Fullmoon: แทร็คที่ 8 ในอัลบั้ม Async, 2017
หนังสารคดีเรื่อง Ryuichi Sakamoto: CODA เป็นเรื่องราวของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ นักประพันธ์ดนตรีชาวญี่ปุ่น เขามีชื่อเสียงระดับโลกมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นนักร้อง เล่นคีย์บอร์ด และผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ Yellow Magic Orchestra
ในปี 1978 เขานำเสนอเพลงอิเล็กทรอนิกส์ฟิวชั่นในฐานะศิลปินเดี่ยว อัลบั้ม Thousand Knives ก่อนจะเริ่มประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง Merry Christmas Mr.Lawrence ในปี 1983 จากนั้นผลิตงานประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เช่น The Sheltering Sky (1990), Little Buddha (1993), The Revenant (2015)
แต่หนังเลือกบันทึกช่วงเวลาสำคัญและมีความหมายกับซากาโมโตะที่สุด มันคือช่วงเวลาที่แพทย์วินิจฉัยว่าซากาโมโตะเป็นมะเร็งลำคอระยะ 3 หนังบันทึกช่วงเวลาเข้าใกล้ความตายของเขาต่อจากนั้นอีกสามปี ฉายให้คนดูวินิจฉัยพบความหมายที่เขามอบให้กับการมีชีวิต
การพบตนเป็นมะเร็งลำคอระยะ 3 ทำให้ชีวิตเหมือนโน้ตท่อนท้ายเพลง เพลงใกล้จบเต็มที หนังจึงเลือกจับจ้องชีวิตช่วงนี้ของซากาโมโตะอย่างใกล้ชิด ระยะใกล้ชิดแบบนั้นเผยให้เห็นการดูแลตัวเองอย่างดีของซากาโมโตะ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน หยูกยา การสังเกตร่างกายตน เขาเป็นคนหวงแหนชีวิต สิ่งที่ต้องการคือเวลา เขาอยากอยู่ต่อ
ซากาโมโตะหยุดพักงาน ประคับประคองรักษาร่างกาย แต่หนึ่งปีต่อมา อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาริตู ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เขาประทับใจ ติดต่อให้ทำดนตรีประกอบหนังเรื่อง The Revenant เขาไม่สามารถปฏิเสธ ไม่ใช่ไม่สามารถปฏิเสธผู้กำกับอย่างอินาริตู แต่ซากาโมโตะไม่สามารถปฏิเสธความปรารถนาที่จะกลับมาทำงานอีกครั้ง
คงมีความสัมพันธ์บางประการเกาะเกี่ยวกันอยู่อย่างลึกลับระหว่าง ชื่อหนัง The Revenant ที่แปลว่า ‘ผู้คืนกลับมา’ หรือ ‘ผู้คืนถิ่น’ กับสถานการณ์เข้าใกล้ความตายของซากาโมโตะ เพราะการทำเพลงคือการคืนกลับมามีชีวิตของเขา
เขาคืนกลับมามีชีวิตด้วยเสียงดนตรีประกอบภาพยนตร์ของอินาริตู แม้จะเป็นเสียงเติมเต็มจินตนาการของคนอื่น ซากาโมโตะบอกในหนังเรื่องนี้ว่า “เพลงประกอบหนังคือส่วนเติมเต็มจินตนาการให้คนอื่น มันจึงเป็นข้อจำกัดสำหรับผม แต่มันก็สร้างแรงบันดาลใจได้เช่นกัน”
แรงบันดาลใจนั้นอาจตกแก่ตัวเขาเอง เพราะสองปีต่อมา สตูดิโออัลบั้มชื่อ Async เสร็จสมบูรณ์ในปี 2017 สามปีหลังพบตนเข้าใกล้ความตาย
สำหรับคนดูหนังอย่างผม ช่วงชีวิตของซากาโมโตะในหนังเรื่องนี้คือเชิงอรรถของอัลบั้มแสนงามชื่อ Async
ย้อนกลับไปในปี 1990 เขาประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Sheltering Sky ผลงานภาพยนตร์ของ แบร์นาร์โด แบร์โตลุชชี ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ พอล โบลส์ (Paul Bowles) มีประโยคหนึ่งในนวนิยายจับใจซากาโมโตะ เขาปรารถนาที่จะนำประโยคนี้มาวางอยู่ในเพลงเพลงหนึ่งของอัลบั้ม Async
เมื่อเดินออกมาจากโรงภาพยนตร์เวลา 21.45 น. ตอนนั้นผมยังไม่รู้ว่าประโยคแสนงามนั้นถูกบันทึกในเพลงชื่อ ‘Fullmoon’ ได้แต่ก้มหน้าค้นหาในสมาร์ทโฟนก็ยังไม่พบว่าประโยคในหนังถูกบันทึกในเพลงใด เมื่อเงยหน้ามองฟ้าจึงพบพระจันทร์เต็มดวงลอยอยู่เหนือรางรถไฟฟ้า วันนั้นคือวันที่ 24 กันยายน ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ เป็นคืนที่พระจันทร์สวย
“เพราะเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่
เราจึงเห็นชีวิตเป็นเหมือนบ่อน้ำที่ไม่มีวันแห้งเหือด
จะมีสักกี่ครั้งที่เราจดจำบ่ายวันหนึ่งของวัยเด็ก
ซึ่งเป็นบ่ายที่ฝังลึกเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของเรา…
จะสักกี่ครั้งที่ในชีวิตนี้จะได้มองเห็นพระจันทร์เต็มดวง? อาจจะสัก 20 ครั้ง
แต่มันก็เหมือนเกิดขึ้นตลอดเวลา”
Life Life: แทร็คที่ 11 ในอัลบั้ม Async, 2017
หนังสารคดีเรื่อง Ryuichi Sakamoto: CODA ปฏิบัติตนประหนึ่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ หรือไม่ก็ ambient music อันเป็นดนตรีที่มีสาระอยู่กับการไม่เรียกร้องความสนใจจากผู้ฟัง เป็นเพียงส่วนเติมเต็มบางๆ ให้เรื่องราวหรือความรู้สึกโลดแล่นไป ใน Ryuichi Sakamoto: CODA ไม่มีภาพถ่ายหรือซีนไหนที่ผมรู้สึกว่าสวย มันเป็นการบันทึกภาพระยะใกล้ชิด subject แต่น่าแปลกที่ความไม่งามของภาพกลับดึงดูดให้เราค่อยๆ เงี่ยหูฟังเรื่องราว ก่อนที่จะค้นพบความหมายและความงามในหนังเรื่องนี้
หูคือสายตาของนักประพันธ์ดนตรี ซากาโมโตะสอดส่องสายตาควานหาเสียงอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เสียงฝนตกกระทบภาชนะต่างๆ ในบ้าน ไปจนถึงเสียงของลมและน้ำแข็งที่กำลังละลายบนทวีปอาร์คติค
สายตาหรือระยะของกล้องในหนังแนบชิดกับซากาโมโตะมาก แต่ซากาโมโตะไม่รู้สึกแปลกแยกกับกล้อง ในฉากที่ซากาโมโตะเล่นเปียโนในบ้าน เราจะเห็นกล้องค่อยๆ เคลื่อนขึ้นบันไดมายังชั้นบนของตัวบ้าน ที่ซึ่งเสียงเปียโนของซากาโมโตะบรรเลง กล้องมาหยุดมองมุมด้านข้างที่ซากาโมโตะกำลังเล่นเปียโน เขาหันมามองกล้อง คงเพราะเห็นอะไรแวบๆ ที่หางตา แล้วกลับไปเล่นเปียโนดังเดิม มันทำให้รู้สึกว่ากล้องของหนังเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของซากาโมโตะไปแล้ว อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาการถ่ายทำ กล้องเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัวของเขา
งานด้านภาพในหนังเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนดนตรีประกอบในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ไม่เรียกร้องความสนใจ แต่โอบอุ้มให้ฟังเรื่องราว แม้กระทั่งฉากจบของหนังยังไม่ใกล้เคียงกับการเร้าอารมณ์หรือเกริ่นกล่าวกับผู้ชมว่า หนังเรื่องนี้ได้ขมวดปมและพร้อมที่จะสิ้นสุดเรื่องราว แต่กลับเป็นฉากเล็กๆ ที่ทรงพลังและน่าจดจำฉากหนึ่งของหนังที่เคยดูมา
มันคือฉากต่อเนื่องที่ผมเล่าไปก่อนหน้า ซากาโมโตะกำลังเล่นเปียโน เมื่อกล้องเคลื่อนขึ้นมาจากชั้นล่าง กล้องหยุดจ้องมองและจับฟังเสียงดนตรีของซากาโมโตะ เขาเล่นไปสักพัก แล้วหยุด หยุดแล้วหันมาพูดกับกล้องว่า “ผมต้องเล่นทุกวัน” ซากาโมโตะลุกเดินออกจากเปียโน ลงบันไดไปชั้นล่างหรือทิศทางที่กล้องเพิ่งเดินขึ้นมา พลางพูดพึมพำกับตน “ผมพูดจริงๆ ต้องเล่นทุกวัน ต้องทำให้ได้ทุกวัน” ซากาโมโตะเดินลงบันได กล้องยังจับแผ่นหลังของเขา เขาพึมพำกับตนต่อ “ผมพูดจริงๆ”
แค่นั้น แล้วหนังก็จบ ช่างเป็นฉากเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน ฉากจบของหนังสะท้อนวิธีคิดเรื่องการมีชีวิตของซากาโมโตะ
“ผมต้องเล่นเปียโนทุกวัน”
CODA ที่เป็นชื่อหนังและมีความหมายถึงโน้ตตัวสุดท้ายของเพลง จึงทำให้เราพบว่า เสียงสุดท้ายของเพลงคือการเริ่มต้นใหม่ของอีกเสียงเสมอ เสียงสุดท้ายหรือจุดสิ้นสุดของเพลงคือจุดตั้งต้นของการหวนกลับ คือการกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เพราะชีวิตในความคิดของซากาโมโตะคือเรื่องชั่วพริบตา
สั้นแสนสั้น แต่ก็ยาวนานพอที่จะทำอะไรสักอย่างในชั่วพริบตานั้น
“And all will be repeated, all be re-embodied
You will dream everything I have seen in dream”
ประโยคข้างต้นคือเสียงพูดที่ซากาโมโตะนำมาใส่ในเพลงชื่อ ‘Life Life’ ประโยคนี้เป็นบทกวีของ อาร์เซนี ทาร์คอฟสกี ซิลเวียน (Arseny Tarkovsky Sylvian) กวีชาวรัสเซียนผู้เป็นบิดาของ อังเดร ทาร์คอฟสกี (Andrei Tarkovsky) ผู้กำกับหนังที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของซากาโมโตะในการทำอัลบั้ม Async