ควันของประชาชน เปลวเพลิงของใคร สำรวจไฟป่าใต้ท้องฟ้าสีแดงของอินโดนีเซีย 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพอากาศแห้งแล้ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์ไฟป่าส่วนใหญ่ที่กำลังลุกลามในอินโดนีเซียเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ตั้งแต่การเผาพื้นที่เกษตร และการเผาในพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมไม้

ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เกษตรกรบนเกาะบอร์เนียวและสุมาตราใช้วิธีเผาพื้นที่ปลูกปาล์ม พื้นที่ปลูกไม้ทำเยื่อกระดาษ และสวนยางพารา เพื่อทำการเพาะปลูกใหม่ เนื่องจากราคาถูกกว่าการใช้เครื่องจักรในการเคลียร์พื้นที่ราว 20 เท่า

โดยปกติ ไฟป่าแทบจะเกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ประจำปี แต่สถานการณ์จะแย่ลงเมื่อถึงเดือนสิงหาคมและกันยายน โดยเฉพาะแปดเดือนแรกของปีนี้ ข้อมูลจาก National Disaster Mitigation Agency ระบุว่า พื้นที่เกาะสุมาตราและบอร์เนียวราว 3,100 ตารางกิโลเมตร อยู่ใต้เปลวเพลิง และหากย้อนไป ไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 พื้นที่เผาไหม้ทั้งหมดราว 26,000 ตารางกิโลเมตร หรือพอๆ กับประเทศรวันดา

สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากไฟป่าครั้งนี้ มาซากอส ซุลกิฟลี (Masagos Zulkifli) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำของสิงคโปร์ เพื่อนบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควัน ประมาณการว่า ในเดือนสิงหาคม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมามากกว่า 360 ล้านตัน พอๆ กับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งปี 2018 ของสเปน

ไฟป่าเป็นหายนะที่ยากต่อการจัดการและควบคุม ฤดูฝนคือปลายทางที่คาดกันว่าน่าจะเป็นทางออก โดยปีนี้ฤดูฝนแถบสุมาตราและบอร์เนียวมาถึงช้า โดยอาจต้องรอถึงเดือนธันวาคม เท่ากับว่า หากไม่มีการจัดการที่ดี อินโดนีเซียและหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องเผชิญหมอกควันปกคลุมท้องฟ้ากันอีกหลายเดือน

ท้องฟ้าสีแดงที่จัมบิ

photo: EKA WULANDARI

22 กันยายน 2019 ภาพท้องฟ้าสีแดงในจังหวัดจัมบิ (Jambi) บนเกาะสุมาตรา สร้างความตกใจ ไม่เฉพาะประชาชนในพื้นที่ แต่รวมถึงกระแสบนโซเชียลมีเดียที่แชร์คลิปวิดีโอที่ทุกสิ่งถูกฉาบทาด้วยแสงสีแดงจนกลายเป็นไวรัล

ท้องฟ้าสีแดงในจัมบิไม่ได้เกิดจากเถ้าถ่านฝุ่นควันที่แดงฉานในตัวเอง แต่เป็นปรากฏการณ์ Rayleigh Scattering ที่ทำให้เห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้า แม้ว่าแสงอาทิตย์จะเป็นสีขาว เพราะในชั้นบรรยากาศมีทั้งละอองน้ำ ฝุ่น และผลึกต่างๆ ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดใหญ่ทำให้แสงสีฟ้าลงมาได้ แต่เนื่องจากฝุ่นควันมีขนาดเล็ก แสงคลื่นสั้นอย่างโทนฟ้าและม่วงจึงถูกกระเจิงออก เหลือเพียงแสงคลื่นยาว เช่น แดง ส้ม เท่านั้นที่ลอดลงมาได้

ลมหายใจของใครต่อใครในอินโดนีเซีย

photo: Aulia Erlangga/CIFOR cifor.org blog.cifor.org

ข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า จากควันที่เกิดจากไฟป่ายังทำลายสุขภาพโดยเฉพาะพัฒนาการด้านภูมิคุ้มกันของเด็ก 10 ล้านคน มีความเสี่ยงเพราะมลภาวะทางอากาศ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ไฟป่าทำให้เกิดควันพิษปกคลุมหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรงเรียนหลายแห่งและสนามบินถูกปิด ผู้คนแห่กันหาซื้อหน้ากาก ด้วยความกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ทางการอินโดนีเซียสั่งการให้เจ้าหน้าที่นับหมื่นลงพื้นที่ และจัดเครื่องบินฉีดน้ำเพื่อหยุดยั้งไฟที่ลุกลามจากการเผาเพื่อเคลียร์พื้นที่ทำการเกษตร

Unicef รายงานว่า เด็กและผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งร้อยละ 25 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จำนวนเกือบ 10 ล้านคน จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการเผาป่าในพื้นที่เกาะบอร์เนียวและสุมาตรา โดยเด็กเล็กมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่พัฒนาเต็มที่ ขณะที่ทารกจะได้รับสัมผัสมลภาวะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายประการ เช่น น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่าปกติ

โรงเรียนหลายพันทั่วอินโดนีเซียต้องประกาศหยุดเรียนเพราะคุณภาพอากาศที่แย่ ทำให้นักเรียนนับล้านต้องขาดเรียน

เดบอรา โคมินิ (Debora Comini) จาก Unicef กล่าวว่า “ในทุกๆ ปี เด็กนับล้านกำลังหายใจเอาอากาศเป็นพิษซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของพวกเขาเข้าไป และเป็นสาเหตุให้ไม่ได้ไปโรงเรียน มันส่งผลกระทบทางร่างกายระยะยาวตลอดชีวิต รวมทั้งทำลายพัฒนาการ”

ควันเป็นของประชาชน แล้วเปลวเพลิงเป็นของใคร

photo: Amzar cifor.org forestsnews.cifor.org

ข้อมูลจาก Greenpeace ระบุว่า พื้นที่ไฟป่าส่วนใหญ่อยู่ในเขตสัมปทานปาล์มน้ำมันและกลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ แต่ไม่มีบริษัทน้ำมันปาล์มรายใดถูกยกเลิกใบอนุญาตเนื่องจากไฟป่าระหว่างปี 2015-2018 และความผิดที่บริษัทเยื่อกระดาษได้รับก็มีแค่การปลูกป่าทดแทน

“พื้นที่อุตสาหกรรมไม้และปาล์มน้ำมันกับพื้นที่เผาไหม้ขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่สัมปทานของพวกเขาไม่ได้รับการลงโทษอย่างจริงจัง หรือได้รับโทษที่เหมาะสมกับความรุนแรงและความถี่ของการเผา”

กลุ่มทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวในรายงาน

หลังกลุ่มควันฟุ้งกระจายข้ามประเทศ กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา มาเลเซียบอกว่าฝุ่นควันจากเกาะบอร์เนียวและสุมาตราพัดข้ามพรมแดนเข้ามา ทำให้โรงเรียนหลายแห่งต้องประกาศหยุดเรียน ขณะที่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย สีติ นูร์บายา บาการ์ (Siti Nurbaya Bakar) สวนกลับไปว่า รัฐบาลกำลังพยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มความสามารถ และ “หมอกควันทั้งหมดไม่ได้มาจากอินโดนีเซีย”

นอกจากข้อความข้างต้น รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมยังให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า ไฟป่าในอินโดนีเซียเกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีอย่างน้อยๆ สี่รายเป็นของมาเลเซีย

สีติ นูร์บายา บาการ์ ระบุชื่อบริษัทสี่รายที่ว่าคือ

  • Sime Indo Agro ในเครือ Sime Darby Plantation
  • Sukses Karya Sawit ในเครือ IOI Corporation
  • Rafi Kamajaya Abadi ในเครือ TDM Berhad
  • Riau-based Adei Plantation and Industry ในเครือ Kuala Lumpur Kepong Group

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ CEO ของ IOI Corporation ลี โหยว เซง (Lee Yeow Seng) เป็นสามีของ โย บี หยิน (Yeo Bee Yin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของอินโดนีเซีย โดย Sukses Karya Sawit บริษัทในเครือ คือกลุ่มธุรกิจผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย

รายถัดมา Sime Darby Plantation บริษัทผู้ปลูกปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ระดับโลก มีเจ้าของคือรัฐบาลมาเลเซีย (Government-linked Company: GLC) นอกจากนี้ TDM Berhad และ Kuala Lumpur Kepong Group ก็เป็นของรัฐบาลรัฐตรังกานู ที่เข้าไปปลูกปาล์มในอินโดนีเซียผ่านบริษัทในเครือ

และแน่นอน ไม่มีบริษัทหรือกลุ่มอุตสาหกรรมใดออกมายอมรับว่า เปลวเพลิงนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่สัมปทานของตน

อาสาสมัครประชาชนสู้ไฟ

photo: Aulia Erlangga/CIFOR cifor.org blog.cifor.org

Al Jazeera รายงานเรื่องราวของ อกุส เซติโอ เปมบูดี (Agus Setio Pembudi) เกษตรกรท้องถิ่นผู้เป็นอาสาสมัครผจญเพลิงที่จัมบิเป็นเวลาสองเดือน จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาเกือบเอาชีวิตไปทิ้ง

“ผมออกไปในพื้นที่ตั้งแต่เช้า และปั๊มน้ำของผมน้ำมันหมด มันใช้การไม่ได้” เขากล่าว “เมื่อไม่มีน้ำ ผมไม่สามารถไล่ควันไปได้ และไม่มีออกซิเจนเพียงพอ ผมเริ่มตะโกนหาทีม จากนั้นก็จำอะไรไม่ได้เลย”

เปมบูดีติดอยู่กลางป่าที่กำลังลุกไหม้ เขาได้รับการช่วยเหลือจากอาสาสมัครคนอื่นที่ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ

“ผมได้ยินเสียงตะโกนของเขา แต่มองไม่เห็นเพราะควันบังหมด”  โพลเก เปลเล (Polke Pelle) อาสาสมัครจากหมู่บ้านคาทูร์ราฮายู (Catur Rahayu) ในจัมบิ กล่าว

“โชคดีมากๆ ที่เขาร้องซ้ำอีกครั้ง และเราสามารถระบุตำแหน่งของเขาได้ หนึ่งในสมาชิกที่แข็งแรงกว่าใครไปลากตัวเขาออกมา และผมรีบไปที่มอเตอร์ไซค์เพื่อตามรถพยาบาลมาย้ายตัวเขาออกไป”

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ‘โจโกวี’ โจโก วิโดโด (Joko Widodo) กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ 6,000 คนลงพื้นที่ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อจัดการปัญหานี้

แต่ในจัมบิ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม อิร์มันสยาห์ (Irmansyah) กล่าวว่า การตอบสนองของรัฐบาลยังไม่ดีพอ แม้แต่หน้ากากกันฝุ่นก็ยังขาดแคลนในพื้นที่ชนบทห่างไกล โดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤติอย่างคาทูร์ราฮายู ไม่มีทหารหรือเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ กลุ่มคนที่ยืนสู้กับไฟมีเพียงชาวบ้านซึ่งเป็นอาสาสมัครเท่านั้น

“หลังปี 2015 บริษัทท้องถิ่นกับรัฐบาลร่วมกันตั้งกลุ่มอาสาสมัครเพื่อสู้กับไฟ” อิร์มันสยาห์ ทำงานกับองค์การนอกภาครัฐ Yayasan Keadilan Rakyat บอกกับ Al Jazeera ย้อนไปครั้งที่ไฟลุกลามมหาศาลในปี 2015

“พวกเขาช่วยฝึกอยู่บ้างนะ แต่ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ดับเพลิงหรือป้องกันไฟและควันอย่างหน้ากากปิดทั้งใบหน้าได้ เรายังไม่มีไอเดียถึงผลระยะยาวของการอยู่ในหมอกควันสำหรับการเป็นอาสาสมัครนานๆ”

อังเดร (Andre) หัวหน้ากลุ่มอาสาสมัครซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐ Masyarakat Peduli Api (MPA) หรือ The Fire Care Community ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร บอกว่า “เราต้องฝืนตัวเองทำงาน และทุกคนเหนื่อยกันมากๆ เราไม่สามารถแยกร่างได้ แต่เราต้องช่วย ดังนั้นเราจึงต้องทำมันต่อไป”

photo: M. Naswira Saputra cifor.org forestsnews.cifor.org

อาสาสมัครเหล่านี้ต้องทิ้งงานและที่ทำกินของตนเองตามคำสั่งเพื่อช่วยดับไฟ ขณะที่งบประมาณทั้งหมดจากรัฐราว 6 ล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย หรือราว 13,000 บาท ไม่เพียงพอ ทำให้ตอนนี้พวกเขาต้องใช้เงินส่วนตัวเพื่อซื้อน้ำ อาหาร กระทั่งซื้อน้ำมันเพื่อเติมปั๊มน้ำดับไฟ

“มันต้องใช้น้ำมัน 10 ลิตรเพื่อให้ปั๊มน้ำทำงานได้ครึ่งวัน แล้วตอนนี้ราคาน้ำมันก็ลิตรละ 9,000 รูเปียห์ (19.30 บาท)” อังเดรบอก “เราทุกคนบริจาคและจ่ายทั้งหมดด้วยตัวเอง”

เพื่อให้ได้ใบอนุญาตต่อไป บริษัทผู้ประกอบการในสัมปทานต้องช่วยเหลือดับไฟในรัศมี 5 กิโลเมตรจากพื้นที่ของพวกเขา อิร์มันสยาห์บอกว่า บางบริษัทส่งพนักงานมาช่วยดับไฟ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เช็คสุขภาพพวกเขา ไม่มีถังออกซิเจน และปล่อยให้ทำงานบนความเสี่ยงของตัวเอง

พนักงานรักษาความปลอดภัยกลุ่มหนึ่งจากบริษัทปาล์มน้ำมัน PT BBIP บอกกับ Al Jazeera ว่า พวกเขาถูกส่งมาแนวหน้าเมื่อต้นเดือนกันยายน โดย “ไม่รู้ว่าจะได้กลับไปทำงานเมื่อไหร่” บอซาร์ ปาร์เดเด (Bosar Pardede) หัวหน้าของกลุ่มบอก “ตอนกลางคืนเรานอนในเต็นท์ บริษัทก็ส่งอาหารมาให้ แต่พวกเราก็ต้องไปตกปลาในคลองเพื่อเพิ่มโปรตีนเป็นพิเศษ”

ขณะที่ อัมโบ (Ambo) พนักงานอีกคนบอกว่า การต้องอยู่แนวหน้าไฟมันเป็นอะไรที่เหน็ดเหนื่อยมากๆ สำหรับคนที่ต้องทำงานอย่างต่ำๆ วันละ 12 ชั่วโมง

“พวกเรามึนมาก เหมือนคนเมาเลย” เขาบอก “แต่เราไม่กลัวนะ เรายังคงอยู่สู้ด้วยกัน”

เปมบูดี ซึ่งรอดชีวิตมาได้อย่างฉิวเฉียดบอกว่า เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว เขาจะกลับลงไปในพื้นที่อีกครั้ง “ผมก็หลอนนะ แต่ตอนที่ผมเห็นเพื่อนๆ สู้กับไฟ เมื่อคนอื่นๆ ไป ทำไมผมจะตามพวกเขาไปด้วยไม่ได้ล่ะ”

อ้างอิงข้อมูลจาก:
reuters.com
theguardian.com
straitstimes.com
uniserv.buu.ac.th
aljazeera.com
washingtonpost.com
channelnewsasia.com
theguardian.com

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า