ดื่ม กิน สูบ กิริยาที่มีภาษีกำกับ

มาตรการทางภาษีและราคา ถูกกล่าวขานว่าเป็นหนึ่งในมาตรการที่มีศักยภาพในการลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า บุหรี่ น้ำตาล และโซเดียม

ด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ มาตรการทางภาษีและราคาเป็นมาตรการที่ถูกแนะนำในการปรับพฤติกรรมการบริโภคเพื่อแก้ปัญหาโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อ กล่าวคือ มาตรการทางภาษีและราคาจะทำให้ราคาสินค้าที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในกรณีนี้ เมื่อราคาสินค้าที่ไม่ประโยชน์ต่อสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การซื้อและการบริโภคก็จะมีแนวโน้มลดลง ผู้บริโภคจะหันไปนิยมอาหารสุขภาพที่ราคาถูกกว่า

มาตรการทางภาษีและราคาจะเป็นกลไกกระตุ้นที่สำคัญให้กับอุตสาหกรรมอาหารหรือผู้ผลิตสินค้าปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์เพื่อลดการเสียภาษี ซึ่งผลในระยะยาวคือผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค และเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ ดังนั้น มาตรการทางภาษีและราคาที่มุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมผลิตอาหารจึงเป็นมาตรการที่ช่วยปกป้องสุขภาพของประชาชน และยังเป็นการจุดประกายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

การขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรัฐแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริหา ส่งผลให้ราคาสุราเพิ่มขึ้น 6-9 เปอร์เซ็นต์ ผลของราคานี้ทำให้การดื่มเหล้าลดลง 5.1 เปอร์เซ็นต์ เบียร์ 3.2 เปอร์เซ็นต์ และไวน์ 2.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการขึ้นภาษีบุหรี่ก็ให้ผลที่ใกล้เคียงกัน มาตรการภาษีบุหรี่ในสหรัฐอเมริกาทำให้ราคาของบุหรี่เพิ่มสูงขึ้น 0.62 ดอลลาร์ต่อซอง ส่งผลให้ประชากรลดการสูบ 1 มวนต่อวัน

ขณะที่ภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวานในประเทศเม็กซิโกในอัตรา 1 เปโซ/ลิตร (ประมาณ 1.65 บาท/ลิตร) ส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ หลังจาก 1 ปีของการดำเนินมาตรการ พบว่า ประชาชนชาวเม็กซิกันลดการบริโภคเครื่องดื่มรสหวานลง 12 เปอร์เซ็นต์

สำหรับความหวานในประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีการเริ่มใช้มาตรการภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวานเมื่อเดือนมกราคม 2561 ทำให้ราคาเครื่องดื่มที่มีรสหวานเพิ่มขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์ จากการคาดการณ์ผลด้านสุขภาพ ภาษีจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 5,913 คน โรคหัวใจ 10,339 คน และโรคหลอดเลือดสมอง 7,950 คน

ณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เล่าถึงมาตรการภาษีน้ำตาลที่ประเทศไทยได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ว่า ในระยะสั้น มาตรการด้านภาษีสามารถส่งผลต่อการตระหนักของผู้บริโภค และในระยะยาวก็คือการปรับปรุงสูตร (reformulate) ของผู้ประกอบการ

“จากมาตรการด้านภาษีน้ำตาลที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ถึงวันนี้ เราเห็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหวาน จาก 90 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เราเห็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหวานน้อย ประเภท โน ชูการ์ ชูการ์ฟรี ไลท์ อยู่ในตลาดมากขึ้น ก็หมายความว่า สิ่งที่เป็นมาตรการภาษีได้สร้างความตื่นตัวในระยะสั้น ส่วนระยะยาวเราหวังให้มีการปรับลิ้นคนไทย คือการ reformulate ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ผมต้องขอโฆษณาหน่อย กรณีโค้กลิตรที่เขียนว่า ‘ออริจินัล เทสต์’ แล้วก็ ‘ไลท์ ชูการ์’ เดิมมีน้ำตาล 10.3 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เหลือ 7.5 เปอร์เซ็นต์”

ณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต

ตัวเลขน้ำตาลที่ลดลงของผลิตภัณฑ์น้ำอัดลม หมายความถึงมาตรการภาษีจูงใจให้ผู้ประกอบการ reformulate

“เราจะเห็นได้ว่าช่วงแรกๆ ผู้บริโภคอาจไม่ชอบ เพราะติดหวาน การที่เราจะบอกว่าเราใช้มาตรการภาษีเพื่อให้คนปรับลิ้น เปลี่ยนพฤติกรรม มันเป็นสิ่งที่เราต้องใช้เวลา…ไม่เร็ว อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่า มาตรการภาษีไม่ใช่คำตอบเพียงคำตอบเดียว ต้องมีทั้งมาตรการภาษีและไม่ใช่มาตรการภาษีควบคู่กัน”

มาตรการที่มิใช่ภาษี

  • สร้างความตระหนักรู้และประชาสัมพันธ์แก่ผู้บริโภค
  • แจกป้ายสัญลักษณ์หรือประกาศนียบัตรแก่ร้านอาหารริมทาง (Street Food) และร้านอาหารที่มีสาขาทั่วไป (Chained/Franchise Food)
  • ส่งเสริมให้มีอาหาร ‘ทางเลือกสุขภาพ’ มากขึ้น
  • ประชาชนมีสิทธิในการเลือกอาหารและปรุงรสอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

มาตรการภาษี

  • จัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียม เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับสูตร
  • กำหนดอัตราภาษีแบบก้าวหน้า (Progressive Tax Rate) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรการผลิต
  • ให้ระยะเวลาผู้ประกอบการในการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการภาษีอย่างเหมาะสม
  • ต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนการบริโภคสินค้าไปเป็นสินค้าทดแทน
  • การใช้มาตรการทางภาษีที่แตกต่าง เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคสินค้าให้เหมาะสมสำหรับสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูง

หลายประเทศได้มีการศึกษาและคาดการณ์ผลกระทบของมาตรการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม หากมีการลดปริมาณการบริโภคลง 3 กรัม/วัน จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้ 12-14 เปอร์เซ็นต์ โรคหัวใจ 9-10 เปอร์เซ็นต์ หากลดการบริโภคเกลือได้ถึง 6 กรัม/วัน ก็จะช่วยลดอัตราความเสี่ยงได้มากถึง 23-25 เปอร์เซ็นต์สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง และร้อยละ 16-19 สำหรับโรคหัวใจ

ในด้านราคา มีการศึกษาพบว่า หากราคาสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จะสามารถลดการบริโภคโซเดียมได้ร้อยละ 6 อย่างไรก็ตาม อัตราการเปลี่ยนแปลงด้านการบริโภคจะขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นด้านราคาของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมด้วย หากมีความยืดหยุ่นด้านราคามาก ก็จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคสูง

รูปแบบมาตรการภาษีเกลือและโซเดียมของต่างประเทศ เช่น ฮังการีมีมาตรการภาษีในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือที่เกินปริมาณกำหนด โดยเก็บภาษีในขนมขบเคี้ยวที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบมากกว่า 1 กรัม ต่อผลิตภัณฑ์ 100 กรัม (หรือเท่ากับโซเดียม 400 กรัม ต่อผลิอตภัณฑ์ 100 กรัม) และเก็บภาษีในเครื่องปรุงที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบมากกว่า 5 กรัม ต่อผลิตภัณฑ์ 100 กรัม ภาษีที่เก็บจะเท่ากับ 0.8 ยูโร/เกลือ 1 กิโลกรัม

หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ในปี 2011 ราคาสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 มูลค่าการขายของสินค้าขนมขบเคี้ยวมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 12 ผู้บริโภคกินลดลงร้อยละ 13.8 และผู้ผลิตก็ลดหรือปรับปรุงสูตรส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์

ร้อยละ 40 ของผู้ประกอบการมีการปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์ของตนเอง ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 เลิกใช้เกลือ รวมถึงน้ำตาลและไขมันในผลิตภัณฑ์ ขณะที่ร้อยละ 70 ลดปริมาณการใช้เกลือ น้ำตาล และไขมันในผลิตภัณฑ์ของตนเอง

แต่เมื่อมองมายังผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือและโซเดียม ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี มองว่า กรณีของเกลือและโซเดียมมีความซับซ้อนกว่าภาษีน้ำตาล เพราะน้ำตาลมีสารให้ความหวานทดแทน แต่หัวใจของเกลืออยู่ที่ หนึ่ง-รสชาติ สอง-ถนอมอาหาร

“ถ้าถามเรื่องโซเดียมมันจะกลับกัน เพราะว่ากรณีน้ำตาลมีสารทดแทนได้ แต่โซเดียมมีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือรสชาติและการถนอมอาหาร ฉะนั้นจะไม่ใส่ก็ไม่ได้ เพราะเราใช้เกลือถนอมอาหาร แต่ปริมาณโซเดียมไม่ว่าจะรสชาติหรือการถนอมอาหารมันมีผลต่อสุขภาพเช่นกัน สิ่งที่เราต้องทำวันนี้คือ เราต้องให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาโซเดียมมากกว่านี้ มาตรการ Non-Tax ต้องปูพรมให้มากกว่านี้ เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมกับการจัดเก็บภาษีโซเดียม ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราต้องขยายเวลาการจัดเก็บภาษีออกไป เพราะอาจไปซ้ำเติมผู้ผลิต แต่ก็มีเสียงสะท้อนว่า สุขภาพรอได้มั้ย”

ในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษีคาดหวังถึงมาตรการภาษีเกลือและโซเดียมที่จะถูกนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมอาหาร ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารจะปรับปรุงสูตรอาหาร ลดปริมาณโซเดียมลง ประชากรลดการบริโภคโซเดียม 10 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลา 2 ปี ก่อนจะลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 5 ปีถัดไป เพราะหากผู้ป่วยจากโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมสูงมีจำนวนลดลง ค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยก็ย่อมลดลง

สนับสนุนโดย

มสช. ได้รับเงินสนับสนุนจาก CCS-NCD

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า