บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองแรกของโลกคือบะหมี่รสไก่ หรือ Chikin Ramen มันถูกคิดค้นโดย โมโมฟุกุ อันโด ผู้ก่อตั้งนิสชิน (NISSIN) เมื่อปี 2501 ท่ามกลางความมืดสิ้นหวังหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาหารขาดแคลน ข้าวยากหมากแพง สังคมกำลังฟื้นตัว และแสงสว่างสีเหลืองกรอบก็โชดช่วงออกจากกระทะน้ำมันปาล์ม เขาคิดค้นอาหารที่ ‘มีราคาถูก’ และ ‘เก็บได้นาน’ ก่อนที่อาหารแห้งชนิดนี้ได้ถูกส่งออกไปทั่วภูมิภาคพื้นเอเชียและทั่วโลก
เป็นเวลา 13 ปี หากนับจากบะหมี่รสไก่ซองแรกของโลก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ ซันวา ถูกนำเข้ามาในสังคมไทยราวปี พ.ศ. 2514-2515 ตามมาด้วย ยำยำ ไวไว มาม่า ก่อนที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปี 2563 จะเต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชนิดของเส้นบะหมี่ หลากรสชาติ หลายราคา
ชาวจีนบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกว่า 46,000 ล้านห่อ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยอดนิยมของจีนยี่ห้อ Tong-Yi มีขายในทุกที่ ตั้งแต่วอลมาร์ทไปจนถึงแผงลอยข้างทาง ข้อมูลจากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของโลก (World Instant Noodles Association) ในปี 2560 ระบุว่า การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนทั่วโลกมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 13.3 ชิ้นต่อคนต่อปี สำหรับประเทศไทย อยู่ที่ 49 ชิ้นต่อคนต่อปี
ข้อมูลจากคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย ประมาณ 1,275 มิลลิกรัมต่อผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง หรือ 50 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่เกินคำแนะนำของปริมาณสารอาหารที่ให้บริโภคต่อวัน คณะทำงานกำหนดเกณฑ์พลังงานและสารอาหารที่กำหนดปริมาณโซเดียมในอาหารมื้อหลักไม่เกิน 600 มิลลิกรัม การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง จะทำให้ได้รับปริมาณโซเดียมเกินกว่าความต้องการถึง 2 เท่า
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ใช่ที่พึ่งยามยากของผู้มีรายได้น้อยเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นประหนึ่งการจาริกการแสวงหารสชาติใหม่ๆ และยังเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
มีการคาดว่าตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะโตขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน มีมูลค่ารวม 17,000 ล้านบาท เพราะตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลุ่มพรีเมียมชนิดถ้วยและชามที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจัยหนึ่งมาจากการเข้ามาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน
บะหมี่เหล่านี้มีราคาสูงกว่าบะหมี่ไทย ราคาเฉลี่ย 30-60 บาท แต่ผู้บริโภคก็กล้าตัดสินใจซื้อเพราะต้องการทดลองรสชาติใหม่ๆ ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดพรีเมียมจึงไม่ใช่ราคาที่ผู้มีรายได้น้อยจะเข้าถึงได้ง่าย นิยามคำว่า ‘พรีเมียม’ ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น คือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีราคาเกินราคามาตรฐานที่ซองละ 6 บาท
พฤติกรรมการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังที่บทวิเคราะห์ ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2562 ทำไมเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ ระบุว่า ผู้บริโภคในกลุ่ม entry level ที่เคยมองว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคืออาหารราคาประหยัดที่สามารถช่วยชีวิตในช่วงที่เงินฝืดเคืองได้ มีความคิดที่เปลี่ยนไป พวกเขาเริ่มมองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่ไม่มีคุณประโยชน์ให้กับร่างกาย เพราะมองเห็นว่ามีตัวเลือกอีกมากมายที่เป็นอาหารราคาประหยัด เช่น ข้าวไข่เจียว ที่ให้สารอาหารที่ครบถ้วนกว่า
“ส่วนผู้บริโภคในกลุ่ม mid-end มีทางเลือกมากขึ้นจากอาหาร ready to eat หรืออาหารพร้อมรับประทานขนาดกำลังพออิ่มในราคาที่ไม่สูงจนเกินไปที่มีจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ นอกจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว ในหลายปีที่ผ่านมา ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย ยังถูกท้าทายจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลี” บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุ
เมื่อ ‘ราคา’ ไม่ใช่สิ่งแรกที่ผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยึดติดอีกต่อไป สิ่งที่ทำให้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพรีเมียมได้รับความนิยมและเปิดกว้างขึ้น มาจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบชามจากเกาหลีที่เข้ามาตีตลาดในไทย ผ่านความนิยมจากการดูซีรีส์เกาหลี
ในช่วงของการระบาด COVID-19 ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้มีประชาชนต้องกักตุนอาหารแห้งและวัตถุดิบในการทำอาหารไปเก็บไว้ที่บ้าน เพื่อจะไม่ต้องออกจากบ้านบ่อย รวมทั้งเก็บไว้บริโภคในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาหารแห้งลำดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อเป็นอาหารเพื่อการยังชีพคงหนีไม่พ้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
นิตยสารฉลาดซื้อ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบถ้วย รวมถึงวุ้นเส้น ราเมง และอุด้ง ที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ จำนวน 23 ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม 2563 เพื่อนำมาสำรวจปริมาณโซเดียมจากข้อมูลบนฉลาก
จากการสำรวจ พบว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยที่มีปริมาณโซเดียมต่อถ้วยน้อยที่สุด ได้แก่ ราเมงกึ่งสำเร็จรูปแบบแห้ง รสชีสสูตรเผ็ด ตราซัมยัง มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 700 มิลลิกรัม ส่วนผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยที่มีปริมาณโซเดียมต่อถ้วยมากที่สุด ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ ตรานิสชิน คัพนูดเดิล (อิ่มเต็มคัพ) มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 2,360 มิลลิกรัม ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ ร่างกายไม่ควรได้รับปริมาณโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
ลําดับ | ยี่ห้อ | ราคา (บาท) | น้ำหนักสุทธิ (กรัม) | วันหมดอายุ / ควรบริโภคก่อน | ปริมาณโซเดียม (มิลลิกรัม) |
---|---|---|---|---|---|
1 | ราเมงกึ่งสําเร็จรูปแบบแห้ง รสชีสสูตรเผ็ด ตราซัมยัง | 48 | 70 | 15 พ.ย. 63 | 700 |
2 | บะหมี่กึ่งสําเร็จรูป รสหมูแดง ตรานิสชิน | 12 | 40 | 20 พ.ค. 63 | 820 |
3 | ราเมงกึ่งสําเร็จรูปแบบแห้ง รสคาโบนาร่าสูตรเผ็ด ตราซัมยัง | 48 | 80 | 15 พ.ย. 63 | 870 |
4 | บะหมี่ถ้วยกึ่งสําเร็จรูป ออเรียนทัลคิตเชน รสผัดไข่เค็ม ตรามาม่า | 20 | 80 | 7 ก.ค. 63 | 1,010 |
5 | บะหมี่ถ้วยกึ่งสําเร็จรูป รสไก่กระเทียม ตราซื่อสัตย์ | 12 | 65 | 7 ส.ค. 63 | 1,260 |
6 | อูด้งกึ่งสําเร็จรูปรสเทมปุระ แบบถ้วย ตรานงซึม (NONGSHIM) | 45 | 62 | 21 มิ.ย. 63 | 1,260 |
7 | บะหมี่กึ่งสําเร็จรูป รสต้มยํา (สูตรดั้งเดิม) (ชนิดชาม) ตราไวไว | 25 | 70 | 12 มิ.ย. 63 | 1,360 |
8 | วุ้นเส้นกึ่งสําเร็จรูป รสต้มยํากุ้ง (ตราเกษตร) | 20 | 35 | 10 มิ.ย. 64 | 1,420 |
9 | บะหมี่ถ้วยกึ่งสําเร็จรูป รสหมูสับ ตรามาม่า | 13 | 60 | 23 มิ.ย. 63 | 1,460 |
10 | บะหมี่ถ้วยกึ่งสําเร็จรูปออเรียนทัลคิตเชน รสสไปซีซีฟูดส์ ตรามาม่า | 15 | 65 | 16 มิ.ย. 63 | 1,500 |
11 | บะหมี่กึ่งสําเร็จรูปรสหมูสับ ตราไวไว | 13 | 60 | 25 มิ.ย. 63 | 1,520 |
12 | บะหมี่ถ้วยกึ่งสําเร็จรูป รสต้มยํากุ้ง ตรายำยำ | 15 | 60 | 6 มิ.ย. 63 | 1,550 |
13 | บะหมี่ถ้วยกึ่งสําเร็จรูปรสต้มยํา ตราจายา | 14 | 60 | 10 ก.ย. 63 | 1,560 |
14 | บะหมี่กึ่งสําเร็จรูปรสต้มยํากุ้ง (ชนิดถ้วย) ตราไวไว | 12 | 60 | 19 มิ.ย. 63 | 1,620 |
15 | บะหมี่กึ่งสําเร็จรูปรสต้มยํากุ้ง (ชนิดถ้วย) ตราซือดะ | 13 | 60 | 11 พ.ค. 63 | 1,620 |
16 | บะหมี่ชามกึ่งสําเร็จรูป รสต้มยํากุ้ง ตราคุคกิ้งทาวน์ | 20 | 60 | 4 ก.ย. 63 | 1,630 |
17 | บะหมี่ถ้วยกึ่งสําเร็จรูปรสเนื้อ ตราจายา | 14 | 60 | 4 ก.ย. 63 | 1,670 |
18 | ราเมงกึ่งสําเร็จรูป เนื้อเผ็ดเกาหลี ตราลิตเติ้ลกุ๊ก | 55 | 150 | 4 ส.ค. 63 | 1,730 |
19 | บะหมี่ถ้วยกึ่งสําเร็จรูป รสต้มยําทะเลหม้อไฟตรายำยำ | 15 | 60 | 21 มิ.ย. 63 | 1,760 |
20 | บะหมี่ถ้วยกึ่งสําเร็จรูป รสต้มยํากุ้งน้ำข้น ตรามาม่า | 13 | 60 | 2 พ.ค. 63 | 1,800 |
21 | บะหมี่กึ่งสําเร็จรูปรสต้มยํา ตราเอฟเอฟ | 22 | 65 | 22 ต.ค. 63 | 1,970 |
22 | บะหมี่กึ่งสําเร็จรูป รสหมูสับ ตรานิสชิน คัพนูดเดิล (อิ่มเต็มคัพ) | 18 | 77 | 10 ก.ค. 63 | 1,990 |
23 | บะหมี่กึ่งสําเร็จรูป รสต้มยำ ตรานิสชิน คัพนูดเติล (อิ่มเต็มคัพ) | 18 | 77 | 18 มิ.ย. 63 | 2,360 |
“หากคำนวณจากการบริโภคมื้ออาหารหลัก วันละ 3 มื้อ เราควรได้รับปริมาณโซเดียมต่อมื้อโดยประมาณไม่เกินมื้อละ 666 มิลลิกรัม (2,000 ÷ 3) ซึ่งหากดูปริมาณโซเดียมในตัวอย่างผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยทั้งหมด 23 ตัวอย่าง จะเห็นว่าทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมเกิน 666 มิลลิกรัม” ข้อมูลจากนิตยสาร ฉลาดซื้อ ระบุ
หลักการทางเศรษฐศาสตร์อย่างการใช้มาตรการภาษีจึงถูกหยิบมาพูดคุยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาโรค NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) โดยใช้มาตรการทางภาษีและราคาจะทำให้ราคาสินค้าที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลักการเศรษฐศาสตร์เช่นนี้ถูกตั้งความหวังว่า การซื้อและบริโภคก็จะลดลง
โซเดียมที่คนไทยนิยมใช้ในปัจจุบันมี 2 ประเภทคือ 1. โซเดียมถนอมอาหาร มีสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณโซเดียมที่ใช้ในปัจจุบัน 2. โซเดียมปรุงรส มีสัดส่วน 80 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณโซเดียมที่ใช้ในปัจจุบัน แนวทางการเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต จะเก็บโซเดียมปรุงรสเท่านั้น ส่งผลให้กลุ่มสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงปรุงรส ฯลฯ จะโดนเก็บภาษีความเค็มทั้งหมด
นอกจากนี้ มาตการทางภาษีและราคาจะเป็นการกระตุ้นให้กับอุตสาหกรรมอาหารปรับสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อลดการเสียภาษี ซึ่งผลในระยะยาวคือผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนพฤติกรรม และเพื่อให้ได้รับสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ เพื่อเตรียมรับมือกับนโยบายของภาครัฐที่จะพิจารณาเก็บภาษีความเค็มในอนาคต
แต่มาตรการการเก็บภาษีโซเดียมจะสามารถบรรลุผลได้หรือไม่ในวันที่พฤติกรรมผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเปลี่ยนแปลง หรืออาจต้องดำเนินมาตรการอื่นควบคู่กับมาตรการด้านภาษี
เอกสารประกอบการเขียน
- พเยาว์ ผ่อนสุข. มาตรการภาษีเกลือและโซเดียมในประเทศไทย. แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (FHP) มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ
สนับสนุนโดย
มสช. ได้รับเงินสนับสนุนจาก CCS-NCD