รู้จัก โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ขงเบ้งแห่งทำเนียบขาว ในสงครามการค้าจีน-สหรัฐ รอบใหม่

โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จากพรรครีพับลิกัน กำชัยเหนือคู่แข่งจากพรรคเดโมแครต กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างขาดลอย ไม่มีเฉียดฉิว หวนกลับคืนห้องทำงานรูปไข่ (the Oval Office) ในทำเนียบขาว ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดการณ์ว่า นโยบายที่เคยดำเนินการมาแล้วในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1 จะหวนคืนกลับมาอีกครั้งในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 2 อย่างแน่นอน

การบริหารงานของทรัมป์ในช่วงระหว่างปี 2017-2021 ได้ดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เฉียบขาดเข้มข้น ด้วยความพยายามสกัดกั้นสินค้านําเข้าในสหรัฐเพื่อสร้างดุลการค้ามิให้เสียเปรียบ โดยเฉพาะการไหลทะลักของสินค้าจากประเทศจีน กลายเป็น ‘สงครามการค้า’ (Trade War) ที่ลือกันว่าจะกลับมาในรัฐบาลทรัมป์ 2 นี้อย่างแน่นอน หรือเรียกว่าเป็นภาคต่อ Trade War 2.0 กันเลยทีเดียว

ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศอย่างชัดเจนในเวทีหาเสียงต่อแรงงานโรงงานเหล็ก เมืองลาทอร์ป มลรัฐเพนซิลเวเนีย ว่าจะขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสินค้าจากจีนจะต้องเผชิญกับกำแพงภาษีถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้านําเข้าสูงขึ้น ส่งผลต่อปริมาณสินค้านำเข้าในประเทศจะลดลงตามไปด้วย เพื่อนำไปสู่การสร้างดุลการค้าที่เท่าเทียมกัน 

การกลับมาของสงครามการค้าภาค 2 นี้ ทำให้ทุกคนพุ่งสปอตไลต์ไปที่ โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ (Robert Lighthizer) อดีตผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (US Trade Representative, 2017-2021) ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1 โดยคาดการณ์ว่าเขาจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Secretary of Treasury) หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (Secreatry of Commerce) ในอนาคต เพื่อดูแลงานด้านเศรษฐกิจและการค้าโดยตรง 

จากรายงานของ Financial Times ระบุว่า ทีมงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของทรัมป์ (Trump transition team) ได้มีการทาบทามไลท์ไฮเซอร์เข้ามารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของทรัมป์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ทางไลท์ไฮเซอร์แสดงความสนใจในการรับเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังแทน ซึ่งมีการวางตัวนักการเงินและการธนาคารเอาไว้แล้ว เช่น สก็อตต์ เบสเซ็นต์ (Scott Bessent) และ จอห์น พอลสัน (John Paulson) ที่ล้วนเป็นผู้จัดการกองทุนบริหารความเสี่ยง (hedge fund) ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนว่าไลท์ไฮเซอร์จะตกปากรับคำเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลใหม่ของทรัมป์หรือไม่ ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า การทาบทามเขาเข้าดำรงตำแหน่งในรัฐบาลทรัมป์ ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และทรัมป์เองหมายมั่นปั้นมือจะให้เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

‘ไลท์ไฮเซอร์’ เป็นใคร?

ตลอดชีวิตของโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ มีอาชีพเป็นทนายความให้กับสำนักทนายความ Skadden Arps แห่งวอลล์สตรีต (Wall Street) มากว่า 3 ทศวรรษ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายด้านการค้า เขาได้รับมอบหมายให้ต่อกรกับการนำเข้าเหล็กกล้าจากจีน ภายใต้การว่าจ้างจาก U.S. Steel บริษัทผู้ผลิตเหล็กกล้ายักษ์ใหญ่ของสหรัฐที่มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย สมรภูมิสำคัญของการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดที่ทรัมป์เป็นฝ่ายกำชัยเหนือแฮร์ริส

ในช่วงทศวรรษ 2000 เขามีบทบาทสำคัญในการช่วยโน้มน้าวประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ให้เริ่มดำเนินการตั้งกำแพงภาษีต่อการนำเข้าเหล็กกล้าจากจีน เพื่อการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของสหรัฐ จนกระทั่งชื่อเสียงเรียงนามของเขากลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ในสมัยของทรัมป์ 1 จนได้ชื่อว่าเป็น ‘ซาร์การค้าของทรัมป์’ (Trump’s trade czar) รับผิดชอบดูแลงานด้านการค้าในภาวะที่การค้าโลกปั่นป่วนจากการไหลทะลักของสินค้าราคาถูกจากจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐ จนนำไปสู่การตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าที่มีมูลค่ามากกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ไลท์ไฮเซอร์ยังเคยงัดข้อกับองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) ที่กำกับดูแลความขัดแย้งทางการค้าสากล โดยเขาวิจารณ์ WTO ว่าเป็นองค์การที่ก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงรุงรัง จนทำให้สหรัฐต้องเสียโอกาสทางการค้า 

ที่สำคัญ ไลท์ไฮเซอร์เป็นเพียงไม่กี่คนในคณะทำงานระดับสูงของรัฐบาลทรัมป์ 1 ที่ไม่เคยโดนปลดออกจากตำแหน่ง และดำรงตำแหน่งจนครบวาระในปี 2021

ในปี 2023 ไลท์ไฮเซอร์ได้ตีพิมพ์หนังสือของตนเองชื่อ No Trade Is Free วิพากษ์ประโยชน์จากการค้าเสรีที่เป็นฉันทามติของสหรัฐมาหลายทศวรรษอย่างเผ็ดร้อน ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) จนมาถึงประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) ที่ล้วนเชื่อว่าการทลายกำแพงทางการค้าจะทำให้สหรัฐมั่งคั่ง มั่นคงขึ้นนั้น ไม่เป็นความจริง 

การหวนกลับมาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ เป็นที่คาดการณ์ว่าสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ภาค 2 จะต้องอุบัติขึ้นไม่ช้าก็เร็ว ยุทธศาสตร์ ‘การหย่าขาด’ (radical decoupling) จากจีนของสหรัฐ และยุทธศาสตร์ที่ไลท์ไฮเซอร์เสนอมาตลอดเวลา จะกลายมาเป็นนโยบายหลักทางการค้าที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เพียงแค่การขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจากจีน 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังรวมไปถึงสินค้าทั่วโลกอีกด้วย เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐเอาไว้ ลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีน และคู่ค้าอื่นๆ ที่เคยได้ดุลการค้าสหรัฐ มาเป็นการสร้างดุลการค้าที่เท่าเทียมทั้งหมด ซึ่งเป็นเพียงแนวทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้สหรัฐกลับมามั่งคั่งและมั่นคงตามแนวคิดของไลท์ไฮเซอร์

อ้างอิง

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า