เพราะเป็นหญิง จึงโดนเหยียด: เส้นทางวิบาก 6 นักการเมืองหญิงที่ถูกโจมตีด้วยอคติทางเพศ

เพราะการมีบทบาทของคนที่มีเพศกำเนิดหญิงมักถูกกังขาอยู่เสมอ โดยเฉพาะคำว่า ‘เพศ’ ที่ถูกหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการวัดความสามารถ หรือบางครั้งบางคราวช่างง่ายดายเหลือเกินที่จะตั้งแง่ไว้ก่อนว่าสิ่งต่างๆ ไม่สามารถเป็นไปได้เพียงเพราะผู้นั้นเป็นหญิง

แต่ไหนแต่ไรที่การจะขึ้นดำรงตำแหน่งระดับสูงของเพศหญิงเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ไม่มีทางมองเห็น แต่กลับรู้สึกได้ถึงการมีอยู่อันหนักอึ้ง อย่างที่ มาริลิน โลเดน (Marilyn Loden) นิยามว่าสิ่งนั้นคือ ‘เพดานกระจก’ (glass ceiling) อุปสรรคที่คอยฉุดรั้งความก้าวหน้า หรือการขึ้นมามีบทบาทนำของผู้หญิง ซึ่งมีที่มาจากทั้งความเชื่อแบบอนุรักษนิยม การอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่ถูกครอบงำโดยเพศชาย (male-dominated cultures) หรือสิ่งใดก็ตามที่สร้างสภาพแวดล้อมที่อบอวลไปด้วยอคติทางเพศ

แน่นอนว่ามีผู้หญิงที่สามารถสูดหายใจเข้าลึกๆ ค่อยๆ ย่อตัวลงอย่างมั่นคง และกระโดดทะลุเพดานกระจกขึ้นมามีบทบาทนำได้ แต่ก็ไม่พ้นที่ต้องพบเจอกับคำวิพากษ์วิจารณ์จำนวนไม่น้อยที่มุ่งเป้าโจมตีเรื่องเพศ ตัดสิน กลั่นแกล้งด้วยคำพูด และถูกกังขาเพราะเพศ รวมไปถึงถูกละเลยโอกาสและการประเมินการทำหน้าที่อย่างเท่าเทียมกันในทุกเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมืองที่บุคคลสาธารณะย่อมตกเป็นเป้าโจมตีอย่างไม่อาจปฏิเสธ

WAY รวบรวมตัวอย่างนักการเมืองหญิงที่แม้จะฝ่าเพดานกระจกขึ้นมาสู่การเป็นผู้นำได้ แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันของการใช้อคติทางเพศมาเป็นเครื่องมือลดทอนคุณค่าในทุกมิติ สะท้อนอคติและชุดความคิดที่ฝังลึกว่าผู้หญิงไม่สามารถเป็นผู้นำได้ดีเท่าผู้ชาย หลายคนอาจนิยามสิ่งนี้ว่า misogyny หรือ ความเกลียดชังต่อผู้หญิง ดังที่ดิกชันนารี Merriam-Webster ให้ความหมายเอาไว้

จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern)

อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ปี 2017-2023 จาซินดา อาร์เดิร์น ถูกชื่นชมและเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งโลกหลังพาประเทศฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการรับมือกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของประเทศ อย่างเหตุการณ์ก่อการร้ายที่มัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ช (Christchurch)

อย่างไรก็ตาม แม้อาร์เดิร์นจะได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลกว่าเป็นผู้นำต้นแบบ แต่ความนิยมภายในประเทศกลับสวนทาง ยิ่งไปกว่านั้นเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำแบ่งแยกทางเพศและเหยียดเพศหญิงอย่างรุนแรง เธอถูกนำรูปไปตัดต่อซ้อนทับกับผู้ทำอาชีพ sex worker มีการโพสต์รูปพร้อมข้อความระบุว่าให้เช่าบริการทางเพศ 

ทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับคำสบประมาทที่มุ่งเป้าไปที่รูปลักษณ์ภายนอก ดูหมิ่นเสียดสีว่าความเป็นผู้หญิงอายุน้อยทำให้จัดการปัญหาต่างๆ ไม่ได้ ทั้งยังเคยถูกตั้งคำถามเรื่องแผนการมีลูก น่าชวนคิดว่าหากเป็นผู้นำชายจะถูกถามคำถามนี้หรือไม่

ครั้งหนึ่งระหว่างที่เธอพบปะกับซานนา มาริน (Sanna Marin) นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ นักข่าวชายคนหนึ่งกล่าวว่าผู้นำทั้งสองพบกันเพราะพวกเขามีเพศเดียวกันและอายุใกล้เคียงกัน จนอาร์เดิร์นสวนกลับว่า “ฉันสงสัยว่ามีใครเคยถามบารัค โอบามา (Barack Obama) และจอห์น คีย์ (John Key) หรือเปล่าว่าพวกเขาพบกันเพราะอายุใกล้เคียงกัน และการที่ผู้หญิงสองคนพบกันไม่ได้เป็นเพียงเพราะเพศของพวกเธอเท่านั้น”

โทโมมิ อินาดะ (Tomomi Inada)

Japanese Minister of Defense Tomomi Inada speaks during a joing press conference with Defense Secretary Jim Mattis following a Ministerial meeting between the two countries at the Defense Ministry in Tokyo, Japan, Feb. 4, 2017. (DOD photo by Army Sgt. Amber I. Smith)

โทโมมิ อินาดะ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการฝ่ายบริหารพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ของญี่ปุ่น ถูกเยาะเย้ยหลังจากที่เธอได้เสนอว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดระบบโควตาเพื่อเพิ่มสัดส่วนนักการเมืองหญิงในสภา เนื่องจากจำนวนนักการเมืองหญิงมีน้อยเกินไป อินาดะยังเคยปราศัยที่เมืองทาคาราซูกะ จังหวัดเฮียวโงะ ไว้ด้วยว่า “เพราะนักการเมืองหญิงที่มีน้อย ประชาธิปไตยของเราจึงผิดเพี้ยน ดังนั้นฉันต้องการขจัดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 14”

อินาดะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกลดทอนสาระสำคัญที่เธอเสนอให้เพิ่มจำนวนนักการเมืองหญิงว่าเป็นเรื่องขำขัน ซ้ำยังถูกสกัดกั้นจากพรรคที่ตัวเองสังกัดอยู่ ซึ่งออกมาแถลงข่าวไปในทิศทางที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับเธอมากนัก ทางพรรคระบุว่าเห็นด้วยกับประเด็นการเสริมอำนาจแก่ผู้หญิง แต่อย่างไรทุกอย่างควรต้องยึดตามนโยบายของพรรค

ด้านหนึ่ง อากิระ โคอิเกะ (Akira Koike) ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น (JCP) ออกมาให้ความเห็นว่า “ความเท่าเทียมกันตามมาตรา 14 ได้ครอบคลุมถึงความเท่าเทียมกันของชายและหญิง และในมาตรา 24 ก็ได้กำหนดความเท่าเทียมกันโดยพื้นฐานอยู่แล้ว ก่อนที่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญคุณควรอ่านมันจริงๆ เสียก่อน”

ขณะที่อินาดะยังคงยึดมั่นแนวคิดที่ต้องการเพิ่มจำนวนนักการเมืองหญิง เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยของญี่ปุ่น ในปีเดียวกันเธอมีความมุ่งมั่นที่จะลงสมัครรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี โดยประกาศว่าสิ่งสำคัญที่จะเร่งแก้ไขคือปัญหาจำนวนประชากรที่ลดน้อยลง และเรื่องความหลากหลาย แต่ท้ายที่สุดต้องถอนตัวไปโดยเปิดเผยว่าเธอรู้สึกท้อแท้กับการเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และค่านิยมล้าหลังที่หยั่งรากลึกว่าผู้ชายเท่านั้นที่จะสามารถเป็นผู้นำที่ดีได้

คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris)

การลงแข่งในสนามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐของคามาลา แฮร์ริส เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก หลังจากที่พรรคเดโมแครตตัดสินใจเปลี่ยนม้าศึกกลางสนามรบ จาก โจ ไบเดน (Joe Biden) เป็นแฮร์ริส 

สนามการเมืองสหรัฐกำลังดุเดือด บรรยากาศคับแน่นไปด้วยการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น แคนดิเดตย่อมเป็นศูนย์กลางของการวิพากษ์วิจารณ์ แน่นอนว่าประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีหนีไม่พ้นเรื่องอคติเกลียดชังผู้หญิง การเหยียดเชื้อชาติ หรือกระทั่งสีผิว

โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) พูดไว้บนเวทีแสดงวิสัยทัศน์ว่า “ที่ผ่านมาเธอประกาศแค่ว่าเธอมีเชื้อสายอินเดีย ผมไม่รู้ว่าเธอเป็นคนดำ แล้วอยู่ๆ เธอก็เปลี่ยนเป็นคนดำ และเธอต้องการให้คนรู้จักเธอในฐานะคนดำ ผมเลยไม่รู้ว่าตกลงเธอเป็นคนอินเดียหรือคนดำ” 

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) อย่างนาเดีย บราวน์ (Nadia Brown) ได้ออกมาแสดงความเห็นกับสื่อว่า คำพูดของทรัมป์คือ Misogynoir เป็นการผสมกันระหว่างการเหยียดเพศและเหยียดผิว ซึ่งผู้หญิงผิวดำมักจะถูกวิจารณ์ในลักษณะนี้บ่อยครั้ง เป็นค่านิยมผิดๆ ที่ฝังรากลึกมากนาน

นอกจากนี้ VOA news ยังรายงานเพิ่มเติมว่า รองประธานนาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้เพศเป็นข้ออ้าง และถูกกล่าวหาว่าผู้หญิงไม่สามารถดำรงตำแหน่งที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกเสรีได้

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องคอยรับมือกับอคติทางเพศที่รุนแรง ความเกลียดชังที่อ้างว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำถูกโยนทับถมใส่ตัวเธอนับไม่ถ้วน

คำพูดล้อเลียนอย่าง ‘คอ-นก-รีต’ หรือ ‘thank you 3 times’ ถูกนำกลับมาพูดถึงซ้ำๆ ซึ่งหลายคนใช้สิ่งนี้เป็นเหตุผลในการตัดสินความสามารถ ระดับความชาญฉลาดของเธออย่างไม่ลังเล

“ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย แค่มีโพยยื่นให้ก็อ่านได้ทันที อ่านมากๆ มันก็มีพลาดผิด ถนนคอ-นก-รีต ประเทศซิดนีย์” ส่วนหนึ่งของเดี่ยวไมโครโฟน ที่แต่งเนื้อเพลงเสียดสียิ่งลักษณ์ พร้อมกับทำหน้าที่ส่งต่อเรื่องเล่าเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังถูกใช้คำพูดดูหมิ่นเหยียดหยาม ไปจนถึงการพูดจาคุกคามทางเพศบนเวที กปปส. น่าสะท้อนใจยิ่งกว่าคือเสียงเฮที่ดังกึกก้องทั่วท้องถนนในเวลานั้น 

ศิริกัญญา ตันสกุล

สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้มีบทบาทในการอภิปรายเรื่องงบประมาณ การเงินการคลัง แสดงความคิดเห็นประเด็นทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ 

ชื่อของศิริกัญญาถูกคาดเดาว่าจะได้นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง ตั้งแต่รู้ผลว่าพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งสูงที่สุด แต่เสียงวิจารณ์ที่ตามมาคือ “มือใหม่ ไร้ประสบการณ์ เป็นแค่พนักงานบริษัทมาก่อน” “ศิริกัญญาเทียบเผ่าภูมิไม่ได้เลย” 

ศิริกัญญากล่าวตอนหนึ่งในรายการ Friends Talk ว่า “ดิฉันถูกขุดยันโคตรเหง้า ถามหาว่า GPA เท่าไร แต่พอตั้งรัฐบาลเสร็จไม่มีใครถามอีกเลยว่า รมว.คลัง หรือ รมช. เขามีคุณสมบัติเป็นอย่างไร เพียงพอไหม” 

นอกจากนี้ทุกครั้งหลังจากที่ศิริกัญญาออกมาวิจารณ์นโยบายรัฐบาล คอมเมนต์จากฟากฝั่งของผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็จะด่าทอด้วยคำพูดเหยียดเพศ เหยียดการศึกษาต่างๆ นานาด้วยเช่นกัน

แพทองธาร ชินวัตร

ก่อนหน้าที่อดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่ง พรรคเพื่อไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่เป็นนั่งร้านเผด็จการ ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่แตกต่างไปจากเดิม และถูกกดดันเรื่องนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ 

สำหรับแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของประเทศไทย เรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกโซเชียลตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 คือการแต่งตัว การถกเถียงเรื่องที่เธอกำลังตั้งครรภ์ ต้องคลอดลูก ไม่เหมาะสมที่จะรับตำแหน่ง จึงถูกไล่ให้ไปคลอดและเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2566 กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน จัดการชุมนุมเดินขบวนไปยังพรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อไทย และได้มีผู้ปราศรัยถึงแพทองธาร แต่กลับใช้ถ้อยคำหยาบคาย เหยียดเพศ ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้ภายหลังทางกลุ่มกิจกรรมจะออกหนังสือขอโทษและชี้แจงเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรเหตุการณ์นี้ก็สะท้อนอคติที่ยังคงฝังรากลึก บ่งบอกว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะยุติการโจมตีนักการเมืองหญิงด้วยเหตุแห่งเพศ

แพทองธารจะถูกเรียกโดยมีนามสกุลห้อยท้ายว่า ‘ลูกทักษิณ’ และถูกจับตาว่า ‘พ่อ’ จะสั่งให้เดินเกมการเมืองอย่างไร การวิเคราะห์ท่าทีของแพทองธารเต็มไปด้วยคำว่าทักษิณ ทักษิณ และทักษิณ ซ้ำถูกมองว่าเธอไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ แน่นอนว่าเธอถูกยัดเยียดให้เล่นบทหุ่นเชิดเป็นที่เรียบร้อย 

ที่มา

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า