‘ซาอุดีอาระเบีย’ คว้าเก้าอี้ประธานแก้ปัญหาสิทธิสตรีแห่ง UN หวังลบภาพจำการกดขี่ทางเพศ

สัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุมสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ในมหานครนิวยอร์ก ได้มีมติเอกฉันท์จากนานาประเทศที่สร้างความรู้สึกช็อกโลก และเกิดเป็นประเด็นวิวาทะในหน้าบทความของสื่อระดับโลกหลายสำนัก นั่นคือ คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women: CSW) มีมติให้อับดุลลาซิส อัลวาซิล (Abdulaziz Alwasil) ทูตซาอุดีอาระเบียประจำองค์การสหประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธาน CSW ต่อจากผู้แทนจากฟิลิปปินส์ ซึ่งจะพ้นตำแหน่งในปีหน้า

อับดุลลาซิส อัลวาซิล (Abdulaziz Alwasil) ทูตซาอุดีอาระเบียประจำองค์การสหประชาชาติ | photo: dam.media.un.org

CSW เป็นองคาพยพหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 45 ประเทศ พันธกิจหลักที่สำคัญคือการชี้ให้โลกเห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันระหว่างอำนาจของเพศชายและเพศหญิงในสังคมโลก และพยายามขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมนั้น โดยมีปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี (Beijing Declaration and Platform for Action) เป็นพิมพ์เขียวในการดำเนินงาน 

ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปฏิบัติต่อผู้หญิงได้ ‘เลวร้าย’ ที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง แต่ผู้แทนของประเทศซาอุฯ ก็กล้าเสนอชื่อตนเองเข้ารับการเลือกตั้งเป็นประธาน CSW 

เราควรต้องตกใจอะไรก่อน ระหว่างการที่ผู้แทนซาอุดีอาระเบียเสนอตนเองเป็นประธาน กับการที่ไม่มีสมาชิก CSW ประเทศใดออกมาคัดค้าน จนทำให้ประเทศที่มีภาพจำของการกดขี่ทางเพศอย่างซาอุฯ ได้ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการองค์กรระดับโลกที่มุ่งปกป้องและส่งเสริมสิทธิสตรี

มติเอกฉันท์ เมื่อไม่มีใครค้าน เท่ากับทุกคนเห็นด้วย

“ผมไม่ได้ยินเสียงคัดค้าน ดังนั้น มติที่ประชุมตามนี้” เสียงประกาศของอันโตนิโอ มานูเอล แลกดามิโอ (Antonio Manuel Lagdameo) ประธาน CSW คนปัจจุบัน ถามต่อที่ประชุมใหญ่ CSW ในการประชุมประจำปี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่ามีสมาชิกประเทศใดคัดค้านการเสนอตัวเองของ อับดุลลาซิส อัลวาซิล จากประเทศซาอุดีอาระเบียในการสมัครตำแหน่งประธาน CSW ต่อจากเขาหรือไม่

อันโตนิโอ มานูเอล แลกดามิโอ (Antonio Manuel Lagdameo)

เงียบ…ไม่มีใครคัดค้าน และในจำนวน 45 ประเทศสมาชิก ไม่มีใครเสนอชื่อผู้แทนประเทศอื่นขึ้นมาเป็นคู่แข่งขัน ตำแหน่งประธาน CSW จึงตกเป็นของซาอุดีอาระเบียอย่างง่ายดาย

ก่อนหน้านี้มีการคาดหมายกันว่า ประเทศที่น่าจะได้ขึ้นมารับไม้ต่อจากฟิลิปปินส์จะเป็นบังคลาเทศ แต่ซาอุดีอาระเบียกลับเสนอชื่อตัวเองเข้ามา เดอะ การ์เดียน สื่อจากเกาะอังกฤษให้ข้อมูลว่า ซาอุดีอาระเบียพยายามล็อบบี้ประเทศสมาชิกเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้ง โดยตั้งใจจะใช้เวที CSW เป็นพื้นที่สร้างภาพลักษณ์ใหม่เกี่ยวกับสิทธิสตรีของประเทศตนเอง 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ซาอุดีอาระเบียพยายามแสวงหาเวทีระหว่างระเทศ เพื่อสร้างภาพจำใหม่เกี่ยวกับผู้หญิงในประเทศตนเองให้กับประชาคมโลกรับรู้ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซาอุดีอาระเบียเพิ่งได้รับการอนุมติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเทนนิสหญิงรอบสุดท้ายของสมาคมเทนนิสอาชีพหญิง (Women’s Tennis Association) แต่ที่สุดก็ต้องเผชิญกับเสียงคัดค้าน

สถานภาพสตรีในซาอุดีอาระเบีย 

“ใครก็ตามที่นั่งอยู่บนเก้าอี้นี้ (ประธานคณะกรรมาธิการ CSW) ซึ่งตอนนี้คือซาอุดีอาระเบีย ถือว่าอยู่ในตำแหน่งสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อการวางแผน การตัดสินใจ การเข้าร่วม และการมองไปข้างหน้าของคณะกรรมาธิการ…ตอนนี้ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้นำ แต่เรื่องราวเกี่ยวกับสิทธิสตรีของประเทศนั้นช่างเลวร้าย และห่างไกลจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการอย่างยิ่ง” เชอรีน เทดรอส (Sherine Tadros) รองผู้อำนวยการองค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว หลังรับรู้มติช็อกโลกของ CSW 

องค์กรนิรโทษกรรมสากลและองค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch เป็น 2 องค์หลักที่ออกมาคัดค้านผลการลงมติของ CSW อย่างชัดเจน

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน หญิงสาวในซาอุดีอาระเบียไม่สามารถแต่งงานได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองที่เป็นผู้ชายในครอบครัวก่อน หญิงสาวที่แต่งงานแล้วหากปฏิเสธการมีเซ็กส์กับสามี หรือปฏิเสธการเดินทางไปไหนมาไหนกับสามี โดยไม่มี ‘เหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมาย’ สามารถถูกสามีนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินได้ เพราะที่ซาอุดีอาระเบียไม่ว่าผู้หญิงจะอายุเท่าไรต้องอยู่ภายใต้ ‘การคุ้มครอง’ ของเพศชายไปตลอด

ตั้งแต่ปี 1990 ที่ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในซาอุดีอาระเบีย เริ่มรณรงค์ให้ผู้หญิงทำใบขับขี่ได้ เพื่อให้พวกเธอสามารถขับรถและเดินทางได้ด้วยตนเอง จนปี 2018 การเคลื่อนไหวของพวกเธอจึงประสบความสำเร็จเมื่อรัฐบาลซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อห้ามผู้หญิงทำใบขับขี่ แต่ช่วงเวลาระหว่างปี 1990-2018 มีนักเคลื่อนไหวจำนวนมากถูกจับกุมด้วยหาที่เนื่องด้วยการรณรงค์ให้ผู้หญิงมีสิทธิขับรถ จนถึงปี 2021 ยังคงมีนักเคลื่อนไหวที่ถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำด้วยเหตุผลนี้

“ประเทศที่จำคุกผู้หญิงเพียงเพราะสนับสนุนสิทธิของพวกเธอเอง ไม่ควรขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กรที่ทำงานเพื่อสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศของสหประชาชาติ ทางการซาอุดีอาระเบียควรแสดงให้เห็นว่าตนเองไม่สมควรได้รับเกียรตินี้โดยสิ้นเชิง แล้วสมควรปล่อยตัวนักปกป้องสิทธิสตรีที่ถูกคุมขังทุกคน ยุติสังคมที่ให้เพศชายเป็นผู้ปกป้อง และให้สิทธิหญิงเท่าเทียมกับชาย” คือความเห็นของหลุยส์ ชาร์บอนนูว์ (Loius Charbonneau) ผู้อำนวยการสหประชาชาติประจำ Human Rights Watch ต่อการที่ซาอุฯ ได้รับการลงมติให้เป็นประธาน CSW

ขณะที่ทางการซาอุดีอาระเบีย มองประเทศตนเองว่ากำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมที่ทุกคนได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน โดยอ้างถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘Saudi Vision 2030’ ที่มุ่งขับเคลื่อนให้ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ ‘เข้มแข็ง เจริญรุ่งเรือง และมั่นคง ที่หยิบยื่นโอกาสให้ทุกคน’ ซึ่งถูกประกาศเป็นโรดแมปของประเทศมาตั้งแต่ปี 2016 รูปธรรมที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียแสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างทางโอกาสให้กับผู้หญิงได้เท่าเทียมกับผู้ชายคือ การแต่งตั้งเจ้าหญิงรีมา บินท์ บันดาร์ อัล-ซาอุด (HRH Princess Reema bint Bandat al-Saud) เป็นทูตซาอุดีอาระเบียประจำสหรัฐอเมริกา ในปี 2019 นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการที่ประเทศซาอุดีอาระเบียเปิดโอกาสให้ผู้หญิงไม่แตกต่างจากผู้ชาย เช่น จำนวนผู้ได้รับการศึกษาระดับสูงในภาพรวม เมื่อแยกเพศแล้วมีจำนวนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงคือเพศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของประเทศ เช่น ในจำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนในซาอุดีอาระเบีย กว่า 39 เปอร์เซ็นต์ มีผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจ และผู้ประกอบการเหล่านี้ถือเงินสดในมือรวมกันถึง 45,000 ล้านริยัล (ประมาณ 436,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ Saudi Vision 2030 ยังยอมรับและอนุญาตให้มีธุรกิจการออกกำลัง โรงยิม และฟิตเนสสำหรับผู้หญิงได้ โดยในปี 2017 รัฐบาลอนุญาตให้ฟิตเนสสำหรับผู้หญิงเปิดให้บริการเป็นครั้งแรก และได้รับความนิยมอย่างมาก ปัจจุบันมีฟิตเนสแบรนด์ต่างประเทศจำนวนมากเปิดให้บริการในซาอุดีอาระเบีย

เจ้าหญิงรีมา บินท์ บันดาร์ อัล-ซาอุด (HRH Princess Reema bint Bandat al-Saud) | photo: royalcentral.co.uk

เจ้าหญิงรีมา บินท์ บันดาร์ อัล-ซาอุด เป็นบุคคลสำคัญของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ที่ลุกขึ้นมาปกป้องเกียรติยศและศักดิ์ศรีของประเทศในการส่งเสริมสิทธิสตรี โดยมองว่าข้อโต้แย้งที่กล่าวหาว่าประเทศของเธอกดขี่สตรีนั้น ยืนอยู่บนข้อมูลเดิมๆ และเป็นมุมมองที่มองวัฒนธรรมซาอุดีอาระเบียด้วยสายตาที่อิงวัฒนธรรมตะวันตก 

ไม่ว่าเสียงคัดค้านจะดังขึ้นมากแค่ไหน นาทีนี้ถือว่า CSW มีมติให้ซาอุดีอาระเบีย เป็นประธานไปแล้ว โดยจะเริ่มดำรงตำแหน่งในปี 2025 ก้าวต่อไปคือซาอุดีอาระเบีย ต้องแสดงให้โลกเห็นว่าเกียรติยศและโอกาสที่ได้มาท่ามกลางเสียงก่นด่านี้ จะถูกใช้เพื่อพิสูจน์ความตั้งใจจริงในการเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นกับประเทศตนเองจริงแท้แค่ไหน

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า