เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ไม่ได้พูด “ยุเด็กเป็นแนวหน้า เข้าป่าก็มาก ส่วนอาจารย์สบายดี”

มีเหตุผลบางประการที่ต้องเขียนถึง ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกเหนือจากบทบาททางวิชาการ ยังเป็นนักเขียน คอลัมนิสต์ ศิลปินแห่งชาติ และเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำนักศึกษา 14 ตุลา 2516 ที่ต้องเขียนถึงเรื่องนี้อันเนื่องจากปรากฎถ้อยคำบนหน้าฟีด social media วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าชนิดหาต้นตอไม่เจอว่าเริ่มจากบุคคลใด และยิ่งมากขึ้นในช่วงการเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ออกมาชุมนุมในช่วงสัปดาห์นี้

“นักการเมืองที่ยุเด็ก ลองทดสอบดูว่าหากนักศึกษาขอไปนอนบ้านด้วยสักยี่สิบคนจะรับไหม? ทดสอบก่อน เวลามีเรื่องจะได้พึ่งพาได้ ที่หนีไปในประเทศเพื่อนบ้านก็อดอยาก เดือนละสามพัน ไม่พอหรอก ห่วงเด็กครับ ตอนผมเรียนอาจารย์ก็ยุเด็กให้เป็นแนวหน้ากัน เข้าป่าไปก็มาก อาจารย์สบายดี!”

ใครพึงพอใจในถ้อยคำก็กดปุ่มแสดงความรัก หล่นทัศนะว่าเห็นด้วย กระทั่งส่งต่อข้อความนั้นๆ ไปโดยปราศจากความแคลงใจ ทั้งที่จริงแล้วตัวอักษรในเครื่องหมายคำพูดดังกล่าวเป็นของ ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเขียนไว้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ข้อเท็จจริงก็คือมีผู้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ล้นหลาม

เอาล่ะ ไม่ว่าก่อนหน้านี้ท่านจะเข้าใจผิดถูกหรือไม่ก็ตาม ในเมื่อไหนๆ ก็พูดถึง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ไปแล้ว เราจึงคัดเลือกบางถ้อยคำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ จากบทความเรื่อง “ประชาธิปไตยสยามยุทธ: แง่คิดเกี่ยวกับความขัดแย้งและพัฒนาการของระบอบการเมืองในประเทศไทย” โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งรวมอยู่ในหนังสือ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคตประชาธิปไตยไทย” ตีพิมพ์เมื่อปี 2562 ข้อความนี้น่าจะสอดคล้องกับวินาทีปัจจุบันอยู่บ้าง และหากจะนำไปสร้างเป็น quote ส่งต่อ ก็ไม่หวงแหนแต่อย่างใด

“ภารกิจทางประวัติศาสตร์” ที่ตกลงบนบ่าคนหนุ่มสาวรุ่นนี้ย่อมเป็นแรงกดดันให้พวกเขาต้องรีบทำการบ้านเพิ่มเติมอย่างไม่ต้องสงสัย อันดับแรกพวกเขาจำเป็นต้องรีบแปลงความคิดที่กระจัดกระจายอยู่ใน Social Media ให้กลายเป็นวิสัยทัศน์รวมหมู่ (Collective Vision)

“อันดับต่อมา ต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะว่ามวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมมีหลายหมู่เหล่า ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชอบระบอบอำนาจนิยม การยึดติดอยู่กับมวลชนที่ก้าวหน้ากลุ่มเดียว โดยละทิ้งกลุ่มกลางๆ (หรือแม้แต่กลุ่มล้าหลังที่ไม่ได้เลวร้าย) ย่อมไม่นำไปสู่การเติบใหญ่ขยายตัวซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเมืองแบบเลือกตั้ง

“การต่อสู้ทางการเมืองก็เหมือนการต่อสู้ในด้านอื่นๆ ของชีวิต การประมาท ดูเบาคู่ต่อสู้เป็นหนทางแห่งความตาย มีแต่ต้องเข้าใจท่ากระทำของฝ่ายตรงข้ามและรู้จักหยิบยืมพลังทางภววิสัยมาเกี่ยวร้อยกับความพยายามของตนเท่านั้น การขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายจึงอาจปรากฏเป็นจริง”

พูดให้ถึงที่สุด หากจะถอดความคิดของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ให้มากกว่านี้ แนะนำให้เลือกหยิบหนังสือจากสำนักพิมพ์สามัญชน ซึ่งตีพิมพ์งานเขียนของเสกสรรค์มานับจำนวนเล่มไม่ถ้วน แต่หากไม่มีเวลามากพอ เราแนะนำให้อ่าน “ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย” ซึ่งมาจากปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16 โดยองค์ปาฐกในครั้งนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น – เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า