วันนี้ 23 พฤษภาคม 2566 เวลา 17.00 น. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อกดดันให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เคารพเสียงของประชาชนด้วยการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
สืบเนื่องจากการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนถึง 14 ล้านเสียง ให้เข้ามาทำงานในฐานะรัฐบาล ทว่า ส.ว. จำนวนหนึ่งกลับแสดงทีท่าไม่เห็นด้วยกับเสียงของประชาชน โดย ส.ว. บางส่วนออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่โหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ เนื่องจากบางนโยบายของพรรค อาทิ การแก้ไข ม.112 ทำให้ประชาชนไม่พอใจกับท่าทีดังกล่าวของ ส.ว. ประกอบกับที่มาของ ส.ว. เหล่านี้ที่มาจากกลไกการแต่งตั้งของ คสช. นำไปสู่การตั้งคำถามว่า “เสียงของ ส.ว. เป็นใหญ่กว่าเสียงของประชาชนอย่างนั้นหรือ” และ “ส.ว. มีไว้ทำไม”
WAY พูดคุยกับหนึ่งในผู้เข้าร่วมการชุมนุมระบุว่า เธอไม่เห็นด้วยหาก ส.ว. จะฝืนมติของประชาชน เพราะนี่คือพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย
“ตอนนี้ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน คุณต้องฟังเสียงประชาชน พวกคุณ (ส.ว.) ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อย่างน้อยก็ควรให้เกียรติพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” เธอกล่าว
ต่อมากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดวงเสวนาวิชาการ โดยมีวิทยากร ได้แก่ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอุเชนทร์ เชียงแสน อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
อนุสรณ์ให้ความเห็นว่า ส.ว. ชุดปัจจุบันไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งไม่ควรมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกนายกฯ และมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมในระบอบประชาธิปไตย เพราะ ส.ว. คือกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช.
“ไม่มีประเทศไหนที่ให้อำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ผมถึงบอกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งแปลกปลอมของระบอบประชาธิปไตย” อนุสรณ์กล่าว
อุเชนทร์กล่าวเสริมว่า เครื่องมือที่ฝ่ายอำนาจนิยมใช้บงการการเมืองไทย อย่างน้อยตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 คือการสร้างระบอบอำนาจนิยมผ่านสถาบันทางการเมือง ซึ่งการเลือกตั้ง 2566 เป็นไปเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ทั้งจากในและนอกประเทศ ซึ่ง ส.ว. เป็นหนึ่งในสถาบันการเมืองนั้น