เขียนต้นฉบับนี้เช้าวันอังคารที่ 23 เมษายน 2567 คือวันที่มินิซีรีส์ Shogun ที่สตรีมทางเน็ตฟลิกซ์จะฉายตอนที่ 10 อันเป็นตอนอวสาน เชื่อได้ว่าจะมีคนติดตามจำนวนมาก และมากกว่าหลายๆ เรื่องที่เคยผ่านมาในหลายทศวรรษนี้
ด้วยความที่นักดูหนังจะเลือกดูกี่โมงก็ได้เพราะหนังเขา ‘หลั่งไหล’ มาตลอดทั้งวันและอีกหลายเดือนนับจากนี้ แม้สัมผัสได้ว่ามีอารมณ์ร่วมอยู่มากและส่วนใหญ่เป็นกระแสชื่นชม ผมก็ชื่นชมด้วยเพราะบทหนังเขียนได้กระชับและดูเข้าใจง่าย
อย่างไรก็ตาม กระแสเฝ้าหน้าจอจนจราจรกรุงเทพฯ หายไปจะไม่เกิดขึ้น
เพราะหนังมิได้ฉายตอนอวสานเวลาเดียวเท่านั้นอีกแล้ว ไม่เหมือนครั้งที่ ฮุ้นปวยเอี๊ยง ต้องตายใน กระบี่ไร้เทียมทานภาค 2 หรือที่ สี่เหวินเฉียง ต้องตายในตอนอวสานของเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ ทั้งสองเหตุการณ์ผมยังเป็นนักศึกษาแพทย์กินข้าวเย็นอยู่ร้านอาหารท่าพรานนกกับเพื่อนๆ ทุกคนอ้าปากค้างไม่ตักข้าว ท่าพรานนกเงียบสนิท
โชกุนวันนี้ดีเลิศเพียงใดก็มีข้อแตกต่างจากหนังสือมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ 7-9 ที่ผมได้ดูแล้ว ไม่ทราบว่าตอนจบวันนี้จะเป็นอย่างไร ยืนยันว่าหนังทำได้ดีเร้าอารมณ์ แต่ก็ไม่ถึงกับอยากลุกขึ้นฆ่าคนเหมือนอ่านหนังสือ
วันนี้จะชวนอ่านและดูมินิซีรีส์ 1980 ไปพร้อมกัน
หนังสือมีฉบับแปลไทยโดย ธนิต ธรรมสุคติ สำนักพิมพ์การเวก พ.ศ. 2521 สามเล่มจบ ราคารวม 105 บาท วันนี้น่าจะมีพิมพ์ใหม่แล้ว ส่วนมินิซีรีส์เป็นแผ่นดีวีดี 5 แผ่นจบพร้อมสเปเชียลฟีเจอร์ดีงาม
ในโชกุนที่กำลังสตรีมตอนนี้เป็นที่วิจารณ์ว่า โยชิอิ โทรานางะ (Yoshii Toranaga) แกล้งป่วยไอแค็กๆ ร่างกายอ่อนแออย่างที่เห็นในหนัง ช่างเหมือนกับขุนนางบ้านเราที่แกล้งป่วยเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามตายใจ มิหนำซ้ำยังชื่อขึ้นต้นด้วย ท เสียอีก อ่านคอมเมนต์ต่างๆ ก็อดสนุกไปด้วยมิได้
ไม่ทราบว่าความจริงของการเมืองบ้านเราเป็นอย่างไร แต่ในหนังสือโทรานางะมิได้แกล้งป่วย ไม่มีช่วงตอนใดที่เขาแสดงให้เห็นความอ่อนแอทางร่างกายให้คนรอบข้างเห็น ความอ่อนแอทางจิตใจก็ไม่มี แม้นักอ่านก็สัมผัสไม่ได้ ในหนังสือเขาเพียงแสร้งยอมจำนน แล้วกริยาที่แสร้งยอมจำนนนั้นก็อาจหาญมากกว่าที่จะอ่อนแอ เป็นการยอมจำนวนด้วยกายและวาจา แต่ไม่รู้ใจคิดอะไร
ในหนังสือ นักรบเฒ่าสหายร่วมรบแต่เยาว์วัย โทดะ ฮิโรมัตสึ (Toda Hiromatsu) มิได้ถูกสั่งให้กระทำเซ็ปปูกุ (切腹; seppuku) เมื่อคัดค้านการยอมแพ้แบบที่เห็นในหนัง ฉากนี้เรียกอารมณ์คนดูหนังได้มาก เพราะนักรบเฒ่าต้องคว้านท้องเดี๋ยวนั้นโดยเรียกบุตรชาย บุนทาโร (Buntaro) เป็นผู้ช่วยบั่นคอ อ่านหนังสือจะดุเดือดกว่าอีกแม้นักรบเฒ่าจะไม่ตาย
เป็นฉากประชุมนักรบเพื่อประกาศการยอมแพ้เหมือนกัน มีนักรบที่เอ่ยปากตั้งคำถาม โทรานางะก็ให้ออกไปทำเซ็ปปูกุทันที คนที่สองแสดงความคิดเห็นถูกไล่ไปคว้านท้องทันทีเช่นกัน คนที่สามคัดค้านและดูหมิ่นเจ้านายซึ่งหน้า ก็ตายตรงนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย ตาย 3 คนซ้อนในนาทีเดียว จากนั้นโทรานางะ ก็ลุกขึ้นปิดประชุมโดยไม่สะทกสะท้าน
ไม่เพียงโทดะ ฮิโรมัตสุจะไม่ตาย บุตรชายนางะ (Naga) ของโทรานางะก็มิได้ตายเพราะลื่นล้มในบ่อออนเซ็นด้วย เขาไม่ตายแต่ถูกมัดแขนขาสั่งการให้ยอมจำนนเหมือนทุกคน การยอมจำนนที่มีหลักฐานชัดแจ้งให้อิชิโดะ คาซูนาริ (Ishido Kazunari) เห็น เป็นการซื้อเวลาที่จะทำลายฐานกำลังของอิชิโดะและหยั่งเชิงไดเมียวทั่วทุกภาคที่ยังไม่เลือกข้าง
ช่วงเวลาที่ มาริโกะ (Toda Mariko) และ จอห์น แบล็กธอร์น (John Blackthorne) เดินทางด้วยกันนั้น ในหนังสือเปิดโอกาสให้สองคนเปิดใจสร้างสัมพันธ์กันได้เต็มที่ โดยมีสาวใช้ของมาริโกะช่วยปิดบัง ไม่เพียงสองคน ‘หมอน’ กันไปทุกคืนตลอดทาง แต่ยังใช้ชีวิตร่วมกัน คุยกันหลายเรื่อง สัมผัสร่างกายปลายนิ้วกันให้โรแมนติกจับใจผู้อ่านอยู่เนือง หากดูมินิซีรีส์ 1980 ออกจะอีโรติก 2-3 ฉากเลยทีเดียว
ความสัมพันธ์ของทั้งสองที่ปูทางไว้ ทำให้ฉากมาริโกะถือดาบซามูไรเดินหน้าฉายเดี่ยวเข้าหาประมือพวกซามูไรสีเทา เพื่อนำตัวประกันออกจากโอซากาเป็นส่วนที่ดุดัน ยาวนาน และน่าประทับใจอย่างยิ่ง แม้เพียงการอ่านวางไม่ลงแน่นอน
รวมไปถึงฉากทำเซ็ปปูกุ ‘กลางแจ้ง’ ท่ามกลางสายตาคนทั้งปราสาท เพื่อประจานอิชิโดะก็ส่งผลร้ายแรงอธิบายได้ เมื่อ คิยามา (Kiyama) หนึ่งในห้าผู้สำเร็จราชการชาวคาธอลิกปฏิเสธที่จะเป็นผู้ช่วยไดเมียวยาบู (Kasigi Yabu) จึงขันอาสา จอห์น แบล็กธอร์นไม่ควรรับหน้าที่นี้ได้ เพราะทักษะการใช้ดาบซามูไรของเขาอย่างมากก็เป็นแค่เริ่มต้น ไม่สมเหตุผล คอมาริโกะไม่ขาดแน่ๆ
มีความแตกต่างมากมายหลายฉากระหว่างหนังสือและหนัง เชื่อว่าคนที่ไม่อ่านมาก่อนเลยน่าจะดีที่สุด ดูหนังสนุกที่สุด ไม่ต้องรู้ว่าหนังขาดอะไรไปบ้าง และที่จริงส่วนที่ขาดไปก็เป็นเพราะกลไกของหนังที่จำต้องทำด้วย ที่เหลือให้ดูอยู่ก็ต้องยอมรับว่าเนื้อเรื่องเนื้อหาค่อนข้างครบถ้วน ธีมหลักก็ถูกต้อง เป็นซีรีส์ที่ดี คนอ่านไปแล้วก็เพราะ ‘กรรมะ’ รวมทั้งผมที่อ่านไป 2 รอบและดูซีรีส์เก่าอีก 2 รอบ จะไม่ให้เปรียบเทียบโดยอัตโนมัตินั้นคงยาก
ก็เหมือนการเมืองไทย เขาให้เรารู้เท่าที่อนุญาตให้เรารู้วันนี้ อีก 50 ปีข้างหน้าลูกหลานเราจึงจะได้ดูหนังที่เล่าเรื่องทั้งหมด
โชกุนเป็นชุดหนังสือที่ควรอ่านแม้จะยาว ส่วนที่ดีที่สุดน่าจะมี 3 ข้อ
ข้อแรก ปูมหลังของสเปนและโปรตุเกสกับการอุบัติขึ้นของคาธอลิกในเอเซีย การผงาดขึ้นของฮอลแลนด์และอังกฤษเมื่อค้นพบช่องแคบแมกเจลแลน (Strait of Magellan) เรือไม่จำเป็นต้องอ้อมแหลมฮอร์น (Cape Horn) อันตรายที่สุดทวีปอเมริกาใต้อีกต่อไป
ข้อสอง ประวัติส่วนตัวของตัวละครทุกคนโดยเฉพาะจอห์น แบล็กธอร์นกับมาริโกะ ซึ่งนักอ่านจะได้อ่านละเอียดมาก เจมส์ คลาเวลล์ (James Clavell) เขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่ 1 จึงปล่อยความในใจและอดีตของตัวเองได้ไม่บันยะบันยัง ไม่นับการใช้สรรพนามกูที่ขึ้นชื่อลือชาในฉบับแปลไทยครั้งแรก โทรานางะ ยาบู บุนทาโร โอมิ เกียวโกะ คิขุ เหล่านี้มีรากเหง้าและความในใจมากมายลึกลับซับซ้อนล่อหลอกทั้งตนเองและคนอื่น
ข้อสาม คือเรื่องเกียรติยศของซามูไร หากว่าในหนังมีมากเกินไปแล้ว เราจะเห็นความตายเพื่อเกียรติของซามูไรในหนังสือมากมายกว่าหลายเท่า มากเสียจนอันจินซังบ่นให้คนอ่านได้ยินว่าบ้าไปแล้ว นำไปสู่การบอกเป็นนัยว่า เกียรติมิใช่อะไรมากไปกว่าที่เจ้านายหลอกใช้เราเป็นเครื่องมือในการเดินหมาก
เกียรติของนั่น เกียรติของนี่ อย่าไปว่าซามูไรเลย บ้านเราเองมีเต็มไปหมด
เป็น ‘กรรมะ’ ที่ผมดูซีรีส์เก่า 1980 ไป 2 รอบอีกด้วย รอบแรกครั้งเรียนมัธยม รอบสองก่อนมานั่งเขียนบทความนี้ ที่แน่ๆ คือ ริชาร์ด แชมเบอร์เลน (Richard Chamberlain) รับบทอันจินซัง (Anjin-san) ได้กร้านและเกรียมมากกว่ามาก นำร่องต้องเหี้ยมและปากกล้าขนาดนี้แหละจึงจะรอดได้ ประวัติส่วนตัวในหนังสือก็รองรับความสามารถของเขา โทชิโร มิฟูเนะ (Toshiro Mifune) เป็นโทรานางะที่ทรงอำนาจและซ่อนความเจ้าเล่ห์เพทุบายไว้มิดชิด ไม่ต้องดรามาให้คนดูเข้าใจ กูไม่ต้องการให้มึงเข้าใจ มันก็คงคิดเช่นนี้ตอนสั่งขุนพลในสังกัดเซ็ปปูกุ 3 คนตาไม่กระพริบ
มาริโกะสวยสนิทแสนจะสง่างามน่าหลงใหลญี่ปุ่นแท้ๆ
หนังปี 1980 มีแต่ซับไตเติลอังกฤษตอนที่พวกต่างชาติคุยกัน จะไม่มีคำบรรยายเวลาญี่ปุ่นคุยกันเลย เราจึงได้แต่ฟังญี่ปุ่นคุยกันอ้าปากหวอทุกครั้งไปเพราะฟังไม่รู้เรื่อง เหมือนที่อันจินซังฟังไม่รู้เรื่อง หนังตั้งใจให้คนดูเป็นเขาตั้งแต่แรก “ไอ้ลิงพวกนี้คุยอะไรกันวะ”
มีข้อดีคือเรารับรู้ความอึดอัดของอันจินซังเต็มๆ แต่ข้อเสียคือเราไม่รู้พวกญี่ปุ่นคิดอะไรเลย ผู้กำกับใช้ภาษาภาพและบทพูดอังกฤษผ่านมาริโกะ อัลวิโต และ โรดริเกส เป็นหลักว่าพวกญี่ปุ่นพูดอะไร ที่เหลืออันจินซัง ก็คือเราต้องเดาเอง บางทีอันจินซังจะพูดดังๆ ให้คนดูรู้เรื่อง และบางครั้งจะมีเสียงบรรยายสรุปความว่า พวกญี่ปุ่นคุยอะไรกัน อ่านหนังสือจึงละเอียดที่สุด
ที่ชอบคือตัวละครอย่าง ยาบู ในปี 1980 น่าเกรงขามในแบบที่ควรเป็น ไม่กะล่อนไม่ตลกเลย ความตายของเขายังประโยชน์แก่ โอมิ (Kashigi Omi) และตระกูลของตนทั้งหมด แม้จะถูกโอมิทรยศ
บางทีนี่ต่างหากคือเกียรติที่แท้