Selfie Generation: โซเชียลมีเดีย ทำให้ฉันเศร้า

เพราะว่าเหงา เศร้า คุณจึงเล่นอินเทอร์เน็ต หรือเพราะ…ยิ่งคุณเล่นอินเทอร์เน็ต คุณก็ยิ่งเศร้า

ทิ้งคำถามเท่ๆ เหงาๆ ข้างต้นทิ้งไปก่อน แต่ความเชื่อมโยงของประเด็นอยู่ที่งานวิจัย ข่าว และโพลสำรวจ ต่างวาระจำนวนสี่ชิ้น ให้ผลลัพธ์ที่ล้อกันไปมาแต่สรุปได้ว่า

ประชากรในยุค ‘selfie generation’ กำลังมีคาแรคเตอร์ร่วมกันคือ เหงา-เศร้า-หว่อง ที่เป็นผลจากการถูก ‘ล้อเลียนบนโลกโซเชียล’ และ ‘การเปรียบเทียบตัวเองกับเรื่องเล่าในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊คของคนอื่น’

โดยงานวิจัยและข่าวจำนวนสี่ชิ้น มีประเด็นดังต่อไปนี้

  • นักเรียนราว 1 ใน 5 มักตื่นกลางดึกเพื่อเช็คฟีดตัวเองอยู่บ่อยๆ
  • โซเชียลมีเดีย ในฐานะเครื่องมือการล้อเลียน
  • นักวิจัยชี้ คนในยุค ‘selfie generation’ กำลังเศร้าเพราะเปรียบตัวเองกับผู้อื่น
  • วัยรุ่นผู้หญิงในประเทศอังกฤษ ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น

หนึ่ง-งานวิจัยชี้ นักเรียน 1 ใน 5 มักตื่นขึ้นกลางดึกเพื่อเช็คฟีดเฟซบุ๊คของตัวเอง

เก็บตัวอย่างนักเรียนอายุระหว่าง 12-15 ปี จำนวน 900 คนในเวลส์ เป็นเวลาสี่ปีพบว่า หนึ่งในห้าของเด็กกลุ่มนี้จะตื่นนอนกลางดึกเพื่อเช็คข้อความหรือความเคลื่อนไหวในโซเชียล ซึ่งจะส่งผลต่อความ ‘เฟรช’ ในวันรุ่งขึ้น คือมักง่วงงุนและรู้สึกเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา

มากกว่านั้น อารมณ์ของเด็กๆ กลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวมากขึ้น และมีความสุขได้ยากกว่าเด็กอีกกลุ่มที่ใช้โซเชียลน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม คณะศึกษาชี้แจงว่ายังคงต้องการข้อมูลและการศึกษาถึงปัจจัยแวดล้อมมากกว่านี้เพื่อชี้ให้ชัดว่า ฟังก์ชั่นอะไรในโซเชียลกันแน่ ที่ส่งผลต่อความอ่อนไหวทางอารมณ์

โซเชียลมีเดีย ในฐานะเครื่องมือการล้อเลียน

หลังการฆ่าตัวตายของ เฟลิกซ์ อเล็กซานเดอร์ (Felix Alexander) เมษายน ปี 2016 แม่ของเขาเขียนบทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการถูกล้อเลียน (bully) ไว้ว่า

“มันจะเริ่มด้วยการกระทำที่ใจร้าย ทำให้รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว และพอพวกเขาเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ มันก็ค่อยๆ โหดร้ายและมีอิทธิพล”

ฌอง-แบปติสต์ แปงโกลต์ (Jean-Baptiste Pingault) วิทยากรวิชาจิตพยาธิวิทยา (Developmental Psychopathology – ศึกษาเกี่ยวกับโรคทางจิตใจ) อธิบายหนึ่งในข้อกังวลของ cyberbullying ไว้ว่า

“การล้อเลียนปกติ คุณมีที่หลบภัยนะ เช่น เพื่อนๆ เข้ามา bully คุณในบ้านไม่ได้ แต่การล้อเลียนในโลกไซเบอร์ คุณไม่มีทางหลบพ้นเลย คุณพร้อมเสมอที่จะถูกรังควาน มากกว่านั้น คุณไม่จำเป็นต้องรู้จักคนที่ bully คุณด้วยซ้ำ”

นักวิจัยชี้ คนในยุค ‘selfie generation’ กำลังเศร้าเพราะเปรียบตัวเองกับผู้อื่น

เดวิด เบเกอร์ (David Baker) ผู้ช่วยนักจิตวิทยาคลินิก แห่งมหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘พฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊คและอินสตาแกรม’ กับ ‘ความซึมเศร้า’ จำนวน 30 เคส พบว่า

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ใช้โปรแกรมดังกล่าวอยู่ในภาวะซึมเศร้า คือปรากฏการณ์ ‘selfie generation’ หรือการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น โดยเฉพาะคอนเซ็ปท์เรื่องความงาม

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงจากการศึกษาดังกล่าวพบว่า มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ใช้ชุมชนโซเชียลสร้างเครือข่าย (community) เช่น กลุ่มผู้ป่วย anorexia ใช้โซเชียลมีเดียในการเยียวยาและรักษาตัวเอง เป็นช่องทางหาเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรื่องราว ในกลุ่มคนที่มีประสบการณ์คล้ายกัน

วัยรุ่นผู้หญิงในประเทศอังกฤษ ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น

ใกล้เคียงกับงานสำรวจด้านสาธารณสุขด้านความเป็นอยู่และสุขภาพกายใจ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นผลสำรวจที่เก็บทุกๆ เจ็ดปี ซึ่งข้อมูลที่เผยแพร่ในปี 2014 พบว่า กลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพจิตแย่กว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ

และหากวิเคราะห์ผลข้อมูลย้อนหลังจะพบว่า เส้นกราฟความหม่นเศร้าของผู้หญิงกลุ่มอายุ 16-24 ปี สูงขึ้นกว่าปี 2007 ราว 21 เปอร์เซ็นต์

หนึ่งในข้อสังเกตของงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่าเกี่ยวข้องกับโซเชียลมีเดีย ทั้งเรื่องความไม่พอใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง เมื่อเปรียบเทียบกับความงามในอินสตาแกรมของเพื่อน ซึ่ง ‘ความเปรียบเทียบ’ นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งสมมุติฐาน ที่นักวิจัยเห็นว่าส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จากการต้องเปรียบเทียบตัวเองกับเรื่องเล่าในเฟซบุ๊คของผู้อื่น

 


อ้างอิงข้อมูลจาก:sciencedaily.com
theguardian.com

 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า