เรื่อง/ภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล
เพื่อสร้างพื้นที่ถอดสรุปบทเรียนและสังเคราะห์ความรู้ในการจัดการอาคาร และขับเคลื่อนเพื่อความมั่นคงทางอาหารเพื่อให้มีการนำประสบการณ์ที่ดีและประสบผลสำเร็จในการนำไปใช้ และขยายผลการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการจัดระบบอาหารแก่ชุมชน เครือข่ายสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร BIOTHAI และ สสส. จึงได้ร่วมกันจัดงาน ‘สมัชชาความมั่นคงทางอาหาร 2561’ ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 2561 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือประเด็นในเรื่องการจัดการอาหารโรงเรียนและชุมชน ในหัวข้อ ‘ปรับอาหารโรงเรียน ขยายตลาดทางเลือก เปลี่ยนประเทศไทย?’ โดยมีเครื่องหมายคำถามเสมือนการย้อนกลับมายังพวกเราในฐานะคนไทย ในฐานะพ่อแม่ และผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนว่าจะเป็นไปได้ไหม? จะเปลี่ยนประเทศไทยได้ไหม? จากการขยายตลาดทางเลือกและการปรับอาหารโรงเรียน
เพื่อจะตอบคำถามนี้ ภายในงานจึงมีการจัดวงเสวนาแยกย่อยหลายวง สองในวงเสวนาที่น่าจะตอบคำถามต่อประเด็นของความเป็นไปได้อยู่ที่ หนึ่ง-วงเสวนาว่าด้วยบทเรียนและแนวทางจัดการความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียน เพื่อสรุปบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมา สอง-นำเสนอนโยบายการจัดการอาหารโรงเรียน เพื่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจท้องถิ่น ที่ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นในชุมชน แต่ยังรวมถึงการสร้างสุขภาพโภชนาการให้แก่อนาคตของชุมชน ที่จะกลายไปเป็นอนาคตของประเทศอย่างเด็กและเยาวชนอีกด้วย
งานเชิงประเด็นนโยบายสู่การจัดการ
เพลินพิศ หาญเจริญวนะภูษิต จากสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในโครงการประมวลองค์ความรู้จากการดำเนินงานตามรอยพระยุคลบาท พัฒนาอาหาร โภชนาการและสุขภาพเด็กในโรงเรียน นำเสนอวิดีทัศน์ที่บอกเล่าเรื่องราวของการดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เอาไว้ว่า ด้วยความที่ทรงมองเห็นความสำคัญของสุขภาพของเด็กยากจนในโรงเรียนต่างๆ พระองค์จึงนำพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มาใช้ในการทรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพโภชนาการในโรงเรียนยากจนต่างๆ จากโครงการอาหารกลางวันที่เป็นโครงการเริ่มแรกได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้กลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวม ครอบคลุมไปถึงเรื่องสุขภาพ โภชนาการ และสุขภาพอนามัยอย่างครบวงจร
“การพัฒนาสุขภาพอนามัยอย่างครบวงจรประกอบไปด้วยแปดองค์ประกอบ หนึ่ง-เกษตรในโรงเรียน สอง-สหกรณ์นักเรียน สาม-การจัดการบริหารอาหารของโรงเรียนผ่านร้านสหกรณ์นักเรียนนำมาประกอบอาหารกลางวัน สี่-การติดตามภาวะโภชนาการ ห้า-การพัฒนาสุขนิสัยของนักเรียน หก-การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนพัฒนาทักษะการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้ถูกลักษณะอนามัย เจ็ด-การจัดบริการสุขภาพ แปด-การจัดการเรียนรู้ เกษตร อาหาร และสุขภาพเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องเกษตรยั่งยืน โภชนาการและสุขภาพอนามัย โดยมีหัวใจสำคัญของพระองค์คือให้เด็กได้ลงมือทำด้วยตัวเอง”
เพลินพิศบอกเล่าต่อจากการลงไปทำงานในพื้นที่ภายใต้โครงการ ‘เด็กไทยแก้มใส’ ทำให้เห็นปรากฏการณ์ของโรงเรียนภายใต้แปดองค์ประกอบของการพัฒนาสุขภาพอนามัยที่แม้บางโรงเรียนจะยังไม่ได้พัฒนาครบทั้งแปดองค์ประกอบ แต่การดำเนินรอยตามพระยุคลบาทย่อมหมายถึงการดำเนินรอยตามพระราชดำริที่ต้องการให้การพัฒนาขึ้นอยู่กับสภาพตามบริบทของโรงเรียนนั้นๆ ด้วย ทำให้ระดับความสำเร็จของแต่ละโรงเรียนจะแตกต่างกันไปขึ้นกับต้นทุนของโรงเรียน
“ทีนี้เราก็เลยมาดูว่าสิ่งที่สำคัญของโครงการของพระองค์ท่าน คือการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งเป็นตัวหลักนะคะ เพราะเมื่อทานอิ่มแล้วก็ต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย อาหารที่จะทานจะต้องถูกสุขลักษณะอนามัย” เพลินพิศกล่าว ก่อนจะเสริมว่า ปัจจัยความสำเร็จของโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการตามพระราชดำริหรือโครงการเด็กไทยแก้มใสอยู่ที่โรงเรียนนั้นๆ ศรัทธาในแนวทางของพระองค์ท่านอยู่แล้วเป็นทุนเดิม รวมถึงมีความเข้าใจในแนวทางพระราชดำริของพระองค์ท่าน
“ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ โครงการของพระองค์ท่านเน้นเด็กให้เป็นผู้ปฏิบัติงานเอง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยผู้บริหารของโรงเรียนและบุคลากรต้องมีความเข้าใจในงานที่จะทำ ส่วนสำคัญอีกอันหนึ่งคือชุมชนและภาคีเครือข่าย”
แม้ไม่ได้เป็นครู แต่ในฐานะนักละครเพื่อการพัฒนาเยาวชน ศศิธร คำฤทธิ์ จากโครงการ ‘เชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก’ ก็มองเห็นถึงความสำคัญของโภชนาการอาหารที่ถูกสุขอนามัยเช่นเดียวกัน หลังจากเมื่อสี่ปีก่อนได้รับการติดต่อจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลกให้ทำการสื่อสารด้วยละครไปยังเด็กให้ปรับเปลี่ยนความคิดมากินผัก
“เราใช้กระบวนการละครในช่วงเริ่มต้นเพื่ออยากจะดูว่าจริงๆ แล้วเด็กๆ เขากินอะไร เป็นปัญหาไหม ถ้าเราไปพูดคุยกับเด็กและครู เราจะไม่ได้คำตอบที่เป็นจริงสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเราใช้กระบวนการละคร เราจะได้รับรู้ความรู้สึกของเด็กจริงๆ ว่าเด็กชอบกินอะไร และไม่ชอบกินอะไร”
ในระยะเริ่มต้นของโครงการที่ดำเนินงานอยู่ในพื้นที่เชียงใหม่ ศศิธรบอกเล่าว่า ก่อนจะลงไปทำงาน ได้มีการศึกษาจนพบว่าการดำเนินงานเรื่องอาหารกลางวันในโรงเรียนแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ หนึ่ง-การจ้างเหมา โรงเรียนจะใช้วิธีเหมาให้ผู้ผลิตเป็นคนดำเนินการเองทั้งหมด ทั้งวัตถุดิบตลอดจนกระบวนการผลิต ด้วยวิธีการนี้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบได้ เนื่องจากเป็นการจ้างเหมาทั้งหมด สอง-คุณครูจะเป็นคนปลูกผักนำมาประกอบอาหาร ซึ่งกลุ่มนี้จะทำในศูนย์เด็กเล็กที่มีจำนวนเด็กไม่มากนัก และกลุ่มที่สาม ซึ่งจะเป็นกลุ่มพ่อครัว/แม่ครัวที่จะรับซื้อวัตถุดิบจากทั้งชุมชนและตัวโรงเรียนเองนำมาประกอบอาหาร ศศิธรจึงตัดสินใจว่าจะทำงานกับกลุ่มที่สามเป็นหลัก เพราะเป็นผู้กำหนดทั้งในส่วนของเมนูและวัตถุดิบโดยตรง
โครงการ ‘เชฟน้อยกินเปลี่ยนโลก’ จึงได้เกิดขึ้น
เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนลิ้นเด็กในวัย ป.4-ป.6 ให้รู้จักการกินผักมากขึ้น ศศิธรนำพาเด็กไปยังแปลงปลูกผักอินทรีย์ของเกษตรกรในพื้นที่ที่ทำการเกษตรเรื่องนี้ เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้ว่านอกจากผักกาดขาว คะน้า แล้วยังมีผักอินทรีย์อื่นๆ อีก ก่อนจะนำมาสู่การสอนให้เด็กรู้จักปลูกผักในที่สุด และเมื่อเด็กรู้จักการปลูกผักเอง เด็กก็จะกินผักที่พวกเขาปลูกเองเช่นกัน
ทว่าการปลูกฝังให้เด็กกลายเป็นเชฟน้อย ในมุมของศศิธรแล้ว ลำพังแค่เด็กยังไม่พอ เพราะถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับโรงเรียน และครู ซึ่งเป็นผู้กำหนดเรื่องอาหารในโรงเรียนแล้ว การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ศศิธรจึงเกณฑ์ครูและแม่ครัวในโรงเรียนมาพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันกับเด็กๆ จนเกิดความเข้าใจร่วมกันในที่สุด
“เราขยายแนวคิดเรื่องการกินผักปลอดสารพิษตามฤดูกาลโดยใช้ละครเร่ชั้นประถมฯ เร่ไปตามโรงเรียนอนุบาล ไปตามชุมชน แล้วตอนนี้ปรากฏการณ์ที่เห็นก่อนช่วงที่เราจะทำโครงการ พื้นที่ในการปลูกกินเองในโรงเรียนมีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์นะคะ การจองแปลงปลูกไม่เคยมีเกิดขึ้นเลย อีก 90 เปอร์เซ็นต์คือผักที่ซื้อมาจากตลาดทั่วๆ ไป หรือตลาดกลางของจังหวัดเชียงใหม่ พอมาปัจจุบันนี้พื้นที่ในการปลูกมากขึ้น กระจายไปตามแปลงปลูกต่างๆ รวมถึงของพ่อแม่ด้วย แม้จะยังไม่ได้ทุกวัน บางโรงเรียนอาจจะได้แค่วันพฤหัส บางโรงเรียนได้แค่พุธกับศุกร์ แต่หลังจากเราไปทำงานร่วมกับเครือข่ายฯ เราก็ได้มีการติดต่อเพื่อซื้อผักเพิ่มมากขึ้น”
ถอดบทเรียนจากสงขลาสู่กรุงเทพฯ: บทเรียนการจัดการจากสองโรงเรียน
โรงเรียนจองถนน
หัตถยา เพชรย้อย ผอ.โรงเรียนเทศบาลจองถนน จังหวัดพัทลุง บอกเล่าบทเรียนและแนวทางการจัดการความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนของตนที่ตั้งอยู่ติดทะเลสาบสงขลา ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ราบแอ่งรับน้ำในหน้าฤดูมรสุมเมื่อน้ำทะเลหนุนเอาไว้ว่า “ตอนแรกที่เราไปทำงานด้านความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน เราไปทำความรู้จักกับชุมชน รู้จักกับผู้ใหญ่บ้านในชุมชม การบริโภคอาหารของคนที่นั่น เนื่องจากผู้ปกครองของเด็กๆ ทำอาชีพประมง ดังนั้น สิ่งที่เขาจะหาได้ง่ายที่สุดก็คือปลา สมมุติว่ามีแกงในงานต่างๆ ก็จะต้องมีปลาท้องถิ่นที่ดังที่สุด คือปลาหัวโม่ง บางท่านอาจจะเคยได้ยินก็คือคล้ายๆ กับปลากลดน่ะค่ะ ที่นั่นแกงจะไม่ใส่ผัก แกงปลาอย่างเดียว อาหารของคนในชุมชนจะเป็นอาหารที่ไม่มีผัก”
เมื่อลักษณะอาชีพของผู้ปกครองนักเรียนส่งผลมาสู่โภชนาการที่ไม่ครบถ้วน เนื่องจากพืชผักเป็นสิ่งที่หาได้ยากในพื้นที่เทศบาลจองถนน ดังนั้นหัตถยาจึงไม่เคยโทษผู้ปกครองและชุมชน อีกทั้งปัจจัยของการเป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงทะเลหนุน จึงส่งผลให้พื้นที่โดยรอบทั้งชุมชนและโรงเรียนประสบสภาวะน้ำท่วม
“แต่ว่าการศึกษาคือชีวิตใช่ไหมคะ นี่เป็นสิ่งที่ ผอ. พูดกับคุณครู นักเรียน และผู้ปกครอง ว่าการศึกษาคือชีวิต เราต้องอยู่กับธรรมชาติแบบนี้ให้ได้ ไม่ใช่เราไปเอากระสอบทรายมากั้นโรงเรียนเราไม่ให้น้ำท่วม แต่ที่บ้านเด็กน้ำท่วม เด็กก็มาไม่ได้ แต่เราจะทำยังไงเพื่อให้เด็กๆ อยู่ให้ได้”
ทั้งการปรับตัวให้อยู่กับสภาพธรรมชาติและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพวิถีชีวิตในชุมชน หัตถยาบอกเล่าว่าวิธีในการอยู่กับน้ำท่วมคือการเปิดเรียนก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง เมื่อน้ำท่วมก็จะให้เด็กได้หยุดอยู่บ้านกัน พอน้ำลดแล้วจึงกลับมาเรียน ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การบริหารเวลาที่สมดุลกับโรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้เด็กเข้าสอบชั้นมัธยมต้นได้เหมือนกัน
ในขณะที่ด้านโภชนาการอาหาร หัตถยาส่งเสริมให้มีการทำเกษตรในโรงเรียนภายใต้โครงการเด็กไทยแก้มใสด้วย ซึ่งแน่นอนว่าในระยะเบื้องต้น เด็กนักเรียนจะไม่รับประทานผักเลย เพราะคุ้นชินกับวิถีที่ไม่ได้กินผักมาแต่ต้น วิธีแก้ปัญหาของ ผอ.เทศบาลจองถนนจึงกระตุ้นให้เด็กทำการปลูกพืชผัก ให้รู้จักคุณค่าของสิ่งที่จะกินเข้าไป โดยมีการปรับตัวในการปลูกในกระถางบ้าง ในรองเท้าบูทบ้าง เนื่องจากสภาพน้ำท่วม นอกจากนี้แล้ว ยังมีการประกาศในช่วงเข้าแถวเคารพธงชาติว่าเมนูในวันนี้จะนำผักจากชั้นเรียน และกลุ่มของนักเรียนไหนบ้างมาประกอบอาหารเพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ
ทำให้เด็กมีความรู้สึกที่จะอยากกิน เด็กก็จะเริ่มกินไปทีละนิด ทีละนิด จนเด็กยอมกินผักในที่สุด
กระนั้นปัญหายังคงมี นั่นคือแม้ว่าเด็กจะกินผักได้ที่โรงเรียน แต่เมื่อกลับไปชุมชนแล้ว เด็กจะไม่กินผักเลย วิธีแก้ปัญหาของหัตถยาคือ ลงไปชุมชน เรียกพ่อแม่ผู้ปกครองมาคุย แล้วแจกจ่ายพืชผักให้นำกลับไปปลูกที่บ้านแต่ละครอบครัว เพื่อสร้างลักษณะนิสัยการกินผักร่วมกันตั้งแต่พ่อแม่จนถึงเด็ก กระทั่งเด็กในโรงเรียนเทศบาลจองถนนกลายเป็นเด็กที่กินเก่งที่สุด
“จนตอนนี้ทำอาหารอะไรที่เป็นผัก เด็กกินได้หมดทุกอย่างแล้ว”
โรงเรียนปัญโญทัย
แม้บริบทของพื้นที่จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างโรงเรียนติดชายทะเลที่มีน้ำท่วมอยู่เนืองๆ กับโรงเรียนในกรุงเทพฯ มหานครที่หนีไม่พ้นปัญหาคลาสสิกในเรื่องรถติดชั่วนาตาปี แต่ นพ.พร พันธุ์โอสถ ผอ.โรงเรียนปัญโญทัย ก็กล่าวว่า ปัญหาของทั้งสองโรงเรียนที่มีเหมือนกันคือ ปัญหาในเรื่องโภชนาการอาหาร ปัญหาในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้น
“เวลาเราพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อันดับแรกเราอาจจะนึกถึงเรื่องปริมาณ อันดับต่อไปคือคุณภาพของโภชนาการ แต่กับปัญโญทัยตั้งคำถามจากสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ว่าอาหารที่เรามีให้กับเด็กมันปลอดภัยจริงหรือเปล่า”
นพ.พรไม่ปฏิเสธว่าในระยะแรกก่อนการเริ่มต้นโครงการความมั่นคงทางอาหาร โรงเรียนปัญโญทัยเองก็ไม่ต่างจากอีกหลายโรงเรียนที่ใช้วัตถุดิบที่สุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากสารเคมี ยากำจัดศัตรูพืชต่างๆ ที่ทำให้เกิดคำถามว่า กับสารเคมีที่มีศักยภาพในการกำจัดแมลงและฆ่าหญ้าเหล่านั้นมาเข้าสู่ร่างกายของเด็กและเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของประเทศแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
มันเปรียบเสมือนกับว่าเราได้ให้ยาพิษแก่พวกเขาวันละน้อยวันละน้อยหรือเปล่า ซึ่งก็มีแนวคิดที่บอกว่าเราก็อยู่กับยาฆ่าแมลงเหล่านี้มาตั้งนานแล้ว ไม่เป็นอะไรหรอก โอเค สมมุติว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าถามกลับว่าไม่ใช่ยาฆ่าแมลงก็ได้ แต่เรารู้ละว่าเป็นยาพิษ แล้วเราใส่ลงไปในอาหารทีละนิด ทุกวันๆ เราจะกินหรือเปล่า
จากจุดเริ่มต้นของคำถามเมื่อ 20 ปีก่อนที่โรงเรียนปัญโญทัยยังเป็นโรงเรียนเล็กๆ และไม่สามารถจ้างแม่ครัวมาทำอาหารเองได้ รวมถึงกำหนดเมนูที่รวมไปถึงวัตถุดิบต่างๆ ที่จะนำมาประกอบอาหาร แนวคิดในเรื่องอาหารปลอดสารเคมีในห้วงเวลานั้นนับได้ว่ายังเป็นเพียงระยะตั้งไข่เท่านั้น วิธีการแก้ปัญหาของ นพ.พร ก็คือการหาแหล่งผลิตผักที่ปลอดสารพิษ ซึ่งหาได้ยาก และส่วนมากก็มีแต่ผักพื้นบ้าน ทำให้เมนูอาหารไม่หลากหลาย และทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย อีกทั้งต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ที่อยากให้ลูกได้กินเนื้อมากกว่า ซึ่ง นพ.พรก็ชี้แจงให้เข้าใจถึงการนำผักอินทรีย์มาใช้ประกอบอาหาร ทั้งการที่ยังเป็นวัตถุดิบที่หายาก และการที่มื้อกลางวันให้เด็กได้กินอาหารที่มีแต่ผักบ้าง พ่อแม่ผู้ปกครองจึงยินยอมโอนอ่อนตาม กระทั่งยอมให้ใช้พื้นที่ในบ้านตัวเองเป็นพื้นที่รับผักจากเกษตรกรที่จะต้องมาส่งให้กับโรงเรียนตั้งแต่ตีสี่ ซึ่งไม่มีใครอยู่รอรับในช่วงเวลานั้น
จากจุดเริ่มต้นกระทั่งถึงปัจจุบันที่ความคิดในเรื่องผักอินทรีย์ได้กระจายไปมากขึ้นกว่า 20 ปีก่อน นพ.พร ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิธีกินผักให้เด็กแค่หนึ่งมื้อในโรงเรียน แต่ยังรับซื้อผักจากเกษตรกรเพื่อขยายตลาดต่อไปยังครอบครัวของเด็กนักเรียนให้ได้กินผักทั้งสามมื้อ ตลอดทั้งปี ครอบครัวของเด็กนักเรียนได้ประโยชน์ เกษตรกรเองก็เช่นกัน
ถ้าเรามองว่าเด็กคืออนาคตของชาติ การที่เราลงทุนในเรื่องโภชนาการอาหารที่ดีต่อเด็กก็เท่ากับเราลงทุนให้กับอนาคตของประเทศและสังคมให้เป็นสังคมที่ดี ประเทศที่ดี
นโยบายการจัดการอาหารเพื่อความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร
หนึ่งในเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร และเป็นผู้พยายามผลักดันให้เกิดการตระหนักในพิษภัยจากสารกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะสารที่กำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าจะมีมติให้มีการยกเลิกหรือใช้งานต่อไปของคณะกรรมการวัตถุอันตราย วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิถี จึงนำเสนอการปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดการอาหารในศูนย์เด็กเล็กและในโรงเรียนเพื่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก โดยเริ่มต้นจากการกล่าวถึงประสบการณ์ทำงานที่เชื่อมโยงกับชุมชน ขณะที่อีกด้านพยายามขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย
“เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการที่เราจะอธิบายต่อฝ่ายนโยบายว่าสิ่งที่เราเสนอมันมีความสำคัญ มันทำได้ มันมีเหตุและผล และประชาชนจะสนับสนุนได้อย่างไร อันนี้ต้องไปด้วยกัน”
การพยายามนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสนใจเป็นสิ่งที่วิฑูรย์มองว่าสำคัญยิ่งกว่าการพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายนโยบายยอมรับและสนใจ เพราะหากประชาชนสนใจแล้ว ฝ่ายนโยบายย่อมให้ความสนใจในที่สุด
ด้วยเหตุนั้น งานที่จัดภายใต้ธีมของความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นการพยายามเรียบเรียงประเด็นสองสามเรื่อง ตั้งแต่เศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่น การจัดการอาหารในโรงเรียน การสร้างตลาดทางเลือก เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการค้นพบสารตกค้างในอาหารเกินค่ามาตรฐานสูงมาก จนนำไปสู่การผลักดันให้มีการยกเลิกสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง อย่าง Chlorpyrifos ที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ซึ่งในวันที่ 20 มีนาคม ที่จะถึงนี้จะมีมติออกมา ซึ่งจะทำให้มีการจัดการที่ต้นทางโดยไม่ต้องมาเหนื่อยกับการจัดการที่ปลายทางในส่วนของเกษตรกร
พาราควอต จากท่าเรือสู่ครรภ์มารดา
นอกจาก Chlorpyrifos สารตั้งต้นทางเคมีอย่าง พาราควอต ที่มีอันตรายสูงมาก ก็จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณายกเลิกเช่นเดียวกัน แต่วิฑูรย์มองว่าลำพังแค่การยกเลิกยังไม่เพียงพอ ยังต้องมีมาตรการในการขยายอาหารปลอดภัยออกไป ซึ่งการจัดการอาหารในโรงเรียน และสร้างตลาดทางเลือกเป็นมาตรการที่ว่านั้น
นอกจากนี้จากผลการวิจัยยังพบว่า ผลกระทบจากพาราควอตกับการพัฒนาทางสมองของเด็กที่เติบโตมาในบ้านเด็กกำพร้าที่มีระดับการพัฒนาทางสมองไม่ต่างจากผู้ป่วยโรคพาร์คินสันแทบไม่แตกต่างกันแต่อย่างใดเลย
“เรื่องที่ไม่มีการพูดถึงคือ ผลกระทบของสารกำจัดศัตรูพืชมีผลต่อการพัฒนาการทางสมองของเด็ก ถ้าดูการศึกษาจากไทยแพนเมื่อปี 2559 จาก 300 ตัวอย่างโดยใช้ห้องแล็บที่มีมาตรฐานจะพบว่าสารเคมีอย่าง Carbendazim ตกค้างอยู่ในตัวอย่างถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ ในอเมริกาได้ยกเลิกไปแล้ว ขณะที่ Chlorpyrifos ทั่วโลกได้ทำการยกเลิกไปแล้ว ไม่ให้มีการใช้ในผักและผลไม้ พบสัดส่วนอยู่ที่ 27 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งสองตัวนี้เรากลับพบอยู่ในอันดับหนึ่งและอันดับสอง และ Chlorpyrifos คือเหตุผลที่หลายประเทศแบนเพราะว่ามันมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กนั่นเองนะครับ”
นอกจากสารเคมีทั้งสองตัวแล้ว พาราควอต (Paraquat) ก็เป็นสารเคมีที่พบว่าปนเปื้อนในผักและผลไม้ทั่วไป แต่ไม่เพียงแค่นั้น พาราควอตยังส่งผลกระทบต่อแม่และลูกในครรภ์โดยมีการพบ 17-20 เปอร์เซ็นต์ในเซรั่มจากแม่และในสะดือทารก ขณะที่อีก 54.7 เปอร์เซ็นต์พบในขี้เทาของทารกแรกเกิด
การค้นพบนี้สำคัญและเป็นเรื่องที่ซีเรียสอย่างไร?
เพราะพาราควอตเป็นสารเคมีอันตรายระดับถึงชีวิตหากได้รับการสะสมเข้าไปในร่างกายมากพอ โดยตัวเลขจากการวิเคราะห์ของไทยแพน คณะสาธารณสุขศาสตร์ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีระบุว่า จำนวนผุ้ป่วย 8.2 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตจากการฉีดยากำจัดศัตรูพืชที่มีพาราควอตเจือปน ดังนั้น วิฑูรย์จึงมองถึงความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายที่นำไปสู่กุญแจเกษตรยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารขึ้น
“เหตุผลที่เราต้องเปลี่ยนในเรื่องอาหารของโรงเรียนเพื่อนำไปสู่อาหารที่ปลอดภัยมากขึ้นถูกรองรับด้วยนโยบายระดับชาติสองนโยบายสำคัญ ซึ่งต้องการการปฏิบัติ ณ ปัจจุบันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเห็นภาพใหญ่ร่วมกันในข้อเสนอของเรา ยุทธศาสตร์ที่หนึ่งในแผน 12 ชัดเจนนะครับ ส่งเสริมการผลิต และบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยส่งเสริมมาตรการให้แรงจูงใจทางภาษี การให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรที่ปลูกพืชผักผลไม้เกษตรอินทรีย์ ยุทธศาสตร์ที่สามพูดถึงการเพิ่มพื้นที่เกษตรให้ได้ห้าล้านไร่ และพูดถึงมาตรการการเงินการคลังให้ไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 4 นะครับ อันนี้ชัดเจนเลย ต้องใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเพื่อไปหนุนเสริมสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมทั้งระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งอันนี้คือตัวอย่างในส่วนของนโยบาย”
ประเด็นสุดท้าย วิฑูรย์กล่าวถึงงบประมาณจำนวน 7,000 ล้านบาท* ในการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนทั่วประเทศที่หากมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นการซื้อพืชผักผลไม้ที่เป็นเกษตรอินทรีย์แล้ว ก็จะกลายเป็นส่วนที่ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในระยะยาวต่อพัฒนาการทางสมองของอนาคตชาติอย่างสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกับการลดการใช้สารเคมี การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรที่ในท้ายที่สุดแล้ว การลงทุนของภาครัฐนี้จะได้กลับคืนมาในระดับเดียวกันอยู่แล้ว กล่าวให้ชัดกว่านั้นคือ รัฐแทบไม่ได้เสียอะไรจากการลงทุนในเรื่องเกษตรอินทรีย์
เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2.4 เท่า: เปลี่ยนอาหารกลางวันเด็ก เป็นผลิตผลอินทรีย์สภาพปัญหา
ข้อเสนอเพิ่มงบประมาณต่อหัวจาก 20 บาทเป็น 26 บาท เพื่อจัดซื้ออาหารอินทรีย์ซึ่งแพงกว่าราคาพืชผักผลไม้ทั่วไป 30 เปอร์เซ็นต์ จึงจะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น 6 บาท คูณจำนวนมื้ออาหาร 200 มื้อจากเด็ก 5.8 ล้านคน = 6,960,000,000 บาท ความเชื่อมโยงกับนโยบายอื่น
ผลประโยชน์ด้านอื่นๆ
ลดการใช้ในผักและผลไม้ 20,000 บาท/ไร่ = 6,960,000,000 บาท |
ทว่าประเด็นสำคัญที่วิฑูรย์ต้องการเน้นก็คือ ทุกๆ หนึ่งล้านบาทที่เรานำสารเคมีเข้ามา เราจะต้องจ่ายไปสองล้านบาทในเรื่องของการรักษาพยาบาล รวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“นั่นหมายความว่าการลงทุนเรื่องนี้คุ้มค่ามากๆ โดยไม่ต้องไปพูดเรื่องอนาคตของเด็กในการได้รับประทานอาหารอย่างปลอดภัย และมีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน”
*เป็นตัวเลขจากเมื่อปี 2555 โดยคิดจากอัตราเฉลี่ยค่าอาหารเด็กไทยอยู่ที่ 13 บาท โดยผู้ที่กล่าวคือ สง่า ดามาพงศ์ อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวในการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ 6
“อยากวอนรัฐบาลให้ความสนใจในการบริโภคอาหารที่เหมาะสม มีคุณค่าของสารอาหารในเด็กเล็กก่อน โดยควรเพิ่มค่าอาหารกลางวันจากปัจจุบันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศอยู่ราว 7,000 ล้านบาท ตกคนละ 13 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ ควรเพิ่มเป็น 15-20 บาทต่อคน แต่การเพิ่มงบประมาณดังกล่าวค่อนข้างยากและล่าช้า ผมได้เข้าไปศึกษาและพูดคุยกับทางชุมชน โดยนำร่องใน 9 จังหวัด คือ สมุทรปราการ นนทบุรี เพชรบุรี อุดรธานี ขอนแก่น สงขลา ภูเก็ต เชียงใหม่ และลำปาง ในการเพิ่มงบอาหารกลางวันให้กับเด็กกันเองภายในชุมชน ซึ่งจะมีการประเมินการทำงานและจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาภายในสิ้นปีนี้”
ดูเนื้อข่าวเพิ่มเติม ‘เด็กไทยยังขาดสารอาหาร! อ้อนรัฐบาลเทงบอาหารกลางวันเพิ่ม’ โดย wannapa เผยแพร่ในส่วน ทันกระแสสุขภาพ เว็บไซต์ สสส. วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 https://goo.gl/4yLkC2