‘Seamless World’ เมื่อค็อกเทลบอกเล่าโลกที่ฝันใฝ่ และเรื่องราวคนชายขอบที่ไม่ถูกพูดถึง

แก้วมาร์ตินี่ทรงสามเหลี่ยม ปากแก้วตัดขอบด้วยเครื่องดื่มสีแดงราวกับด้ายแห่งโชคชะตาที่พัดพาผู้คนมาพบกัน เครื่องดื่มชั้นถัดมาออกสีขาวขุ่น และปิดท้ายด้วยสีเหลืองอ่อน ฐานแก้วจรดกับที่รองแก้วทรงกลมสีแปลกตา

แน่นอนว่าเพื่อไม่ให้ค็อกเทลแก้วนี้ต้องอยู่ใต้แสงไฟอย่างโดดเดี่ยว บาร์เทนเดอร์จึงแนะนำคู่หูของทานเล่นที่เข้ากับรสชาติเครื่องดื่มได้อย่างลงตัว ป๊อปคอร์นจากข้าวโพดข้าวเหนียวที่ผ่านการคั่วจนแตกตัวสวยเรียงรายอยู่เคียงข้าง แนบด้วยการ์ดขนาดกระทัดรัดระบุข้อความไขกระจ่างถึงการเดินทางของเครื่องดื่มแก้วนี้

‘Reviv x The Key Room No.72’ โปรเจกต์ความร่วมมือระหว่าง Reviv ธุรกิจซ่อมแซมปรับแต่งเสื้อผ้า และผลิตเสื้อผ้า เครื่องประดับ ที่ออกแบบโดยแฟชั่นดีไซเนอร์ร่วมกับชุมชนช่างเย็บที่เป็นแรงงานนอกระบบ อาทิ คนจนเมือง แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย และ The Key Room No.72 บาร์ ณ ห้องหมายเลข 72 ของโรงแรม Josh ย่านอารีย์ ซึ่งในวันนี้ ภูมิ-ภาคภูมิ โกเมศโสภา หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Reviv ชวนมาบอกเล่าเรื่องราว พร้อมกับ ฝาเบียร์-สุชาดา โสภาจารี ผู้จัดการบาร์ The Key Room No.72 และผู้ร่วมก่อตั้ง Wasteland คอมมิวนิตี้ร่วมดื่มของผู้รักษ์สิ่งแวดล้อม

แด่โลกที่ไร้รอยต่อ ด้วยเครื่องดื่มและคำอวยพร

แนวคิดงานครั้งนี้คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ เพื่อเผยให้เห็นคนหลากหลายกลุ่ม อาทิ ผู้ลี้ภัย กลุ่มชาติพันธุ์ หรือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่กลับแทบไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ผ่านการออกแบบค็อกเทลแก้วพิเศษ พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวการมีอยู่ของพวกเขาให้กับนักดื่มที่แวะเวียนมายังบาร์แห่งนี้

เครื่องดื่มถูกเสิร์ฟโดยแบ่งส่วนผสมเป็น 3 ชั้น ซึ่งนำเสนอถึงการแบ่งแยกที่มีอยู่ในสังคม โดยด้านบนเป็นเหล้าสมุนไพร Campari สีแดง แทนความขมขื่นที่กลุ่มคนชายขอบต้องพบเจอ ถัดมาเป็นน้ำมะพร้าวหอมซึ่งให้สีขาวขุ่น และด้านล่างสุดเป็นเหล้าหวานดอกคาโมมายล์ที่หมักกับเมล็ดมะแขว่น แต่หากมองค็อกเทลจากด้านบนจะไม่เห็นการแบ่งแยกส่วนผสมทั้ง 3 สี

เมื่อคนเครื่องดื่มให้เข้ากัน เช่นเดียวกับการลบความแบ่งแยกนั้นออกไป จะเกิดเป็นการผสมผสานของวัตถุดิบทุกชนิดเข้าด้วยกัน นำไปสู่ชื่อของค็อกเทลว่า ‘Seamless World’ หรือโลกไร้รอยต่อ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเทคนิคการเย็บผ้าที่เก็บรอยตะเข็บ (invincible seam stitch) ทำให้ไม่เห็นรอยต่อเส้นด้ายที่เย็บเนื้อผ้า 2 ผืน เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสื่อถึงสังคมไม่มีการแบ่งแยก ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันและมีโอกาสเท่ากัน

นอกจากนี้ แต่ละสีของส่วนผสมยังเป็นตัวแทนของคำอวยพรแด่คนชายชอบ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือแม้แต่ผู้ลี้ภัย สีแดงสื่อถึงด้ายแดงแห่งโชคชะตา สีขาวสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่เสมือนความบริสุทธิ์ของเด็กแรกเกิด ส่วนสีเหลืองสื่อถึงสีของบุษราคัม อัญมณีที่มีความเชื่อว่าจะมอบพลังความกล้าหาญ ความสุข และจิตใจอันสงบแก่เจ้าของ เมื่อรวมกันจึงเป็นคำอวยพรแด่ผู้ที่โชคชะตาพัดพาให้มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในที่แห่งใหม่ ได้พบกับความกล้าหาญ ความสุข และจิตใจที่เข้มแข็งเพื่อบากบั่นในสังคมที่ไม่เท่าเทียมต่อไป ในฐานะผู้ดื่มขอเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้ได้มาซึ่งวันที่ดีกว่านี้แก่พวกเขาและทุกคน

เครื่องดื่มนี้จะเสิร์ฟพร้อมกับผ้ารองแก้วโดยฝีมือการถักของผู้ลี้ภัยชาติพันธุ์ม้งที่เป็นแรงงานนอกระบบ ตัวด้ายทำมาจากกัญชงที่ย้อมสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ ได้แก่ ครั่ง มะพร้าว และดอกดาวเรือง ซึ่งทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่นเดียวกับส่วนประกอบของเครื่องดื่มที่เลือกใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ ปราศจากการปรุงเเต่งของเคมีให้มากที่สุด ทำให้ได้โทนสีที่มีความสดใส

ในทางกลับกัน เครื่องดื่มและที่รองเเก้วนี้ก็เป็นคำขอบคุณจากพวกเขา ในฐานะตัวแทนคนชายขอบที่พยายามจะบอกให้สังคมรู้ว่า พวกเขามีตัวตนอยู่ที่นี่ 

จากแรงงานนอกระบบสู่ผู้ลี้ภัย เมื่อชายชอบยังมีชายขอบ

ผ้ารองแก้วเป็นหนึ่งผลงานการถักทอของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘แม่’ คือแม่ที่มีลูกและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ซึ่งลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยมายาวนานกว่า 10 ปี แม้ว่าเริ่มแรกของโปรเจกต์นี้ Reviv จะไม่ได้เจาะจงร่วมมือกับชุมชนช่างเย็บที่เป็นผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ แต่ด้วยความพร้อมของพวกเขา จึงเกิดเป็นการทำงานร่วมกัน

ประกอบกับเป้าหมายเดิมที่ Reviv ต้องการทำงานร่วมกับแรงงานนอกระบบ เพื่อสร้างรายได้ที่เป็นธรรมและโปร่งใสให้กับผู้ที่เข้าไม่ถึงตลาดแรงงานในระบบ จากการสำรวจแรงงานนอกระบบในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า มีแรงงานนอกระบบ 19.6 ล้านคน หรือราว 52 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีงานทำทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน โดยพวกเขาไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และไม่มีหลักประกันทางสังคมแม้จะมีงานทำ

เมื่อพวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยที่ไม่มีสัญชาติ จึงยิ่งห่างไกลจากสิทธิที่ควรจะได้รับ เพียงการเข้าถึงงานที่ดีหรือได้รับเงินเดือนประจำก็แทบจะไม่มีโอกาส เพราะไม่สามารถยืนยันตัวตน ไม่ได้รับสิทธิและบริการทางการเงินใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดบัญชีธนาคาร

แน่นอนว่าการร่วมงานครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการเริ่มต้น และในอนาคตจะมีการขยายความร่วมมือไปสู่ชุมชนกลุ่มอื่นๆ ต่อไป โดยการทำงานร่วมกันระหว่าง Reviv กับผู้ลี้ภัยชาวม้งไม่ได้มีเพียงการทำที่รองแก้ว แต่ยังมีงานซ่อมแซมปรับปรุงเสื้อผ้า รวมถึงการผลิตสินค้าใหม่ๆ เช่น ต่างหู พวงกุญแจ ที่คั่นหนังสือ ซึ่งเป็นการนำเศษผ้าเหลือใช้มาเติมสีสันและลวดลายด้วยลายปักของชาติพันธุ์ม้ง 

photo: ศุภกร วรภัทรภวัน

ใคร่ครวญวัฒนธรรมการบริโภค จากเครื่องดื่มถึงเสื้อผ้า

การทำงานร่วมกันระหว่าง Reviv และ The Key Room No.72 เริ่มมาจากความสนใจปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การหาวิธีการสื่อสารประเด็นเหล่านั้นผ่านผลิตภัณฑ์ของร้านอาหารและบาร์ และเกิดเป็นการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิด ตลอดจนปรับแต่งผลิตภัณฑ์ของกันและกัน

สำหรับ Reviv เชี่ยวชาญเรื่องการซ่อมและปรับแต่งเสื้อผ้าให้สามารถนำมาใช้อีกครั้ง หรือสร้างลวดลายใหม่ที่น่าสนใจ รวมถึงการผลิตเสื้อผ้า เครื่องประดับ ที่ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ร่วมกับชุมชนช่างเย็บ ซึ่งใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติหรือวัตถุดิบเหลือใช้ตามเจตนารมณ์ของการริเริ่ม Reviv คือ การสร้างวัฒนธรรมการบริโภคเสื้อผ้าที่ใส่ใจต่อโลกและผู้คน โดยการซ่อมและใช้ของเก่าซ้ำให้นานที่สุด พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจที่เกื้อกูลสังคมอย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชนช่างเย็บ โปรเจกต์ครั้งนี้ Reviv จึงเป็นผู้ดูแลการออกแบบและผลิตที่รองแก้ว โดยมีภูมิ-ภาคภูมิ เป็นผู้นำพาให้ผู้คนมาพบเจอกันและบอกเล่าเรื่องราวที่อยากให้ผู้ดื่มได้สัมผัส

ขณะที่ The Key Room No.72 เปิดพื้นที่สำหรับการสื่อสารประเด็นทางสังคมและความสนุกจากการออกแบบเครื่องดื่มสูตรพิเศษโดยฝาเบียร์-สุชาดา เนื่องจากเป็นบาร์ขนาดกำลังดี ไม่เล็กไม่ใหญ่ อีกทั้งเดิมเป็นบริษัทออกแบบภายใน ทำให้การตัดสินใจร่วมงานของฝาเบียร์กับ The Key เกิดเป็นความสนุกที่จะสร้างสรรค์เมนูต่างๆ ด้วยความคิดที่ว่า การดื่มก็เป็นเหมือนแฟชั่น ซึ่งสามารถหมุนวนผลัดเปลี่ยนประเด็นที่จะสื่อสารได้

โปรเจกต์ครั้งนี้ฝาเบียร์ออกแบบเครื่องดื่มให้รสชาติและโทนสีสะท้อนชีวิตของผู้คนชายขอบ ซึ่งอาจไม่ได้หอมหวานเฉกเช่นนักดื่มที่มานั่งดื่มค็อกเทล ณ บาร์แห่งนี้ แต่เมื่อวันใดทุกอย่างลงตัว ชีวิตที่เคยมีรสขมเหล่านั้นจะมีความกลมกล่อมและเพิ่มความหวานขึ้นมาบ้าง แม้บางคราวอาจจะมีรสขมอยู่บ้างตามแต่จังหวะชีวิตของแต่ละคน

ไม่เพียงการคัดเลือกวัตถุดิบและออกแบบรสชาติเครื่องดื่มด้วยความพิถีพิถันเท่านั้น ฝาเบียร์ยังเลือกสีแต่ละสีก่อนจะออกแบบเครื่องดื่ม โดยเลือกสีแดงจากครั่ง สีขาวขุ่นแทนสีของมะพร้าว และสีเหลืองของดอกดาวเรือง ซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกับคาโมมายล์

นอกจากนี้ยังคำนึงถึงของทานเล่นที่น่าจะมาเข้าคู่กับค็อกเทลสูตรพิเศษในครั้งนี้ คือ ป๊อปคอร์นจากข้าวโพดข้าวเหนียว ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชที่พบเจอและคุ้นเคยในชีวิตประจำวันของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อดึงรสชาติชีวิตของพวกเขา และเพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสแตกต่างจากป๊อปคอร์นทั่วไป

การทำงานร่วมกันครั้งนี้จึงเป็นความผสมผสานอย่างลงตัว จากความพยายามรังสรรค์เมนูควบคู่กับที่รองแก้วเพื่อสื่อสารประเด็นทางสังคมและการมีอยู่ของผู้ชายขอบที่มักไม่ถูกมองเห็นในสังคม

“มีวันหนึ่งที่เรานั่งคุยกันตรงนี้ ภูมิมองว่าเราเป็นดีไซน์เนอร์เครื่องดื่ม การที่ภูมิทำให้ทุกคนได้มาเจอกัน ไม่ใช่เพื่อมาขอความช่วยเหลือ แต่เพื่อออกแบบประเด็นที่จะสื่อสารกับสังคมร่วมกัน”

สายใยที่เชื่อมประสานและขาดไม่ได้

การออกแบบเครื่องดื่มสูตรพิเศษเสิร์ฟคู่กับผ้ารองแก้วจากฝีมือของผู้ลี้ภัยชาติพันธุ์ม้งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มี โรส อาสาสมัครที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างแม่ๆ ชาวม้งและทีม Reviv เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถฟัง พูด หรืออ่านภาษาไทย เธอจึงอาสาเป็นล่ามแปลภาษาไทย-ม้ง รวมถึงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าช่างที่รับงานจาก Reviv และแบ่งงานกับให้คนอื่นๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละคน

จากประสบการณ์ 4-5 ปี ของโรสที่ทำงานกับผู้ลี้ภัย ทำให้เธอเข้าใจชีวิต เข้าใจความยากลำบากของผู้ลี้ภัย เพราะโรสก็เป็นผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกัน โดยเธอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่ลี้ภัยมาจากเวียดนามตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ได้เรียนภาษาไทยและเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนไทย โรสจึงสามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาม้ง ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เพื่อทำงานร่วมกับองค์กรที่หลายหลายและช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

“โรสย้ายมาประเทศไทยตอนอายุ 9 ขวบ ช่วงปลายปี 2011 จะมี UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและมีองค์กรเฉพาะสำหรับให้ผู้ลี้ภัยพาลูกหลานไปเรียนภาษาไทยก่อน ก่อนเข้าเรียนในโรงเรียน เพราะถ้าพูด ฟัง อ่าน เขียนภาษาไทยไม่ได้ เวลาเข้าเรียนในโรงเรียนจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง”

ในมุมมองของผู้ลี้ภัย ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศทางผ่านที่รอคอยการเดินทางไปสู่ประเทศที่ 3 หรือประเทศปลายทางที่ต้องการลี้ภัยไปอยู่อย่างแท้จริง และพวกเขาต่างมีความฝัน ไม่เพียงการอยู่อย่างถูกกฎหมาย การมีบัตรประชาชน หรือการได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี แต่รวมถึงการกลับไปสร้างโอกาสให้กับผู้ที่ไม่ได้รับโอกาสในการลี้ภัยที่ประเทศบ้านเกิดของตน

“โรสมีความฝันว่าอยากเป็นครู อยากเปิดโรงเรียนให้โอกาสเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะเราเห็นเด็กชาวม้งในเวียดนามหลายคนต้องช่วยงานพ่อแม่และไม่ได้เรียนหนังสือ ถ้าถึงวันที่เราได้ไปประเทศที่ 3 มีบัตรประชาชน อยู่แบบถูกกฎหมาย จะเรียนให้จบแล้วกลับไปประเทศของตัวเอง ไปเป็นคุณครู”

โปรเจกต์ครั้งนี้ไม่เพียงอาศัยฝีมือการถักผ้ารองแก้วของเหล่ากลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่เป็นผู้ลี้ภัยเท่านั้น แต่ยังพาเหล่าแม่ๆ มายังบาร์ The Key Room No.72 เพื่อให้พวกเขาเห็นว่าที่รองแก้วจากน้ำพักน้ำแรงของตนได้รับการยอมรับและได้รับการบอกเล่าเรื่องการมีอยู่ของพวกเขาให้ผู้คนในสังคมรับรู้

“สำหรับเครื่องดื่มและงานวันนี้ ถือว่าทาง The Key และพี่ฝาเบียร์ให้เกียรติแม่ๆ มาก ตั้งแต่พวกเขาทำงานกับคนอื่นมา ยังไม่เคยออกมาเห็นอะไรแบบนี้ ทั้งที่บางคนอยู่ประเทศไทยเป็น 10 ปีแล้ว เพราะแม่ๆ เป็นผู้ลี้ภัย ไม่มีบัตรประชาชน เลยยังไม่เคยได้ใช้ชีวิตอิสระ ยังไม่เคยเปิดมุมมองใหม่ๆ งานวันนี้เป็นงานที่ดีมากและเป็นสิ่งใหม่ๆ ให้กับเขา”

สายสัมพันธ์ที่ถักทอ และการขยับเข้าใกล้สังคมที่ควรจะเป็น

โปรเจกต์ระยะเวลา 3 เดือน ระหว่าง Reviv และ The Key Room No.72 ที่ร่วมออกแบบค็อกเทลสูตรพิเศษ Seamless World จำหน่ายในราคา 380 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการ) ให้นักดื่มได้แวะเวียนมาทำความรู้จักเรื่องราวของคนชายขอบที่อยู่ในสังคมไทย แต่อาจไม่ได้ถูกมองเห็นหรือไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก

การเกิดขึ้นของเมนูพิเศษนี้เพื่อให้คนในสังคมรับรู้ถึงการมีอยู่ของคนชายขอบ และเปิดใจเรียนรู้พวกเขา ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่ภาคธุรกิจก็สามารถสร้างคุณค่าหรือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสียงแทนคนเล็กคนน้อยในสังคมได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร คุณก็สามารถเรียกร้องต่อสู้กับปัญหาที่กำลังกดทับสังคมได้เสมอ

ขณะเดียวกันเครื่องดื่มนี้อาจช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานร่วมกับคนชายขอบ เพื่อคนชายขอบ “ไม่ว่าคุณจะอยู่องค์กรไหน จะสู้เพียงลำพังหรือไม่ก็ตาม เราขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้เสมอ”

แก้วนี้ประกอบด้วยมือ รังสรรค์ด้วยใจ
ให้เจตจำนงแจ่มจรัสผ่านปลายลิ้นและดวงตา
ถักทอโลกใหม่ที่ไร้ตะเข็มแบ่ง
เพราะเราต่างเป็นคนเท่าเทียม

แด่ทุกคนผู้ไม่มองผ่าน แต่มองเห็น เราขอขอบคุณ

Author

นันทิกร วิทูรสุนทร
จบการศึกษาจากคณะสังวิทฯ (เน้นสังคมวิทยา ไม่ใช่มานุษยฯ อย่างที่คนอื่นเข้าใจ) แต่พักการลงฟีลด์มาจับคีย์บอร์ด เมาส์ ปากกา และโทรศัพท์ เป็นมิตรแท้ของกองบรรณาธิการ(ที่มักเป็นศัตรูกับตารางเวลา) นอกจากนั้นยังจับหวีแปรงปรนนิบัติแมว รักการอ่านหนังสือโดยเฉพาะเวลาฝนตก และอ้อมกอดอุ่นของผ้าห่ม

Photographer

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า