ชลิตา สุนันทาภรณ์/ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
ปลายเดือนมีนาคม วันที่อากาศร้อนอบอ้าวแต่ท้องฟ้ามืดครึ้ม ราวกับกำลังชั่งใจว่าวันนี้จะโปรยปรายสายฝนลงมาดีไหม คือวันที่ WAY นัดคุยกับ ซัลลา ซิมุกกา (Salla Simukka) นักเขียนนิยายเด็กและเยาวชน ชาวฟินแลนด์
ผลงานล่าสุดของซัลลาคือ ชุดนิยายไตรภาคที่ชื่อว่า ‘The Snow White Trilogy’ เล่าถึงเรื่องราวของเด็กหญิงวัย 17 ที่ชื่อ ลูมิกกิ แปลว่า สโนว์ไวท์ แต่ชีวิตของเธอช่างแตกต่างจากเจ้าหญิงในเทพนิยาย ไม่สวยงามและช่างฝัน แต่เต็มไปด้วยอันตราย ปริศนา และคละคลุ้งด้วยคาวเลือด
งานชิ้นนี้ได้รับรางวัล Topelius Prize (รางวัลสำหรับนวนิยายเยาวชนของฟินแลนด์) ประจำปี 2013 เป็น 1 ใน 100 นวนิยายสืบสวนของเด็กและเยาวชนแห่งทศวรรษโดย Booklist อีกทั้งยังถูกแปลไปกว่า 52 ภาษาทั่วโลก
นิยายเล่มแรก แดงดุจเลือด (As Red as Blood) จากนิยายชุดไตรภาค ‘The Snow White Trilogy’ ของซัลลา ถูกแปลเป็นภาษาไทยเมื่อปี 2015 โดยกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักแปลและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาฟินแลนด์ เล่มที่สอง ขาวราวหิมะ (As White as Snow) ที่เพิ่งเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 45 วันที่ 30 มีนาคม – 9 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนเล่มสุดท้าย As Black as Ebony (ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในภาคภาษาไทย) โดยมีประเทศที่มีอัตราคนอ่านหนังสือมากที่สุดในโลกอย่างฟินแลนด์เป็นประเทศรับเชิญเกียรติยศ ซึ่งซัลลาบินตรงจากฟินแลนด์มาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ในฐานะ Guest of Honor
เรานัดซัลลาที่สำนักงานใหญ่นานมีบุ๊คส์ ย่านพร้อมพงษ์ รออยู่ไม่นานก็ได้พบกับหญิงสาวร่างสูง ผมซอยสั้นเหมือนเด็กผู้ชาย แว่นตาสี่เหลี่ยมกรอบใหญ่ ริมฝีปากสีแดงฉ่ำเข้ากับเดรสแขนกุดสีสันสดใส เรากล่าวชมชุดที่เตะตาต้องใจของเธอก่อนที่จะกล่าวทักทายกันเสียอีก ซัลลาหัวเราะอย่างเขินๆ ก่อนจะเชื้อเชิญให้เรานั่ง
และบทสนทนาที่ว่าด้วยหนังสือของเธอ เส้นทางอาชีพ และวัฒนธรรมการอ่านในประเทศฟินแลนด์ ก็เริ่มต้นขึ้น
Part 1: The Snow White Trilogy
นิยายของคุณที่เพิ่งถูกแปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า แดงดุจเลือด (As Red as Blood) และ ขาวราวหิมะ (As White as Snow) จากชุดนิยายไตรภาค ‘The Snow White Trilogy’ นั้น ชื่อเรื่องทั้งหมดมีที่มาที่ไปอย่างไร
As Red as Blood, As White as Snow และ As Black as Ebony เป็นคอนเซ็ปต์ที่ฉันเอามาจากเทพนิยายสุคคลาสสิกเรื่องสโนว์ไวท์ และฉันพยายามจะจับคอนเซ็ปต์เหล่านั้นมาเขียนเป็นนิยายสืบสวน
ฉันชอบคำว่า ‘As Red as Blood’ มันฟังดูแล้วน่าจะเป็นชื่อเรื่องที่ดี ดังนั้นแล้วมันก็ควรจะมี ‘As White as Snow’ และ ‘As Black as Ebony’ ด้วยสิ ก็เลยกลายเป็นนิยายชุดไตรภาค (หัวเราะ)
ทำไมเทพนิยายสโนว์ไวท์จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจของคุณ
ประเด็นนี้มีหลายคนถามฉันเยอะมากว่า “ทำไมคุณเอานิยายสืบสวนมาเทียบกับเทพนิยายอย่างสโนว์ไวท์ล่ะ มันดูต่างกันมากเลยนะ?”
แต่ถ้าลองนึกคิดดีๆ นะ สโนว์ไวท์คือสาวน้อยคนหนึ่ง พ่อของเธอตาย และต้องอาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงเป็นราชินีใจร้าย แถมยังอยากให้เธอตายอีก สโนว์ไวท์ต้องหนีเข้าไปอยู่ในป่า แม่เลี้ยงก็ตามล่าฆ่าเธอ แล้วเนื้อเรื่องแบบนี้คืออะไรล่ะถ้าไม่ใช่เชิงสืบสวน (หัวเราะ)
ถ้าคุณเคยอ่านเทพนิยายมาก่อน ลองสังเกตดูดีๆ สิ เนื้อเรื่องมักมีเรื่องราวในทำนองนี้เต็มไปหมด แต่คนส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับเทพนิยายที่ดิสนีย์กำหนดกรอบคิด (mind set) เราเอาไว้ เป็นเรื่องราวที่เหมาะกับเด็ก น่ารักและสดใส ทั้งๆ ที่เนื้อหาจริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้น
คุณเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหลายๆ ที่ว่า คุณได้แนวคิดที่จะเขียนนิยายสืบสวนเยาวชนชุด ‘The Snow White Trilogy’ ตอนคุณไปแฟรงก์เฟิร์ต มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ตอนที่ฉันไปที่แฟรงก์เฟิร์ตและได้ไปร้านหนังสือ ฉันเห็นหนังสือจำนวนมากมายหลายประเภทในร้านหนังสือเล็กๆ ทำให้ฉันตระหนักได้ว่า ประเภทหนังสือในฟินแลนด์มีน้อยมาก อย่างนิยายเยาวชนแนวสืบสวนหรือนิยายรักวัยรุ่นนี่แทบจะไม่ค่อยมีเลย
ฉันจึงอยากเขียนนิยายสืบสวนที่แท้จริง เหมือนกับนิยายผู้ใหญ่จริงๆ แต่ตัวละครและสภาพแวดล้อมในเนื้อเรื่องจะเกี่ยวข้องกับวัยรุ่น และในนั้นจะต้องมีภยันตรายแบบผู้ใหญ่และมีการตายเกิดขึ้น
หนังสือของคุณถูกจัดเป็นหนังสือเยาวชน หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘young adult’ คำคำนี้ในความหมายของคุณคืออะไร
ในความคิดของฉันเหรอ?… เยาวชน คงเป็นเด็กที่อายุราว 14-15 ปี แต่จริงๆ ก็ไม่สามารถเอาอายุมาตัดสินได้หรอกนะ ว่าอายุเท่าไรควรอ่านหนังสือแบบไหน แต่สำหรับนักอ่านที่อ่านนิยายของฉัน มีตั้งแต่อายุ 15 ไปจนถึง 50 เลยก็มี ทั้งๆ ที่นิยายถูกจัดประเภทไว้ว่าสำหรับ ‘เยาวชน’
ฉันมีเพื่อนคนหนึ่งทำงานอยู่ในห้องสมุด เขาเล่าให้ฟังว่ามีชายคนหนึ่งอายุน่าจะเกิน 70 ปี เขาเป็นชายแก่ที่มักชอบมาอ่านหนังสือเป็นประจำอยู่ที่ห้องสมุดแห่งนี้ เขายืมนิยายชุด ‘The Snow White Trilogy’ ไป วันถัดมาเขาก็พูดกับเพื่อนฉันว่า “คุณรู้มั้ย หนังสือเหล่านี้มันไม่เหมาะกับเยาวชนเลยสักนิด”
ฉันดีใจนะที่เขาอายุเจ็บสิบแล้ว แต่รู้สึกร่วมไปกับเนื้อเรื่องและตัวละครที่อายุเพียงสิบเจ็ดสิบแปด เป็นความรู้สึกที่มหัศจรรย์ใจจริงๆ
แล้วทำไมเยาวชนถึงต้องอ่านนิยายสืบสวนแบบนี้ล่ะ
ที่ฉันต้องการจากนักอ่านเยาวชนหรือนักอ่านทุกคนก็คือ ความเป็นไปได้ที่นักอ่านทุกคนจะอ่านหนังสือได้หลากหลายประเภท ซึ่งฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ฉันอยากให้พวกเขารู้สึกอยากอ่านหนังสือ
การอ่านเป็นการเอนเตอร์เทน เป็นการสร้างความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง อยากให้พวกเขารู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มันอ่านแล้วหยุดไม่ได้ (ยิ้ม) ‘The Snow White Trilogy’ จึงไม่ใช่แค่นิยายสืบสวนอย่างเดียว แต่มีความซับซ้อนที่หลากหลายและถูกนำมาผูกร้อยเป็นเรื่องราวให้มีความน่าสะพรึงแบบผู้ใหญ่
เคยมีนักอ่านเล่าให้ฉันฟังว่า ปกติเขาไม่ชอบอ่านนิยายประเภทสืบสวนเลย แต่พอได้ลองอ่านแล้วก็รู้สึกว่านิยายเรื่องนี้มันมีมากกว่าการสืบสวนสอบสวน ขณะที่คาแรคเตอร์ของเด็กสาวอายุสิบเจ็ดก็มีพัฒนาการทางความคิดและเรื่องราวของความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่
ในฐานะที่ฉันเป็นนักเขียน ฉันไม่อยากเขียนนิยายที่มีความซับซ้อนเพียงแค่มิติเดียว แต่ต้องการที่จะผสมผสานหลายๆ มิติรวมกัน เป็นความซับซ้อนที่ต้องลึกมากกว่านี้ สำหรับนักอ่านบางคน อาจจับได้เจ็ดหรือแปดมิติของความซับซ้อน บางคนอาจจับมันได้ทั้งหมด แค่นี้แหละ คือสิ่งที่ฉันต้องการ
PART 2: อ่านแบบฟินแลนด์
ในมุมมองของคุณ คิดว่าการอ่านสำคัญต่อชีวิตคนเราแค่ไหน
สำคัญสิ สำคัญมาก (ตอบทันที) มันส่งผลกระทบต่ออะไรหลายอย่างมากเลยนะเวลาเราโตขึ้น เช่น การใช้คำศัพท์ ยิ่งคุณอ่านมากเท่าไร ในหัวของคุณก็จะมีคลังคำศัพท์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถ้าคุณไม่อ่าน ความสามารถในการเข้าใจคำศัพท์ อย่างภาษาราชการหรือภาษาเขียน ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่าแตกต่างกับภาษาพูดอย่างมาก ความสามารถตรงนี้ก็จะน้อยกว่าคนที่อ่านหนังสือมามาก
การอ่านยังสำคัญต่อการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วยนะ เพราะเวลาที่คุณอ่านก็เหมือนคุณกำลังเข้าไปสำรวจโลกอีกโลกหนึ่งโดยผ่านสายตาคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งดีกว่าการดูหนังหรือเล่นเกมเสียอีก
การอ่านหนังสือก็เหมือนกับเรากำลังเข้าไปศึกษาและสิงอยู่ในความรู้สึก ความคิด และประสบการณ์ของคนอีกคน ภายใต้ตัวละครต่างๆ หรือในสายตาของนักเขียนคนนั้น ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่ประสบการณ์การอ่านสามารถมอบให้ได้ ไม่เหมือนกับกิจกรรมอย่างอื่น
ยิ่งไปกว่านั้น การอ่านมันโคตรสนุกเลยนะ ตอนเด็กๆ เวลาฉันอ่านหนังสือ ฉันจะรู้สึก ว้าว…นี่มันเวทมนตร์หรือเปล่า แค่คำพูดที่ร้อยเรียงกันบนหน้ากระดาษ แต่สามารถสร้างสรรค์โลกใหม่ได้ทั้งใบในหัวของฉัน เราสามารถจินตนาการได้ทุกอย่าง และทุกอย่างก็เป็นไปได้ในหัวของเราด้วย สิ่งนี้แหละ คือความรู้สึกที่ฉันอยากส่งต่อให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้สัมผัสกับมัน
อะไรคือปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้การอ่านสามารถพัฒนาเป็นวัฒนธรรมได้
ในฟินแลนด์เรามีห้องสมุดที่ดี เป็นห้องสมุดสาธารณะ คุณสามารถยืมหนังสือกี่เล่มก็ได้เท่าที่คุณต้องการ ดังนั้นแล้วความสามารถในการเข้าถึงการอ่านจึงไม่ใช่เรื่องของความสามารถทางการเงินในการซื้อหนังสือ แต่แน่นอนว่าการอ่านหนังสือ…คุณต้องมีเวลา
ฉันเคยได้ยินมาว่า โรงเรียนในฟินแลนด์จะมีชื่อวิชาการอ่าน (Reading Lesson) คุณไม่ต้องทำอะไรนอกจากอ่าน อ่านอะไรก็ได้ อ่านสิ่งที่คุณอยาก อ่านสิ่งที่คุณชอบ ซึ่งฉันคิดว่ามันดีมากต่อเด็กๆ เพราะคุณจะมีทั้งเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมต่อการอ่าน สามารถอ่านได้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
การที่ประเทศมีระบบห้องสมุดที่ดี ทุกคนสามารถยืมคืนหนังสือได้ฟรีและสะดวก จะมีผลให้สำนักพิมพ์มียอดขายลดลงไหม
ฉันคิดว่าการที่การมีระบบห้องสมุดที่ดี ไม่ได้ส่งผลในแง่การแข่งขันทางเศรษฐกิจนะ และถ้าตอบในฐานะของนักเขียน มันเป็นขุมทรัพย์ที่เราจะได้อ่านหนังสือแบบฟรีๆ ด้วย ในทางกลับกันมันก็ช่วยสำนักพิมพ์และเหล่านักเขียนได้อีกทางหนึ่ง
เพราะเมื่อไรที่ผู้คนเคยชินกับการอ่านหนังสือ อ่านจนกลายเป็นนิสัย เมื่อนั้นพวกเขาก็อยากจะซื้อมันเก็บเอาไว้ หรือซื้อเป็นของขวัญ มันจึงเป็นเหตุผลว่าเมื่อห้องสมุดถูกนับเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ฉะนั้น ตัวละครในตลาดหนังสือทุกคนต่างก็หนุนเสริมกัน จะพูดยังไงดี คือเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้ไหม (หัวเราะ)
หนังสือที่ควรมีในห้องสมุดควรเป็นแบบไหน เพราะในบางประเทศผู้ใหญ่ก็คิดแทนเด็ก ว่าเด็กๆ ควรอ่านเล่มนั้นเล่มนี้
ในฟินแลนด์ ห้องสมุดแต่ละแห่งออกแบบให้เลือกหนังสือเองได้ และรัฐบาลก็ไม่ได้แนะนำหรือบังคับว่าเล่มไหนที่ห้ามอ่านหรือควรอ่าน โดยเฉพาะห้องสมุดในโรงเรียนควรมีหนังสือที่หลากหลาย ฉันเชื่อว่า แม้แต่เด็กในกลุ่มเดียวกัน พวกเขาก็ชอบอ่านหรือมีประสบการณ์ของตัวเองที่หลากหลาย
ส่วนตัวคิดว่าห้องสมุดควรมีหนังสือที่เป็นภาษาของตัวเอง เพราะคนในประเทศจำเป็นที่จะต้องรู้จัก มีคลังคำศัพท์ หรือร่ำรวยคำในภาษาของตัวเอง
ในฟินแลนด์มีหนังสือ ‘ต้องห้าม’ หรือหนังสือที่รัฐเซ็นเซอร์บ้างไหม
ไม่มีนะ แต่ก็มีหนังสือสองสามเล่มที่โดนเซ็นเซอร์ในช่วงยี่สิบถึงสามสิบปีมานี้บ้างเหมือนกัน แต่ปัจจุบันมันขึ้นอยู่กับสำนักพิมพ์ว่าเขาจะพิมพ์หรือไม่พิมพ์หนังสือตั้งแต่แรกไหม และเมื่อพิมพ์แล้ว ก็ขึ้นกับร้านหนังสือว่าเขาจะให้พื้นที่วางขายเล่มนั้นๆ หรือไม่ แต่มันไม่มีการเซ็นเซอร์จากรัฐบาล หรือไม่มีความเชื่อว่า เรื่องราวแบบไหนที่ไม่ควรถูกเล่าในหนังสือ
แต่แน่นอน มันจะมีเรื่องประมาณว่า เราอาจจะวิจารณ์หรือดูถูกหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ เพราะเขาพูดไม่จริงหรือทำให้เข้าใจผิด แต่ก็เป็นเรื่องแต่ละกรณีๆ ไป
เรามักได้ยินว่าฟินแลนด์มีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรง ถ้าคุณเดินไปตามถนนในฟินแลนด์คุณจะเห็นอะไร
เห็นอะไรนะเหรอ? ก็เห็นคนนั่งก้มหน้าก้มตาอยู่แต่กับสมาร์ทโฟนของเขาน่ะสิ (เราสามคนหัวเราะเสียงดัง)
เขาอาจจะอ่านอะไรสักอย่างในโลกโซเชียลก็ได้นะ?
ไม่ล่ะ พวกเขาเล่นเฟซบุ๊คกันต่างหาก (หัวเราะกันอีกครั้ง) บางครั้งเราก็อาจเห็นคนยืนอ่านหรือนั่งอ่านหนังสือนะ แต่ส่วนใหญ่คือ พวกเขาก้มหน้าเล่นเฟซบุ๊คกัน
ถ้าอยากเห็นวัฒนธรรมการอ่านของที่นี่ ตามท้องถนนเราจะเห็นร้านหนังสือเล็ก ร้านหนังสือใหญ่ ห้องสมุดสาธารณะ และฉันหวังว่าถ้าคุณไปที่บ้านของชาวฟินแลนด์คุณก็จะเห็นชั้นหนังสือที่มีหนังสือเรียงอยู่มากมาย
ถึงแม้ว่าโลกปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม แต่สำหรับฟินแลนด์แล้ววัฒนธรรมการอ่านก็ยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่ดี ตอนนี้เราต้องยอมรับว่า คนอ่านหนังสือกันน้อยลง ‘เรา’ จึงพยายามอย่างยิ่งที่จะให้คนอ่านหนังสือกันมากขึ้น เรามีโครงการที่พยายามชักชวนให้คนอ่าน ชักชวนให้เขารู้สึกสนใจในหนังสือสักเล่ม เพื่อให้พวกเขาอ่านกันมากขึ้น
‘เรา’ หมายถึงใคร
‘เรา’ นี้ประกอบไปด้วยนักเขียน ทุกคนที่ทำงานอยู่ในวงการหนังสือ ทุกคนในวงการสื่อ ครู ผู้ปกครองบางกลุ่ม รวมถึงองค์กรต่างๆ ในฟินแลนด์ที่มีเป้าหมายเพื่อวัฒนธรรมการอ่าน
สำหรับฉันแล้ว งานของฉันไม่ใช่แค่การเขียนอย่างเดียว แต่พยายามที่จะทำให้คนอยากอ่านเพิ่มขึ้น ตอนนี้ฉันก็เลยมีสองเป้าหมายในตอนนี้
และฉันก็หวังว่า ‘เรา’ ในอนาคตข้างหน้าจะรวมไปถึงชาวฟินแลนด์ทุกคน ให้ทุกคนรู้สึกร่วมกันว่าการอ่านมันสำคัญจริงๆ
คุณคิดว่าตอนนี้ฟินแลนด์มีวัฒนธรรมการอ่านที่ดีหรือยัง
ฉันคิดว่าเรา ‘เคยมี’ วัฒนธรรมการอ่านที่ดีนะ ตอนนี้เราก็พยายามอย่างหนักเพื่อที่จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม สำหรับตอนนี้คนส่วนใหญ่ก็อ่านกันมากขึ้น เด็กอ่านกันเยอะขึ้น เรียนรู้ที่จะอ่านกันมากขึ้น ถ้ามองในมุมนั้น แน่นอนมันเป็นเรื่องที่ดี แต่อัตราการอ่านหนังสือก็ยังลดลงอยู่ดี
เพราะเหตุใดอัตราการอ่านจึงลดลง
ตอนนี้เรามีสมาร์ทโฟนในมือกันมากขึ้น เรามีทั้งไอแพด แทบเล็ต การอ่านในฐานะเอนเตอร์เทนจึงถูกทดแทนด้วยการเอนเตอร์เทนอย่างอื่นผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย
พอตกเย็นเราก็มาคิดว่า เอ…ฉันจะอ่านหนังสือหรือนั่งดู Netflix ดีนะ เรามีกิจกรรมอย่างอื่นที่จะทำเพิ่มมากขึ้น เราไม่ได้มีแค่การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมยามว่างอย่างเดียว นั่นแหละ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนปัจจุบันถึงไม่อ่านหนังสือเยอะเหมือนแต่ก่อน
ยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวก็เป็นตัวละครสำคัญสำหรับวัฒนธรรมการอ่านนะ เพราะถ้าพ่อแม่ไม่เห็นว่าการอ่านสำคัญ เด็กก็จะรู้สึกแบบนั้นเช่นเดียวกัน
หมายความว่า เราไม่ได้เกิดมาพร้อมกับนิสัยรักการอ่าน แต่เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนให้ชอบ?
ฉันคิดว่านิสัยรักการอ่าน เป็นอะไรที่คุณต้องฝึกมันอย่างต่อเนื่อง (constantly work on) แต่คิดอีกที…มันอาจจะเคยเป็นแบบนั้นไหม? ในสมัยที่เรายังไม่มีไอแพด ไม่มีเฟซบุ๊ค ไม่มีเทคโนโลยีแก้เบื่อ อย่างเช่น “โอว…วันนี้มันช่างน่าเบื่อจริงๆ นี่หนังสืออะไรเนี่ย เอามาอ่านหน่อยสิ” แต่ตอนนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้น ตอนนี้เราต้องใช้สมาธิอย่างมากในการจดจ่ออยู่กับหนังสือ
แต่ก็ใช่…นิสัยรักที่จะอ่าน ไม่ได้ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด
การอ่านในโซเชียลมีเดีย ถือเป็นวัฒนธรรมการอ่านแบบหนึ่งไหม
ใช่ๆ แน่นอนว่าพวกเขาอ่านนะ ทั้งเรื่องสั้นหรือสเตตัสในเฟซบุ๊ค แต่ปัญหาที่ฉันมักได้ยินจากพวกคุณครูก็คือว่า เด็กเล็กๆ รุ่นใหม่ มักมีปัญหากับการอ่านหนังสือเป็นเล่มๆ เพราะมันยาวมาก และต้องใช้สมาธิไม่น้อยเพื่อจะจดจ่อกับมัน อย่างน้อยเวลาที่คุณพลิกหน้ากระดาษก็ต้องจำได้ว่าเรื่องราวก่อนจะเปลี่ยนหน้ามันคืออะไร
สำหรับวัฒนธรรมการอ่านในโซเชียลมีเดีย สมมุติว่าคุณสนใจอยากจะคลิกเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม มันจะมีสิ่งรบกวนจาก Notification ของแอพฯอื่น จะมีอุปสรรคที่คอยสะกิดเตือนไม่ให้คุณมีสมาธิเพื่อจะอ่านอะไรได้นานๆ
เช่นเดียวกับสิ่งที่เด็กๆ สมัยนี้เรียกร้อง “ทำไมต้องให้เราอ่านอะไรยาวๆ ด้วยล่ะ ทำไมคุณไม่วาดมาเป็นการ์ตูนให้เราอ่านง่ายๆ แทน”
ถ้าพูดถึงการอ่านในฐานะทักษะพื้นฐานการเชื่อมโยงจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง มันจำเป็นมากที่คุณต้องฝึกทักษะการอ่านอะไรยาวๆ ไม่ใช่แค่การอ่านอะไรสั้นๆ เพียงแค่สเตตัสเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ เพราะการอ่านเพียงเท่านี้มันไม่เพียงพอที่จะพาคุณไปทำความเข้าใจหรือเชื่อมโยงตัวเองกับโลก กับคาแรคเตอร์ของคนอื่น หรือเชื่อมต่อเรื่องราวจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง
การอ่านพาเรากลับไปอดีต ตระหนักในปัจจุบัน และเชื่อมโยงเราไปยังอนาคตข้างหน้า การอ่านมันจะให้เซนส์อะไรแบบนี้อยู่ มันเชื่อมคนกับคนให้กลายเป็นยูนิตี้ได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้มันสำคัญสำหรับการเป็นมนุษย์นะ
ถ้าการอ่านเป็นทักษะที่ต้องสร้าง คิดว่าตัวละครหลักอย่างรัฐบาล ควรทำอะไรบ้าง
ในความเห็นของฉันนะ รัฐควรลงทุนกับแคมเปญเกี่ยวกับการอ่าน ลงทุนกับห้องสมุดโรงเรียน ทุกๆ โรงเรียนเลยนะ เพราะมันเป็นแหล่งเดียวที่เด็กๆ ทุกคนจะเข้าถึงหนังสือได้โดยง่าย ซึ่งมันจะย้อนกลับมายังคนเขียนหนังสือด้วย เพราะถ้ามีกลุ่มคนอ่านที่มากและหลากหลาย นักเขียนก็จะอยู่ได้และเกิดหนังสือประเภทใหม่ๆ ขึ้นมา อืม…นั่นล่ะ สุดท้ายมันเป็นเรื่องของการลงทุนก่อน
หน่วยงานรัฐอาจไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่าการลงทุนนี้มันจะงอกเงย แต่ผู้คนพูดและเห็นตรงกันใช่ไหมว่าการอ่านมันสำคัญ ฉะนั้นรัฐก็ต้องลงทุน และฉันค่อนข้างเห็นด้วยว่ามันจะได้กำไรจากการลงทุนนี้แน่นอน เพราะถ้าเด็กรุ่นใหม่เสพติดการอ่านหนังสือ พวกเขาจะฉลาด เขาจะมีปัญญา เขาจะมีงานที่มั่นคง และเขาจะทำเงินได้มาก และเมื่อนั้นเขาจะต้องจับจ่ายซื้อของ (หัวเราะ) รัฐจะได้ประโยชน์กลับไปในที่สุด
PART 3: เส้นทางนักเขียน
คุณเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ 18 ขณะนั้นยังเป็นนักเรียนอยู่ใช่ไหม ช่วยให้เล่าให้ฟังหน่อยว่า เส้นทางการเป็นนักเขียนของเด็กสาวอายุ 18 เป็นอย่างไร
ตอนนั้นฉันยังเรียนอยู่เลย เริ่มงานเขียนด้วยการส่งนิยายแข่งขันงานเขียนประเภท Young Adult Novel ซึ่งผู้ชนะหรือติด 3 อันดับแรกจะได้ตีพิมพ์หนังสือ ฉันเองไม่ได้ชนะในเวทีนั้นหรอก แต่ติดอยู่ในลิสต์ 10 อันดับแรก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนกัน แต่ยังต้องพัฒนาต่อ ทำงานกับมันต่อ เขาให้ฉันกลับไปรีไรท์แล้วส่งกลับไปใหม่อีกครั้ง ซึ่งฉันใช้เวลากับมันอยู่ 3 ปี จนในที่สุด หนังสือเล่มนั้นก็ได้รับการตีพิมพ์ในวันที่ฉันอายุได้ 21 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย
เอาจริงๆ ฉันคิดว่ามันดีมากเลยนะที่หนังสือไม่ได้ออกมาตอนที่ฉันอายุ 18 ปี เพราะตอนนั้นฉันยังเด็กและสับสน โอเคล่ะ แม้ว่าตอนที่หนังสือออกฉันยังอายุ 21 ปี แต่อย่างน้อยตอนนั้นฉันก็ออกมาอยู่คนเดียว รับผิดชอบชีวิตตัวเองแล้ว
เมื่อไรที่คุณรู้ตัวว่า ฉันจะเป็นนักเขียน
ฉันคิดว่าน่าจะมาจากความรู้สึกบางขณะ ตอนที่ฉันอ่านหนังสือ จำได้ว่าตัวเองรู้สึกว่า ‘ทำไมหนังสือเล่มนี้จึงดีขนาดนี้’ มันแค่กระดาษขาวๆ กับตัวอักษรสีดำเองนะ แล้วถ้าฉันทำได้ล่ะ ถ้าฉันเขียนอะไรดีๆ แล้วมีใครบังเอิญได้อ่าน แล้วถ้าเขาเชื่อมโยงตัวเองกับตัวหนังสือ และรู้สึกอย่างที่เรารู้สึกบ้างล่ะ มันคงจะดีมากเลยนะ
นี่เป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาในขณะนั้นเลยใช่ไหม?
Yeah… (ยิ้ม)
ถ้าคุณเริ่มต้นอาชีพตั้งแต่อายุ 18 ปี คำถามคือ การจบปริญญาตรียังจำเป็นไหมในประเทศของคุณ
จะตอบยังไงดี ฉันคิดว่าการศึกษาสำคัญนะ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรวิชาการ ตราบใดที่คุณรู้ว่าตัวเองอยากจะทำอะไร หรืออยากจะศึกษาเฉพาะทาง เช่น อยากทำงานสายวิชาชีพหรืออะไรก็ตาม ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราต้องเข้ามหาวิทยาลัยด้วยล่ะ?
ในฟินแลนด์มีการศึกษาหลายประเภทมาก สายวิชาชีพ ช่างภาพ หรืออะไรก็ตาม ซึ่งนั่นหมายความว่าการศึกษาไม่ควรถูกตีความเพียงแบบเดียว แต่การศึกษาประเภทไหนต่างหากที่ควรถูกพิจารณา
แล้วสำหรับคุณล่ะ การศึกษาคืออะไร
ฉันเรียนภาษาสแกนดิเนเวีย ส่วนใหญ่คือภาษาสวีเดน ใช้เวลาเรียนประมาณ 5 ปี ความสำคัญในการเรียนของฉันก็คือ ฉันใช้มันเป็นอาชีพ เป็นล่ามภาษาสวีเดน แต่ไม่มีใครเดินมาถามฉันหรอก ว่าฉันจบหรือเรียนอะไรมา (หัวเราะ) เพราะในฐานะนักเขียนน่ะ มันไม่จำเป็นหรอก มันอยู่ที่ว่าคุณอ่านอะไร คุณเขียนอะไรต่างหาก
วันที่คุณรู้ตัวว่าได้รางวัล Topelius Prize ประจำปี 2013 ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะนั้นคืออะไร
มันดีมาก เอาจริงๆ ฉันไม่เคยรู้ว่ารางวัลนี้มันคืออะไรมาก่อน ตอนที่พวกเขาโทรหาและบอกว่าฉันชนะ ฉันแบบ…โอเค ขอบคุณมากนะ แล้วก็เสิร์ชกูเกิลว่ารางวัลนี้มันคืออะไร (หัวเราะ) ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยเนี่ย
แน่นอน มันดีมากๆ ที่ได้รางวัล และมีคนมาการันตีความดีงามในสิ่งที่คุณทุ่มเท
ชีวิตก่อนที่จะมาเป็นนักเขียนผู้โด่งดังเป็นอย่างไร
น่าจะคล้ายๆ กับชีวิตนักเขียนฟินแลนด์ส่วนใหญ่ คือเขียนหนังสือ ทำงานอื่น (เป็นล่าม) ไปด้วย ฉันรู้ว่ามีนักอ่านจำนวนหนึ่งที่ติดตาม และส่งกำลังใจมาให้ฉันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่รู้จักฉันหรอกนะ ถ้ามีคนมาถามว่ารู้จัก…ไหม เขาจะตอบว่า “Who? Never heard” หัวเราะ
แต่ตอนนี้ แน่นอนว่ามันแตกต่างมาก ผู้คนจดจำฉันได้ หนังสือได้รับการแปลไปหลายภาษา ได้ไปพบปะแฟนๆ ที่ต่างประเทศด้วย ซึ่งทำให้ฉันได้ไปเที่ยวมากขึ้นด้วย (หัวเราะ)
แต่เอาจริงๆ สำหรับงานเขียน… ทุกอย่างเหมือนเดิม ฉันยังคงเขียนด้วยจำนวนเท่าเดิม พลังเท่าเดิม เวลาเท่าเดิม ทำงานเท่าเดิม ซึ่งมันเป็นสิ่งจำเป็นที่คุณต้องทำด้วยตัวเอง และเพื่อตัวเอง ไม่มีใครจะมาช่วยคุณได้
ความแตกต่างระหว่างการเป็นนักเขียนที่โด่งดัง กับนักเขียนที่พอจะมีคนรู้จักบ้าง คืออะไร
ฉันคิดว่า…(นิ่งคิด) ฉันไม่รู้ว่าความรู้สึกคนอื่นจะเป็นอย่างไรนะ แต่สำหรับฉัน…
มันคือความสงบและอิสระ เพราะตอนนี้ฉันไม่ต้องกังวลว่า ถ้าเขียนแบบนี้แล้วคนจะอ่านหรือสนใจงานของฉันไหม และฉันคิดว่ามันเครียดมากๆ สำหรับนักเขียนที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก
สำหรับฉัน ฉันใช้เวลาพัฒนางานเขียนชิ้นเดิมอยู่ 3 ปี ทุ่มหัวใจลงไปทั้งหมดเพื่อที่จะพบว่า… น้อยคนนักที่จะรู้จักมัน ฉันรู้ว่ามันรู้สึกอย่างไร มันยากขนาดนั้น ฉันเคยอยู่ตรงนั้น ฉันรู้ว่างานมันดีมากเลยนะ เพียงแต่ไม่มีใครได้รู้จักมัน คุณแทบจะหามันไม่เจอบนชั้นหนังสือเลย
คล้ายกับว่า คุณต้องหาสมดุลระหว่างแรงบันดาลใจในการเขียน กับความน้อยใจและความเครียดที่ไม่มีคนอ่านมัน ใจคุณจะถูกเติมเต็มได้อย่างไร ถ้าสุดท้ายพบว่าไม่มีใครอ่านงานของคุณเลย แต่ตอนนี้ฉันไม่ต้องกังวลอะไรแบบนั้น ฉันเป็นอิสระในการเขียน
คุณบอกว่าการเป็นนักเขียนในฟินแลนด์ค่อนข้างยาก ช่วยอธิบายเพิ่มหน่อยได้ไหมว่ายากอย่างไร
เมื่อก่อนชาวฟินแลนด์อ่านหนังสือมากกว่าในปัจจุบัน แต่ตอนนี้ยอดขายหนังสือลดลงค่อนข้างเยอะ มันจึงค่อนข้างยากที่จะหากินจากการเป็นนักเขียนอย่างเดียว
ประชากรฟินแลนด์มีแค่ 5 ล้านคน เป็นประเทศที่เล็กมาก มีคนพูดภาษาฟินนิชได้ไม่มาก ดังนั้นแล้วถ้าคุณเขียนหนังสือเป็นภาษาฟินนิช ถ้าไม่ได้ถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ ก็จะมีคนที่สามารถอ่านได้เพียงแค่กลุ่มเล็กๆ
นักเขียนอยู่ในฟินแลนด์มีค่อนข้างมากนะ แต่พวกเขาก็ทำงานอย่างอื่นด้วย ไม่ได้เป็นแค่นักเขียนอย่างเดียว โชคดีอยู่บ้างที่ระบบสวัสดิการของที่นี่ค่อนข้างดี พอเราเจ็บป่วยก็สามารถใช้สวัสดิการนั้นได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล
พอพูดถึงอาชีพนักเขียน ผู้คนมักจินตนาการว่าเขาจะต้องหมกมุ่นอยู่กับแป้นพิมพ์ ขังตัวเองอยู่กับบ้านและไม่ออกไปไหนเลย คุณเป็นแบบนั้นไหม
(หัวเราะ) มีสองแบบเลย บางครั้งฉันขังตัวอยู่ในบ้าน ไม่อยากจะพูดหรือเจอกับใคร อยากจะอยู่คนเดียวและทำงานของฉัน แต่บางขณะมันก็เหมือนจะเป็นบ้าเลยนะกับการที่ไม่เจอะเจอใครเลย ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ฉันคิดว่าเราก็ต้องมีทั้งสองด้านนะ (หัวเราะ)
คุณเขียนมาทั้งหมดกี่เล่มแล้ว
ฉันเริ่มเขียนนิยายตั้งแต่เด็ก เล่มแรกที่ได้ตีพิมพ์คือตอนฉันอายุ 21 ซึ่งเริ่มเขียนตอนอายุ 18 แต่ก่อนหน้านี้ฉันชอบอ่านหนังสือ ฉันอ่านเยอะมาก (ลากเสียง) มันเป็นความฝันในวัยเด็กตั้งแต่อายุ 9 ขวบเลยว่า ฉันอยากเป็นนักเขียน ถ้ารวมนิยายทั้งหมดที่ฉันเขียนจนถึงชุดไตรภาคนี้ซึ่งเป็นงานล่าสุดของฉัน เบ็ดเสร็จก็ 15 เล่มแล้ว
คุณคิดว่าหนังสือของคุณจะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นบ้างไหม
ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มเดียวจะทำให้โลกนี้ดีขึ้นไหมนะ แต่ถ้าหนังสือของฉันทำให้คนที่อ่านมัน มีชีวิตที่ปลอดโปร่งหรือสว่างไสวขึ้นมาได้ ทั้งหมดนั้นมันมากกว่าคำว่า ‘ดี’
หนังสือจะเกิดใหม่อีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง ทุกๆ ครั้งที่มีคนอ่านมัน และมันจะมีอานุภาพแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนอ่านมัน และกระทำกับคนคนนั้นอย่างไร
ครั้งหนึ่งเคยมีนักอ่านบอกฉันว่า หนังสือของฉันทำให้ชีวิตของเธอดีขึ้นอย่างไร หนังสือเล่มเดียวทำให้เขาเข้ามหาวิทยาลัย เลือกทำตามสิ่งที่ตัวเองฝัน ฉันคิดว่ามันมากกว่าอะไรทั้งหมดจริงๆ
อะไรคือเอกลักษณ์ในงานเขียนของคุณ
ฉันอยากจะพูดถึงความหลากหลาย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นคนที่ตัวเองอยากเป็น รักคนที่เขาอยากรัก แสดงออกซึ่งความต้องการของตัวเองได้ และมันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับการให้เกียรติกัน ทุกคนควรที่จะมีความสุขในแบบที่ตัวเองเป็น
สิ่งที่ชอบที่สุดในการเป็นนักเขียนคืออะไร
คือการได้เขียน เหมือนกับเวลาที่คุณอ่านงานดีๆ สักเล่ม แล้วคล้ายว่าโลกทั้งโลกมันหายไปเลย คุณหลุดเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาที่ฉันเขียนงานเลยนะ เหมือนฉันไม่ได้เขียน แต่ใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องนั้นเลย
มันลื่นไหล ใช่…เป็นความรู้สึกลื่นไหล คุณจมดิ่งไปกับมัน ไม่รู้เวลา ลืมความหิว ซึ่งเป็นความรู้สึกที่วิเศษมาก