หลายปีก่อน ผู้บริหารกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง บิล เกตส์ และ อีลอน มัสก์ ได้ออกมาเตือนให้มนุษย์ตระหนักถึงผลกระทบจากการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่มีการใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดยเฉพาะข้อความจาก สตีเฟน ฮอว์กิง ที่ว่า “ความสำเร็จในการสร้าง AI คือปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” แต่ “มนุษย์ถูกจำกัดด้วยวิวัฒนาการทางชีวภาพที่ช้าลง จนถึงจุดไม่สมบูรณ์แบบ สิ่งเหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วย AI”
ฮอว์กิงถึงขั้นให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2014 ถึงหายนะในวันข้างหน้าว่า การพัฒนาที่สมบูรณ์แบบของ AI อาจทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์สิ้นสุดลง
นั่นคือการทำนายอนาคตอันไกล ความขัดแย้งระดับการทำสงครามระหว่างคนกับเครื่องจักรที่คิดได้เองในภาพยนตร์ The Terminator หรือการทำสงครามจิตวิทยากับ AI ที่มีจริตมนุษย์แบบ Ex Machina คงไม่เกิดขึ้นภายในปีสองปีนี้
แต่เรื่องที่น่ากังวลกว่านั้นอยู่ในอนาคตอันใกล้ นั่นคือ ‘การนำเครื่องจักรมาทำงานแทนที่มนุษย์’ (automation) จะเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมขนาดใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
การเข้าแทนที่โดยเครื่องจักรสมองกล
การประชุม American Association for the Advancement of Science เหล่านักวิทยาศาสตร์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การใช้เครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนมนุษย์จะทำให้เกิดวิกฤติการว่างงานที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก
สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) เชื่อว่า งาน 5 ล้านตำแหน่งจะหายไปภายในปี 2020 ในช่วงเวลาที่พวกเขาเรียกว่า ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่’ (Fourth Industrial Revolution)
ธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษ (Bank of England) ประมาณการณ์ว่า ในอีก 10-20 ปี การนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานคน จะส่งผลต่อตำแหน่งงานของชาวอเมริกันถึง 80 ล้านตำแหน่ง และ 15 ล้านของคนอังกฤษ ซึ่งหมายถึงตำแหน่งงาน 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งสองประเทศ
อาชีพที่เครื่องจักร หุ่นยนต์ และ AI จะเข้ามาแทนที่ในอนาคต เช่น พนักงานรับโทรศัพท์ พนักงานต้อนรับ แคชเชียร์ แผนกลูกค้าสัมพันธ์ แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่การตลาด นักวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจ ที่ปรึกษาทางธุรกิจ พนักงานรักษาความปลอดภัย เซลส์แมน พนักงานร้านฟาสต์ฟู้ด บาร์เทนเดอร์ นักข่าว ทนายความ ไปจนถึง sex worker ส่วนงานที่เริ่มถูกแทนที่ด้วยจักรกลไปแล้ว ได้แก่ งานพิมพ์วัตถุสามมิติ อาชีพทางด้านนาโนเทคโนโลยี และงานบางส่วนในวงการแพทย์
อีกไม่นาน สายอาชีพแรกที่น่าจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรคือ ภาคการขนส่ง เช่น พนักงานขับรถ เพราะเทคโนโลยีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้เองกำลังถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วจนใกล้ความจริงเข้าไปทุกขณะ และหากมีการนำมาใช้จริง คนนับล้านจะตกงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับครอบครัวของคนเหล่านั้นอย่างเฉียบพลัน
โมเช วาร์ดี ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และผู้อำนวยการสถาบัน Ken Kennedy Institute for Information Technology จาก Rice University ในเท็กซัส กล่าวว่า เฉพาะสหรัฐ ปัจจุบันมีหุ่นยนต์อยู่ในระบบอุตสาหกรรมถึง 250,000 ตำแหน่ง และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนเป็นสองเท่าในอีกไม่นาน ทำให้มนุษย์ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องช่วยกันคิดว่า เมื่อถึงวันนั้น จะเหลืองานอะไรให้มนุษย์ทำ เมื่อหุ่นยนต์สามารถทำได้เกือบหมดทุกอย่าง และวันนั้นที่ว่า กำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ
ตามแนวคิดของศาสตราจารย์วาร์ดีเชื่อว่า ตำแหน่งงานที่ต้องใช้ทักษะแบบมนุษย์สูง จะเป็นสิ่งเกินความสามารถของหุ่น ขณะที่หุ่นยนต์หรือ AI ก็มีราคาและค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าจะลงทุนนำมาใช้แทนแรงงานไร้ฝีมือ
ดังนั้น กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบเต็มๆ คือกลุ่มมนุษย์ออฟฟิศ ผู้มีรายได้ปานกลาง หรือชนชั้นกลางส่วนใหญ่
ความเหลื่อมล้ำที่มาพร้อมความก้าวหน้า
รายงาน ‘Technology at Work v2.0: The Future Is Not What It Used to Be’ โดย Oxford Martin Programme on Technology & Employment แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ร่วมกับกลุ่มบริษัท Citi ระบุว่า ยิ่งมีการใช้เครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้นตามไปด้วย
รายงานฉบับนี้อ้างอิงข้อมูลจาก World Development Report (WDR) ของธนาคารโลก ว่าด้วยความเสี่ยงที่ตำแหน่งงานจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร โดยค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ของทั่วโลกอยู่ที่ 57 เปอร์เซ็นต์ ความเสี่ยงของอังกฤษอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ สหรัฐ 47 เปอร์เซ็นต์ อินเดีย 69 เปอร์เซ็นต์ ไทย 72 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่จีนมีความเสี่ยงสูงถึง 77 เปอร์เซ็นต์ และเอธิโอเปียอยู่ที่ 85 เปอร์เซ็นต์
สำหรับกรณีของไทยและจีนที่มีตัวเลขสูง เพราะราคาเครื่องจักรที่ต่ำลง ทำให้ระยะเวลาคืนทุน (payback period) สั้น ที่ 1.2 และ 2.6 ปี ตามลำดับ ภายในปี 2017 ทำให้บรรดากลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่เลือกที่จะนำเครื่องจักรเข้ามาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น ขณะกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs ก็ต้องหาทางปรับตัวด้วยการใช้ระบบผสมผสาน (co-bots) เข้ามาเพื่อลดช่องว่างทางการแข่งขัน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่า เดิมที ความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนช่วยให้ทั้งภาคธุรกิจและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่นี้ เทคโนโลยีก้าวหน้ารวดเร็วกว่าในอดีตมาก ท่ามกลางกราฟเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเพราะตัวช่วยอย่างหุ่นยนต์และ AI คนรายได้ปานกลางจะถูกทอดทิ้ง กลายเป็นคนตกงาน เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในสังคมสูงขึ้น
การคาดการณ์ของรายงานชิ้นนี้ยังระบุว่า ในประเทศกลุ่มอียู ระหว่างปี 2013-2025 จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้น 9.5 ล้านตำแหน่ง แต่งาน 98 ล้านตำแหน่งจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรที่ทำงานโดยอัตโนมัติ
เศรษฐศาสตร์ใหม่ของสิ่งมีชีวิตว่างงาน
การเข้ามาของหุ่นยนต์ เครื่องจักรสมองกล และ AI เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงกลับมาที่ปัญหาที่ปลายทางว่า เมื่อเครื่องจักรเหล่านี้สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ทุกอย่าง แล้วมนุษย์จะเหลืออะไรให้ทำ?
หากมองโลกในแง่ดี คำตอบคงออกมาประมาณว่า คนจะมีเวลาเพิ่มขึ้น ได้เล่นกีฬามากขึ้น พักผ่อนได้มากขึ้น มีเวลาอ่านหนังสือ แต่ชีวิตมนุษย์ไม่ง่ายดายขนาดนั้น เพราะงานคือ ‘สิ่งจำเป็น’ สำหรับมนุษย์ยุคปัจจุบันที่ยังไม่มีอะไรมาทดแทนได้ – ดูตัวอย่างจากคนวัยเกษียณ หรือคนตกงาน
นอกจากรายได้ที่ขาดหาย ภาวะ ‘ว่าง’ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตดี
เมื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมเปลี่ยนแนวคิดใหม่ไปสู่ระบบเครื่องจักร ทำให้คนไม่มีงาน ไม่มีเงินจะใช้ชีวิต ขณะที่ระบบเศรษฐกิจยังเดินต่อไปได้ด้วยการทำงานของเครื่องจักร
มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การว่างงาน โดยการการันตีรายได้ที่รัฐมอบให้ประชาชน (basic income) เช่น ปลายปี 2015 รัฐบาลฟินแลนด์ มีแผนจะให้เงินประชาชนหัวละ 800 ยูโร ต่อเดือน โดยไม่หักภาษี ซึ่งเงินก้อนนี้หมายถึงรัฐบาลต้องจ่าย 52.2 ล้านยูโรต่อปี
นอกจากความรับผิดชอบของภาครัฐ การลงทุนทางการศึกษาและการฝึกทักษะทางอาชีพเพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้คนมีทักษะมากกว่าเครื่องจักรได้ The European Centre for the Development of Vocational Training (Cedefop) ประมาณการณ์ว่า ตำแหน่งงานในกลุ่มประเทศอียูมีแนวโน้มต้องการแรงงานทักษะสูงมากขึ้น เนื่องจากตอนนี้เทคโนโลยีไม่ได้เพิ่มโอกาสในการทำงาน แต่จะก้าวหน้านำแรงงานไร้ทักษะที่มีการศึกษาต่ำ ทำให้ผู้ที่มีการศึกษาสูงมีโอกาสรอดจากวิกฤติครั้งนี้มากกว่า