คว่ำบาตรเกาหลีเหนือ: แล้วไง ใครแคร์

ภาพประกอบ: Antizeptic

 

ชวนอ่าน: 

หลังจากเกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์และจรวดมิสไซล์เป็นว่าเล่น ราวกับทั้งหมดเป็นของเล่นชิ้นจิ๋ว อีกทั้งยังออกมาประกาศเมื่อวันที่ 4 และ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า การทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีปที่ชื่อว่า Hwasong-14 ICBM ประสบความสำเร็จ และแถลงการณ์ชัดเจนว่า ทุกพื้นที่ทั่วสหรัฐอเมริกาอยู่ภายใต้รัศมีของ Hwasong-14 ICBM

มีหรือที่สหรัฐจะอยู่เฉยเมื่อเกาหลีเหนือประกาศก้องชัดเจนขนาดนี้ ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐและสหประชาชาติจับมือร่วมกันทำอะไรสักอย่างต่อการกระทำครั้งนี้

วันที่ 5 สิงหาคม 15 ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ยืนยันเป็นเอกฉันท์ให้ ‘ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2371’ บังคับใช้เพื่อคว่ำบาตรเกาหลีเหนือได้

ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2371 (UN Resolution 2371)

  • เกาหลีเหนือไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน ถ่านหิน เหล็ก ดีบุกและอาหารทะเล แก่ประเทศอื่น

  • ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติจะไม่เพิ่มจำนวนใบอนุญาตทำงานให้กับชาวเกาหลีเหนือ (ยกเว้นจะได้รับการอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ)

  • ห้ามรัฐใดๆ ก่อตั้งกิจการ ร่วมลงทุนในธุรกิจต่างๆ หรือขยายธุรกิจที่เคยมีอยู่แล้วกับบริษัทหรือนิติบุคคลของเกาหลีเหนือ

ดูเหมือนว่า ประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นสุขมาก เมื่อเสียงของสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติเป็นไปในทิศทางเดียวกันแม้แต่รัสเซียและจีน

โดยทรัมป์ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า

https://twitter.com/realDonaldTrump/status/893973466508079104?ref_src=twsrc%5Etfw&ref_url=http%3A%2F%2Fwww.politifact.com%2Ftruth-o-meter%2Fstatements%2F2017%2Faug%2F06%2Fdonald-trump%2Ftrump-claims-un-sanctions-cost-north-korea-over-1-%2F

https://twitter.com/realDonaldTrump/status/893965986566733824?ref_src=twsrc%5Etfw&ref_url=http%3A%2F%2Fwww.politifact.com%2Ftruth-o-meter%2Fstatements%2F2017%2Faug%2F06%2Fdonald-trump%2Ftrump-claims-un-sanctions-cost-north-korea-over-1-%2F

ด้านโฆษกทำเนียบข่าว ซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส (Sarah Huckabee Sanders) กล่าวต่อสื่อมวลชนหน้าทำเนียบขาวว่า ท่าทีของท่านประธานาธิบดีดูพึงพอใจอย่างยิ่ง ที่จีนและรัสเซียให้ความร่วมมือในครั้งนี้

นิกกี ฮาลีย์ (Nikki Haley) ทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ กล่าวหลังผลโหวตคว่ำบาตรออกมาเป็นเอกฉันท์ว่า มาตรการคว่ำบาตรในครั้งนี้ นับเป็นบทลงโทษทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดที่สุดต่อเกาหลีเหนือ

“ค่าใช้จ่ายที่ผู้นำเกาหลีเหนือต้องจ่ายต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธต่างๆ กินเงินที่ได้จากการส่งออกสินค้ามากกว่าหนึ่งในสาม นี่จะเป็นมาตรการคว่ำบาตรที่รุ่นแรงที่สุดต่อประเทศใดประเทศหนึ่งในยุคสมัยนี้ และอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีต่อไปของเกาหลีเหนือ” เธอเสริม

ว่าแต่ แล้วท่าทีของประเทศอื่นๆ ต่อมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว เป็นอย่างไร?

เกาหลีเหนือ

แน่นอนว่าเกาหลีเหนือยังคงหัวเด็ดตีนขาด ไม่ว่าอย่างไรก็จะดำเนินการพัฒนาโครงการอาวุธต่อไป เมื่อ 7 สิงหาคม สำนักข่าวหนึ่งเดียวในเกาหลีเหนืออย่าง KCNA รายงานว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือจะไม่ยอมเจรจาต่อรองประเด็นดังกล่าวกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสิ่งที่สหรัฐกำลังทำอยู่คือ การคุกคามเกาหลีเหนือ

ส่วนความคาดหวังว่าเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะเจรจากัน คงแทบไม่เห็นสัญญาณนั้นในเร็วๆ นี้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือ รี ยอง โฮ (Ri Yong-ho) กล่าวต่อสำนักข่าว Yonhap ของเกาหลีใต้ว่า เกาหลีใต้ต่างหากที่ขาดความจริงใจต่อการเจรจาเพื่อสันติภาพ

เกาหลีใต้

หลังจากผลมติออกมาเป็นที่แน่ชัดแล้ว ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุน แจ อิน (Moon Jae-in) แถลงต่อสื่อที่หน้าบลูเฮาส์ว่า เกาหลีเหนือควรหยุดทำตัวยั่วยุ และหันมาเจรจาร่วมกันแทนจะดีกว่า รวมถึงแสดงท่าทีประหลาดใจที่ทั้งรัสเซียและจีนโหวตยอมรับข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติครั้งนี้

“ผมหวังว่า เกาหลีเหนือจะเข้าใจว่า มาตรการคว่ำบาตรครั้งล่าสุดนี้คือ ความมุ่งมั่นของประชาคมโลก และทุกฝ่ายเลือกที่จะเจรจา” มุน แจ อิน กล่าว

จีน

น่าแปลกที่รัฐบาลจีนกลับไม่โหวตวีโต้ อีกทั้งยังแนะให้รัฐบาลเปียงยางใจเย็นต่อการตัดสินใจของสหประชาชาติ และการยั่วยุจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

หวัง ยี่ (Wang Yi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีน เชื่อว่า มาตรการคว่ำบาตรจะช่วยให้ผู้นำเกาหลีเหนือเดินไปในทิศทางที่่ถูกต้องต่อโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธในอนาคต

“เกาหลีเหนือไม่ควรเพิกเฉยต่อการตัดสินใจของสหประชาชาติ ที่มาจากความปรารถนาดีของสมาคมโลก ด้วยการเปิดตัวขีปนาวุธหรือทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีก” หวังกล่าวต่อ รี ยอง โฮ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือ หลังจากทั้งสองได้พบกันในการประชุมสุดยอด ARF ที่เพิ่งจัดขึ้นวันที่ 7 สิงหาคม ณ กรุงมะนิลา

อย่างไรก็ตาม ด้วยมิตรภาพที่ดีกับเกาหลีเหนือ จีนยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐลดระดับความตึงเครียดของมาตรการคว่ำบาตร และถอดระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD (Terminal High Altitude Area Defense) ที่ติดตั้งอยู่ในเกาหลีใต้ หากต้องการให้การเจรจาเป็นจริง

ญี่ปุ่น

ดูพึงพอใจต่อมาตรการดังกล่าวอย่างยิ่ง โฆษกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นออกมาแถลงว่า การคว่ำบาตรครั้งนี้ ถือเป็นการกดดันที่มีประสิทธิภาพ หากจะให้รัฐบาลเปียงยางยอมเจรจาด้วย

“ตอนนี้ไม่ใช่เวลาของการพูดคุย แต่เป็นเวลาที่เราควรเพิ่มความเข้มข้นของการกดดันต่อเกาหลีเหนือให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้พวกเขายุติกระบวนการไปสู่การมีนิวเคลียร์ (nuclearization) ได้อย่างเป็นรูปเป็นธรรมมากขึ้น” โทชิฮิเดะ อันโด (Toshihide Ando) โฆษกรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าว

อาเซียน

การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกครั้งที่ 24 (ASEAN Regional Forum: ARF) ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดวันที่ 7 สิงหาคมเป็นวันแรก จึงหนีไม่พ้นประเด็นอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ เมื่อตัวละครสำคัญทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ต่างก็มาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

ในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนครั้งนี้ ฟิลิปินส์มีความคาดหวังอย่างยิ่งที่จะประนีประนอมความตึงเครียดของทั้งสองชาติได้ และไปให้ไกลกว่านั้นคือ สามารถทำให้เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เจรจาร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม

ถึงแม้ว่าท่าทีของฟิลิปปินส์และอาเซียนต่อเกาหลีเหนือยังคงไม่ชัดเจนว่าจะเลือกข้างใด เพราะทั้งสองฝ่ายต่างสามารถส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศอาเซียนได้ทั้งสิ้น หากเลือกก้าวผิดไป คงไม่เป็นผลดีนัก

“มันเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก จริงๆ แล้วเราไม่เคยมีความร่วมมือกับเกาหลีเหนือมากนัก” อลัน ปีเตอร์ คาเยตาโน (Alan Peter Cayetano) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าว

สวนทางกับท่าทีของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โรดรีโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ที่กล่าวโจมตีประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน (Kim Jong Un) อย่างหยาบคายและไร้มารยาททางการเมืองว่า “maniac”, “fool” และ “son of a bitch”


อ้างอิงข้อมูลจาก:
news.cgtn.com
vox.com
reuters.com
english.yonhapnews.co.kr
english.yonhapnews.co.kr/northkorea
aljazeera.com

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า