รายงานสถานะความปลอดภัยทางถนนทั่วโลกประจำปี 2556 (The Global status report on road safety 2013) โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุด้วยอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก นับเป็นอีกเรื่องไม่ธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้กับเราทุกคน
จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งบนเวทีเสวนาวิชาการ ‘ยกเครื่องรถโดยสารสาธารณะไทย ด้วยระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยา’ และจากผู้เข้าร่วม ซึ่งมีทั้งผู้ที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคประจำภาคต่างๆ ในนาม ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และอีกหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตัวแทนจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รวมทั้งตัวแทนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะและบริษัทประกันภัย
โดยที่ประชุมรวบรวมสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก่อนจะออกมาเป็นข้อเสนอในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยามีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนครอบคลุมการชดเชยเยียวยาสำหรับเหตุที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงทีและเป็นธรรมที่สุด
+ เปิดสภาผู้บริโภค
ตัวแทนผู้เสียหายจากบริการรถโดยสารสาธารณะ ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ บริษัทประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ‘ความทุกข์ของผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ: กระบวนการชดเชยเยียวยาความเสียหาย’ เพื่อรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นจากการชดเชยเยียวยาในปัจจุบัน
โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบเหตุ ซึ่งสมควรเป็นฝ่ายได้รับการเยียวยาและชดเชยเบื้องต้นทันทีโดยไม่จำเป็นต้องร่วมในการพิสูจน์ถูกผิด แต่กลับต้องรอการชดเชยเยียวยาหลังกระบวนการพิสูจน์ที่ล่าช้าออกไป ถือเป็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นและยังไม่ได้รับการแก้ไข
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ. ร่วมเปิดเวทีสภาผู้บริโภค ในฐานะประธานสภาผู้บริโภค และเลขาสภาผู้บริโภค ตามลำดับ หลังจากรับฟังปัญหาจากผู้ประสบเหตุ ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 5 ภาค และผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปแนวทางปัญหาและข้อเสนอภาคประชาชนต่อประเด็นด้านการชดเชยเยียวยา 4 ประเด็น ได้แก่
- ปรับค่าชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากรถโดยสารสาธารณะ
- ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางทัศนศึกษาของนักเรียน บุคลากร และหน่วยงานรัฐ
- เร่งรัดมาตรการด้านความปลอดภัย
- เสนอตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะ
1. ปรับค่าชดเชยเยียวยา
สถานการณ์
- การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล หลังเกิดอุบัติเหตุ ผู้ประสบเหตุต้องทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเองไปก่อน
- การเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ค่าเสียหายที่ได้รับ
จากกรมธรรม์ประกันภัย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นการคุ้มครองเฉพาะด้านการบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งมีวงเงินที่อาจไม่เพียงพอต่อการรักษาพยาบาล เป็นการผลักภาระให้สวัสดิการสุขภาพระบบอื่นๆ
- การช่วยเหลือเยียวยาล่าช้า เนื่องจากต้องรอผลพิสูจน์ถูกผิด กรณีผู้ประสบเหตุเสียชีวิต
สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ มีอัตราเยียวยาอยู่ที่ 200,000 บาท ซึ่งอาจไม่เพียงพอ
- การชดใช้ความเสียหายจากกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจ บริษัทประกันภัยจะพิจารณา
ตามหลักฐาน สภาพหนักเบาของการบาดเจ็บและค่ารักษาพยาบาล ไม่มีการเยียวยาค่าเสียหายในด้านอื่น
- ผู้ประสบเหตุไม่ได้รับการแจ้งสิทธิ์หรือรายละเอียดกรมธรรม์โดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐที่
เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าต้องปรึกษาที่ไหน หลายรายยอมรับค่าสินไหมทั้งที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม
- การลงลายมือชื่อในสัญญาประนอมยอมความเพื่อรับค่าสินไหมในขั้นตอนเจรจากับบริษัท
ประกันภัย อาจทำให้ผู้เสียหายเสียสิทธิ์ ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมในคดีทางแพ่งได้อีก
- เมื่ออาศัยกระบวนการฟ้องร้อง ต้องรอให้ผลคดีถึงที่สุดก่อนจึงจะได้รับการชดเชย ซึ่งใช้
เวลานาน ผู้ประสบเหตุไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
- เพิ่มวงเงินประกันภัยภาคบังคับ จาก 200,000 บาท เป็น 1 ล้านบาทต่อราย โดยแยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพออกจากค่ารักษาพยาบาล
- เพิ่มวงเงินประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับรถโดยสารสาธารณะสูงสุด จาก 10 ล้านบาท/คัน เป็น 30 ล้านบาท/คัน
- ทบทวนกระบวนการฟ้องร้องให้สั้นลง ออกแบบคำนวณมาตรฐานการชดเชยเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการเจรจาระหว่างผู้ประสบเหตุและเจ้าของรถที่เกิดเหตุ
2. ยกระดับความปลอดภัยทัศนาจร
สถานการณ์
- ช่วงเดือนตุลาคม 2554 ถึงมีนาคม 2556 เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ 234 ครั้ง โดยเป็นรถทัศนาจร 36 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 15.4 มีผู้เสียชีวิต 29 ราย บาดเจ็บ 846 ราย
- การสำรวจประสบการณ์การทัศนศึกษาครั้งที่ผ่านมาของสถานศึกษา 36 แห่งในจังหวัดนครราชสีมา พบว่า ร้อยละ 9 เคยประสบอุบัติเหตุ ร้อยละ 16 เกิดรถเสียระหว่างทาง ร้อยละ 40 มีรายงานว่าพนักงานขับรถเร็ว และร้อยละ 40 พบรถไม่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัย
- งบอุดหนุนในการจัดกิจกรรมนอกสถานที่มีจำกัด ทำให้โรงเรียนต้องลดรายจ่ายด้วยวิธีต่างๆ อาทิ ไม่พักค้างคืน ใช้รถ 2 ชั้น หรือจ้างพนักงานขับรถคนเดียวในเส้นทางที่ขับเกิน 4 ชั่วโมง
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
- ปรับหลักเกณฑ์งบอุดหนุนการศึกษานอกสถานที่
- จัดทำสัญญาเช่าให้รัดกุม
- จัดทำแผนการเดินทางที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ได้แก่ กำหนดระยะทางให้เหมาะกับช่วงวัยนักเรียน เลือกใช้รถโดยสารชั้นเดียว โดยเฉพาะในเส้นทางลาดชัน หลีกเลี่ยงการเดินทางในเวลากลางคืน หากมีระยะทางเกิน 400 กิโลเมตร ต้องมีพนักงานขับรถ 2 คน
3. เร่งรัดมาตรการความปลอดภัย
สถานการณ์
- แม้จะมีกฎหมายกำหนดให้ผู้โดยสารรถสาธารณะต้องคาดเข็มขัดนิรภัย หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่ในความเป็นจริงพบว่าผู้โดยสารยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เท่าที่ควร
- ข้อมูลการเฝ้าระวังอุบัติเหตุรถสาธารณะพบว่า เมื่อเกิดเหตุถึงขั้นเสียชีวิตและบาดเจ็บ ผู้โดยสารทั้งหมดไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย
- ข้อมูลจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำรวจการใช้เข็มขัดนิรภัยบนรถตู้ประจำทางพบว่า ร้อยละ 90 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย
- กรมการขนส่งทางบก มีเป้าหมายจะติดตั้ง GPS ในรถประจำทาง รถร่วมบริการ และรถทัศนาจร เพื่อควบคุมเรื่องความเร็วและพฤติกรรมการขับรถ แต่ยังไม่กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
- กำกับให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์
- เร่งรัดให้กรมขนส่งทางบก ประกาศใช้ระเบียบด้านมาตรฐานความแข็งแรงโครงสร้างรถ มาตรฐานความแข็งแรงของเบาะที่นั่งและเข็มขัด
- มีระบบสนับสนุนให้รถร่วมบริการ และรถทัศนาจรที่มีความพร้อม ติดตั้ง GPS ประจำรถ
4. กองทุนคุ้มครองสิทธิ์
สถานการณ์
- เมื่อประสบอุบัติเหตุ การชดเชยจากประกันภัยภาคบังคับสำหรับผู้ประสบเหตุอาจยังไม่เพียงพอ
- ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นผู้ร่วมบริการรายย่อย อาจทำให้การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นไปได้ยากลำบาก หากมีการบังคับให้มีการทำประกันภัยภาคสมัครใจ อาจทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถประกอบการได้
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
- เสนอให้จัดตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะ เพื่อส่งเสริม ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาคุณภาพบริการ และมีแผนงานเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
- ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด
- สามารถให้การชดเชยแก่ผู้ประสบภัยในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถชดเชยได้
+ ปรับวงเงิน เพื่อเยียวยาครอบคลุม
สถิติจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จากการสำรวจความคิดเห็นผู้ประสบเหตุและญาติ 142 ราย พบว่า
ร้อยละ 77 ของญาติผู้ประสบเหตุได้รับผลกระทบทางจิตใจ มีสภาพจิตใจย่ำแย่ อารมณ์ไม่ปกติ
ร้อยละ 62 ของผู้ประสบเหตุได้รับผลกระทบด้านร่างกาย เช่น ปวดมือ ปวดขา ปวดคอ และมีปัญหาในการเดิน
ร้อยละ 54 ผู้ประสบเหตุใช้เวลารักษาพยาบาลมากกว่า 1 เดือน เกือบทั้งหมดได้รับเงินชดเชยที่ไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง จนต้องไกล่เกลี่ยในกระบวนการชั้นศาล
โดยทั่วไป เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ วงเงินในการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถในแต่ละกรณีเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรทราบ นอกจากนี้ หากเกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือชีวิต บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นตามกฎหมายภาคบังคับดังต่อไปนี้
กรณี | จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นทันที (บาท) | พิสูจน์แล้วเป็นฝ่ายถูก (บาท) |
1. บาดเจ็บ | 15,000 | ไม่เกิน 50,000 |
2. ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตทันที | 35,000 | ไม่เกิน 200,000 |
3. บาดเจ็บแล้วทุพพลภาพภายหลัง หรือบาดเจ็บแล้วเสียชีวิตภายหลัง | ไม่เกิน 50,000 | ไม่เกิน 200,000 |
ผู้ประสบเหตุทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเยียวยารายวัน 4,000 บาท (วันละ 200 บาท เป็นเวลา 20 วัน) กรณีที่เป็นผู้โดยสาร มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวนโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ถูกผิด เนื่องจากไม่มีส่วนร่วมในการรับผิด จะได้รับค่าชดเชยเยียวยาต่อราย สูงสุด 204,000 บาท
ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ วงเงินชดเชยอาจยังไม่สะท้อนค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง กลายเป็นภาระสำหรับผู้ประสบเหตุที่ต้องขวนขวายและจัดการด้วยตัวเอง
แนวทางที่เหมาะสม คือการเร่งให้เกิดการปรับวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น โดยค่ารักษาพยาบาล จากเดิมจะได้ไม่เกิน 50,000 บาท เสนอให้ปรับเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ เดิมจะได้ไม่เกิน 200,000 บาท เสนอให้ปรับขึ้นเป็น 400,000 บาท
+ แม่ฮ่องสอนปฏิวัติ
เพื่อให้การผลักดันกระบวนการชดเชยและเยียวยาผู้ประสบเหตุอย่างรอบด้านและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ผู้แทนเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 5 ภาคทั่วประเทศ ร่วมกันถอดบทเรียนการทำงานการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะว่าควรมีการปรับปรุงไปจนถึงยกเครื่องอย่างไรบ้าง
สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล นำเสนอบทเรียนความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดการเยียวยาในภาคเหนือ โดยยกกรณีอุบัติเหตุในพื้นที่ 3 เหตุการณ์ ซึ่งเป็นที่มาของแรงผลักดันที่เกิดขึ้นจากภาคประชาชนจริงๆ
กรณีที่พะเยา ในปี 2555 รถรับส่งนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยาชน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 51 คน หรือเหตุเมื่อปี 2556 หลังจากรถทัศนาจรของกลุ่มผู้สูงอายุจากตำบลชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ตกเหวที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 22 ราย และบาดเจ็บ 16 คน
ส่วนเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวภาคประชาชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดขึ้นหลังจากอุบัติเหตุรถโดยสารของบริษัทเปรมประชาพลิกคว่ำในวันที่ 17 เมษายน 2557 ที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บ 61 คน ทั้งที่รถโดยสารดังกล่าวสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 40 ที่นั่ง
บริษัทเปรมประชา เป็นผู้ถือสัมปทานการเดินรถโดยสารสาธารณะในเส้นทาง เชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน มาโดยตลอด ปัจจุบันแม้บริษัทจะประสบปัญหาด้านการเงิน แต่ยังได้รับการต่อสัญญาเดินรถในปี 2557 ไปอีก 7 ปี
การเยียวยาที่เกิดขึ้นจากบริษัมเปรมประชาคือ การดูแลตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยผู้เสียชีวิตจะได้เงินชดเชยรายละ 200,000 บาท ไม่พบว่าบริษัททำประกันภัยภาคสมัครใจเพื่อดูแลผู้ประสบเหตุให้ครอบคลุมขึ้นแต่อย่างใด
28 เมษายน เป็นวันที่ประชาชนชาวแม่ฮ่องสอนประมาณพันคน รวมตัวกันเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิผู้บริโภคที่ถูกละเมิดจากบริการรถโดยสารสาธารณะ หลังจากนั้น ในเดือนพฤษภาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตั้งคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้น ยังมีการเปิดโต๊ะเจรจากับผู้ประกอบการอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ถึงบัดนี้ ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร กลุ่มผู้เสียหายประมาณ 20 ราย จึงตัดสินใจเตรียมฟ้องคดี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในสิทธิที่พึงได้รับ
สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เพจเฟซบุ๊ค ‘ชาวแม่ฮ่องสอนไม่เอารถโดยสารเปรมประชา’
+ ถอดบทเรียนภาคประชาชน
จากเหตุการณ์รถรับส่งนักเรียนโรงเรียนกันทรลักษณ์วิทยาเกิดอุบัติเหตุชนกับรถบรรทุก 6 ล้อ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 ในอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนักเรียนได้รับบาดเจ็บ 19 ราย ปฏิวัติ เฉลิมชาติ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน มีโอกาสได้รับเรื่องร้องเรียนจากญาตินักเรียนที่ได้รับอุบัติเหตุและเข้ามาขอคำปรึกษาเนื่องจากยังขาดประสบการณ์การรับมือในเรื่องนี้
ทางเครือข่ายฯได้ให้ความช่วยเหลือทั้งในด้าน การแจ้งสิทธิของผู้โดยสารที่ควรจะได้รับ การสืบค้นข้อมูลเรื่องรถโรงเรียนปลอดภัย จากโครงการบางปลาม้าโมเดล ของจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อให้สถานศึกษานำไปต่อยอด ตลอดจนการลงพื้นที่เพื่อหาข้อเท็จจริง ทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครอง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือด้านการคุ้มครองสิทธิตนเอง และมาตรการการป้องกันอุบัติเหตุ และพยายามระดมความคิดเห็นจากนักเรียนและผู้ปกครอง ว่ารถโรงเรียนปลอดภัยในความต้องการของพวกเขาเป็นอย่างไร
ความเปลี่ยนแปลงหลังอุบัติเหตุคือ เกิดการรวมกลุ่มผู้เสียหายจากรถโดยสารสาธารณะ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายและผลักดันโครงการรถโรงเรียนปลอดภัย ขณะที่ทางโรงเรียนกันทรลักษณ์วิทยาจัดทำทำเนียบผู้ให้บริการรถโรงเรียน ออกใบรับรองแก่ผู้ขับรถและจัดประชุมอบรมอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของนักเรียนก็มีการอบรมแกนนำคุ้มครองผู้บริโภคและเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัย เพื่อช่วยกันเป็นหูเป็นตาและตรวจสอบเบื้องต้น
ในฐานะตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ จุฑา สังขชาติ เสนอข้อมูล 3 อันดับเรื่องร้องเรียนด้านบริการรถโดยสารสาธารณะผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 ทั้งสิ้น 12,144 ราย พบว่า
1. | ขับรถประมาท ขับเร็ว | 3,600 ราย |
2. | ไม่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่ป้าย | 2,115 ราย |
3. | แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ | 1,958 ราย |
จากการเฝ้าระวังของกลุ่มอาสาสมัครในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พบว่า ในพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ จากรถเมล์ไปเป็นรถตู้โดยสารมากขึ้น โดยมีรถให้บริการเกือบทุกเส้นทาง จึงแบ่งการเก็บข้อมูลแบ่งตามเส้นทาง 5 เส้นทาง ได้แก่ อ.หาดใหญ่-อ.เมืองสงขลา อ.จะนะ อ.สะเดา อ.กระแสสินธุ์ และ อ.ระโนด
ผลการสำรวจพบว่า รถตู้โดยสารร้อยละ 24 หรือราว 1 ใน 4 มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยจริง แต่ยังมีสภาพไม่พร้อมใช้งาน พบการบรรทุกผู้โดยสารเกินกำหนดอยู่ที่ร้อยละ 34 ขณะที่ปัญหาที่ผู้โดยสารพบแล้วค่อนข้างกังวลเป็นอันดับหนึ่ง คือ พนักงานขับรถใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ โดยพบร้อยละ 70 ปัญหาเรื่องไม่มีป้ายบอกราคาค่าเดินทาง อยู่ที่ร้อยละ 43
การสังเกตการณ์ผู้โดยสารขณะใช้บริการ พบว่าผู้โดยสารร้อยละ 66 ไม่ใช้เข็มขัดนิรภัยเลย มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ให้ข้อมูลว่าใช้ทุกครั้งที่นั่ง
ข้อเสนอในการปรับปรุงแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ การใช้เข็มขัดนิรภัย การให้ข้อมูลเรื่องราคา การให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยกับผู้โดยสาร และพฤติกรรมที่ต้องปรับปรุงของผู้ขับรถ
ในส่วนของบทเรียนการฟ้องคดีรถโดยสารสาธารณะ คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้ข้อมูลสถิติคดีที่ทางศูนย์ฯรับดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 186 คดี โดยแบ่งเป็น 6 ประเภท ดังนี้
1. รถทัวร์ | ร้อยละ 35 | 4. รถรับส่งนักเรียน | ร้อยละ 8 |
2. รถนำเที่ยว | ร้อยละ 28 | 5. รถตู้ | ร้อยละ 8 |
3. รถรับส่งพนักงาน | ร้อยละ 16 | 6. รถเมล์ | ร้อยละ 5 |
ขณะนี้ คดีถึงที่สุดแล้ว 138 คดี อยู่ระหว่างอุทธรณ์ 13 กรณี และอยู่ระหว่างการดำเนินคดี อีก 35 กรณี
จากประสบการณ์ คงศักดิ์สรุปปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินคดีรถโดยสาร สำหรับผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหาย ส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลและประสบการณ์ในการต่อรองกับผู้ประกอบการ ทำให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ประกอบกับการใช้สิทธิ์ทางคดี ยังมีความยุ่งยาก จำเป็นต้องมีทนายความ จึงมีค่าใช้จ่ายและใช้ระยะเวลายาวนาน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความลังเลและถอดใจ นอกจากนี้ ยังขาดช่องทางช่วยเหลือผู้บริโภคในการเจรจาเรียกร้องค่าเสียหายที่เป็นธรรม
ถึงกระนั้น ในคดีที่ได้ประสบความสำเร็จ ก็ช่วยให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับการเยียวยาเพิ่มขึ้น ในส่วนผู้ประกอบการ อาทิ บขส. และบริษัทประกันภัย ก็หันมาเจรจาโดยอาศัยหลักการคำนวณค่าเสียหายตามจริงมากขึ้น แม้จะต้องฟ้องคดีก่อนก็ตาม นอกจากนั้น ยังสามารถแก้ปัญหาการฟ้องคดี ซึ่งปกติคดีละเมิดมีอายุความ 1 ปี ทางศูนย์แนะนำให้ปรับเป็นการฟ้องกรณีผิดสัญญารับขนคน ซึ่งมีอายุความ 10 ปีแทน
บางครั้ง อาจไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ตรง หรือกลายเป็นผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะก่อนจะตระหนักว่า คุณภาพและมาตรฐานของรถโดยสารสาธารณะ และประเด็นในการชดเชยเยียวยา ถือเป็นเรื่องจำเป็นและคอขาดบาดตายสำหรับผู้โดยสารขนาดไหน
เอื้อเฟื้อภาพโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค