อุดช่องโหว่กฎหมายเพื่อสุขภาพคนวัยทำงาน ปิดโอกาสการสูญเสียจากโรค NCDs

ในแต่ละปี ทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases: NCDs) เป็นจำนวนกว่า 41 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 71 ของสาเหตุการตายทั้งหมด โดยกลุ่มวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 30-69 ปี คือกลุ่มที่มีสัดส่วนการตายจากโรค NCDs สูงสุด คิดเป็นจำนวนมากกว่า 15 ล้านรายต่อปี

สำหรับประเทศไทย ข้อมูล ‘การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557’ ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) แสดงให้เห็นว่า แต่ละปีจะมีประชากรไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs เพิ่มขึ้น 8,687.5 คน และแม้ไทยจะมีเป้าหมายลดอัตราการตายในประชากรที่มีอายุระหว่าง 30-70 ปี ให้ต่ำกว่า 257.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ภายในปี 2568 แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏกลับไม่ได้ลดลงแม้แต่น้อย โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 343.1 คนต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2552 เป็น 355.30 คนต่อประชากร 100,000 คน ในปี 2556

หากพิจารณาลึกลงไปอีก ข้อมูลจาก ‘รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2557’ ของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ได้แบ่งประชากรไทยวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) เป็น 2 กลุ่มช่วงอายุ คือ 15-29 ปี และ 30-59 ปี ซึ่งแสดงชัดเจนว่า หนึ่งในสาเหตุ 3 อันดับแรกของความสูญเสียปีสุขภาวะ[1] ของผู้ชายในช่วงอายุ 15-29 ปี คือ การเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ส่วนกลุ่มผู้ชายในช่วงอายุ 30-59 ปี พบว่า ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ เป็นสาเหตุ 1 ใน 3 อันดับแรกของความสูญเสียปีสุขภาวะ ซึ่งเข้ามาแทนที่การเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (2 สาเหตุที่ยังคงเดิมคือ อุบัติเหตุทางถนน และการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์) อาจวิเคราะห์จากข้อมูลนี้ได้ว่า ผู้ชายวัยทำงานก่อนอายุ 30 ปี มีพฤติกรรมเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองในช่วงหลังอายุ 30 ปี

กรณีของผู้หญิงในช่วงอายุ 15-29 ปี แม้สาเหตุ 3 อันดับแรกของความสูญเสียปีสุขภาวะ ยังคงไม่ปรากฏโรค NCDs แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 30-59 ปี ก็จะปรากฏโรค NCDs ถึง 2 ใน 3 อันดับแรกด้วยกัน คือ โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือด อาจสันนิษฐานได้ว่า ผู้หญิงวัยทำงานมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs สะสมมาตั้งแต่ช่วงวัยทำงานในระยะแรก จนมาก่อตัวเป็นโรคชัดเจนในช่วงท้ายวัยทำงานในที่สุด

เมื่อพิจารณาต่อไปถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรค NCDs ใน ‘รายงานสถานการณ์โรค NCDs วิกฤตสุขภาพ วิกฤตสังคม’ ของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ พบว่า ในปี 2552 ต้นทุนที่เกิดจากโรค NCDs มีมูลค่าทั้งสิ้น 198,512 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการตายจากโรค NCDs ต่อประชากร 100,000 คน ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ดังที่กล่าวไปแล้ว อนุมานได้ว่าต้นทุนที่เกิดจากโรค NCDs มีอัตราดีดสูงขึ้น

เมื่อสถิติชี้ให้เห็นว่าโรค NCDs มักสะสมและเผยตัวในวัยทำงาน นั่นหมายความว่า วิถีชีวิต พฤติกรรม และสภาพแวดล้อมของคนวัยทำงาน เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ต้องให้ความสนใจ 

ในแง่นี้ สถานประกอบการในฐานะที่เป็นสถานที่ซึ่งลูกจ้างโดยทั่วไปใช้เวลาคลุกคลีอยู่ด้วยนานที่สุดแห่งหนึ่ง จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยลดอัตราความเสี่ยง อัตราการป่วย และอัตราการตายจากโรค NCDs เพราะแม้กฎหมายแรงงานปัจจุบันจะคุ้มครองลูกจ้างผ่านการกำหนดกรอบลักษณะและเวลาการทำงาน กำหนดค่าตอบแทน ตลอดจนคุ้มครองสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานไว้แล้ว แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ

รูรั่วในกฎหมายแรงงาน

ข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นคือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การอุดช่องว่างความเสี่ยงต่อโรค NCDs ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะฝั่งเอกชน ทั้งลูกจ้างและนายจ้างยังมองข้ามความเสี่ยงและต้นทุนจำนวนมหาศาลที่เกิดจากโรค NCDs อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า ภาครัฐยังคงไม่สามารถสร้างแรงจูงใจและขาดมาตรการทางกฎหมายที่จะควบคุมความเสี่ยงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากโรค NCDs ให้ลดลงได้ เช่น แม้กฎหมายแรงงานจะมีการกำหนดมาตฐานการป้องกันไว้ แต่ก็ยังไม่มีบทบัญญัติชัดเจนนัก อีกทั้งมาตฐานการป้องกันกลับบรรจุอยู่ในกฎหมายฉบับอื่นมากกว่า

หลักฐานที่ยืนยันข้อสังเกตเกี่ยวกับภาครัฐนี้ ปรากฏในรายงาน ‘ช่องว่างและโอกาสของกฎหมายคุ้มครองแรงงานในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อสำหรับคนงานในสถานประกอบการของประเทศไทย’ (2561) จัดทำโดย กมลพัฒน์ มากแจ้ง และ ดร.ภญ.ธนพันธ์ สุขสอาด สนับสนุนโดย สำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ 

ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 ด้าน 

  1. การจัดการสภาพแวดล้อมทางกายภาพ 

แม้กฎหมายแรงงานปัจจุบันจะเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อคนงานเป็นสำคัญ ทั้งความปลอดภัยทางแสงสว่าง เสียง ความร้อน และสารเคมี แต่ก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันโรค NCDs โดยเฉพาะเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การส่งเสริมสุขภาพ เช่น การมีสถานที่ออกกำลังกาย การสร้างสภาพแวดล้อมทางอาหารที่เหมาะสม สถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และสถานที่สำหรับการให้นมบุตร

  1. การส่งเสริมสุขภาพคนงานเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงโรค

สำหรับด้านนี้จะพบช่องว่างว่า กฎหมายแรงงานยังไม่มีบทบัญญัติชัดเจนนัก แต่มีการบัญญัติไว้                 ในกฎหมายอื่นๆ เช่น พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้สถานประกอบการเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ทั้งหมด และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายเรื่องการเฝ้าระวังการห้ามสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบการ ซึ่งกำหนดให้โรงงานเป็นสถานที่ห้ามจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่มาตฐานดังกล่าวก็ยังขาดกฎหมายที่มีสภาพบังคับในการส่งเสริมสุขภาพด้านโภชนาการอาหาร กิจกรรมทางกาย และสุขภาพจิตที่ดีในสถานประกอบการ เพราะกฎหมายยังมีเป็นลักษณะเป็นเพียงแนวปฏิบัติ ซึ่งผู้ประกอบการเลือกที่จะนำไปใช้หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ความสมัครใจ 

  1. การคัดกรองและป้องกันโรค

ปัจจุบันกฎหมายยังมีการคุ้มครองเฉพาะการตรวจสุขภาพคนงานอันมีเหตุมาจากการทำงาน แต่ยังขาดความครอบคลุมคนงานประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากคนงานที่ทำงานในสภาวะที่อาจได้รับอันตรายจากความร้อน แสงสว่าง เสียง หรือสารเคมี จุลชีวันเป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา สารชีวภาพอื่นๆ และสารกัมมันตรังสี 

นอกจากนั้น กฎหมายยังขาดแนวปฏิบัติในการส่งเสริมสุขภาพที่ชัดเจนสำหรับคนงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมสิทธิของคนงานในการลาหยุดงานเพื่อการตรวจสุขภาพและการคัดกรองโรค NCDs ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมเพียงสิทธิการลากรณีเจ็บป่วยเท่านั้น 

  1. การบำบัดรักษาโรคไม่ติดต่อสำหรับคนงาน

แม้ภาพรวมของกฎหมายแรงงานในการบำบัดรักษาโรคไม่ติดต่อสำหรับคนงานค่อนข้างมีความครอบคลุมมิติของกลุ่มโรค NCDs แต่ก็ยังมีช่องว่างเช่นเดียวกับการคัดกรองและป้องกันโรค กล่าวคือ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานยังจำกัดเฉพาะคนงานที่ทำงานในสภาวะที่อาจได้รับอันตรายจากความร้อน แสงสว่าง หรือเสียง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากสารเคมี จุลชีวันเป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา สารชีวภาพอื่นๆ และสารกัมมันตรังสี เท่านั้น

การมีช่องว่างนี้ แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสที่จะพัฒนากฎหมายในการป้องกันโรคไม่ติดต่อสำหรับคนงานในสถานประกอบการของประเทศไทย เพราะกฎหมายแรงงานได้สร้างเครื่องมือทางสาธารณสุขที่สำคัญไว้ในสถานประกอบการ ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่รัฐจะนำเครื่องมือในการกำหนดมาตรการในการพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพและกำกับดูแลสุขภาพของคนงานให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กำหนดให้มีบุคลากรทางสาธารณสุขประจำการในสถานประกอบการที่มีคนงานมากกว่า 200 คน และการกำหนดให้คนงานที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยง เช่น สารเคมี สารชีวภาพ สารกัมมันตรังสี ต้องมีสมุดบันทึกสุขภาพของตนเอง 

แน่นอน กฎหมายไม่ใช่ยาวิเศษที่เมื่อปรับปรุงแก้ไขแล้ว ปัญหาจะหายไปทันที แต่การแก้ปัญหาให้ได้อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีมาตรการในระยะยาวด้วย 

ข้อสรุปจากเวทีประชุมวิชาการ เรื่อง ‘การพัฒนานโยบายในสถานที่ทำงาน (workplace policy) เพื่อบูรณาการจัดการโรคไม่ติดต่อและการสร้างเสริมสุขภาพ’ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และเครือข่าย มีข้อเสนอแนะให้กระทรวงแรงงานควรปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้ครอบคลุมการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพคนงาน ทั้งสภาพแวดล้อมทางโภชนาการ และเอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย รวมทั้งบังคับใช้บทบัญญัติว่าด้วยการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในสถานประกอบการอย่างเข้มงวด 

นอกจากนี้ เสนอให้มีการกำหนดมาตรการสนับสนุนให้แรงงานตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคตามช่วงอายุที่กำหนด และกำหนดมาตรการเพื่อติดตาม เฝ้าระวัง และให้คำปรึกษา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้น ขยายสิทธิในการลาคลอดของคนงานหญิงให้ครอบคลุมตามมาตรฐานของสากล คือ 6 เดือน ถึง 2 ปี และสนับสนุนการจัดสถานที่ในสถานประกอบการเพื่อการให้นมแม่แก่ลูก รวมทั้งกำหนดแนวปฏิบัติของบุคลากรสาธารณสุขที่ประจำในสถานประกอบการให้ส่งเสริมสุขภาพคนงานเชิงรุก และติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่ออย่างชัดเจน

เชิงอรรถ

[1] ‘ปีสุขภาวะที่สูญเสีย’ (Disability-Adjusted Life Year: DALY) เป็นดัชนีวัดสถานะสุขภาพของประชากรแบบองค์รวม ประกอบด้วย ปีสุขภาวะที่สูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควร (Year of Life Lost: YL) กับปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากการมีชีวิตอยู่ด้วยความบกพร่องทางสุขภาพ (Year of Life Lost due to Disability: YLD)

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า