สิ่งที่น่าสนใจย่อมหนีไม่พ้นจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสองกิจกรรม
13,260 คน คือจำนวนคนที่มา ‘วิ่งไล่ลุง’
8,000 คน คือจำนวนคนที่มา ‘เดินเชียร์ลุง’
จำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสองกิจกรรมถูกนับโดยหน่วยงานความมั่นคง ณ จุดคัดกรอง
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการย่อมหนีไม่พ้นคณะผู้จัดกิจกรรมทั้งสองงาน
‘คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงเพื่อประโยชน์ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนประเทศไทย’ คือคณะผู้จัด ‘วิ่งไล่ลุง’ ผู้ร่วมงานต้องเสียเงินค่าลงทะเบียนคนละ 600 บาท สิ่งที่ได้รับคือ เสื้อวิ่งไล่ลุง ซึ่งเป็นมาตรฐานของกิจกรรมการจัดแข่งขันวิ่งทั่วไป
ขณะที่ ‘เดินเชียร์ลุง’ แกนนำผู้จัดไม่เปิดเผยตน ไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งต่างจากกิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ อีกทั้งผู้มา ‘เดินเชียร์ลุง’ จะได้รับแจกเสื้อยืดที่ผลิตมาประมาณ 2,000 ตัว ติดมือกลับบ้านฟรีๆ
แน่นอนว่า ทั้งสองกิจกรรมคือกิจกรรมทางการเมือง
แม้ฝ่ายหนึ่งจะนิยามคำว่า ‘ลุง’ คือสิ่งที่ถ่วงความเจริญของประเทศ ขณะที่อีกฝ่ายก็ประกาศว่า รู้-ลุงกำลังทำอะไร ลุงกำลังทำเพื่อประเทศชาติ ลุงจึงคือบุคคลที่พวกเขาต้องออกมาปกป้อง ออกมาเชียร์
ลุงคนนี้คือลุงคนเดียวกันแน่ๆ คือลุงคนที่เป็นหัวหน้าคณะ คสช. เมื่อปี 2557 คือลุงคนที่เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คือลุงคนที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือลุงคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
แน่นอนเช่นกันว่า ทั้งสองกิจกรรม ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐต่างออกไป และปฏิเสธไม่ได้ว่างานนี้มีสองมาตรฐาน
ฝ่ายผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงถูกสกัดกั้นขัดขาตั้งแต่วันแถลงข่าว จากเดิมที่นัดหมายแถลงข่าวภายในโรงแรมรัตนโกสินทร์ แต่ที่สุดต้องย้ายสถานที่มาแถลงข่าวที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
แกนนำจัดงาน ‘วิ่งไล่ลุง’ ระบุว่า ทางโรงแรมถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดดัน จนทำให้ไม่สามารถใช้สถานที่แถลงข่าวได้ ขณะที่ฝ่ายผู้จัดกิจกรรมเดินเชียร์ลุง ไม่ปรากฏข่าวว่ามีอุปสรรคในการแถลงข่าวหรือจัดงานแต่อย่างใด
เพียงหนึ่งวัน ก่อนถึงวันจัดกิจกรรมในวันที่ 12 มกราคม 2563 คณะผู้จัด ‘วิ่งไล่ลุง’ ได้แจ้งต่อสาธารณะอย่างฉุกเฉินถึงเหตุขลุกขลัก เมื่อคณะผู้จัดกิจกรรมไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่สวนรถไฟได้ก่อนเวลา 05.00 น. จึงต้องให้ผู้สมัครวิ่งมารับ Bib และ เสื้อวิ่ง ในวันที่ 11 มกราคม ก่อนเริ่มงาน 1 วัน สะท้อนให้เห็นการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจน
ในวันจัดกิจกรรมจะมีทางเข้าเพียง 3 ประตู จากประตูทั้งหมด 7 ประตูของสวนรถไฟ โดยประตูทั้ง 3 จุด มีการตั้งจุดคัดกรองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางซื่อ เจ้าหน้าที่เทศกิจ และ รปภ.
มีเครื่องตรวจอาวุธให้ประชาชนเดินผ่านทีละคน รวมทั้งการตรวจค้นกระเป๋าที่นำติดตัวมาด้วย เพื่อป้องกันความปลอดภัย มีกำลังจากตำรวจนครบาล 2 และพื้นที่ สน.บางซื่อ 155 นาย ตำรวจสืบสวน 70 นาย ตำรวจหญิง 9 นาย เจ้าหน้าที่เทศกิจ 95 นาย และ รปภ. อีกประมาณ 40 นาย รวมกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น 475 นาย
ขณะที่ พันตำรวจเอกนิติวัฒน์ แสนสิ่ง ผกก.สน.ลุมพินี เน้นย้ำว่า ทางตำรวจได้วางแผนเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัยในสถานที่ที่จัดกิจกรรมทั้งสองแห่งเหมือนกัน
แต่ทั้งสองงานก็ดำเนินลุล่วงด้วยดี แม้ภาพที่ออกมาสู่สาธารณะจะเผยให้เห็น ‘วุฒิภาวะทางอารมณ์’ ที่แตกต่างกันของกิจกรรมทั้งสองงาน
ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเสริมที่เกิดขึ้นในงาน ฝ่ายหนึ่งโน้มเอียงไปทางสร้าง Hate speech ผ่านการเตะตุ๊กตาที่แขวนไว้ หรือการเหยียบรูปที่ตกแต่งขึ้นมา
ในทวิตเตอร์ ‘วิ่งไล่ลุง’ ติดเทรนด์เป็นอันดับ 2 ที่ 711,000 ครั้ง ส่วน ‘เดินเชียร์ลุง’ อยู่ที่ 231,000 ครั้ง
และดูเหมือนว่า คณะผู้จัด ‘วิ่งไล่ลุง’ จะเดินนำหน้าคณะผู้จัด ‘เดินเชียร์ลุง’ อยู่หนึ่งก้าว
หลังกิจกรรมทั้งสองเสร็จสิ้น คณะผู้จัดกิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ ประกาศจัดงานอีกครั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่อีกฝ่ายยังเงียบ และสื่อสารในเพจเฟซบุ๊ค ‘เชียร์ลุง’ ในลักษณะเคลมจำนวนตัวเลขของผู้เข้าร่วมเชียร์ลุง ขณะที่อีกฝ่ายประกาศชัดเดินหน้าจัดกิจกรรม มองไปวันพรุ่งนี้แล้ว
ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือกิจกรรมคู่ขนานที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด
‘วิ่งไล่ลุง’ นั้นได้แตกดอกออกผลไปยังจังหวัดต่างๆ ประมาณ 34 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ เชียงใหม่ ตาก และพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุดรธานี บุรีรัมย์ นครพนม ยโสธร สกลนคร และบึงกาฬ ภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต กระบี่ พัทลุง และสุราษฎร์ธานี ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม นครนายก ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครสวรรค์ และชลบุรี ฯลฯ
ขณะที่ไม่มีปรากฏการณ์เช่นนี้กับกิจกรรม ‘เดินเชียร์ลุง’
แต่ใช่ว่าการวิ่งไล่ลุงในต่างจังหวัดจะราบรื่น
มีการบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ในนนทบุรี / ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายมีภารกิจถวายความปลอดภัยแด่พระราชวงศ์ / กลุ่มผู้จัดกิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุงโคราช’ ซึ่งเดิมจะจัดกิจกรรมที่ลานย่าโม ได้ประกาศย้ายสถานที่ไปเป็นสวนสาธารณะภูมิรักษ์ ข้างตลาด 100ปี / กลุ่มบุคคลที่จะรวมตัวกันจัดกิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุงจังหวัดพะเยา’ ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ / เจ้าหน้าที่ตำรวจอุบลฯ ไม่อนุญาตให้ใส่เสื้อที่มีข้อความหมิ่นเหม่เป็นการต่อต้านรัฐบาล หรือขัดต่อ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ คือ เสื้อวิ่งไล่ลุง / ที่เชียงใหม่มีการนำรถดับเพลิงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ่นฉีดละอองน้ำเพื่อลดฝุ่นควันในบริเวณข่วงประตูท่าแพ ทำให้ผู้เข้าวิ่งไล่ลุงได้รับผลกระทบเนื้อตัวเปียกไปด้วย สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนอย่างมาก ฯลฯ
ปฏิเสธไม่ได้ถึงภาวะสองมาตรฐานที่เกิด แต่ภาวะสองมาตรฐานนี้ไม่ใช่สิ่งเพิ่งเกิดขึ้น แต่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อย่างน้อยก็หนึ่งทศวรรษ! เป็นสองมาตรฐานที่ยาวนานและชัดเจน
แต่ ‘วุฒิภาวะทางอารมณ์’ ที่แตกต่างกันของกิจกรรมทั้ง 2 งาน ทำให้เกิดมาตรฐานใหม่ของการชุมนุม เป็นมาตรฐานใหม่ที่น่าจับตามอง ทั้งรูปแบบ เนื้อหา และจำนวนผู้คน!
การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนที่ ‘เบื่อลุง’ ได้เกิดขึ้นแล้ว