ซาอุดีอาระเบียถึงคราพลิกผัน อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถยนต์

 

เครดิตภาพ: npr.org / Hasan Jamali/AP

ซาอุดิอาระเบียออกประกาศสำคัญเปลี่ยนแปลงขนบเข้มงวดดั้งเดิม แจ้งว่าทางการจะยกเลิกนโยบายห้ามสตรีขับรถยนต์ที่ดำรงคงอยู่คู่กับสังคมมายาวนาน ซึ่งตลอดมาสิ่งนี้ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์สุดอื้อฉาวบันลือโลกสำหรับแนวปฏิบัติลักษณะกดขี่ข่มเหงสิทธิสตรีที่ไม่มีดินแดนแห่งใดเสมอเหมือน

ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศเดียวในโลกที่ห้ามผู้หญิงขับรถ แม้ว่าถือเป็นเพียงข้อห้ามตามธรรมเนียมและไม่ได้มีปรากฏบันทึกไว้ในกฎหมายฉบับไหนอย่างชัดเจน หากผู้หญิงที่ฝ่าฝืนขับรถในถนนสาธารณะก็เสี่ยงต่อการถูกตำรวจจับและปรับได้ นอกจากนี้ ทางการออกใบอนุญาตขับขี่ให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โทรทัศน์แห่งชาติออกประกาศถึงระเบียบใหม่ที่จะก่อการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกขั้วนี้ว่าจะเริ่มต้นใช้บังคับในเดือนมิถุนายนปีหน้า พร้อมกับออกคำแถลงต่อสื่อมวลชนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา การตัดสินใจของรัฐบาลภายใต้กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอะซิซ อัล สะอูด ครั้งนี้น่าจะเปรียบเสมือนการยอมรับถึงความเสียหายอันหนักหน่วงของภาพลักษณ์ประเทศในทางสากลตลอดเวลาที่ผ่านมา และน่าจะคาดหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยพลิกผันชื่อเสียงในด้านน่าพึงพอใจให้กระเตื้องขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย

อีกด้านหนึ่งของนโยบายใหม่น่าจะเป็นความพยายามเกื้อหนุนเศรษฐกิจโดยรวมเพื่อช่วยให้สตรีชาวซาอุดิสามารถออกทำงานนอกบ้านได้สะดวกขึ้นโดยมีค่าใช้จ่ายน้อยลง ผู้หญิงหลายคนที่ทำงานนอกบ้านจำต้องแบ่งรายได้ของตนว่าจ้างคนขับรถชายหรือไม่ก็ต้องให้ญาติผู้ชายช่วยขับทั้งรับและส่ง สิ่งนี้มีความสำคัญเพราะมาตรการดั้งเดิมทำลายความจูงใจเพื่อการออกทำงานนอกบ้านของพวกผู้หญิงไปเสียแทบหมดสิ้นตลอดมา

ซาอุดีอาระเบียในฐานะเป็นแหล่งกำเนิดอิสลามและมีสถานศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาหลายแห่งมีการปกครองในระบอบกษัตริย์พร้อมกับกฎหมายชารีอะห์ ตลอดเวลาที่ผ่านมาทั้งเจ้าหน้าที่ทางการ นักบวช และผู้นำชาย หลายต่อหลายคนออกมาปกป้องธรรมเนียมดั้งเดิมที่ห้ามสตรีขับรถเอง อ้างว่าเป็นสิ่งไม่เหมาะสมสำหรับวัฒนธรรมซาอุดิ บางคนอ้างว่าเมื่อคนขับรถชายเจอกับผู้หญิงขับรถบนท้องถนนก็อาจออกอาการที่ไม่เหมาะควร ข้อถกเถียงหนึ่งวาดภาพเลยเถิดไปว่าผู้หญิงที่ขับรถอาจสุ่มเสี่ยงต่อการประพฤติผิดครรลองศีลธรรม และอาจทำให้ระบบครอบครัวตามแบบซาอุดิต้องล่มสลาย

เมื่อไม่นานมานี้ ชีค ซอเลห์ อัล-โลไฮดอน ปราชญ์มุสลิมชื่อดังแห่งซาอุดีอาระเบีย สร้างความฮือฮาครั้งใหญ่เมื่อให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นว่าผู้หญิงไม่สมควรได้รับอนุญาตให้ขับรถ เพราะการขับขี่ยานพาหนะจะทำให้ “รังไข่เคลื่อน” ชี้ว่าหน้าที่หลักที่สตรีซาอุดิพึงกระทำคือการผลิตทายาทเพิ่มจำนวนประชากรมุสลิม มิใช่การออกมาเรียกร้องสิทธิในการกระโจนขึ้นสู่ที่นั่ง “หลังพวงมาลัย”

สิ่งที่ อัล-โลไฮดอน ระบุว่าเมื่อผู้หญิงประสบภาวะรังไข่เคลื่อนแล้วอาจก่อผลกระทบสืบเนื่องไปถึงความพร้อมเพื่อเจริญพันธุ์ ทำให้เด็กที่เกิดมาจากสตรีที่ขับรถเหล่านี้ กลายเป็นเด็กที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังในอนาคต ต่างๆ นานา นั้น ไม่เคยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ สนับสนุนเลย ทั้งที่การขับรถของสตรีทั่วทั้งโลกก็มีอยู่มานานแล้วนับร้อยปีโดยไม่มีข้อห้ามใดทางการแพทย์ไม่ว่าในประเทศไหนทั้งสิ้น

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ‘ผู้รู้ดี’ อีกคนหนึ่งของสังคมซาอุดิ ก็ออกมาแถลงชี้แจงเพื่อคัดค้านเสียงเรียกร้องของคนจำนวนหนึ่งเพื่อให้ยกเลิกข้อห้ามตามธรรมเนียมโดยบอกว่า ผู้หญิงมีสภาพทางจิตที่ไม่สามารถควบคุมรถได้ดี และจะก่อเรื่องวุ่นวายบนถนนมากมายมหาศาลจนเป็นปัญหาของประเทศ ซึ่งสภาพการณ์ตามจริงในประเทศอื่นไม่เคยมีสถิติใดๆ สนับสนุนแนวคิดเพ้อเจ้อนี้

ผู้หญิงซาอุดิจำนวนหนึ่งเคยออกแรงประท้วงเพื่อต่อต้านมาตรการห้ามที่ไม่เท่าเทียมทางเพศอันสุดเฉิ่มเชยในสายตานานาชาตินี้มาบ้างแล้วประปราย เมื่อปีที่แล้ว โลเจน อัล-ฮาธโลว นักเคลื่อนไหวสตรีชาวซาอุดีอาระเบียซึ่งเคยฝ่าฝืนคำสั่งห้ามผู้หญิงขับรถจนถูกทางการคุมตัวกว่าสองเดือนถูกจับกุมเป็นครั้งที่สอง โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลบอกว่า เธอถูกรับตัวมาจากท่าอากาศยานนานาชาติคิงฟาห์ดในเมืองดัมมาน และไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อทนายหรือสมาชิกครอบครัว เมื่อปี 2014 ฮาธโลว ถูกจับขณะขับรถข้ามจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้ามายังซาอุดีอาระเบีย และถูกจำคุกเป็นเวลา 73 วัน สตรีคนอื่นๆ ที่ฝ่าฝืนขับรถก็ถูกจับกุมโดยมีโทษปรับบ้าง จำคุกระยะสั้นบ้าง

เครดิตภาพ: answersafrica.com

ตลอดเวลายาวนาน กลุ่มทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่งพยายามรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์สุดล้าหลังนี้ในซาอุดีอาระเบียโดยเฉพาะ และโดยทั่วไปนอกเหนือจากการไม่สามารถขับรถยนต์ตามลำพัง สตรีชาวซาอุดิยังต้องถูกจำกัดความเคลื่อนไหวตนเองด้วยข้อห้ามอีกสารพัด เช่น การต้องได้รับคำอนุญาตจาก ‘ผู้คุ้มครอง’ (ชาย) ในเรื่องต่างๆ การออกจากบ้านโดยปราศจากพี่เลี้ยง การแต่งกายและแต่งหน้าเพื่อความสวยงาม การพูดคุยกับผู้ชายที่ไม่ใช่ญาติ ฯลฯ

เมื่อปลายปี 2015 ผู้หญิงซาอุดิได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในประเทศอย่างเท่าเทียมกับผู้ชายเป็นครั้งแรก แม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองครั้งใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย แต่ก็ยังไม่ใช่ความเท่าเทียมที่สำคัญทั้งหมดอย่างที่สตรีทั่วไปสมควรได้รับ

และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้ ทางการซาอุดีอาระเบียเพิ่งยอมโอนอ่อนผ่อนคลายเป็นครั้งแรก อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองแห่งวาระการก่อตั้งประเทศครบรอบ 87 ปี ภายในอัฒจันทร์ใหญ่ของสนามกีฬาแห่งชาติกษัตริย์ฟาฮัด ที่กรุงริยาดห์เมืองหลวง และสนามกีฬาแห่งเมืองเจดดาห์ริมฝั่งทะเลแดง ในงานประกอบด้วยการแสดงรื่นเริงต่างๆ และวงดนตรีหลายรูปแบบ โชว์จุดพลุดอกไม้ไฟ ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นเรื่องฮือฮาครั้งสำคัญระดับประเทศ เพราะไม่เคยมีมาก่อนที่สตรีทั้งหลายจะสามารถเข้าร่วมชมกีฬาหรือการแสดงใดๆ ในสนามขนาดใหญ่ปะปนไปกับเพื่อนร่วมชาติที่เป็นชายได้แบบนั้น

ผู้วิเคราะห์มองว่าการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปเท่าที่เกิดขึ้นมาในซาอุดีอาระเบียเมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้ เนื่องมาจากบทบาทนำของมกุฎราชกุมารเจ้าโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน รัชทายาทของ กษัตริย์ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเจ้าชายได้พยายามก่อร่างแผนงานขนาดใหญ่หลายประการเพื่อปรับปรุงพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม การยอมอนุญาตให้ขับรถในประเทศนี้น่าจะต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจากสังคมภายในอยู่สักหน่อย โดยประเพณีซาอุดีอาระเบียทั่วไปครอบครัวทั้งหลายตกอยู่ในการปกครองลักษณะชายเป็นใหญ่ในแทบทุกมิติของชีวิต ผู้ชายจึงมักใช้อำนาจเหนือกว่าจำกัดอิสรภาพสมาชิกครอบครัวสตรี เนื่องจากผู้หญิงต้องได้รับอนุญาตในการกระทำหลายอย่าง เช่น เดินทางออกต่างประเทศ ทำงาน ไปพบแพทย์ จาก ‘ผู้คุ้มครอง’ ชาย ซึ่งมักจะเป็นบิดา สามี หรือแม้กระทั่งบุตรชาย ข้ออ้างสำคัญที่น่าจะเป็นเหตุให้สตรีสามารถออกขับรถไปด้วยตนเองได้ยากคือ พวกผู้ชายในครอบครัวจะบอกว่า เขาเป็นห่วงว่าหากรถยนต์ไปเกิดขัดข้องขึ้นกลางทางแล้วคนขับผู้หญิงจะทำอะไรได้ เพราะเธอไม่สามารถเสวนาพาทีกับผู้ชายอื่นนอกครอบครัวได้สะดวกมากนัก

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาข้อห้ามเหล่านี้บางประการค่อยคลายความเข้มงวดลงบ้างในบางครอบครัวที่ทันสมัย แต่สำหรับครอบครัวอีกจำนวนมากน่าจะยังเป็นปัญหาใหญ่เพราะไม่มีกฎเกณฑ์หรือกฎหมายใดสามารถขัดขวางผู้ชายชาวซาอุดิได้ ถ้าหากเขาต้องการจะจำกัดอิสรภาพของภรรยาหรือบุตรสาวขึ้นมาจริงๆ แล้วพระราชกฤษฎีกาอนุญาตให้สตรีขับรถฉบับใหม่นี้ก็ยังไม่มีข้อความกระจ่างชัดเพียงพอให้ตีความว่าผู้หญิงซาอุดิยังคงจะต้องขอคำอนุญาตจากผู้ชายในครอบครัวเพื่อจะเอาไปทำใบขับขี่หรือไม่ จึงยังต้องรอดูผลบังคับในทางสังคมของมันต่อไปเมื่อถึง 24 มิถุนายน 2018 ตามที่ระบุไว้

เท่าที่วิเคราะห์จากกระแสที่ผ่านมาผู้คนหนุ่มสาวสมัยใหม่และคนวัยทำงานโดยทั่วไปในประเทศน่าจะรู้สึกยินดีกับมาตรการเพื่อการเปลี่ยนแปลงอันสำคัญครั้งนี้ เพราะคนเหล่านั้นมองว่านี่เป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะอำนวยให้การใช้ชีวิตทั่วไปในประเทศค่อยๆ ปรับตัวให้เขยิบเข้าใกล้เคียงกับสิ่งปกติในสังคมของประเทศอื่นอีกสักหน่อย

พระราชกฤษฎีกากล่าวว่า ‘สภาแห่งปราชญ์อาวุโส’ (Council of Senior Scholars) สำนักนักบวชอันทรงความสำคัญสุดยอดแห่งราชอาณาจักรอันประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับแต่งตั้งโดยกษัตริย์ ได้ให้ความเห็นชอบกับมาตรการอนุญาตให้สตรีขับรถครั้งนี้ โดยกำชับว่าต้องเป็นไปตามกฎหมายชารีอะห์ด้วย

ทางการกำหนดจะจัดตั้งคณะกรรมระดับกระทรวงขึ้นเพื่อศึกษาถึงความจำเป็นด้านต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการใหม่ สิ่งหนึ่งที่หลายคนคิดขึ้นมาเบื้องต้นคือการที่ต้องออกระเบียบและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ใช้วิธีการปฏิบัติอันถูกควรเมื่อเผชิญกับสุภาพสตรีหลังพวงมาลัยบนท้องถนน และใช้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เหมาะสมกับผู้หญิงแปลกหน้าในที่สาธารณะซึ่งตำรวจซาอุดิจำนวนมากไม่เคยรู้เหนือรู้ใต้อย่างใดกับประสบการณ์ลักษณะนี้มาก่อน

สตรีนักเคลื่อนไหวชาวซาอุดิ มานัล อัล-ชาริฟ ผู้ซึ่งก่อการประท้วงธรรมเนียมเก่าด้วยการขับรถยนต์แล้วถ่ายวิดีโอตนเองลงเผยแพร่ใน YouTube เมื่อปี 2011 ออกแถลงการณ์ต้อนรับมาตรการใหม่ด้วยความยินดี เธอเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการต่อต้านเรียกร้องให้ยกเลิกข้อห้ามสตรีขับรถยนต์ เคยถูกจับระหว่างการประท้วง ต่อมาเธอออกหนังสือเล่าเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้เธอพักอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย มานัล อัล-ชาริฟ แถลงว่า “การยกเลิกข้อห้ามนี้คือความสำเร็จส่วนหนึ่ง แต่สตรีทั้งหลายยังต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎเกณฑ์ ‘ผู้คุ้มครอง’ อันยิ่งใหญ่สำคัญของประเทศนี้อยู่ดี การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคจึงยังคงอยู่ห่างไกลมากมายจากจุดหมายปลายทาง”

โลเจน อัล-ฮาธโลว นักเคลื่อนไหวสตรีซึ่งเคยฝ่าฝืนคำสั่งห้ามผู้หญิงขับรถแล้วถูกจำคุกเป็นเวลา 73 วัน ส่งข้อความสั้นลงในทวิตเตอร์ “ขอบคุณพระเจ้า!”


อ้างอิงข้อมูลจาก:
BBC UK
BBC (ไทย)
Huffington Post
The Guardian
The Independent
www.news.com.au
www.nytimes.com
www.washingtonexaminer.com

 

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า