ทำแท้งปลอดภัย: “สำหรับผม ชีวิตตรงหน้า สำคัญกว่าบาปบุญคุณโทษ” ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ

ผู้หญิงทั่วโลกเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย 70,000 คน/ปี โดย 95 เปอร์เซ็นต์ มาจากประเทศที่กำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย 

แม้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มาตรา 5 ระบุให้วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และข้อบังคับแพทยสภา อนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายหากเข้าเกณฑ์ตามข้อบ่งชี้ข้อใดข้อหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคือ การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกาย-สุขภาพจิตของมารดา

แต่เพราะที่ผ่านมา อุปสรรคสำคัญคือความคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษของบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการ 

“การทำแท้งเป็นเรื่องความชั่วร้ายที่ต้องเกิดขึ้นกับพวกเธอ บริการทำแท้งจึงไม่ใช่หน้าที่ของเรา ความคิดแบบนี้ทำให้มีผู้หญิงอีกหลายๆ คนถูกหมอทำร้าย ด้วยวาจา ด้วยสายตา และด้วยความจงเกลียดจงชัง”  

ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็เคยคิดเช่นนั้น แต่เพราะ ‘ความตาย’ ของหลายชีวิตจากการทำแท้งเถื่อน ค่อยๆ เปลี่ยนคุณหมอให้บอกตัวเองว่า “เราคือคนนอก”

อย่าเอาตัวเราเข้าไปเป็นเขา ไม่ต้องมาเป็นผู้มอบความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ถ้าเขาต้องการเลือกวิธี ทางออกแบบไหนเราต้องแนะนำ ว่าสิ่งที่คุณเลือกมา มันปลอดภัยหรือไม่ ถ้าปลอดภัยก็ทำซะ” 

และสำหรับคุณหมอ ชีวิตตรงหน้า สำคัญกว่าบาปบุญคุณโทษ 

คนไทยมีความรับรู้มากน้อยแค่ไหน เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์

ก่อนตอบคำถามเราต้องมาปูพื้นกันสักนิดนึง จริงๆ การยุติการตั้งครรภ์ด้วยการทำแท้งมีได้หลายวิธี อันดับแรกแบ่งเป็นวิธีที่แพทย์ลงมือ เป็นผู้ทำให้ โดยนำการตั้งครรภ์นั้นออกมาจากโพรงมดลูก ในสมัยอดีตเราใช้วิธีการเอาเหล็กขูดโพรงมดลูกเพื่อให้ตัวอ่อนหลุดออกมา 

แต่ในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าการใช้หลอดดูดสุญญากาศ สามารถดูดได้ทั้งตัวอ่อนและรกออกจากโพรงมดลูกได้ด้วยแรงที่พอเหมาะ ซึ่งวิธีนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้หญิงน้อยมาก เนื่องจากหลอดดูดเป็นพลาสติก โดยที่การตั้งครรภ์ที่เราสามารถทำการดูดได้จะต้องมีอายุครรภ์ไม่เกิน 10-12 สัปดาห์ นั่นแปลว่าตัวอ่อนยังมีขนาดเล็กมาก 

ถ้าถามว่าการดูดแบบนี้น่ากลัวไหม สำหรับหมอมันไม่ต่างจากการดูดเพื่อทำการรักษาหรือวินิจฉัย ในช่วงเวลานั้น เรายังมองไม่ออกหรอกว่าตัวอ่อนมีหน้าตาแบบไหน เพราะเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ยังไม่มีอวัยวะให้เรามองเห็นด้วยซ้ำ ฉะนั้นสังคมที่มักมองว่าการทำแท้งโดยการดูดเป็นเรื่องที่น่ากลัว ดูดออกมาเป็นแขน ขา เหมือนผู้ใหญ่ ความจริงไม่ใช่เลย สิ่งที่ออกมาเป็นน้ำและเนื้อเยื่อเท่านั้น

เมื่อวิธีการทำแท้งเปลี่ยนไป ส่งผลอะไรบ้าง

เมื่อเราเปลี่ยนจากการขูดโพรงมดลูกเป็นดูดผ่านหลอดสุญญากาศ ทำให้ผู้หญิงปลอดภัยขึ้นเยอะ อาการบาดเจ็บจากมดลูกทะลุน้อยลงแทบจะหายไปจากประเทศไทย ซึ่งวิธีนี้สามารถทำได้ทันทีแค่ให้คนไข้รับประทานยาลดอาการปวด และฉีดยาชาที่ปากมดลูกก่อน 

นอกจากการดูด 20 ปีให้หลังมานี้ เราพบว่ามียาชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะแท้งได้ ยาตัวนั้นชื่อว่า Cytotec หรือชื่อสามัญว่า Misoprostol ซึ่งยาตัวนี้เริ่มต้นด้วยการจดทะเบียนเป็นยากลุ่มรักษาโรคกระเพาะ แต่ผลลัพธ์พบว่าสามารถทำให้เกิดการแท้งได้ ดังนั้นในประเทศไทยจึงเริ่มมีการวิจัยเพื่อยืนยันว่ายาตัวนี้ทำให้เกิดการแท้งได้จริงๆ กลายเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะย้อนไปในสมัยก่อนหากต้องการทำแท้งจะต้องใช้วิธีที่ยุ่งยาก ต้องมีการใส่สารบางอย่างเข้าไปภายในมดลูกเพื่อให้เด็กเสียชีวิตหรือให้เกิดอาการอักเสบขึ้นก่อน และต้องใช้วิธีทำให้เกิดการบีบตัว จนเกิดการแท้งออกมา

แต่หลังจากที่เราใช้ยา Cytotec หรือชื่อสามัญว่า Misoprostol (หมอขออนุญาตใช้ทั้งสองคำผสมกัน) เราพบว่าการแท้งสำเร็จจำนวนเยอะขึ้น มีบ้างที่จะเกิดภาวะรกค้างแต่ไม่น่ากลัวและไม่อันตราย ต้องควบคุมการใช้ยาตัวนี้ให้ดี เพราะส่งผลต่อแรงบีบมดลูกที่อาจจะไม่เหมาะสม รวมถึงต้องระมัดระวังการใช้ยาในขณะที่อายุครรภ์เหมาะสมด้วย

ต่อมามีการเพิ่มยาอีกชนิดหนึ่งมาใช้ร่วมกับ Cytotec นั่นคือ RU 486 หรือ Mifepristone ยาตัวนี้จะทำให้รกเสื่อม เพราะเข้าไปต้านฮอร์โมนการตั้งครรภ์ เมื่อเรากินเข้าไปรกก็จะเสื่อมทันที และภายหลังให้ยาตัวนี้หนึ่งวันจะให้คนไข้อมยา Cytotec ไว้ใต้ลิ้นหรือสอดในช่องคลอดอีกครั้ง เพื่อให้เกิดการบีบเอาตัวอ่อนที่ขนาดเล็กมากๆ ออกมา (ผมพูดถึงตัวอ่อนมันไม่ใช่เด็กทารก) ซึ่งอัตราการเกิดการแท้งจากการใช้วิธีเช่นนี้มีมากกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ โดยอีก 2 เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออาจถึงมือแพทย์เป็นผู้ดำเนินการต่อไป ซึ่งประเทศไทยใช้ยาในลักษณะนี้มานานสักพักแล้ว โดยผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ได้รับการบริการเช่นนี้จะปลอดภัย กลับไปใช้ชีวิตต่อได้ 

แต่อีกมุมหนึ่ง เมื่อพูดถึงการทำแท้งก็จะมีคนบางกลุ่มที่ รู้สึกเฉยๆ และรู้สึกต่อต้าน ซึ่งกลุ่มคนที่ต่อต้านจะทำให้การดำเนินงานในการนำยาเหล่านี้เข้ามาเกิดได้ยากขึ้น

เราเคยเห็นภาพผู้หญิงบาดเจ็บและล้มหายตายจากจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยมาตั้งแต่อดีตเป็นเวลานาน แต่ในช่วง 6 ปีหลัง กลับพบว่าผู้หญิง สามารถใช้ยาตัวนี้ได้แล้ว โดยมีงานวิจัยรองรับ และมีการจดทะเบียนยากับทาง อย. อย่างจริงจัง รวมถึงมีการแจกจ่ายยาจริง ภายใต้เงื่อนไขตามที่แพทยสภากำหนด โดยกรมอนามัยเป็นผู้ดูแล และผู้รับบริการไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม เพราะรัฐบาลเป็นคนสนับสนุน 

ซึ่งผมมองว่ากระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้หญิง เนื่องจากเมื่อผู้หญิงได้รับอันตรายจากการทำแท้งเถื่อน เกิดภาวะมดลูกเน่าไตวายตับวาย บางคนต้องโดนตัดแขนขา เมื่อรัฐบาลเล็งเห็นผลกระทบตรงนี้จึงต้องกระจายยาเพื่อให้คนได้ใช้และเข้าถึง นี่คือการทำงานในยุคหลังๆ ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

เราจะรู้ได้ยังไงว่า แต่ละคนเหมาะกับวิธียุติการตั้งครรภ์แบบไหน

แล้วแต่การคุยระหว่างคนไข้กับหมอ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้รู้ไว้ คือทุกคนมี option ในการเลือกของตัวเอง หากอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ สามารถใช้วิธีการดูดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ หรืออาจใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แล้วนั้น มันจะเหลือทางเลือกเดียว คือการใช้ยา เจ็บน้อย แต่จะมีเลือดออกกะปริบกะปรอย 

เมื่อมีทั้งยาและวิธีทำแท้งอย่างปลอดภัยแต่ทำไมยังเกิดปัญหาภาวะการทำแท้งเถื่อนอยู่

จริงๆ แล้วอุปสรรคใหญ่อยู่ที่คนทำงานในระบบสาธารณสุขเสียเอง จริงอยู่นะครับที่เรามีหมอหลายคนให้บริการเหล่านี้ได้ เราเข้าอินเทอร์เน็ตและพิมพ์ว่าแพทย์อาสาก็จะเจอกับกลุ่มคนที่สามารถใช้ยาเหล่านี้ในการทำแท้งอย่างปลอดภัยได้ โดยที่พวกเขาผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัยเรียบร้อย ดังนั้นผู้หญิงที่เข้าสู่บริการตรงนี้ได้ถือว่าเป็นคนโชคดี แต่ถ้าผู้หญิงเลือกเดินเข้าโรงพยาบาล ลองจินตนาการว่าพวกเขาจะเจออะไรบ้าง 

อันดับแรกเมื่อเข้าไป คุณจะโดนถามเลยว่ามาทำไม ถ้าคุณตอบว่ามาด้วยเหตุผลท้องไม่พร้อมลองนึกหน้าผู้ฟังคำตอบของคุณให้ดีๆ คุณคิดว่าคุณจะเจออะไรบ้าง ถ้าเจอคำตอบกลับมาว่าที่นี่ไม่รับทำแท้ง คุณจะทำอย่างไรต่อไป

ผมมองว่ามันยังขาดมาตรฐานการเข้ารับบริการของการทำแท้งปลอดภัยอยู่ บุคลากรทางการแพทย์จะรู้สึกดีมากถ้าผู้หญิงเข้ามารับการรักษามะเร็งปากมดลูก ปรึกษาปัญหาการอยากมีลูก ปรึกษาการบริการต่อหมัน แต่ถ้ามาด้วยเหตุผลหนูอยากทำแท้ง โอกาสมันจะต่างกันมากเลยนะ อุปสรรคสำคัญจึงไม่ใช่สื่อ แต่เป็นผู้ให้บริการที่ไม่พร้อมให้บริการ 

คนเป็นหมอสามารถปฏิเสธคนไข้ได้ด้วย?

หมอก็เป็นคน ก่อนที่ผมจะมีความคิดแบบนี้ ผมก็เคยปฏิเสธคนมาก่อน เพราะแม่ก็สอน ยายก็สอน พระก็สอน ครูก็สอน ว่าทำแท้งมันเป็นเรื่องที่ไม่ดี เราฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สมัยก่อนผมยอมรับเลยว่าผมให้ความรู้สึกจงเกลียดจงชังกับผู้หญิงแบบนี้มาก ดังนั้นมันจึงไม่แปลกเพราะเราถูกสอนให้คิดแบบนี้กันทั้งประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยด้วยที่มีแนวคิดแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอื่นๆ เขาก็มองว่าการทำแท้งคือสิ่งที่มันไม่โอเค  

แต่ถ้าเราพลิกมุมมองมองอีกมุมหนึ่ง มองว่าเราเป็นผู้ให้บริการสาธารณสุข เรามองเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปัญหาสุขภาพหรือเปล่า ถ้าเรามองว่า ‘ใช่’ จิตใจเราจะอ่อนโยนขึ้น 

ถ้าเราบอกว่ามัน ‘ไม่ใช่’ การทำแท้งเป็นเรื่องความชั่วร้ายที่ต้องเกิดขึ้นกับพวกเธอ จะรู้สึกว่าการให้บริการทำแท้งไม่ใช่หน้าที่ของเรา ซึ่งความคิดแบบนี้มันจึงทำให้มีผู้หญิงอีกหลายๆ คนถูกหมอทำร้าย ด้วยวาจา ทำร้ายด้วยสายตา ทำร้ายด้วยความจงเกลียดจงชัง 

แล้วอะไรทำให้คุณหมอเปลี่ยน

ความตายครับ เมื่อก่อนเราด้านชาขนาดที่ว่าแม่และลูก มาขอร้องให้เราช่วยยุติการตั้งครรภ์ แล้วเราก็ไล่เขาไปด้วยการใช้ภาษาที่ไม่น่าฟัง ‘หมอทำให้เธอท้องหรือเปล่า?’ แค่ประโยคแค่นี้ง่ายๆ แต่เรารู้สึกสะใจ เรารู้สึกได้ว่าทำร้ายเขา ผมรู้สึกว่าตัวเองมีศีลธรรมขึ้นมา แม้ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนดีเลย แต่ในตอนนั้นผมคิดว่าเราเป็นคนดีมาก เพราะผมปฏิเสธผู้หญิงคนนั้นไป เพราะการที่เขาท้องมันเป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาจะไปทำแท้งที่อื่น แล้วเจอแท้งเถื่อนมันก็เป็นกรรมของเขา ผมก็แค่ทำหน้าที่รักษาอาการหลังแท้งเถื่อนที่มันเกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งบางครั้งมันทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของความตายโดยที่เราไม่คาดฝัน 

ปัจจุบันการยุติการตั้งครรภ์มันง่ายกว่าอดีตมาก ขอโทษนะครับขอยกตัวอย่าง เราขึ้นขาหยั่ง ทายา สอดหลอดดูด แล้วดูดออกมา ใช้เวลาแป๊บเดียว แล้วลงมานั่งพัก เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ กลับไปทำงานได้อย่างปกติ สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ – แต่เราไม่ทำ

ซึ่งหลายๆ คนที่เข้ามาทำแท้งเขาก็เป็นลูกที่มีพ่อมีแม่ เขาอาจจะเป็นความหวังของครอบครัว บางคนต้องเตรียมตัวดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว มีภาระต้องรับผิดชอบต้องดูแลพี่น้อง หลายๆ คนมีสถานะเป็นแม่ มีลูกมีสามี เรื่องแบบนี้ไม่ควรที่จะทำให้เขาต้องพลัดพราก ความตายที่มันเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา รวมถึงอาการบาดเจ็บ โดยที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเราไม่เป็นส่วนหนึ่ง 

แต่เรื่องนี้ใช้เวลาคิดหลายปีนะครับ เพราะใจผมยังเชื่ออยู่ว่าการทำเรื่องแบบนี้คือบาป แต่สุดท้ายผมก็ต้องหาทางออกให้ตัวเอง เมื่อเขากลับไปใช้ชีวิตของตัวเอง กลับไปเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ จะไปเป็นแม่ที่ลูกได้กอด มันจะทำให้เรารู้สึก ‘เฮ้ย ช่างมันเถอะ หน้าที่ของเราคือการทำอย่างไรก็ได้ให้สุขภาพของผู้หญิง กลับไปอย่างสมบูรณ์’

จริงๆ การเป็นหมอสูตินรี เราต้องเข้าใจผู้หญิง เราต้องดูแลผู้หญิง มันมีเสียงที่แย้งผมมาเสมอว่า ‘ก็ป้องกันสิ จะได้ไม่ท้อง’ ผมถามหน่อยเราสอนการป้องกันมาเป็นชาติแล้ว แต่ปัญหามันก็ยังมีอยู่ไม่ใช่เหรอ เหมือนคนเป็นหวัดออกกำลังกาย คุณต้องไปออกกำลังกายแล้วจะไม่เป็นหวัด จริงเหรอ คนที่ออกกำลังกายทุกวันก็เป็นหวัดได้ ใช่หรือไม่? มันก็ไม่ต่างกับการที่เราบอกให้เขาคุมกำเนิด เขาก็คุม คุมแบบโง่ก็มี คุมแบบฉลาดก็มี แต่มันก็ยังท้องได้ ฉะนั้นมันก็ต้องมีทางออกให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ 

โดยทางออกมันก็มีหลายวิธี ยิ่งเราไม่ได้เป็นคนที่ทำให้เขาท้อง เราจะเห็นทางออกเยอะแยะเลย 

ท้ายที่สุดเราจะแนะนำทางออกอย่างไรก็แล้วแต่ อย่าเอาตัวเราเข้าไปเป็นเขา ไม่ต้องมาเป็นผู้มอบความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เราเป็นคนนอก แต่ถ้าเขาต้องการเลือกวิธีทางออกแบบไหนเราต้องแนะนำ ว่าสิ่งที่คุณเลือกมา มันปลอดภัยหรือไม่ ถ้าปลอดภัยก็ทำซะ 

ผมว่าหน้าที่ของหมอต้องเปลี่ยนบทบาทให้เป็นแบบนี้ ผมว่าน่าจะดี มันก็เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นมาตั้งแต่ชาติที่แล้วแล้ว เพียงแต่เรายังขาดความเข้าใจและยังเอาตัวเองเข้าไปอินกับบาปบุญคุณโทษ มากกว่าชีวิตของคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าเรา

สมมุติมีผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์เดินมาหาคุณหมอ คุณหมอทำอย่างไรบ้าง

อุปสรรคสำคัญ คือผู้ให้บริการ เมื่อก่อนผมสามารถให้บริการในโรงพยาบาลได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้

ปัญหาคือคนร่วมงานบางกลุ่มเขารู้สึกบาดเจ็บ เขาสลัดความบาดเจ็บแบบผมไม่ได้ เขาถึงไม่โอเคกับการทำแท้ง แต่องค์กรมันควรจะอยู่ได้ ในเมื่อเขาอยู่ไม่ได้ ทางออกวิธีง่ายที่สุดคือผมต้องหยุดทำแท้งในโรงพยาบาลนั้น และใช้วิธีอื่น ผมจึงหันมาใช้วิธีเดินสายประชาสัมพันธ์ถึงเรื่องทำแท้ง ‘ประเทศไทยทำแท้งได้นะครับ แล้วสามารถทำได้ตรงไหนบ้าง’ นี่คือสิ่งที่ผมทำ 

นำไปสู่การตอบคำถาม ถ้ามีผู้หญิงเดินมาหาคุณหมอเพื่อที่จะทำแท้งคุณหมอจะทำอย่างไรต่อ

สิ่งที่เป็นเสาบ้านเสาเรือน คอยเป็นหลักในการตัดสินใจต่างๆ นั่นคือกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ยกเว้นความผิด ในกรณีผู้ทำแท้งเป็นแพทย์ผู้มีใบอนุญาต และเป็นการทำแท้งด้วยความจำเป็นด้านสุขภาพของหญิง หรือกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืนกระทำชำเรา ในผู้หญิงที่อายุไม่ถึง 15 ปี รวมถึงกรณีที่ตั้งครรภ์เกิดจากการถูกล่อลวง บังคับ ขู่เข็ญ ลวงหลอก ข่มขู่ทางเพศ เพื่อสนองความใคร่ ครูผมเคยสอนและยกตัวอย่างไว้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ทลายซ่อง ให้เชิญผู้หญิงมาตรวจปัสสาวะ พบว่าใครตั้งครรถ์ สามารถทำแท้งได้ถูกต้องตามกฎหมาย

นี่คือหลักการที่ควบคุมการยุติการตั้งครรรภ์ หลักการนี้มันไม่สามารถเอามาใช้ได้เลยถ้าหมอบอกว่า ‘กูไม่ทำ’ ขอโทษที่พูดหยาบนะครับ ในเมื่อผมไม่ทำ มันจะทำไม ก็ในเมื่อสุขภาพของเธอ เธอกำลังจะตาย หมอไม่ทำ ยังไงก็ไม่ทำ มันจึงทำให้มีผู้หญิงส่วนหนึ่งที่ต้องล้มหายตายจากไปเพราะเรื่องงี่เง่าแบบนี้ 

แต่ก็พบความพยายามที่จะแก้ปัญหา เช่น แพทยสภาขอขยายนิยามของคำว่าสุขภาพ ให้อิงตาม WHO กรมอนามัยโลก ที่ระบุไว้ว่าสุขภาพคือ ร่างกายและจิตใจ สุขภาพกายและสุขภาพใจมันแยกกันไม่ได้ 

ตอนที่เราทำข้อบังคับนี้ก็มีการถกเถียงกันว่า คำว่าสุขภาพใจคืออะไร ถึงขั้นเป็นโรคจิต ถึงขั้นฆ่าตัวตาย หรือเปล่า จึงทำนิยามให้มันหลวมๆ ไว้ เอาเป็นว่าใครที่ไม่สบายใจที่จะตั้งครรภ์ จนเกิดผลกระทบต่อร่างกาย นอนไม่ได้ กินไม่ได้ แปลว่าสุขภาพเริ่มไม่ดีแล้ว เพราะมันแฝงไปด้วยความเครียด นี่ก็เป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งแล้ว จึงพยายามนำคนเหล่านี้เข้าสู่บริการทางการแพทย์ให้ได้ 

ล่าสุด ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ระบุไว้คำว่า ‘สุขภาพ’ หมายถึง ‘ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล’ พอผมได้อ่านนิยามนี้แล้วจะรู้สึกน้ำตาตก เพราะคิดถึงความรู้สึกที่ตัวเองเคยดูถูกผู้หญิง มองว่าเขาเลว ซึ่งความคิดของผมก็เลวไม่ได้ต่างจากคำที่ผมดูถูกเขาเลย 

เมื่อเรารู้ว่าเราไม่สบายใจกับการยุติตั้งครรภ์ ก่อนจะไปถึงขั้นขึ้นขาหยั่ง คุณหมอมีวิธีดำเนินการอย่างไรบ้าง

การทำแท้งที่ดีมันต้องเริ่มตั้งแต่เห็นหน้าคนไข้ และได้ทักทายกัน การขึ้นถึงขั้นขาหยั่ง มันคือกระบวนการการทำแท้ง แต่จริงๆ แล้ววิธีการรักษาคนไข้เหล่านี้มันเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่คำว่า ‘สวัสดี แล้วถามว่าเธอมีปัญหาอะไร’

‘ไหนเล่าให้ฟังซิว่ามันเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาอะไร หมอไม่ใช่คนที่ทำให้เธอท้อง หมอย่อมเห็นปัญหาได้รอบด้านมากกว่า ไหนลองพูดมาว่าปัญหาที่มันเกิด มันเป็นปัญหาจริงหรือเปล่า’ นี่คือคำพูดที่มันเข้าไปทำงานกับคนไข้

บางครั้งปัญหาเกิดขึ้น เขาแค่กลัว เขาไม่กล้าบอกแม่ งั้นหมอเสนอ ‘เอาอย่างนี้หมอบอกให้ไหม ถ้าเธออยากมีลูกเดี๋ยวหมอช่วยบอกแม่ให้ หรือถ้าเธอไม่อยากมีลูกหมอก็ช่วยบอกแม่ให้ได้’ 

เพียงแค่เราคุยกัน การพูดคุยมันช่วยเยียวยาได้จริงๆ นะ ยิ่งกว่าการคุยคือการรับฟังด้วย การฟังคนไข้มันช่วยได้มากจริงๆ บางครั้งหมอก็เจอเคสที่เข้ามาจะทำแท้ง คุยกันคุยไปคุยมาเขาก็ตัดสินใจไม่ทำแท้งแล้ว 

แสดงว่าแม้การทำแท้งสามารถทำให้ปลอดภัยและถูกกฎหมายได้ แต่อุปสรรคใหญ่นั่นคือความคิดของบุคลากรการแพทย์

เมื่อบทสัมภาษณ์นี้ได้เผยแพร่ออกไป ทุกคนต้องบอกผมว่าผมคิดไปเอง ผมคิดไปเองว่ามันถูกกฎหมาย แต่ในมุมมองของผม ผมมองว่าสุขภาพของแม่ มันรวมไปถึงสุขภาพใจ และรวมไปถึงความสามารถที่จะรู้สึกเป็นสุข เมื่ออยู่บนโลกใบนี้โดยมีองค์รวมอย่างสมดุล 

ดังนั้นถ้าคุณไม่เข้าใจคำนี้ต่อให้ผมพูดไปอีก 10 ปี คุณก็ไม่เข้าใจหรอก ยังไงเสียคนก็ต้องเข้าใจว่าการทำแท้งคือเรื่องที่เลวทราม แต่ผมถามจริงๆ ถ้าเกิดเป็นน้องสาวของคุณ พี่สาวของคุณ คุณจะคิดอย่างไร พอเป็นคนใกล้ตัวปุ๊บ เชื่อว่าศีลธรรมมันเลือนหายไปทันที ซึ่งทุกคนในโลกคิดไม่ต่างจากคุณหรอก การท้องไม่พร้อมจึงกลายเป็นความผิดปกติทางจิตเช่นเดียวกัน เพราะมันก่อให้เกิดความอยู่ไม่สุขและอยู่ไม่ได้ 

ผมจะย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าทางออกทุกทางเป็นสิทธิของร่างกายของคุณ ตั้งแต่เกิดคนเราทุกคนมีสิทธิอะไรที่เท่าเทียมกันบ้าง แต่อย่างหนึ่งที่เราทุกคนมีอย่างเท่าเทียมก็คือการเป็นเจ้าของร่างกายตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าสังคมพูดแต่ปาก แต่ไม่เคยเข้าใจว่า บางครั้งร่างกายของคนอื่นก็เป็นสิทธิในร่างกายของเขา เขาจะเป็นคนแบบไหน มันก็เป็นเรื่องของเขา อาจจะมีทางออกที่ดีกว่าการทำแท้งก็ได้ แต่ถ้าเขาจะไม่เลือกมันก็เรื่องของเขา อย่าไปคิดแทน เพราะผมเป็นเพียงคนที่ให้บริการทำให้เขาปลอดภัยและกลับไปอยู่ในสังคมได้เท่านั้นเอง

แล้วสิทธิการเกิด ลืมตาดูโลกของเด็ก?

ผมถามกลับว่าแล้วผู้หญิงที่มานั่งตรงหน้าเราล่ะ เขาโตมากี่ปีแล้ว เขาโตมา 18 ปี 32 ปี 47 ปี คนนี้แหละคือคนที่มีสิทธิมากกว่าคนที่เพิ่งมาอยู่ในท้อง มันอาจแฟร์ที่เราคิดแบบนี้นะครับ ผมน่าจะเป็นคนเลวทันทีเมื่อพูดแบบนี้ออกไป 

ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมต้องแคร์ก่อน คือเธอที่อยู่ตรงหน้า ผมต้องแคร์คนไข้ก่อน เพราะเธอคือคนที่ใช้ชีวิต เธอคือคนที่มีครอบครัว เธอคือคนที่มีคนรัก ถ้าเราเห็นใครสักคนตายไปต่อหน้าต่อตา โดยที่เราไม่รู้สึกรู้สา ‘ช่างแม่ง เพราะเขาไม่ใช่ญาติผมนี่’ ถ้าเราปล่อยเขาตายไป พ่อแม่ สามี ลูก ครอบครัว ต้องเสียน้ำตามากแค่ไหน ถ้าเราไม่รู้สึกตรงนี้ ผมคงเป็นคนที่ใจดำมาก 

ถามอีกมุม การทำแท้งปลอดภัย จะส่งเสริมให้เกิดสังคม free sex หรือเปล่า

ไม่รู้สิครับ ถึงจะทำแท้งหรือไม่ทำแท้ง ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันคนก็มีเซ็กส์กันไม่ใช่เหรอ?

การมีเซ็กส์ มันคือสัญชาตญาณการสืบพันธุ์ มีเซ็กส์แล้วมันสนุก ผมยืนยันเลย (ยิ้ม) คนชอบคิดว่าการเปิดโอกาสให้คนทำแท้ง จะทำให้ผู้หญิงเข้าสู่การทำแท้งมากขึ้น แต่ถ้าเราคิดกลับกันถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้คนได้ทำแท้งจะมีผู้หญิงที่บาดเจ็บล้มตายจากการทำแท้งเถื่อนมากขึ้นหรือเปล่า ทุกวันนี้ปัญหาเหล่านี้มีน้อยลงมากแล้วนะ

สมัยหนึ่งในประเทศโรมาเนีย กฎหมายทำแท้งมีความเข้มงวดมาก ไม่เปิดให้ทำ ผู้หญิงจึงล้มตายจากการตั้งท้องจากการทำแท้งเถื่อนจำนวนสูงมหาศาล แต่หลังจากที่โรมาเนียได้ประกาศว่าสามารถให้ผู้หญิงทำแท้งได้ด้วยความปลอดภัย ความตายจากการตั้งท้องของผู้หญิงลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น 

ซึ่งตั้งแต่สังคมไทยเริ่มเปิดในเรื่องนี้ ผู้หญิงเราตายน้อยลงจริงๆ อาการมดลูกทะลุ-มดลูกเน่าน้อยลงมาก มันจึงพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เราจะไม่ได้ใจกว้างเท่าโรมาเนีย แต่ทุกวันนี้การตายของผู้หญิงไทยลดน้อยลง อัตราการตายจากการตั้งครรภ์มันกลายเป็นอย่างอื่นไปแล้ว เป็นเรื่องของครรภ์เป็นพิษ เป็นโรคหัวใจแล้วท้อง ท้องแล้วมีอาการตกเลือด ส่วนการตายจากแท้งเถื่อนน้อยลงเยอะ แต่ก็ยังมีอยู่บ้าง ซึ่งในฐานะที่เป็นคนทำงานมา 20 ปี ผมยืนยันได้ว่ามันน้อยลง

ขณะที่ข้อมูลเรื่องการทำแท้งปลอดภัยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่อัตราการท้องไม่พร้อมกับเพิ่มสูงขึ้น สมการนี้เกี่ยวกันไหม

มันไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นหรอกครับ มนุษย์ยังมีเซ็กส์เหมือนเดิม ถ้าเพิ่มขึ้นก็คงตามยุคสมัยที่เปลี่ยน หรือตามจำนวนคนที่เปลี่ยนไป การทำแท้งก็เช่นเดียวกันมันยังมีเท่าเดิม มันยังมีเหมือนเดิม เพียงแค่มีคนตายน้อยลงกว่าเดิม ถ้าจะบอกว่าการที่ทำแท้งเข้าถึงได้มากขึ้น จะทำให้คนเข้ามาทำแท้งมากขึ้น มันเป็นสมการที่คิดเอาเองหมดเลย ลองเอาตัวเลขออกมาดูสิ มันไม่จริงหรอก 

แต่สิ่งที่เราเห็นคือคนเลือกเดินมาหาเราเพราะอยากทำแท้งที่ปลอดภัยได้มากขึ้นมากกว่า สมัยก่อนคนเหล่านี้ไปตกอยู่ในมือพวกหมอเถื่อน ไปตกอยู่ในมือของพวกเว็บไซต์ขายยาเถื่อน มันเป็นการทำแท้งเสรี (ซึ่งอาจจะไม่ปลอดภัย) มันมียาเถื่อนซื้อได้ทุกที่ขายได้ทุกเวลาในอินเทอร์เน็ต แล้วมันก็เสี่ยงมาก ทั้งที่ในความเป็นจริงเรามียาฟรีๆ ให้คุณในโรงพยาบาลรัฐ 

การทำแท้งอย่างเสรีจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงในสถานบริการที่การทำแท้งอย่างปลอดภัยเข้าถึงได้ หมายความว่า การทำแท้งปลอดภัยจะเอาตัวอ่อนออกมาก่อนที่เขาจะมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่การใช้ยาเพื่อทำให้เด็กที่กำลังมีชีวิตหลุดออกมาร้องไห้เสียงดัง นั่นเรียกว่าการคลอดก่อนกำหนด 

ผมยกตัวอย่าง สมมุติตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์แล้วอยากทำแท้ง สิ่งที่อยู่ในท้องคุณจะเป็นตัวอ่อนที่มีขนาดไม่ถึงครึ่งเซนติเมตร และตามมาตรฐาน กำหนดการทำแท้งปลอดภัยไว้ว่าจะทำได้เมื่อเด็กอายุไม่เกิน 24 สัปดาห์ เพราะเขาเริ่มเป็นเด็ก เป็นสิ่งมีชีวิตที่หายใจได้ เราจะไม่ทำ ฉะนั้นยิ่งจัดการเร็วยิ่งดี

ผมในฐานะแพทย์ไม่เคยสุขใจที่ได้ทำแท้งหรอก แต่ผมสุขใจที่เห็นเธอตรงหน้ามีชีวิตที่ดีขึ้น มีแรงใจที่จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตต่อได้

การทำแท้งครั้งแรกของคุณหมอเป็นอย่างไรบ้าง

ผมทำแท้งครั้งแรกก็ตอนเรียน เมื่อก่อนนั้น การทำแท้งมันเข้มงวดมาก ผู้หญิงประเภทที่เดินเข้ามาเพราะท้องไม่พร้อม ไม่ค่อยมี จะมีในกรณีที่ตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่ามีความผิดปกติ เช่น เป็นดาวน์ซินโดรม ขั้นตอนและวิธีทำคือการเจาะน้ำคร่ำและใส่น้ำเกลือเข้าไปเพื่อให้เด็กเสียชีวิตในท้อง และกระตุ้นให้เกิดการแท้งออกมา อยู่ในยุคปลายของวิธีการที่น่ากลัว เพราะหลังจากนั้นเราสามารถใช้วิธีกินยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ได้

ด้านความรู้สึก เป็นอย่างไร

ย้อนไปตอนเรียนต้องเจาะเลือดไปที่หัวใจของเด็กมีปัญหาทางสุขภาพที่เขาแท้งออกมาเพื่อไปตรวจ ตอนนั้นผมก็ยังเป็นวัยรุ่น ยังเป็นหมอหนุ่ม ด้วยความเร่งรีบของเราจึงไม่ได้ดูอย่างถี่ถ้วนว่าเด็กที่แท้งออกมาเสียชีวิตไปหรือยัง พอเราเอาเข็มจิ้ม เด็กกลับมีปฏิกิริยาสะดุ้งกลับขึ้นมา ตอนนั้นมันแบบ…(เงียบ)… ผมจึงเกลียดการทำแท้งไปเลย เพราะผมก็เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจอะ แต่ต้องทำมันเพราะหน้าที่ มันแย่นะ ซึ่งในระบบการเรียนการสอนเราที่ผมเรียนรู้มาตลอด ทุกอย่างบอกกับผมว่าการแท้งคือเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องบาป เป็นเรื่องไม่สมควร ในตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้อินกับการทำแท้งเท่าไหร่

ตอนนั้นผมยังเป็นผมในเวอร์ชั่นที่มีศีลธรรมสูงมาก มองไม่เห็นมุมอื่นๆ แต่พอเวลาดำเนินไป เราผ่านการเห็นความตายที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ผมใช้เวลาคิดตรงนี้มาเป็น 10 ปี เพื่อจัดการความคิดตัวเอง และเมื่อความคิดตรงนั้นมันคลิกเปลี่ยน มันก็จบเลย 

ช่วง 10 ปีที่ว่าถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน คุณหมอผ่านมันมาได้อย่างไร

มันก็ว้าวุ่นนะ สมัยก่อนที่เราพยายามจะผลักดันการทำแท้งปลอดภัย มีครูคนหนึ่งเดินเข้ามาบอกว่า ‘สิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ดี’ ผมจึงตอบกลับไปว่า ‘ถ้าผมไม่ทำอย่างนี้เขาต้องเดินไปสู่หนทางหายนะแน่ๆ’ คำตอบที่ครูคนนั้นตอบกลับมาก็คือ ‘ปล่อยให้มันเป็นกรรมของเขาที่เขาสมควรจะได้รับ’ หน้าที่ของเราคือการรักษาภาวะที่แทรกซ้อนที่เกิดขึ้นของเขาก็พอ

ดังนั้นในช่วง 10 ปี ผมใช้เวลาคิดทบทวน พอคิดไปคิดมา คิดคนเดียวมันไม่ถี่ถ้วนจึงจัดประชุมถึงบทบาทจริยธรรมของแพทย์ ‘ถ้าเราไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น จะเกิดแท้งเถื่อนจะเกิดปัญหาติดเชื้อ และสุดท้ายก็นำไปสู่ความตาย’ เมื่อรู้เช่นนี้เราจะทำอะไรสักอย่างก่อนได้ไหม ก่อนที่เราจะต้องคอยรับเคสรักษาผู้หญิงมีภาวะมดลูกเน่าเข้ามา 

หลักสูตรของแพทย์ส่งผลต่อความคิด ในเรื่องทำแท้งกับนักศึกษาแพทย์อย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้วหลักสูตรเป็นกลางมาก แต่คนที่ทำให้รู้สึกและจะเชพความคิดให้เป็นอย่างไร น่าจะเป็นครูมากกว่า อย่างที่บอกไปข้างต้น พวกผมถูกสอนว่า เราสามารถทำแท้งได้เฉพาะกรณีที่มารดามีปัญหาสุขภาพกาย และถูกข่มขืนมาเท่านั้นครับ ส่วนกรณีอื่นๆ ครูไม่ยอมสอนเลย (ไม่แน่ใจว่าครูไม่รู้ หรือครูไม่อยากให้เราทำแท้ง)

พวกผมไม่เคยรู้หรอกว่าเด็กต่ำกว่า 15 ทำได้ รวมถึงมาตราอื่นๆ อีกตั้งมากมาย

ในเมื่ออุปสรรคสำคัญคือวิธีคิดของคนต่อการทำแท้ง ถามแบบกำปั้นทุบดิน แล้วเราจะแก้อย่างไรดี

อืม…จริงๆ ผมก็ตอบไม่ได้ คุณก็ตอบไม่ได้หรอกครับ เพราะวิธีแก้มันมีหลากหลาย ถ้าเป็นผม ในฐานะหมอสูติ ผมไม่ค่อยแคร์ใคร เท่าที่ทำได้คือ สอนลูกศิษย์รุ่นใหม่ๆ เขียนเว็บเพจเป็นของตัวเองเพื่อสื่อสาร เดินสายเป็นวิทยากร ผมทำได้แค่นี้ ก็ทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป

เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายทำ: Muchroom Coworking Space

สนับสนุนโดย

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า