โลกร้อน คนเปลี่ยน ชาวซาปาทำนาไม่ได้

หากพูดถึง ‘ซาปา’ คนไทยหลายคนคงรู้จักกันดี ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติยอดฮิตในเวียดนามเหนือ ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ตากอากาศของชาวฝรั่งเศสเมื่อยังเป็นอาณานิคม จิตนาการถึงภาพเมฆหมอก อากาศบริสุทธิ์ ภูเขาเขียวขจีและไร่นาสีเขียวสดที่พาดเป็นขั้นบันไดอยู่บนภูเขาแทบทุกลูก

สำหรับชาวซาปาแล้ว ตลอดระยะกว่าร้อยปี ข้าวคือทุกอย่างของพวกเขา หากจะกล่าวว่า ‘ข้าวคือชีวิตของพวกเขา’ ก็ไม่ใช่เรื่องเกินเหตุ แต่ ณ เวลานี้ ชีวิตของพวกเขากำลังอยู่ในจุดเสี่ยง ด้วยเหตุผลสั้นๆ แต่ส่งผลกระทบอย่างทารุณ คือ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (climate change)

แม้ที่แห่งนี้จะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าฝนตกค่อนข้างน้อย แต่ช่วงปี 2011-2014 ที่ผ่านมา ซาปาต้องเผชิญกับหน้าแล้งเป็นครั้งแรก ความตึงเครียดเกิดขึ้นทั่วทุกหมู่บ้าน นำมาสู่การตกลงกันในแต่ละหมู่บ้านว่า น้ำในแม่น้ำต้องแบ่งปันกันและกัน แล้วห้ามหมู่บ้านใดมีสิทธิ์เหนือแม่น้ำ

โดยปกติแล้ว ฤดูปลูกข้าวในซาปาจะเริ่มต้นหลังฤดูฝนสิ้นสุดลง คือ เดือนมีนาคม แต่ด้วยสภาพอากาศที่แย่ลง ปริมาณน้ำฝนน้อยลงกว่าเดิม ทำให้พวกเขาต้องเลื่อนช่วงเวลาการปลูกข้าวให้เร็วขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจจะไม่มีน้ำใช้ในภายหลัง หรือบางคนก็ตัดสินใจเลื่อนการปลูกข้าวเป็นฤดูอื่นแทน เลวร้ายกว่านั้น ชาวบ้านไม่น้อยถึงกับต้องละทิ้งพื้นที่ดังกล่าวที่ครอบครัวเคยใช้ชีวิตอยู่มาหลายชั่วอายุคน

แม้ชาวซาปาจะไม่ได้ปลูกข้าวเพื่อค้าขายเป็นหลัก แต่เมื่อไม่สามารถทำนาได้เหมือนเดิม พวกเขาก็ต้องหาอาชีพอื่นมาทดแทน ส่งผลให้ซาปากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีกิจกรรมต้อนรับผู้มาเยือนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินเที่ยวรอบบริเวณทุ่งนา ทริปปีนภูเขาที่สูงที่สุดในอินโดจีน ฟานซีปัง (Fansipan Mountain) ที่สูงถึง 3,143 เมตร นอกจากนี้อดีตชาวนาในซาปายังหันมาเปิดบ้านตัวเองให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์เพิ่มมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้คน จากการใช้ชีวิตอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง ก็เปลี่ยนเป็นทำงานหาเงินสร้างรายได้แทน

ผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านต่างรู้สึกเป็นกังวลกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ พวกเขาต้องการรักษาวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมตามแบบอนุรักษนิยม ตรงข้ามกับเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสุขกับการทำงาน ตื่นเช้ามาต้อนรับนักท่องเที่ยว พาทัวร์ตามแหล่งสถานที่สำคัญตามธรรมชาติ

เรื่องนี้นำมาสู่ข้อโต้เถียงไม่จบไม่สิ้น ว่าควรทำอย่างไรต่อไป ส่วนหนึ่งคือ พวกเขาไม่อยากให้เทคนิคในการทำนาแบบขั้นบันไดที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานต้องหายไปกับวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยน ฉะนั้น หนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจคือ การหันมาลงทุนทำการเกษตรชนิดอื่นที่สามารถต่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปแล้ว แต่ยังคงสามารถปลูกแบบขั้นบันไดได้เหมือนเดิม

ข้อสรุปจากทางเลือกดังกล่าวนำมาสู่การยื่นมือเข้าช่วยเหลือของรัฐบาล และนี่อาจถือว่าเป็นสัญญาณเตือนว่าสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทวีความรุนแรงเกินกว่าที่คนในพื้นที่จะรับมือไหว

“สำหรับฉันแล้ว ฉันอยากให้ลูกกลับมาปลูกข้าวอีกครั้ง ถึงแม้ว่าตอนนี้พวกเขาจะไปทำงานอย่างอื่นก็ตาม แต่ฉันก็อยากให้เขากลับมาและทำนาดังเคย” ฮมง (Hmong) ชาวบ้านในซาปากล่าวกับสำนักข่าว New York Times


อ้างอิงข้อมูลจาก: nytimes.com
english.vov.vn

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า