขยะและระบบบำบัดน้ำเสีย ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเคลียร์พื้นที่ที่มีการปนเปื้อน
“การแก้ปัญหานี้กำลังเป็นการท้าทายระดับงานช้างทีเดียว”
สนับสนุนโดย