ไกลออกไปจากชายฝั่งทะเลประเทศไทย ‘กำแพงกันคลื่น’ ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่รับรู้กันในระดับโลกว่าเป็น ‘Dead of the Beach’ หรือตัวการแห่งหายนะที่ทำให้หาดทรายถูกทำลาย และเป็นตัวการที่พรากวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นที่ผูกพันปากท้องกับหาดทรายไปตลอดกาล ข้อค้นพบจากงานวิชาการส่วนใหญ่ทั่วโลกเห็นตรงกันว่า กำแพงกันคลื่นคือวิธีการแก้ปัญหาชายฝั่งที่สร้างผลกระทบมากที่สุด เพราะเมื่อใดที่กำแพงยักษ์ถูกตั้งตระหง่านริมทะเล นั่นหมายถึงชายหายแห่งนั้นจะถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงอันเป็นผลสืบเนื่องจากโครงการ
ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยกลับสวนทางกระแสโลกอย่างน่าฉงน เพราะได้เกิดปรากฏการณ์ ‘การระบาดของกำแพงกันคลื่น’ จากการสำรวจข้อมูลของ Beach for life พบว่า ช่วงปี 2556-2562 มีโครงการเกิดขึ้นรวม 74 โครงการ ระยะทางกว่า 34 กิโลเมตร ตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน คิดเป็นงบประมาณกว่า 6,900 ล้านบาท
สิ่งสำคัญคือ กำแพงกันคลื่นเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องผ่านการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่อย่างใด
#Saveหาดดอนทะเล #Saveหาดม่วงงาม #Saveหาดมหาราช และอีกหลายต่อหลายหาดถูกจุดกระแสขึ้นในโซเชียลมีเดียในช่วงปีที่ผ่านมา กระทั่งมาถึงปัจจุบัน ‘หาดดอนทะเล’ ตำบลคันธุลี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี คือพื้นที่ล่าสุดที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมาประกาศปกป้องอีกครั้ง ก่อนที่ชายหาดหน้าบ้านของพวกเขาจะอันตรธานหายไปดังเช่นพื้นที่อื่นๆ
หาดดอนทะเล เป็นชายหาดที่งดงาม ชาวบ้านส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตด้วยการประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้คือแหล่งท่องเที่ยวริมชายหาดที่จัดการโดยชุมชน หาดดอนทะเลคือเเหล่งหาหอยขาวที่สำคัญของผู้คนในพื้นที่
หาดแห่งนี้ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนเเรง จากการสำรวจเก็บข้อมูลสภาพชายฝั่งพบว่า หาดดอนทะเลงอกเฉลี่ยปีละ 3.3 เมตร สอดคล้องกับการศึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่งที่ระบุว่า หาดดอนทะเลมีเสถียรภาพ ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนเเรง กำหนดให้ใช้มาตรการปรับสมดุลชายหาดตามธรรมชาติเท่านั้น เเต่กลับมีโครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่น ความยาว 1,291 เมตร ด้วยงบประมาณกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งชาวชุมชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการดังกล่าว
ผลการสำรวจความเห็นของ อบต. คันธุลี เมื่อวันที่ 10-11 สิงหาคม 2564 ต่อโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พบว่า ชาวบ้านหมู่ที่ 6 ในพื้นที่โครงการจำนวน 155 คน ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการโครงการจากการสำรวจ 195 คน อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ยังกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ เช่น การทำให้ชายหาดหายไปอย่างถาวร เเหล่งหาหอยถูกทำลาย (บริเวณชายหาดมีหอยขาว หอยเสียบ หอยตลับ เป็นเเหล่งรายได้ของชุมชน) สูญเสียพื้นที่จอดเรือ วางอวน เเละการกัดเซาะชายฝั่งต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากโครงการ
ปัจจุบัน กรมโยธาธิการและผังเมืองซึ่งเป็นเจ้าของโครงการยังไม่มีทีท่าว่าจะยกเลิกโครงการดังกล่าวเเต่อย่างใด แม้จะมีข้อมูลระบุว่าหาดไม่มีการกัดเซาะ เเละประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ
ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชายฝั่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดดอนทะเล จากการลงพื้นที่ภาคสนามไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
- จากการสำรวจสภาพชายหาดเบื้องต้นพบว่า ยังมีชายหาดที่สมบูรณ์ พบผักบุ้งทะเล คนทีสอทะเล และพืชอื่นๆ ที่ปกคลุมหน้าชายหาดที่มีความกว้างประมาณ 70-100 เมตร
- จากการสำรวจสภาพทั่วไปของชายหาดในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า ชายหาดตลอดแนวยาวกว่า 1.2 กิโลเมตร มีความสมบูรณ์ และไร้ร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่ง
- แม้ไร้ร่องรอยของการกัดเซาะชายฝั่งจากการสำรวจภาคสนามครั้งนี้ แต่ชายหาดดอนทะเลกำลังจะเกิดโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ระยะทาง 1,291 เมตร ด้วยงบประมาณ 70.23 ล้านบาท โดยผูกพัน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2566 แม้จะล่วงเข้าปลายปีงบประมาณ 2564 แล้ว โครงการนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณของการเริ่มดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด แต่กลับมีการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ไปบ้างแล้วใน 2 ปีแรก คือ ปีงบประมาณ 2563 และ 2564
- แม้ไร้ร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่งจากการสำรวจภาคสนาม แต่มิได้หมายความว่าหาดแห่งนี้ไม่เคยได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะการสำรวจภาคสนามจะพบเห็นเพียงสภาพ ณ วันเวลาที่ทำการสำรวจเท่านั้น แต่มิได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นี้ในอดีตก่อนการสำรวจ หากต้องการทราบการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องศึกษาจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในอดีต แล้วนำมาเปรียบเทียบกันในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ทราบถึงประวัติการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่หาดดอนทะเลอย่างแท้จริง
เมื่อพิจารณาสภาพพื้นที่บริเวณนี้จากภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth เบื้องต้นพบเพียงการเปลี่ยนแปลงของชายหาดตามฤดูกาล กล่าวคือ พื้นที่ชายหาดจากภาพถ่ายหดหายไปในบางปี แต่ก็คืนกลับมาในปีถัดไป
- โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดดอนทะเล ระยะทาง 1,291 เมตร ด้วยงบประมาณ 70.23 ล้านบาท โดยผูกพัน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2566 โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น เมื่อครั้งที่เข้ามาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อปี 2560 โครงการนี้มีระยะทางเพียง 800 เมตร
- หลังจากนั้นพบว่ามีการปรับขนาดโครงสร้างและระยะทาง จากเดิม 800 เมตร และสันเขื่อนกว้าง 3.5 เมตร (จากเอกสารรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2) เป็นระยะทาง 1,290 เมตร และเพิ่มความกว้างของสันเขื่อนเป็น 5.5 เมตร โดยสันเขื่อนด้านในสุดนั้นห่างจากขอบเขตที่ดินริมทะเลประมาณ 14.5 เมตร ในทุกหน้าตัด หากพิจารณาความกว้างของกำแพงกันคลื่นแบบเรียงหินใหญ่แนวนอกสุดถึงในสุด ทั้งส่วนที่จมและโผล่พ้นผิวชายหาด จะพบว่ามีความกว้างตลอดหน้าตัด 20.1 เมตร
จากการเก็บข้อมูลภาคสนามของ ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจสรุปได้ว่า หาดดอนทะเลเกิดการกัดเซาะเพียงครั้งเดียวในช่วงต้นปี 2559 ในอัตรา 4.76 เมตร/ปี ซึ่งถือเป็นการกัดเซาะระดับปานกลาง (อัตราการกัดเซาะปานกลางคือ 1-5 เมตร/ปี อ้างอิงเกณฑ์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
แม้การกัดเซาะที่พบนั้นค่อนไปทางเกือบจะรุนแรง (มากกว่า 5 เมตร/ปี) แต่ภายหลังจากนั้นชายหาดก็สามารถกลับมาทับถมได้มากกว่าที่ถูกกัดเซาะไป โดยเกิดการกัดเซาะอีกครั้งและทับถมอีกครั้งสลับไปมาในระดับที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการใช้ประโยชน์บนชายหาด
เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวจากข้อมูลตั้งแต่ปี 2557-2563 ไม่พบว่าหาดดอนทะเลถูกกัดเซาะแต่อย่างใด หากแต่พบว่าถูกทับถมในอัตรา 3.32 เมตร/ปี โดยผลวิเคราะห์นี้ตรงกับปากคำของประชาชนแถบนั้นที่ระบุว่า หลังเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2559 ชายหาดแห่งนี้ก็ไม่เคยถูกกัดเซาะอีกเลย หาดอาจหดหายไปบ้างตามมรสุม แต่ไม่เคยส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิภาพสาธารณะของประชาชนที่ใช้ประโยชน์จากชายหาดดอนทะเล จึงไม่มีความจำเป็นที่หน่วยงานต้องสร้างกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะแบบเรียงหินใหญ่ปิดทับลงบนชายหาดที่สมบูรณ์แห่งนี้
#ปกป้องหาดดอนทะเล
Beach for life ได้จัดแคมเปญชูป้ายและข้อความเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนในการช่วยชีวิตหาดทรายจากโครงการสร้างกำแพงกันคลื่น ถ่ายภาพลง Facebook พร้อมติดแฮชแท็ก #ปกป้องหาดดอนทะเล เพื่อเรียกร้องให้กรมโยธาธิการยกเลิกโครงการและรับฟังเสียงของประชาชน
อ้างอิง
- Beach for life
- เปิดแผนกรมโยธาฯ ใช้งบฯ 3 ปี 71 ล. สร้างเขื่อนกันคลื่น ‘หาดดอนเล’ สุราษฎร์ฯ
- กำแพงกันคลื่น: เปิดปม (4 ม.ค. 64)
- ข้อสังเกตต่อโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ‘หาดดอนทะเล’ โดย ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมชายฝั่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์