กระชากหน้ากาก UN เมื่อคนในองค์กรพิทักษ์สิทธิกลายเป็นผู้ละเมิดทางเพศ

องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิมนุษยชนโลก ตัดสินความยุติธรรม ไปจนถึงต่อสู้กับโรคร้าย ความหิวโหย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเวลานานกว่า 78 ปีแล้ว แต่ข้อเท็จจริงบางอย่างกลับบอกเราว่า องค์กรระดับโลกแห่งนี้ล้มเหลวในการรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่กระทำโดยบุคลากรของตนเอง 

เรื่องราวการละเมิดและใช้ประโยชน์ทางเพศที่กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Peacekeeping) และองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ รวม 83 คน กระทำต่อหญิงสาวชาวคองโกระหว่างการปฏิบัติหน้าที่เพื่อมนุษยธรรมในช่วงที่คองโกมีการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา ระหว่างปี 2018-2020 แต่กลับไม่มีรายงานการสืบสวนสอบสวนและการลงโทษบุคลากรขององค์การสหประชาชาติปรากฏต่อสังคมโลก ทำให้โลกต้องหันกลับมามองตัวตนที่แท้จริงขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งข้อหนึ่งระบุว่า “ส่งเสริม/สนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพสำหรับทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนา” 

แล้วความจริงก็ปรากฏว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำให้โลกเห็นอย่างชัดแจ้ง ลึกลงไปใต้ผิวน้ำที่เป็นหน้าตาขององค์กรความร่วมมือระดับโลกแห่งนี้ เต็มไปด้วยเรื่องราวที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางเพศ ที่ผู้กระทำผิดแทบจะไม่ถูกดำเนินคดีให้สมกับความผิดที่ก่อขึ้น 

ใต้ภูเขาน้ำแข็งแห่งการการล่วงละเมิดและใช้ประโยชน์ทางเพศ

เดือนตุลาคม 2021 มูเกช กาปิลา (Mukesh Kapila) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการสุขภาพในภาวะวิกฤต (Department of Health Action in Crises) ขององค์การอนามัยโลก และอดีตผู้ช่วยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติด้านการพัฒนาสังคมและความรู้ ประจำสหพันธ์กาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies: IFRC) เขียนบทความลง The Conversation แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ระดับโลกที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ และนักข่าวทั่วโลก บอกเล่าความรู้สึกเจ็บปวดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในคองโก และเรื่องราวภายในองค์การสหประชาชาติที่คนภายนอกน้อยคนจะรู้

กาปิลาเล่าว่าเมื่อครั้งที่ตนเองไปปฏิบัติหน้าที่ในคองโกในช่วงปี 1994 ตอนที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ประเทศเพื่อนบ้าน เธอรู้สึกเจ็บปวดมากเมื่อเห็นผู้หญิงและเด็กสาวจำนวนมากถูกข่มขืนและต้องหนีข้ามพรมแดนมาที่คองโก แต่ความเจ็บปวดนั้นเทียบไม่ได้กับเหตุการณ์ในคองโกช่วงปี 2018-2020 ที่หญิงสาวในคองโกต้องยอมถูกล่วงละเมิดทางเพศเพื่อแลกกับการมีงานทำในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา และคนที่ล่วงละเมิดนั้นคือคนที่ทำงานด้านมนุษยธรรมเช่นเดียวกับเขา

ตามคำบอกเล่าของกาปิลา การแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศโดยบุคลากรที่ทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับองค์การสหประชาชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับประเทศในทวีปแอฟริกา ตัวอย่างที่รุนแรงนอกจากในคองโกแล้ว ได้แก่ การกระทำของเจ้าหน้าที่องค์การ Oxfam ในเฮติ การประพฤติไม่ชอบทางเพศของเจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์กร Save The Children การมีส่วนร่วมในอาชญากรรม ‘เซ็กส์แลกอาหาร’ ในแอฟริกาตะวันตก ของเจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลก (World Food Program) ในปี 2002 ที่เหยื่อส่วนใหญ่เป็นเด็กสาวอายุต่ำกว่า 18 ปี ในครั้งนั้นพบว่านอกจากโครงการอาหารโลกแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรความช่วยเหลือต่างๆ รวมอีก 40 องค์กร เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมนี้ 

องค์กรที่มีข้อร้องเรียนเรื่องการละเมิดทางเพศมากที่สุดคือ กองกำลังรักษาสันติภาพแห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งกาปิลาเรียกว่าเป็นองค์กรที่มีประวัติอันยาวนานเกี่ยวกับวัฒนธรรมการล่าทางเพศ (predatory sexual culture) มีคำกล่าวหาและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศโดยเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติมากถึง 2,000 กรณี ในจำนวนนี้ 700 กรณีเกิดขึ้นในคองโก และจากข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ Child Rights International Network (CRIN) เครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านสิทธิเด็ก ระบุว่าระหว่างปี 2004-2016 มีรายงานเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศของเด็กโดยเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของสหประชาชาติทั่วโลกรวมมากกว่า 300 กรณี

นอกจากนี้ยังมีรายงานการข่มขืนและลักพาตัว รวมถึงการค้าประเวณีของหญิงสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในโคโซโวและบอสเนีย โดยเจ้าหน้าที่จาก UN และนาโต (NATO) และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีรายงานถึงพฤติกรรมที่เลวร้ายทางเพศของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพชาวกาบองและฝรั่งเศสที่ปฏิบัติหน้าที่ในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง

 CRIN เปิดเผยในตุลาคมที่เพิ่งผ่านมาว่า ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการล่วงละเมิดเด็กโดยเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติเริ่มปรากฏครั้งแรกในทศวรรษ 1990 และปัญหาก็เกิดตามมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผู้กระทำผิดที่ถูกร้องเรียนมีทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน 

นอกจากการล่วงละเมิดที่เกิดกับบุคคลภายนอกแล้ว หน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ ยังมีปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศภายในองค์กรเองอีกด้วย 

มาร์ตินา บรูสตรอม (Martina Brostrom) อดีตที่ปรึกษาอาวุโสของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) เคยกล่าวหาผู้อำนวยการอาวุโสของ UNAIDS อย่างเปิดเผยว่าเคยบังคับจูบเธอและพยายามลากเธอออกจากลิฟต์ ระหว่างการประชุมงานหนึ่งในกรุงเทพฯ ปี 2015 เธอทำเรื่องร้องเรียนไปยังองค์การสหประชาชาติ ไม่เพียงผู้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของเธอจะไม่ได้รับการสอบสวนอย่างที่ควรจะเป็น เธอกลับเป็นฝ่ายถูกตั้งกรรมการสอบในข้อหาประพฤติมิชอบทางการเงินและทางเพศในปี 2019 ก่อนที่จะจบลงด้วยการที่เธอถูกไล่ออกในปี 2011 

การตอบสนองขององค์การสหประชาชาติ

รูปธรรมการตอบสนองขององค์การสหประชาชาติต่อรายงานการล่วงละเมิดและการใช้ประโยชน์ทางเพศจากเด็กและผู้หญิง ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา คือการตั้งหน่วยงานหรือโครงการพิเศษต่างๆ ขึ้นมาเพื่อสืบสวนสอนสวนความจริงที่เกิดขึ้น เช่น WHO ตั้งฝ่ายป้องกันและตอบสนองต่อการกระทำผิดทางเพศ (ที่ไม่ระบุให้ชัดเว่าเป็นการกระทำของบุคลากรตนเอง) ไปจนถึงการตั้งกองทุนสำหรับเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิด (ที่ไม่ระบุให้ชัดว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยผู้เสียหายจากการกระทำของบุคลากรของตนเอง และไม่เรียกเงินที่จ่ายให้กับเหยื่อว่าเป็นค่าชดเชย) บางครั้งอาจมีคำขอโทษจากองค์กรบ้าง แต่ไม่บ่อยครั้งนัก ที่สำคัญคือแทบไม่ปรากฏการลงโทษหรือการรับผิดทางอาญาของผู้ที่กระทำอาชญากรรมทางเพศเหล่านั้นเลย 

กาปิลาบอกว่าจากประสบการณ์ของเขา เมื่อมีการกระทำผิด บุคคลที่กระทำผิดมักขอย้ายจากประเทศหนึ่งไปทำงานอีกประเทศหนึ่ง รวมไปถึงการขอย้ายองค์กร มีส่วนน้อยที่จะถูกลงโทษทางวินัย และส่วนน้อยกว่านั้นที่จะถูกส่งกลับไปสู่กระบวนการพิจารณาโทษตามกฎหมายของประเทศต่างๆ 

องค์การสหประชาชาติมีสถานะทางกฎหมายที่ได้รับการคุ้มครอง และเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติซึ่งมีประมาณ 35,000 คนทั่วโลก ก็ได้รับเอกสิทธิ์ทางการทูตจากกฎหมายของทุกประเทศ แม้ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติจะยืนยันมาโดยตลอดว่าเอกสิทธิ์ที่ได้รับเป็นไปเพื่อปกป้องสหประชาชาติจากการถูกแทรกแซงขณะปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ไม่มีการให้เอกสิทธิ์เพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงไม่มีการคุ้มครองผู้ที่ก่ออาชญากรรมทุกอย่าง รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ในประเด็นนี้กาปิลาเขียนอธิบายไว้ว่า คำกล่าวอ้างที่มักได้ยินเสมอเมื่อมีการร้องเรียน และองค์การสหประชาชาติปฏิเสธที่จะดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่คือ ‘ขาดหลักฐาน’ 

การรับมือกับข้อกล่าวหาการล่วงละเมิดทางเพศแบบกำปั้นทุบดินที่สุดน่าจะเป็นกรณีเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพที่ปฏิบัติหน้าที่ในแอฟริกากลางถูกกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงที่นั่น โดยมีรายงานว่าตั้งแต่กองกำลังสันติภาพสหประชาชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารจากแทนซาเนียไปตั้งฐานปฏิบัติการในแอฟริกากลางตั้งแต่ปี 2014 ก็มีข้อร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดและใช้ประโยชน์ทางเพศกับผู้หญิงและเด็กมาตลอด การสืบสวนสอบสวนสามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ 11 คน และเดือนมิถุนายนของปีนี้เองสหประชาชาติตัดสินใจส่งกองกำลังสันติภาพจากแทนซาเนียทั้งหมด 60 คน กลับไปยังแทนซาเนีย 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแอฟริกากลางแสดงให้เห็นว่า นโยบายต่อต้านการแสวงประโยชน์และละเมิดทางเพศอย่างเด็ดขาดที่สหประชาชาติประกาศมาตั้งแต่ 2003 ไม่มีผลจริงในทางปฏิบัติ 

เดือนตุลาคม 2003 ท่ามกลางเสียงร้องเรียนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพ สหประชาชาติ ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ สหประชาชาติได้ประกาศนโยบายต่อต้านการแสวงประโยชน์และละเมิดทางเพศอย่างเด็ดขาด (zero tolerance) โดยกำหนดข้อห้ามสำหรับเจ้าหน้าที่สหประชาชาติไว้ 5 ประการ ได้แก่ 

  1. ห้ามกระทำการล่วงละเมิดทางเพศและแสวงหาประโยชน์ทางเพศ หรือกิจกรรมรูปแบบอื่นที่ทำให้เกิดการอับอาย หรือเสื่อมเสียทางเพศ 
  2. ห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศทุกประเภทกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 
  3. ห้ามใช้เด็กหรือผู้ใหญ่เพื่อจัดหาบริการทางเพศ 
  4. ห้ามแลกเปลี่ยนเงิน การจ้างงาน สินค้า หรือบริการ เพื่อการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งกับผู้ขายบริการทางเพศและไม่ใช่
  5. ห้ามเที่ยวซ่องหรือสถานประกอบการที่มีการค้าประเวณีและแสวงประโยชน์ทางเพศ

การล่วงละเมิดและใช้ประโยชน์ทางเพศ เป็นเพียงอาชญากรรมหนึ่งเท่านั้นที่บุคลากรของสหประชาชาติกระทำแล้วมักไม่ต้องถูกรับโทษ หากยังมีอาชญากรรมในรูปแบบอื่นอีก 

ในการประชุมคณะกรรมการชุดที่ 6 ขององค์การสหประชาชาติ (คณะกรรมการด้านกฎหมาย) ในวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ มีการอภิปรายกันในประเด็นความรับผิดทางอาญาของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ผู้แทนจากประเทศมาเลเซียเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติดำเนินการบางอย่างเพื่อรักษาชื่อเสียงขององค์กร โดยเธอแจ้งแก่ที่ประชุมว่าตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา มีการรายงานการเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติเข้ามาสู่องค์การสหประชาชาติมากถึง 342 กรณี มีเพียง 11 กรณี เท่านั้นที่องค์การสหประชาชาติส่งเรื่องไปยังรัฐต่างๆ ให้ดำเนินการต่อ

เมื่อ ‘คนใน’ หมดความอดทนกับการไม่ทำอะไรขององค์กร

ที่ผ่านมามี ‘คนใน’ องค์การสหประชาชาติเองพยายามออกมาเปิดโปงเรื่องราวเกี่ยวกับการกระทำผิดและไม่ถูกลงโทษของหน่วยงานองค์การสหประชาชาติอยู่บ้าง แต่น่าเศร้าที่ส่วนใหญ่จบลงด้วยชะตากรรมเดียวกันกับมาร์ตินา บรูสตรอม

 ปี 2022 สำนักข่าวบีบีซี เผยแพร่สารคดีเรื่อง The Whistleblower: Inside the UN บอกเล่าเรื่องราวชะตากรรมของผู้ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดภายในสหประชาชาติ และชะตากรรมของเจ้าหน้าที่ในสังกัดองค์การสหประชาชาติเมื่อพยายามออกมาเปิดโปงหลุมดำเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศและการกระทำผิดในข้อหาอื่นๆ ของบุคลากร ซึ่งส่วนใหญ่จบลงด้วยการถูกไล่ออก หรือไม่ก็ถูกคุกคาม และบางคนตัดสินใจลาออกเองเพราะไม่อาจทนต่อวัฒนธรรมองค์กรที่ปกป้องผู้กระทำผิดได้

แอนโทนี บันเบอร์รี (Anthony Banbury) อดีตผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งตัดสินใจลาออกในปี 2016 หรือเพียง 2 ปี หลังได้รับการแต่งตั้ง เปิดเผยในสารคดีเรื่องนี้ถึงเหตุผลในการตัดสินใจลาออกของตนเองว่า เพราะไม่อาจทนกับความเฉยเมยของสหประชาชาติต่อกรณีกองกำลังสันติภาพ สหประชาชาติ ละเมิดทางเพศเด็กๆ ในสาธารณรัฐแอฟริกากลางและไฮติได้

“ผมต้องการให้องค์กรให้ความสำคัญกับเด็ก (ที่ตกเป็นเหยื่อ) แต่พวกเขากลับให้ความสำคัญกับคนที่กระทำผิด” บันเบอร์รีกล่าว

ปูร์นา เซน (Purna Sen) อดีตโฆษกขององค์การสหประชาชาติ กล่าวในประเด็นที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิด การทำร้ายร่างกาย และการเลือกปฏิบัติ ถึงกับเรียกตราสัญลักษณ์ของสหประชาชาติว่า “เสื้อคลุมอันยอดเยี่ยมสำหรับการกระทำผิด” (A fantastic cloak for abuse.) เธอบอกว่าสารคดีของบีบีซี เรื่องนี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า สหประชาชาติไม่สามารถทำตามที่ประกาศไว้ว่าจะต่อต้านการละเมิดและใช้ประโยชน์ทางเพศอย่างเด็ดขาด ตรงกันข้ามกลับปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินต่อไป

เสียงเพรียกหาการเปลี่ยนแปลง

ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้สหประชาชาติให้ความสำคัญกับการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำผิดในข้อหาการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งทางวินัยของสหประชาชาติเอง และทั้งการส่งเจ้าหน้าที่กลับไปให้รัฐบาลแต่ละประเทศดำเนินกระบวนการทางกฎหมาย แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนก็ยังไม่ปรากฏขึ้น 

ในบทความที่เขียนลงใน The Conversation กาปิลาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายขององค์การอนามัยโลก 3 ประการ เพื่อเป็นการตอบสนอต่อกรณีการล่วงละเมิดหญิงสาวในคองโก ได้แก่ 

  1. การจ่ายเงินชดเชยให้กับเหยื่อในจำนวนที่มากพอ ควบคู่กับการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และการเยียวยาจิตใจ ทั้งนี้ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกไม่เคยจ่าย ‘เงินชดเชย’ ให้กับเหยื่อเลย แม้แต่กรณีของคองโก ซึ่งมีหลักฐานความผิดของเจ้าหน้าที่ตนเองชัดเจน องค์การอนามัยโลกได้แต่เพียงจ่าย ‘เงินก้อนสำหรับเหยื่อที่รอดชีวิต’ เป็นจำนวน 250 เหรียญสหรัฐ (อ่านรายละเอียดได้ที่ ‘เงินเยียวยาที่ไร้หลักมนุษยธรรมของ WHO กับการตีราคาความเจ็บปวดของหญิงคองโกผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ’
  2. ต้องทำทุกอย่างเพื่อติดตามตัวผู้กระทำผิดและจำตัวมาขึ้นศาล
  3. ผู้บริหารขององค์การอนามัยโลกที่ล้มเหลวในการจัดหาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และร่วมแบกรับผลของความล้มเหลวนั้น

ตามความเห็นของกาปิลา เหตุการณ์ในคองโก “จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ผู้เปราะบางจะต้องตกเป็นเหยื่อทางเพศของผู้ที่ถูกส่งตัวไปช่วยเหลือพวกเขา แต่การกำหนดให้มีภาระการรับผิดมากขึ้น การสร้างให้เกิดความยุติธรรม และการชดใช้ให้กับเหยื่อ จะทำให้การกระทำผิดมีต้นทุนสูงมากขึ้น และแสดงให้เห็นว่าคำขอโทษมีความหมาย และ ‘มาตรการต่อต้านอย่างเด็ดขาด’ (zero tolerance) มีคุณค่ามากกว่าการเป็นแค่คำขวัญ” 

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า