เรื่อง: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล
ข้อใดเป็นการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนได้ดีที่สุด (ข้อสอบ O-net ปี 2553 วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา)
1. หยุดเรียนไประยะหนึ่งเพื่อคลอดลูก (ไปข้อ A)
2. ทำแท้งเพราะไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ (ไปข้อ B)
3. ลาออกจากโรงเรียนแล้วหางานทำเพื่อลูก (ไปรับคะแนนที่ สทศ. ผู้ออกข้อสอบ)
4. แจ้งความเพื่อหาผู้รับผิดชอบ (ไปโรงพัก)
A หยุดเรียนแล้วยังไงต่อ
รู้หรือไม่ นรากรณ์ ไหลหรั่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี ให้ข้อมูลว่า กว่าร้อยละ 90 ของนักเรียนหญิงที่หยุดเรียนเพื่อไปคลอดลูกไม่ได้กลับเข้ามาเรียนอีกเลย หรือหากกลับเข้ามาเรียนอีกก็เรียนได้ไม่นานต้องย้ายโรงเรียนเพราะความอับอาย แต่นักเรียนหญิงที่ทำแท้งไปแล้วส่วนใหญ่มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมมากกว่านักเรียนที่ลาออกไปคลอดลูก
B จะทำแท้งอย่างไร
B1 ไปโรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อให้หมอทำแท้ง
B2 ซื้อยาผ่านเน็ต
B1 ไปโรงพยาบาลหรือคลินิก
รู้หรือไม่ ปัจจุบันคุณหมอไม่ได้ทำแท้งด้วยอุปกรณ์ขูดมดลูกแบบคลิปวิดีโอวิชาเพศศึกษาที่เราเคยดูสมัยมัธยมแล้ว แต่จะใช้เครื่อง MVA หรือ กระบอกสุญญากาศ (Manual Vacuum Aspiration: MVA) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อการนี้ ซึ่งปลอดภัยกว่าการขูดมดลูกด้วยเครื่องมือโลหะแน่นอน
แต่หลังจากรักษาด้วยวิธี MVA แล้วคุณผู้หญิงจะต้องกินยาคุมกำเนิดทันที และควรกินยาปฏิชีวนะกลุ่ม doxycycline หรือ metronidazole ควบคู่การทำแท้งแบบ MVA
การยุติครรภ์ด้วยเครื่อง MVA มักใช้ในช่วงอายุครรภ์ 12-14 สัปดาห์หรือตามความชำนาญของผู้รักษา ซึ่งถ้าอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ไปแล้วต้องเข้ารับการบริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น
ปัจจุบันมีคุณหมอส่วนหนึ่งให้บริการทำแท้งด้วยการให้ยาไมเฟพริสโตน (mifepristone) และยาไมโซพรอสทอล (misoprostol) มากกว่า เพราะสะดวกและปลอดภัย ไม่ส่งผลต่อการมีลูกในภายภาคหน้า (อยากรู้เรื่องยาต่อ ไปข้อ B1.1)
การไปรับบริการที่โรงพยาบาลหรือคลินิก แพทย์จะรับทำเมื่อคุณผู้หญิงมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. ครรภ์นั้นส่งผลเสียทางสุขภาพกายของผู้ตั้งครรภ์
2. ครรภ์นั้นส่งผลเสียทางสุขภาพใจของผู้ตั้งครรภ์
3. ตัวอ่อนในครรภ์พิการอย่างรุนแรง
4. เกิดจากการข่มขืน
5. เกิดจากการล่อลวงบังคับ ข่มขู่
6. ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ อายุน้อยกว่า 15 ปี แม้เจ้าตัวจะสมยอมมีเพศสัมพันธ์ก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก:
เครือข่ายแพทย์ พยาบาลอาสา (Referral system for Safe Abortion: RSA)
Q: หากหญิงสาวอายุ 18 ปีมีอะไรกับแฟนแล้วเกิดตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ขึ้น อายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ แล้วตนเองอยู่ในช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย รู้สึกว่าการท้องระหว่างเรียนเป็นอุปสรรคใหญ่ในชีวิต เธอสามารถเดินเข้าไปแผนกสูตินรีเวชเพื่อขอให้หมอทำแท้งให้ตนได้หรือไม่
A: กระทำได้ โดยคุณหมอจะวินิจฉัยตามเกณฑ์ของกรมสุขภาพจิตว่า ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าไม่ต้องการตั้งครรภ์ หรือการตั้งครรภ์ในครั้งนี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต (ตามเงื่อนไขข้อ 2)
แต่ถึงกระนั้น ปัญหาส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถทำการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในโรงพยาบาลหรือคลินิกคือ คุณหมอมักปฏิเสธการทำการยุติครรภ์ให้คนไข้ เพราะ ‘กลัวบาป’
B1.1 ยาอะไร ปลอดภัยหรือเปล่า
นายแพทย์สัญญา ภัทราชัย ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า ยาตัวนี้เป็นยากระตุ้นฮอร์โมนกลุ่มเดียวกับยาคุมกำเนิด มีอานุภาพระดับเดียวกัน มีชื่อเรียกอีกชื่อว่าเป็นยาปรับประจำเดือน เมื่อใช้แล้วในเดือนถัดไปผู้หญิงก็จะมีประจำเดือนได้ตามปกติ
มีรายงานจากทั่วโลกว่ายาตัวนี้ปลอดภัยและอยู่ในบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลก มีการจดทะเบียนยาตัวนี้ในประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2557 แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีเงื่อนไขว่าต้องให้กรมอนามัยควบคุมการแจกจ่ายยาและจัดให้ยานี้เป็นยาควบคุมพิเศษ คือไม่ปล่อยให้วางจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป หากมีผู้มาขอรับยานี้แพทย์ต้องเขียนรายงานการจ่ายยาส่งกรมอนามัยอย่างละเอียด
นอกจากสามารถรับยานี้ได้จากการพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ถ้าคุณไม่สะดวกเข้ารับบริการที่นั่น ยังมีอีกทางเลือกในการเข้าถึงยาทำแท้งอย่างปลอดภัยจากต่างประเทศ (ไปข้อ B2)
ยาสตรีไม่ช่วยยุติการตั้งครรภ์!
ทีมงาน Women on Web ซึ่งเป็นองค์กรให้บริการทางการแพทย์และสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง ให้ข้อมูลว่า ยังไม่พบงานวิจัยชิ้นใดที่พูดถึงการใช้ยาสตรีทำแท้งแล้วประสบผลสำเร็จ ทว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่ใช้ยาสตรีเพื่อยุติการตั้งครรภ์แล้วไม่ได้ผลจึงมาขอรับยาไมเฟพริสโตนและไมโซพรอสทอล โดยบางรายรับประทานยาไป 3-4 ขวดแล้วก็ยังยุติการตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ
วิธีใช้ยาให้ได้ผล
แรกเริ่มคุณผู้หญิงที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์จะได้รับยาสองตัว คือ ไมเฟพริสโตน 200 มิลลิกรัม จำนวนหนึ่งเม็ด และ ไมโซพรอสทอล 200 ไมโครกรัม จำนวน 4-6 เม็ด ขณะกินยาควรใช้ผ้าอนามัยแผ่นยาว
หากกินยาไปแล้วยังมีอาการคล้ายว่ายังตั้งครรภ์อยู่ หรือไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด อาจเป็นไปได้ว่าการยุติการตั้งครรภ์นี้ไม่สำเร็จ ควรไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำ MVA หรือเมื่อใช้ยาแล้วมีเลือดออกมากเกินปกติ (เต็มแผ่นผ้าอนามัยขนาดยาวสองแผ่น) ก็ควรไปพบสูตินรีแพทย์เช่นกัน
กรณีอายุครรภ์น้อยกว่า 10 สัปดาห์
1) กินยาไมเฟพริสโตนก่อนหนึ่งเม็ด
2) รอ 24-48 ชั่วโมง
3) อมยาไมโซพรอสทอลจำนวน 4 เม็ดไว้ใต้ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม หรือสอดที่ช่องคลอดครั้งเดียว
กรณีอายุครรภ์ 10-24 สัปดาห์
1) กินยาไมเฟพริสโตนก่อนหนึ่งเม็ด
2) รอ 36-48 ชั่วโมง
3) สอดยาไมโซพรอสทอลจำนวน 4 เม็ดไว้ในช่องคลอด
*4) ถ้ายังไม่แท้ง ให้อมยาไมโซพรอสทอลจำนวน 2 เม็ด โดยใช้ยานี้ได้อีกไม่เกิน 5 ครั้ง
คำเตือน กรณีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ขณะใช้ยา หากท่านมีปัญหาทางการเงินไม่อาจไปโรงพยาบาลได้ สายด่วน 1663 ช่วยท่านได้
ผลข้างเคียงของยา
การใช้ยาไมโซพรอสทอลด้วยวิธีอมจะมีผลข้างเคียงมากกว่าการใช้ยาแบบสอด โดยอาจทำให้เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดท้อง อาเจียน และท้องเสีย แต่ไม่ได้มีอาการร้ายแรงถึงขนาดไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ใครบ้างที่ไม่ควรใช้ยา
1. เป็นต่อมหมวกไตวายเรื้อรัง
2. แพ้ยาหรือไวต่อยา กลุ่ม mifepristone และ misoprostol
3. แพ้ยาในกลุ่ม prostaglandins
4. เป็นโรคหอบหืดอย่างรุนแรง
5. เป็นโรค inherited porphyria
6. ตั้งครรภ์นอกมดลูก
B2 ซื้อยาผ่านเน็ต
รู้หรือไม่ แม้ทุกวันนี้เราเห็นข่าวจับเว็บไซต์ขายยาทำแท้งเถื่อนเป็นจำนวนมาก เราไม่ขอปฏิเสธข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันก็มีเว็บจ่ายยาทำแท้งที่ถูกกฎหมายและปลอดภัยแล้ว นั่นคือเว็บ Women On Web (womenonweb.org)
เว็บนี้ท่านได้แต่ใดมา
Women On Web เดิมเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่ร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อให้บริการทางการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือช่วยผู้หญิงในประเทศที่ยากจะเข้าถึงการทำแท้ง เพื่อให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย เว็บไซต์นี้ดำเนินงานมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว นอกจากนั้นยังเผยแพร่ความรู้และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์
วิธีขอรับยาทำได้ง่ายๆ โดยกรอกแบบทดสอบสุขภาพจิตและแบบทดสอบโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นชุดคำถามลักษณะเดียวกับที่ผู้ป่วยไปทำแท้งตามโรงพยาบาล เมื่อกรอกแบบทดสอบเรียบร้อยทีมงานทางการแพทย์จากซีกโลกตะวันตกจะวินิจฉัยและจ่ายยาไมเฟพริสโตนและยาไมโซพรอสทอลให้ผู้หญิงคนนั้นรายละหนึ่งเซ็ตโดยส่งทางไปรษณีย์
ใช้ยาจากต่างประเทศ ผิดกฎหมายหรือไม่
แม้บางประเทศที่ยาไมเฟพริสโตนจะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน แต่หลายประเทศก็อนุญาตให้รับยาเพื่อใช้ส่วนบุคคลได้ ดังนั้นการจะครอบครองยาชนิดนี้ในปริมาณน้อยจึงไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย และองค์กรนี้ก็ขอสิ่งตอบแทนเพียงเงินบริจาค 70-90 ยูโร ซึ่งยาที่ Women On Web นำมาแจกจ่ายเป็นยาที่ผลิตจากประเทศอินเดียที่อนุญาตให้การทำแท้งเป็นสิทธิสตรีที่ผู้หญิงกระทำได้ และเป็นยามาตรฐานส่งออกที่มีคุณภาพ
เงื่อนไขของผู้รับบริการ
ไม่เจ็บป่วยร้ายแรงหรือมีอาการแพ้ยาไมเฟพริสโตนและยาไมโซพรอสทอล (ย้อนไปที่ข้อ B1.2) และตั้งครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ หากเป็นไปได้ควรตรวจการตั้งครรภ์หรืออัลตราซาวด์ให้ชัดเจนเสียก่อน และแน่นอนว่าทีมแพทย์จะเก็บเรื่องอายุครรภ์กับข้อมูลการรักษาเป็นความลับ และเพื่อความปลอดภัย ผู้ใช้บริการควรอยู่ใกล้โรงพยาบาลหรือคลินิกที่สามารถเดินทางได้ภายในหนึ่งชั่วโมง
จะทราบได้อย่างไรว่าใครสั่งยา
แพทย์ทุกคนที่จ่ายยามีใบประกอบโรคศิลป์ ยาทุกห่อที่ส่งไปยังมือผู้รับบริการจะมีใบสั่งยาพร้อมชื่อคุณหมอติดไปด้วย ซึ่งหากสาวๆ ที่รับบริการไปอยากจะปรึกษาคุณหมอผู้จ่ายยาโดยตรงก็สามารถทำได้ โดยจะมี helpdesk ทำหน้าที่เป็นล่ามช่วยสื่อสารและอธิบายข้อมูลต่างๆ
ถ้าไม่เข้าใจการใช้ยาต้องทำอย่างไร
ยาจาก Women on Web จะส่งมาเป็นซองสีขาวขนาดเล็ก ตัวยาห่อด้วยพลาสติกกันกระแทกอย่างดี หากอ่านฉลากแล้วไม่เข้าใจก็สามารถถ่ายรูปเข้ามาสอบถามในเว็บไซต์ได้
ถ้าสั่งยาไปแล้วรอนานแค่ไหน
ประมาณ 5-10 วัน โดยทางทีมงาน Women on Web จะใช้ดำเนินการหลังจากได้รับการยืนยันการบริจาคแล้วส่งพัสดุออกนอกประเทศประมาณ 3-5 วัน)
ขอยารอบสองได้ไหม
ทางองค์กรให้ข้อมูลว่ายินดีที่จะจ่ายยาให้ผู้มารับบริการซ้ำ เพราะเป็นองค์กรให้บริการทางการแพทย์ ไม่ควรตัดสินผู้รับบริการ และเข้าใจดีว่าไม่มีการคุมกำเนิดใดได้ผลเต็มร้อย แต่ถ้ามาขอรับบริการในระยะเวลาที่ห่างกันไม่นาน ก็อาจมีการไต่ถามว่าได้คุมกำเนิดหรือไม่ และอาจแนะนำวิธีคุมกำเนิดไป
นอกจากนี้ในเว็บไซต์ยังมีการตอบคำถามและให้คำปรึกษามากมาย เช่น ในกรณีที่ผู้รับยามีเลือด Rh- ต้องปฏิบัติอย่างไร หรือกินยาไม่ครบโดสควรทำอย่างไร รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนเรื่องราวจากผู้หญิงในประเทศอื่นๆ เช่นกัน
ทำแท้งเป็นสิทธิ์ ไม่ใช่บาปกรรม
อวยพร เขื่อนแก้ว ตัวแทนจากศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวาทกรรมการทำแท้งในสังคมพุทธ โดยเธอลองวิเคราะห์ปัญหานี้ตามหลักอริยสัจสี่ว่า เหตุที่ผู้หญิงเหล่านี้เลือกที่จะไปทำแท้งไม่ใช่เพราะการทำแท้งเป็นทางเลือกหนึ่งในชีวิต แต่เขาถูกบังคับให้เลือก ผู้หญิงเหล่านี้รู้โดยปัญญาดีว่าความทุกข์นี้เป็นความทุกข์ที่สาหัส และเขาไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้
ด้วยค่านิยมที่สังคมไทยไม่ได้สอนให้ผู้ชายคุมกำเนิด เมื่อผู้ชายไม่รับผิดชอบ ความทุกข์จึงตกอยู่ที่ผู้หญิง ผู้หญิงเหล่านั้นจึงต้องหาวิธีแก้ปัญหาอย่างโดดเดี่ยว โดยไม่มีระบบใดในสังคมมาช่วยเหลือ เขาต้องถูกสังคมตีตราตั้งแต่ท้องแล้วไม่รับผิดชอบ ถูกผลักไสให้ออกจากโรงเรียน เมื่อไปโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็อาจไม่เกื้อกูลเขาแถมยังตีตราเขามาอีก และอาจถูกผลักไสจากคนในครอบครัวเช่นกัน
พระพุทธเจ้าจะบอกว่าการทำลายชีวิต การเบียดเบียนเป็นบาป แสดงว่าตั้งแต่ผู้ชายที่ทำเขาท้องไม่รับผิดชอบ ก็เบียดเบียน ผู้ชายคนนี้ก็บาปแล้ว ระบบโรงเรียนที่ผลักเด็กคนนี้ออก ไม่เกื้อกูลตอนเขาท้อง ระบบโรงเรียนก็บาปแล้ว ครอบครัวที่ผลักเขาออกไป ครอบครัวก็ทำบาปแล้ว เพราะฉะนั้นบาปคือการเบียดเบียน การไม่เกื้อกูล แล้วพวกเราทุกคนที่ตีตราผู้หญิงกลุ่มนี้ก็คือเบียดเบียนทางจิตใจ ทางจิตวิญญาณ ก็บาปเช่นกัน
อวยพรมองว่าการตีตราผู้หญิงเหล่านี้ว่าเป็นแม่ใจยักษ์ แม่ใจบาป เป็นการตีตราที่พฤติกรรม ซึ่งไม่ได้นำความเข้าใจเชิงปัญญามาทำความเข้าอกเข้าใจความทุกข์ของผู้หญิง
ความเป็นจริงข้อหนึ่งในชีวิตที่เราต้องยอมรับคือคนทุกคนมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน มีทางเลือกมากน้อยต่างกัน หรือบางคนอาจไม่มีเลย ความรู้ทางเพศศึกษาอีกชุดหนึ่งที่ถูกปิดกั้นในสังคมมานาน คือการคิดหาทางออกเมื่อมีท้องไม่พึงประสงค์ ทุกคนต่างรู้ดีว่าการตั้งครรภ์ที่ไม่อาจรับผิดชอบได้เป็นเรื่องไม่พึงปรารถนา ตำราไทยแทบทุกเล่มก็สอนว่าอย่าชิงสุกก่อนห่าม แต่มีหนังสือน้อยเล่มที่บอกว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราควรรับมืออย่างไรจึงจะส่งผลสะเทือนต่อร่างกายและจิตใจให้น้อยที่สุด
เพราะเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่าผู้หญิงทุกคนมีสิทธิ์จัดการกับชีวิตตนเอง และสมควรที่จะดำเนินชีวิตภายใต้ความปลอดภัยเพื่อใช้ชีวิตที่มีอยู่อย่างมีคุณภาพ
การทำแท้งไม่ใช่เรื่องง่าย และสิ่งที่ผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้งหลายคนสูญเสียอาจไม่ใช่แค่เด็กในท้อง แต่พวกเธอสูญเสียกำลังใจในชีวิตและคุณค่าของตัวเองไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราควรตระหนักคือความรู้และความเข้าใจอีกมุมหนึ่งที่เราอาจไม่เคยได้จากชั่วโมงเพศศึกษาขณะที่เราเป็นนักเรียน
อ้างอิงข้อมูลจาก:
แนวทางการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัย
โดย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย (rtcog.or.th)
womenonweb.org
การเสวนา ‘คุยเรื่องแท้ง: คิดใหม่ มุมมองใหม่’