‘ธรรมชาติ’ กับความสัมพันธ์หลายฝ่าย เรารักษ์โลกไม่ได้ ถ้าการเมืองไม่เป็นธรรม

หนึ่งในวาระสำคัญของโลกทุกวันนี้ไม่เคยหนีพ้นปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาที่ทับซ้อนอยู่ในปัญหาอีกทีคือ การมองสิ่งแวดล้อมแบบแยกขาดออกจากปัญหาอื่นๆ ในสังคม หากเราพิจารณาเพียงแค่คำว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ นั่นก็ชัดเจนแล้วว่ามนุษย์ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของสิ่งรอบตัวที่สัมพันธ์กับตัวมนุษย์เอง รวมถึงทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีความสำคัญโดยตรงกับการใช้ชีวิต

ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ใช่แค่สมการที่เรียบง่ายอย่างการปลูกต้นไม้แล้วจะได้ออกซิเจนบริสุทธิ์มาหายใจ ความซับซ้อนที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ล้วนเชื่อมโยงกันอย่างไม่อาจแยกขาด แม้กระทั่งในสังคมของนักสิ่งแวดล้อมเองก็ยังต้องถกเถียงถึงวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ หลักการที่ต้องมีร่วมกันคือความเป็นธรรมทางสังคมที่ ณ ปัจจุบันยังคงมีผู้ถูกละเมิดสิทธิทางสิ่งแวดล้อมจากความเหลื่อมล้ำมาอย่างยาวนาน

ธรรมชาติไม่ได้มีฝ่ายเดียว: ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาของคน 

อาร์เน เนสส์ (Arne Naess) นักปรัชญาชาวนอร์เวย์ได้ให้กำเนิดคำว่า Deep Ecology หรือ นิเวศเชิงลึก ซึ่งกลายเป็นแนวคิดสำคัญอย่างหนึ่งในการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 Deep Ecology อาจเกิดจากการถกเถียงที่ว่า เราพยายามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับมนุษย์กันแน่ เนสส์มองว่าการให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางคืออุดมคติที่ตื้นเขิน จึงมีคำตรงข้ามที่เรียกว่า Shallow Ecology ขึ้นมา

เว็บไซต์ Oxford Reference อธิบายคำว่า Shallow Ecology ไว้ว่า เป็นแนวคิดที่เน้นการใช้สอยจากธรรมชาติบนฐานของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม แนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงมักเป็นการพยายามหาเทคโนโลยีและวิธีการต่างๆ มาแก้ไขปัญหามากกว่าที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมและค่านิยมของมนุษย์เอง อีกทั้งยังมองเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์เป็นหลัก เช่น การรณรงค์ไม่ให้ใช้สารเคมีฉีดพ่นศัตรูพืช เพราะนกจะได้รับผลกระทบ ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นการตอบสนองความต้องการของคนที่ต้องการดูนกมากกว่าการห่วงสวัสดิภาพในชีวิตของนกจริงๆ 

ส่วนนิเวศเชิงลึก หรือ Deep Ecology นั้นก็เป็นแนวคิดที่ว่า การตอบสนองต่อความต้องการของธรรมชาติเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในระยะยาว เพราะความหลากหลายทางชีวภาพคือคุณค่าที่แท้จริง และมนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางของสิ่งแวดล้อม นิเวศเชิงลึกจึงไม่เน้นอุดมคติของการบริโภคและปฏิเสธมานุษยวิทยา แนวคิดในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นไปเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างสุดโต่ง เช่น การลดจำนวนประชากรมนุษย์ การเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ แนวคิดเชิงปรัชญาทั้งสองแบบล้วนมีจุดแข็งและจุดอ่อนแตกต่างกัน แต่สิ่งที่มีร่วมกันคือความพยายามที่จะทำให้มนุษย์กับสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้ เพราะไม่ว่าอย่างไรมนุษย์ก็ยังเป็นตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีแนวคิดเรื่อง Anthropocene ที่มองว่ามนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิโลกหรือการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวก็อาจถือเป็นการเหมารวมมนุษย์ทุกคนบนโลกอย่างตื้นเขินได้เช่นกัน เพราะมนุษย์เองก็มีความหลากหลายทั้งทางกายภาพและอำนาจทางสังคม ความหลากหลายที่ไม่เท่าเทียมนี้เองทำให้มนุษย์สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่เท่ากัน รวมถึงได้รับผลกระทบจากความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมไม่เท่ากันอีกด้วย

ไม่จำเป็นต้องมองไกล แต่ต้องมองให้เห็นความเป็นคนที่ไม่เท่ากัน

ปรากฏการณ์ที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมในระดับโลกคือ ผลกระทบจากภาวะโลกรวน (Climate Change) เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ กลุ่มคนที่จะเอาตัวรอดได้เพราะมีทางเลือกมากกว่าคือ กลุ่มคนรวย ในขณะที่คนจนมีทางเลือกอยู่เพียง 2 ทาง คือ อดตายหรืออพยพย้ายออกจากถิ่นที่อยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้เป็นผลลัพธ์ที่ย้อนแย้ง เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลับเป็นผู้ที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุด

รายงานของ Oxfam เมื่อปี 2015 ระบุว่า กลุ่มคนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ของโลก ปล่อยปริมาณคาร์บอนมากกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ถึง 175 เท่า แต่ถึงแม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นวาระใหญ่เท่าไรก็ยังต้องพ่ายแพ้การต่อสู้ทางเศรษฐกิจ ประเทศจีนตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศกำลังพัฒนา ผู้นำบราซิลเปิดนโยบายให้มีการทำเหมืองในป่าแอมะซอนจนละเมิดสิทธิชนพื้นเมือง และประธานาธิบดีทรัมป์เคยกล่าวว่า สหรัฐอเมริกามีน้ำและอากาศที่สะอาดที่สุด แต่ในขณะเดียวกันสหรัฐก็เป็นประเทศที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งเช่นกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกขาดจากมิติด้านอื่นๆ ในสังคม โดยเฉพาะมิติทางการเมืองที่มีรัฐเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐส่งผลต่อชีวิตของผู้คนทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นที่เปลี่ยนไป หรือความหมายและจิตวิญญาณของทรัพยากรธรรมชาติที่รัฐพยายามเปลี่ยนแปลง 

ตัวอย่างที่ชัดเจนและใกล้ตัวที่สุดคือ การสร้างเขื่อนหลายแห่งในแม่น้ำโขง เมื่อรัฐที่มีอำนาจฉกฉวยผลประโยชน์จากแม่น้ำโขงจนสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ที่หล่อเลี้ยงคนท้องถิ่น เมื่อคนท้องถิ่นถูกเบียดขับออกจากพื้นที่ด้วยเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมก็ต้องจำใจเลือกทางออก 2 ทาง คือ ยอมอดอยากในพื้นที่ที่แหล่งอาหารถูกทำลายแล้ว หรือดิ้นรนเข้าไปเป็นแรงงานในเมือง 

ข้อควรพิจารณาอย่างหนึ่งคือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนเล็กคนน้อยในสังคม ขัดต่อสิทธิตามกฎหมายที่มีการสร้างข้อตกลงในระดับโลก ซึ่งก็คือหลักสิทธิมนุษยชนที่มีสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมรวมอยู่ด้วย ทั้งที่ตามหลักแล้วมนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันตามระบอบประชาธิปไตย แต่เราก็ยังคงเห็นการละเมิดสิทธิเหล่านั้นอยู่แม้ว่าผู้ละเมิดมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิของเราก็ตาม

สิ่งแวดล้อมกับการเมือง: ปัญหาสังคมที่โยงใย แค่รักษ์โลกอาจไม่ใช่ทางออก

ปฏิญญากรุงริโอ เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศต่างๆ ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Right to a Healthy Environment) กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น หากสังคมประเทศใดปล่อยให้ประชาชนต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ต้องตั้งคำถามต่อรัฐที่มีหน้าที่คุ้มครองและปกป้องสิทธิของประชาชนโดยตรง

เมื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่เวลาต่อมา กลับใช้กฎอัยการศึกและมาตรการต่างๆ กับประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น ดำเนินคดีกับการชุมนุมของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ตามหลักสากลแล้วพวกเขามีสิทธิที่จะเรียกร้อง แต่การเข้ามาของรัฐบาลประยุทธ์เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น ส่งผลต่อการลิดรอนสิทธิและตัดการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมของประชาชน

นอกจากนี้ รัฐบาลอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 หลายคำสั่งแปรสภาพทรัพยากรธรรมชาติเพื่อตอบสนองความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความถูกต้องตามหลักการสากล ทั้งการเร่งรัดยึดคืนผืนป่าจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม (คำสั่งที่ 64/2557) ยกเว้นการใช้กฎหมายการผังเมือง (คำสั่งที่ 3/2559) ยกเว้นกฎกระทรวงที่ใช้บังคับการผังเมืองกับกิจการบางประเภท เช่น โรงไฟฟ้า กิจการกำจัดขยะ กิจการด้านพลังงาน อีกทั้งยังเน้นแก้ปัญหาระบบการทำ EIA แค่ในเรื่องความล่าช้าเท่านั้น (คำสั่งที่ 9/2559) แต่มิติด้านความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นยังคงคลุมเครือ และมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง โดยที่คนในท้องถิ่นไม่ได้รับการปกป้องหรือเยียวยาอย่างเหมาะสม

ดิน น้ำ อากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ จึงล้วนมีความสัมพันธ์โยงใยกับสังคมมนุษย์ในทุกมิติ เราจึงไม่อาจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยการพุ่งไปที่สิ่งแวดล้อมเพียงมิติเดียว แต่ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่เป็นผลผลิตจากการเมือง เราอาจไม่ต้องลงลึกกันถึงระดับปรัชญาแบบ Deep Ecology หากแต่ต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า ความต้องการให้สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมีภาพที่สวยงามนั้น เป็นการตอบสนองความต้องการของตนเองโดยหลงลืมความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ในสังคมหรือไม่

อ้างอิง

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า