“ถ้าคุณไปดูตู้แช่เครื่องดื่มในประเทศญี่ปุ่น จะเห็นว่า 90 เปอร์เซ็นต์คือเครื่องดื่มที่ไม่หวาน เครื่องดื่มที่มีรสหวานมีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยมาก ขณะที่ตู้แช่เครื่องดื่มในบ้านเรา 90 เปอร์เซ็นต์คือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน แม้กระทั่งชาเขียว หวานระดับ 14 ช้อนชาด้วยซ้ำ หวานเกินความจำเป็นเยอะมาก”
ณัฐกร อุเทนสุต ในฐานะผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เกริ่นถึงภาพรวมของเครื่องดื่มก่อนที่จะมีมาตรการเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม แต่หลังจากมีมาตรการเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ในระยะสั้น
“หลังจากมาตรการออกไปตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 มาจนถึงวันนี้ปี 2563 เราเห็นการลดลงของเครื่องดื่มจาก 90 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เราเห็นผลิตภัณฑ์ที่ ‘no sugar’ ‘sugar free’ ‘light’ หรือประเภทที่มีความหวานน้อย แม้กระทั่งชา low sugar มากขึ้น”
ปีแรกที่ใช้มาตรการเก็บภาษีน้ำตาล ณัฐกรระบุว่า “เราเก็บภาษีน้ำตาลได้ประมาณ 2,900 ล้านบาท ปีต่อเก็บได้ 2,400 ล้านบาท”
จำนวนเงินภาษีน้ำตาลที่กรมสรรพสามิตรเก็บได้น้อยลง สะท้อนถึงการปรับตัวของผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ลดระดับความหวานลงจนได้ฉลาก healthier logo มากขึ้น แม้กระทั่งน้ำอัดลมทั้งหลายลดน้ำตาลลงจาก 14 กรัม เหลือ 12-10 กรัม”
ปริมาณน้ำตาลต่ำกว่า 6 กรัม ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ไม่ได้มีกระทบต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs จะได้รับฉลาก healthier logo กำกับ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นหลังมีการจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม
ในมุมมองของผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี การใช้มาตรการภาษีเพื่อปรับพฤติกรรมการกินเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา “เพราะฉะนั้น นี่คือตัวอย่างที่ดีว่ามาตรการภาษีไม่ใช่คำตอบเดียว ต้องมีทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษีควบคู่กัน”
ณัฐกรอธิบายว่า รายได้ของผู้บริโภคสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภค ดังนั้น ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย “จะเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการลดการจ่ายเงินออกจากกระเป๋า สำหรับคนที่มีรายได้มากพอสมควร มาตรการให้ความรู้จะเป็นสิ่งสำคัญกว่า คนจะพยายามหาสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้นไม่มี one policy fit all ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการจะสื่อสารกับใคร แล้วคุณจะใช้มาตรการอะไร ต้องควบคู่กันตลอด ไม่ใช่มาตรการอันใดอันหนึ่ง”
ดังนั้น นอกจากมาตรการภาษี เขามองว่า ต้องดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีควบคู่กันไปอย่างเข้มข้น สร้างวัฒนธรรมการกินที่ควบคู่ไปกับการรักษาสุขภาพ
“ผู้ผลิตต้องพยายามผลิตสินค้าเหล่านี้ขึ้นมาให้เกิดทางเลือกให้กับผู้บริโภค นี่เป็นที่มาที่ไปของภาษีน้ำตาล ซึ่งถ้าถามเรื่องโซเดียม มันจะกลับกัน เพราะว่าน้ำตาลมีน้ำตาลเทียม หรือหญ้าหวานทดแทนได้”
การจัดเก็บภาษีโซเดียมจะยุ่งยากและซับซ้อนกว่าภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่ม สาเหตุหนึ่งคือน้ำตาลมีสารทดแทนความหวาน แต่เกลือไม่มี และอีกคุณสมบัติหนึ่งของเกลือคือการถนอมอาหาร นั่นอาจทำให้ในโลกนี้มีประเทศอยู่ไม่กี่ประเทศที่ใช้มาตรการจัดเก็บภาษีโซเดียม
“โซเดียมไม่ได้มีไว้สำหรับปรุงรสชาติอย่างเดียว บางประเทศยังใช้เกลือถนอมอาหาร ซึ่งถ้าคุณไปเก็บภาษีอาหารในวัฒนธรรมที่เขาใช้เกลือเยอะมาก อย่างสเปน เขาทาเกลือพอกพาม่าแฮมตากลมไว้เพื่อถนอมอาหาร เค็มปี๋เลย ถ้ามีมาตรการเก็บภาษีอาหารประเภทนี้ก็จะกระทบวัฒนธรรมของเขา
“ประเทศหลายประเทศที่ใช้โซเดียมเป็นการถนอมอาหาร ผมเชื่อว่าหลายประเทศยังมีปัญหา เพราะน้ำตาลสามารถหาสิ่งอื่นทดแทนความหวานได้ แต่โซเดียมอะไรก็แทนไม่ได้ ก็เลยไม่ค่อยมีต่างประเทศทำ ในภูมิภาคเอเชีย ไทยจะเป็นประเทศแรก ญี่ปุ่นยังไม่เก็บ จีนก็ยังไม่เก็บ”
วัฒนธรรมการใช้ชีวิตร่วมสมัยก็ทำให้โซเดียมอยู่รอบตัวเรา หากคุณ “ไม่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่พอไปกินสตรีทฟู้ด ก็เจอโซเดียมเหมือนกัน หรือถ้าทำอาหารที่บ้าน แต่ไม่มีเวลามากพอที่จะเคี่ยวกระดูก ผมก็ใส่รสดี ก็เจอโซเดียมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่าเราเปลี่ยนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างเดียว หรือของขบเคี้ยวอย่างเดียว มันต้องไปเปลี่ยนทั้ง chain แต่วัฒนธรรมการกินของเราก็เปลี่ยนไปมาก กลับมาถึงบ้านก็มืดค่ำแล้ว เหนื่อยเกินกว่าจะมาประกอบอาหารกินเอง
“ถ้าไม่สามารถทำอาหารกินเองที่บ้านได้ แต่ต้องมีสิทธิเลือก ร้านนี้มีโลโก้ healthier logo เขาไม่ใส่ผงชูรสนะ ปรุงรสชาติที่เป็นธรรมชาตินะ เราต้องสนับสนุนและตีตราให้เขา เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก ผู้ผลิตมีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยน ก็ต้องทำไปด้วยควบคู่กัน”
ถามผู้อำนวยการสำนักแผนภาษีถึงการดำเนินการจัดเก็บภาษีโซเดียม ซึ่งจะเกิดในอนาคตอันใกล้
“โซเดียมสูง…เก็บมาก โซเดียมต่ำ…เก็บน้อย อัตราการเก็บต้องขยับไปเรื่อยๆ เพื่อเร่งให้ผู้ผลิตปรับสูตร แต่ว่าก็ต้องอย่าให้ไปกระทบเยอะมาก ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต เวลาที่สินค้าราคาสูงขึ้นทีละนิด เราหวังให้คนเกิดคำถาม คำถามว่าสินค้าขึ้นเพราะภาษีโซเดียม ทำไมต้องขึ้น โซเดียมมันทำงานยังไงกับร่างกาย ให้คนเขาตระหนักไปเรื่อยๆ คนที่มีรายได้น้อยก็จะเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม เขาก็จะไปหาอะไรที่มันโซเดียมน้อย โซเดียมต่ำ เราต้องการให้ลดโซเดียม 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรสชาติอูมามิยังอยู่เหมือนเดิม”
สนับสนุนโดย
มสช. ได้รับเงินสนับสนุนจาก CCS-NCD