แบคทีเรียชิเกลลา (Shigella) ซึ่งก่อให้เกิดโรคบิด ท้องเดิน อาเจียน และอาจทำให้เกิดแผลในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ สามารถดื้อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด ที่เคยรักษาอาการได้ผล จนแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐเริ่มกังวล
วันที่ 8 มีนาคม 2566 The New York Times รายงานว่า ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ชี้แจงสัญญาณน่าวิตกกรณีแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ชิเกลลา (Shigella) วิวัฒนาการจนดื้อยา ทำให้ยาปฏิชีวนะที่เคยได้ผล ได้แก่ อะซิโธรไมซิน (azithromycin) ไซโปรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin) เซฟไตรอะโซน (ceftriaxone) ยาปฏิชีวนะในกลุ่มยาซัลฟา (trimethoprim-sulfamethoxazole) และแอมพิซิลิน (ampicillin) ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญจาก CDC ยังชี้ว่า ปัจจุบันพบเชื้อแบคทีเรียดื้อยาชนิดนี้ใน 29 มลรัฐ และอาจมีความเป็นได้ที่จะมันจะแพร่กระจายลุกลามไปยังรัฐอื่นๆ รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
เชื้อดื้อยาอาจมีสาเหตุมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างกว้างขวาง จนส่งผลให้แบคทีเรียเกิดการปรับตัวตามกระบวนการวิวัฒนาการ ยีนดื้อยาอาจเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์แบบสุ่มในสปีชีส์หนึ่งๆ หรือเกิดจากการแลกเปลี่ยนยีนระหว่างแบคทีเรียด้วยกันหรือระหว่างแบคทีเรียกับสิ่งมีชีวิตสายพันธ์ุอื่นก็ได้ ดังนั้นเมื่อพิจารณาว่า แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการส่งต่อยีนระหว่างกันสูงอย่างน่าทึ่ง ความสามารถในการดื้อยาของชิเกลลาจึงมีโอกาสสูงที่จะถูกส่งต่อไปยังแบคทีเรียก่อโรคอื่นๆ เช่น ซัลโมเนลลา (Salmonella) หรืออีโคไล (E. coli)
ปี 2565 มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลกถึง 1.7 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อย และประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ ส่วนประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขเผยข้อมูลว่า คนไทยมีอัตราติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากกว่า 100,000 คนต่อปี ใช้เวลารักษาตัวนานขึ้น รวมกันปีละ 3 ล้านวัน และมีอัตราการเสียชีวิต 38,481 คนต่อปี
สถานการณ์เชื้อดื้อยาจึงน่าจับตาอย่างมาก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 และมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 แต่ก็ยังต้องอาศัยความพยายามในการผลักดันประเด็นจากหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา:
This Stomach Bug Isn’t Responding to Antibiotics. Scientists Are Worried.
สถานการณ์เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในไทย
Antimicrobial Resistance Death Toll Could Catch Up to Cancer by 2050, and Pollution is Fuelling its Spread