เป็นที่รับรู้มานานหลายปี หรือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมักจะบอกเราเสมอๆ ว่า เกลือเป็นโทษต่อร่างกาย ถ้าร่างกายได้รับมากเกินไป จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง พ่วงด้วยโรคต่างๆ อีกมากมาย ถ้าเราไม่ดูแลการกินให้ดี
แต่ผลการศึกษาครั้งใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Cardiology โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ เจมส์ โอ คีฟ และเจมส์ ดีนีโคแลนโทนีโอ แห่งสถาบันหัวใจอเมริกากลาง (Mid-America Heart Institute) 2 นักวิจัยผู้ค้นพบว่า น้ำตาลต่างหากคือศัตรูแท้จริงของระบบหัวใจ ไม่ใช่เกลือ
โอคีฟ แถลงว่า อุปสรรคเบอร์หนึ่งในมื้ออาหารที่ทำให้เราป่วย น้ำหนักเกิน หดหู่ และสุขภาพย่ำแย่คือ น้ำตาล
เหตุผลสำคัญจากโอคีฟคือ น้ำตาลทำให้เราหิวตลอดเวลา และมีแนวโน้มให้เราอยากของหวานมากขึ้นเรื่อยๆ
“ถ้าใครอยากสุขภาพดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่ทำได้ง่ายๆ คือ ไม่ทานอาหารชนิดที่เพิ่มน้ำตาลเข้าไป” โอคีฟแนะนำ
แล้วเกลือกลายเป็นผู้ร้ายไปได้อย่างไร?
ย้อนกลับไปในปี 2001 สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (the National Institutes of Health) ได้ตีพิมพ์งานวิจัยซึ่งมักจะถูกอ้างถึงบ่อยๆ คือ DASH-sodium study ที่พบว่า กลุ่มคนที่รับประทานเกลือน้อยกว่าคนอื่นๆ ท้ายที่สุดจะมีความดันเลือดต่ำกว่า จากผลการศึกษาครั้งนั้น เมนูสัญชาติอเมริกันต่างๆ จึงพากันใส่เกลือลงไปในฐานะส่วนผสมสำคัญลำดับแรกๆ แต่ต่อมา ผลการศึกษาเรื่องเกลือครั้งอื่นๆ ในรูปแบบเดียวกันก็ไม่ได้ให้ผลที่เหมือนกับการศึกษาชิ้นนั้นอีกเลย
ปัจจุบัน ข้อมูลจากหลายแห่งกล่าวตรงกันว่า การลดหรือตัดเกลือนั้นไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยเสนอว่าร่างกายต้องการโซเดียม และ ถ้าร่างกายขาดโซเดียมแล้ว ปอดจะหลั่งสารเอนไซม์ที่เรียกว่า เรนิน ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ผลการศึกษาหลายชิ้นยังพบอีกว่าการได้รับโซเดียมในปริมาณต่ำ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ยิ่งไปกว่านั้น การรักษาโรคภูมิแพ้ในปัจจุบันยังใช้เกลือเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาโรคภูมิแพ้ อาทิ การจำลองสภาพถ้ำเกลือธรรมชาติ โดยปล่อยอณูเกลือออกมาให้แพร่ไปในบรรยากาศ ไอเกลือที่สูดหายใจเข้าไปจะช่วยรักษาอาการต่างๆ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ปอดอุดตันเรื้อรัง ไซนัส ฯ
อย่างน้อยที่สุด ณ เวลานี้ การถกเถียงเรื่องบริโภคเกลือแต่น้อยนั้นยังเป็นข้อโต้แย้งอยู่ และ ความสัมพันธ์ระหว่างเกลือกับโรคหัวใจก็ไม่ได้มีความชัดเจนใดๆ พอที่จะสรุปได้
****************************************
(ที่มา : Alternet.org)