อุบัติการณ์ ‘โรคอ้วน’ บนความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมอาหาร

ผู้คนในโลกสมัยใหม่ต่างมีทัศนะตรงกันว่า การมีรูปร่างสมส่วนคือความงาม สุขภาพดี บุคลิกภาพดี น่าคบหา น่าอยู่ใกล้ สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมความงาม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารคลีน ฟิตเนส ชุมชนคนรักสุขภาพในโซเชียลมีเดีย รวมถึงทุกคำแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การดูแลสุขภาพโดยการควบคุมน้ำหนัก คือหนทางแห่งการมีสุขภาพดี ไกลจากโรค ไกลจากโรงพยาบาล

แม้เทรนด์โลกจะเป็นเช่นนั้น แต่รายงานจากวารสารการแพทย์ the New England Journal of Medicine ตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2017 ศึกษาเรื่องดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ของประชากร 195 ประเทศ ตั้งแต่ปี 1980-2015 กลับบ่งชี้ว่า ขณะนี้ประชากรโลกกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก เข้าข่ายน้ำหนักเกิน (Overweight) และเป็นโรคอ้วน (Obesity)

ในจำนวนผู้ที่ถูกระบุเป็นโรคอ้วน เป็นเด็กกว่า 107 ล้านคน เป็นผู้ใหญ่ 603 ล้านคน เฉพาะตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวน 4 ล้านคน ในปี 2015 พบว่า มีค่า BMI เกิน 25 และกว่า 2 ใน 3 ของคนเหล่านี้เสียชีวิตเพราะโรคเกี่ยวกับหัวใจ

BMI (kg/m2) อยู่ในเกณฑ์ ภาวะเสี่ยงต่อโรค
น้อยกว่า 18.50 น้ำหนักน้อย / ผอม มากกว่าคนปกติ
ระหว่าง 18.50 – 22.90 ปกติ (สุขภาพดี) เท่าคนปกติ
ระหว่าง 23 – 24.90 ท้วม / โรคอ้วนระดับ 1 อันตรายระดับ 1
ระหว่าง 25 – 29.90 อ้วน / โรคอ้วนระดับ 2 อันตรายระดับ 2
ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สามารถคำนวณได้โดยใช้น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง (หน่วยเป็นเมตร)
หรือ BMI = น้ำหนักตัว (กก.) / ส่วนสูง (ม.2)

 

รายงานข้างต้นคือข้อมูลที่ พ.อ.ผศ.ราม รังสินธุ์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ทหารและชุมชน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ปูภาพให้เห็นก่อนจะเข้าสู่ปัญหา ‘โรคอ้วน’ ในไทย ในฐานะผู้ศึกษาเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นซีเรียสที่ พ.อ.ผศ.ราม อยากให้เข้าใจตรงกันคือ ความอ้วนไม่ใช่แค่การกินมากและขยับน้อย ปัญหาของความอ้วนไม่ได้มีแค่รูปร่างไม่สวยงาม แต่โรคอ้วนคือสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ หรือที่เรียกว่า NCDs (Non-Communicable diseases) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคอ้วนลงพุง และโรคอัมพฤกษ์-อัมพาต ซึ่งเขาชี้ว่า หากไม่เริ่มแก้ขณะที่ประเทศกำลังอยู่ในช่วง transitional zone หรือการเปลี่ยนแปลงที่ยังพอ ‘จัดการได้’ อาจมีแนวโน้มว่าเราจะมีประชากรที่ ‘ป่วยไข้’ และเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs สูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์

“สมัยก่อนเรากลัวโรคระบาดหรือการติดเชื้อต่างๆ แต่สาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของคนยุคปัจจุบันไม่ใช่เรื่องการติดเชื้อแล้ว แต่มาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ โดยมีต้นตอจากโรคอ้วน หรือแม้แต่หลายๆ โรคที่เราไม่เคยสนใจมาก่อนก็มีสาเหตุหลักจากความอ้วน” พ.อ.ผศ.ราม กล่าว

หากจะเข้าใจองค์รวมของปัญหาทั้งหมดนั้น พ.อ.ผศ.ราม ฉายภาพตั้งแต่สถานการณ์ความอ้วนในประเทศเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน การเปลี่ยนแปลงของเมืองและชนบทที่มีผลต่อความอ้วนของประชากรไทย ไปจนถึงวิธีแก้ที่ต้องกลับไปทำทบทวนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารและการแก้ปัญหาระดับนโยบาย เพื่อปรับเปลี่ยนความรับรู้ใหม่ว่า…

ความอ้วนไม่ใช่แค่การกินตามใจปาก แต่คือความซับซ้อนตั้งแต่ระดับพันธุกรรมจนถึงจักรวาลอุตสาหกรรมอาหาร

 

สถานการณ์โรคอ้วนในไทย

‘transitional zone’ คือคำที่ พ.อ.ผศ.ราม ใช้ขมวดสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย ความหมายคือเรากำลังอยู่ในวิกฤติที่คนกินไม่ดี-อยู่ไม่ดี ด้วยสาเหตุหลากประการตั้งแต่การเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ยาก เพราะอุตสาหกรรมอาหารเป็นตัวกำหนดวิถีการบริโภค ไม่เปิดทางให้เลือกมากนัก ผู้คนจึงหันไปหาอาหารถุงหรืออาหารสำเร็จรูป เพราะหาซื้อง่าย ราคาถูก และสะดวกต่อการดำเนินชีวิต และถ้าไม่แก้ในจุด transitional zone นี้ ต่อไปลำบากแน่

หากจะมองให้เห็นภาพว่า transitional zone ร้ายแรงอย่างไร พ.อ.ผศ.ราม อธิบายผ่านงานวิจัยในประเทศและจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาให้ฟัง ดังนี้

 

  • คนไทยอ้วนติดอันดับ 2 ในอาเซียน

ที่มา: WHO Non-Communicable Diseases Country Profiles, 2011
ความชุกของภาวะอ้วน (BMI ≥ 25) ในประชากรไทยอายุ 18-59 ปี ตั้งแต่ปี 2534-2558 (ข้อมูลโดย ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร)

 

อุบัติการณ์ความอ้วนกำลังเป็นปัญหาที่ขยายวงมากขึ้น พ.อ.ผศ.ราม ยกงานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2011 ที่มีการสำรวจสถานการณ์ความอ้วนในประเทศไทยเทียบเคียงกับประชากรเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน พบว่า ประชากรในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ย BMI ≥ 25 อยู่ที่ 32.2 เปอร์เซ็นต์ สูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน

นอกจากนี้ พ.อ.ผศ.ราม ยังได้หยิบยกข้อมูลจากงานวิจัยของ ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศึกษาแนวโน้มความชุกของภาวะอ้วน (BMI ≥ 25) ในประชากรไทยตั้งแต่ปี 2534-2558 พบตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“งานวิจัยต่างประเทศบอกว่า ประชากรส่วนใหญ่มีภาวะอ้วนที่ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ของเราขึ้นมาถึง 32.2 เปอร์เซ็นต์ และจากการสำรวจของอาจารย์วิชัยพบว่า ภาวะอ้วนในประเทศมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 10-20 ปีให้หลังนี้เอง” พ.อ.ผศ.ราม กล่าว

 

  • ทหารเกณฑ์น้ำหนักเกิน

หนึ่งในภารกิจของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าคือ การให้บริการทางการแพทย์แก่ทหารและครอบครัว และจากการติดตามสถิติการคัดเลือกชายไทยในวัยเกณฑ์ทหาร ทำให้ พ.อ.ผศ.ราม มองเห็นตัวเลขค่า BMI ของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ว่ามีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง โดยพบว่าบุคคลที่น้ำหนักเกินมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น และมีภาวะอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) กันมากขึ้น หรือกระทั่งบางรายที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเข้ามาแล้วก็มีความเสี่ยงต่อโรคลมแดด (Heatstroke)

“จากสถิติการเกณฑ์ทหารที่ผ่านมาทำให้เรามีข้อมูลด้านสุขภาพประชากร น้องๆ ทหารก็คือตัวแทนเยาวชนชายอายุ 21 ปี ซึ่งตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกระบุไว้ว่าถ้าใครมี BMI เกิน 35 จะไม่รับ เพราะอาจมีผลกระทบระหว่างการฝึก โดยเฉพาะโรคลมแดด หรือ heatstroke ที่มักเป็นกันมาก”

 

  • ภาวะโภชนาการของคนชนบท

หลายคนเข้าใจว่า คนต่างจังหวัดหรือชนบทคือกลุ่มที่ห่างไกลความเสี่ยงจากภาวะโรคอ้วน เพราะมีวิถีชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติและบริโภคผักปลาเป็นส่วนใหญ่ ทว่าข้อค้นพบจากงานวิจัยของ พ.อ.ผศ.ราม เรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2553-2558 จากจำนวนอาสาสมัครทั้งหมด 367,982 ราย กลับไม่ได้ให้ผลเช่นนั้น กลายเป็นว่าชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลจากเมือง กลับเป็นโรคอ้วน เบาหวาน และความดันกันมากขึ้น

ร้อยละของผู้ป่วยเบาหวานและความดันที่มี BMI > 30

 

“เรามักเข้าใจว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทหรือคนในภาคการเกษตรจะมีสุขภาพแข็งแรง เพราะต้องทำงานที่ใช้กำลังเยอะ ซึ่งบางส่วนก็อาจจะใช่ แต่โดยรวมเราพบว่า คนจนกลับยิ่งเป็นโรคอ้วนมากขึ้น หรือมีอัตราการเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตกมากกว่าคนรวย ซึ่งเป็นภาพที่กลับกัน ถ้าเราย้อนกลับไปตอนที่บ้านเมืองยังไม่พัฒนา คนยากจนส่วนใหญ่จะผอมเพราะไม่มีจะกิน แต่ถึงจุดหนึ่งที่ประเทศพัฒนาไปสู่ความเจริญแล้ว คนจนกลับเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคอ้วน ส่วนคนรวยจะมีความรู้ รู้จักดูแลสุขภาพ เข้าถึงอาหารทางเลือกได้มากกว่า

“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น ในสหรัฐฯ คนจนคือคนที่ต้องกินอาหารฟาสต์ฟู้ด เพราะผักผลไม้มีราคาแพง คนจนไม่มีโอกาสเข้าถึง แต่คนรวยมีโอกาสเข้าถึงมากกว่า

“โรงพยาบาลพระมงกุฎทำงานในชุมชนเยอะ ลงพื้นที่ศึกษาตั้งแต่ 2545 เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมค่อนข้างชัด โดยเฉพาะในหมู่บ้านชนบทที่อยู่ห่างไกล เราพบว่าคนเริ่มมีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน ความดัน อ้วนลงพุง ในอัตราส่วนที่เพิ่มมากขึ้น”

คำอธิบายจากข้อคนพบนี้ พ.อ.ผศ.ราม ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะเมืองเปลี่ยน เกษตรกรมีเครื่องจักร เครื่องทุ่นแรง ไม่ต้องใช้แรงงานหนักเหมือนในอดีต อีกทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปพร้อมกับรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลง ประกอบกับความสะดวกสบาย คนจำนวนหนึ่งจึงนิยมซื้ออาหารถุง อาหารสำเร็จรูปที่เต็มไปด้วยแป้ง น้ำตาล และเกลือ แม้ว่าชุมชนแห่งนั้นจะอยู่ห่างไกลจากเมืองขนาดไหน อาหารสำเร็จรูปเหล่านี้ยังถูกส่งถึงมือคนทุกพื้นที่

 

จักรวาลอุตสาหกรรมอาหาร

 

  • รสชาติที่ชอบ อาหารที่ใช่ ไม่ใช่ความอร่อยที่บังเอิญ

ในฐานะแพทย์ที่ทำงานกับผู้ป่วยโรคความดันและเบาหวาน เขายืนยันชัดว่าการควบคุมเบาหวานหรือความดันในคนไข้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แม้เข้าใจดีถึงอุปสรรคในการควบคุมโรคที่ยากลำบาก เพราะวิถีการกินอยู่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิต แต่สิ่งที่ พ.อ.ผศ.ราม ต้องการชี้ให้เห็นเป้าหมายที่ใหญ่และไกลกว่านั้นคือ การต่อสู้กับจักรวาลของอุตสาหกรรมอาหารและกลไกตลาดอาหารสำเร็จรูป ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงปัจเจก

“ความอร่อยเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อให้เรามีความต้องการอยากกิน อยากได้รับรสชาตินั้นอย่างเป็นระบบ เขาปลูกฝังให้คนกินของแบบนี้ ติดรสชาติแบบนี้ ถ้าให้เด็กรุ่นใหม่เลือก เด็กก็จะเลือกไส้กรอก แฮมเบอร์เกอร์ เพราะถูกฝึกให้ชอบอาหารเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก เช่น โฆษณาพิซซ่าที่เห็นชีสยืดๆ หรือกินมันฝรั่งทอดกรอบแล้วมีเสียงดัง ‘แคร๊บ’

“ระบบอุตสาหกรรมอาหารไม่ได้จบแค่เรื่องอร่อย ไม่อร่อย ถูกหรือแพง แต่ยังมีความซับซ้อนในเชิงธุรกิจ ทำอย่างไรให้เกิดการบริโภคสูงสุด ถามว่าทำไมผู้บริโภคจึงไม่รู้จักเลือก ก็เพราะเขาเลือกไม่ได้ เพราะความรู้สึกอยากกินของแบบนั้นถูกสร้างตั้งแต่เด็ก เวลาเข้าไปในร้านสะดวกซื้อแล้วอยากกินอาหารอย่างรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นจากกลไกธรรมชาติ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหล่านี้ถูกทดลองจากห้องปฏิบัติการมาแล้วทั้งสิ้น ว่ารสชาติแบบนี้จะทำให้คนรู้สึกอยากบริโภคมากขึ้น

“เกลือ ไขมัน น้ำตาล สามสิ่งนี้ถูกนำมาวิจัยใน mass product นำไปผสมกับอาหารต่างๆ เพื่อทำให้คนติดใจรสชาติ จะเห็นว่ามันฝรั่งที่เราทอดเองที่บ้าน เป็นคนละเรื่องกับมันฝรั่งที่ขายในร้านฟาสต์ฟู้ด เวลาที่เราหยิบขึ้นมาแล้วกิน ไม่ได้บังเอิญอร่อย แต่เป็นรสชาติที่มาจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ” พ.อ.ผศ.ราม อธิบาย

หากถามว่าจุดเริ่มต้นของการบังคับให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด พ.อ.ผศ.ราม ให้ความเห็นว่า น่าจะเริ่มต้นในช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่อาหารถูกนำมาบรรจุหีบห่อและส่งออกไปยังผู้บริโภค สอดคล้องกับดัชนีความอ้วนของคนไทยและคนทั่วโลกที่เส้นกราฟเริ่มดีดตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคนั้น

ทั้งหมดนี้ตอบคำถามว่า ทำไมการบอกให้คน ‘หยุดกิน’ จึงเป็นข้อแนะนำในการลดความอ้วนที่ยากที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคซับซ้อนลงลึกไปถึงความหิวในทางจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์สมอง

 

  • ฝ่าวิกฤติ ‘transitional zone’

ทางออกของโรคอ้วน ไม่ใช่การบอกให้ ‘หยุดกิน’ เพราะใช่ว่าคนไข้ทุกรายจะสามารถทำตามคำสั่งหมออย่างเคร่งครัดได้ การประคองสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันจึงเป็นหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุขที่ต้องทำต่อไป แต่ในสายตาคนทำงาน พ.อ.ผศ.ราม บอกว่าต้องเริ่มแก้ที่กฎหมาย โดยยกตัวอย่างเช่น

  • Media Restrictions: กำหนดอายุของเด็กเพื่อห้ามเข้าถึงโฆษณาอาหาร
  • Parental Education: ทำความเข้าใจกับพ่อแม่เรื่องโภชนาการ เพื่อฝึกให้เด็กกินอาหารเหมาะสมกับพัฒนาการ
  • Labelling: ติดสัญลักษณ์อาหาร บอกระดับคุณภาพอาหารบนบรรจุภัณฑ์
  • School Curriculum: กำหนดในหลักสูตรการสอนเรื่องการบริโภคที่เหมาะควร
  • Workplace wellness: สถานประกอบการณ์ต่างๆ ควรจัดสถานที่หรือกำหนดตารางงานให้พนักงานมีเวลาออกกำลังกาย

“การจะจัดการโรคอ้วน ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กและทำทั้งระบบ อย่าปล่อยให้กลายเป็นเด็กอ้วนแล้วมาแก้ทีหลัง ผู้ใหญ่ต้องไม่ปล่อยให้เด็กเดินไปเลือกอาหารตามใจอยาก เพราะที่ผ่านมาเขาถูกสร้างนิสัยให้อยู่กับรสชาติแบบนี้

“ถ้าจะผลักดันอาหารสุขภาพเพื่อมาต่อสู้กับอุตสาหกรรมอาหาร ก็ต้องมีการวางแผนการตลาดเหมือนกัน โจทย์ของผมคือ ถ้าวางอาหารสุขภาพคู่กับฟาสต์ฟู้ด คนจะต้องรู้สึกอยากกินอาหารสุขภาพตรงหน้าไม่น้อยไปกว่าอยากกินฟาสต์ฟู้ด ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ ต้องวางแผนการตลาด เหมือนที่อุตสาหกรรมอาหารใช้วิธีการเดียวกันนี้” พ.อ.ผศ.ราม ให้ข้อเสนอ

อัตราการเติบโตของประชากร (% ต่อปี) ที่มา: worldbank.org

 

ความน่าหวาดหวั่นประการสุดท้ายที่ พ.อ.ผศ.ราม ทิ้งท้ายไว้คือ หากไม่เร่งแก้ไขอุบัติการณ์ความอ้วนในช่วง transitional zone เมื่อรวมกับสถานการณ์ ‘สังคมสูงวัย’ ที่คนเกิดน้อยลง คนแก่มากขึ้น เมื่อประชากรแรงงานน้อยและสุขภาพยังแย่ลง หลังจากนี้ความปั่นป่วนที่มากกว่าจะมาเยือนอย่างไม่ต้องสงสัย

 

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า