จริงอยู่ที่ว่า อำนาจของเผด็จการสามารถควบคุมประเทศไว้ได้
แต่เพียงอำนาจนั้นไม่อาจใช้ปิดหูปิดตาและสกัดกั้นการแสดงออกของประชาชนผู้ไม่สยบยอมได้
เมื่อชะตากรรมถูกขีดให้เราต้องอยู่ในประเทศอยุติธรรม หนทางเดียวที่จะอยู่รอดไม่ใช่การเพิกเฉย แต่เป็นการลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจนั้นให้ถึงที่สุด
ท่ามกลางความปั่นป่วนของบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นปรากฏการณ์ของความพยายามไม่อยู่เฉย เราค่อยๆ เห็นงานศิลปะ บทกวี วรรณกรรม บทเพลง ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์อำนาจไม่เป็นธรรม เราเห็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การชวนอ่านหนังสือ 1984, กินแซนด์วิช, การชูสามนิ้ว, การไม่ลุกขึ้นยืนในโรงภาพยนตร์ หรือการร้องเพลง 1-2-3-4-5 I here too
เราเห็นการวาดรูปหรือการเขียนข้อความเพื่อบันทึกข้อความแห่งการต่อต้านบนพื้นถนนและฝาผนัง เราเห็นการออกมาส่งเสียงและพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘อำนาจที่มากล้นเกินจนไม่เห็นหัวประชาชน’ กำลังเป็นปัญหาสำคัญที่ขวางประเทศไม่ให้เดินหน้า
คุยกับ สินา วิทยวิโรจน์ กราฟิกดีไซเนอร์และนักวาดภาพประกอบ จากเพจ Sina Wittayawiroj®
สินา บอกว่า เขาไม่ใช่ศิลปิน
เขาเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่ไม่สามารถทนเห็นการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม
การลุกขึ้นส่งเสียงครั้งนี้ อาวุธข้างกายของเขาไม่ใช่ปืนหรือรถถัง หากแต่เป็นปากกาและความคิด
ก่อนสนใจเรื่องการเมือง คุณเคยมีช่วงที่ยังไม่ตาสว่างไหม
โอ้ มีแน่นอนครับ ถ้าย้อนไปดูเฟซบุ๊คเก่าๆ ก็จะเจอสเตตัสแปลกๆ อยู่บ้าง แต่ผมโชคดีอย่างหนึ่ง ตอนสมัยเรียนมหา’ลัย ผมมีเพื่อนที่ครอบครัวเขาเป็นคนเสื้อแดง นั่นเป็นโอกาสที่ทำให้ผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนมากขึ้น มันเป็นช่วงเวลาที่ดีมากนะ เพราะเราจะได้เรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ ที่หาไม่ได้จากสื่อหลัก ช่วงเวลานั้นทำให้ผมเรียนรู้ที่จะฟังความหลากหลายมากขึ้น แต่คนเราจะเชื่ออะไรสักอย่างก็ต้องเชื่อด้วยตัวเองใช่ไหมครับ ช่วงแรกผมก็ไม่ได้เชื่อข้อมูลจากเพื่อนอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่เหตุการณ์บ้านเมืองตอนนั้น ผมจำได้เลยวันที่ 10 เมษายน 2553 วันสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เราตัดสินใจออกไปเดินถ่ายรูปวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ มันทำให้เราได้เห็นกองเลือดจริงๆ ของพี่น้องเสื้อแดง เห็นความโหดร้ายที่คนเสื้อแดงต้องเผชิญซ้ำๆ จนรู้สึกว่า ‘เฮ้ย นี่มันไม่เหมือนข่าวในทีวีเลยนี่หว่า ทำไมในทีวีนำเสนอแต่ทหารเสียชีวิต แล้วพี่น้องเสื้อแดงล่ะ?’
ภาพจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้ามันทำให้ผมค่อยๆ เชื่อ และเปิดใจคุยกับเพื่อนคนนั้นมากขึ้น และมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจสังคมและการเมือง จนกลับตัวทำเป็นไม่สนใจไม่ได้อีกแล้ว
เมื่อมีความสนใจทางการเมือง คุณใช้ความสนใจนั้นเป็นวัตถุดิบในการทำงานศิลปะเลยหรือเปล่า
ถ้าย้อนไป 10 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นผมว่าสังคมเรามีคนที่เพิกเฉยเรื่องการเมืองเยอะมาก ภาพของคนที่สุดโต่งไปเลยมีแค่กลุ่มคนที่เป็นรอยัลลิสต์หรือกลุ่มพี่น้องเสื้อแดง นอกนั้นคือพวกที่บอกว่าตัวเองเป็นกลาง
งานศิลปะก็เช่นกัน มันก็อยู่ในโทนกลางๆ ไม่เลือกข้าง ไม่ออกตัว เซฟๆ มาตลอด งานศิลปะที่เกี่ยวกับการเมืองมักเป็นเพียงงานในลักษณะที่ช่วยบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองเท่านั้น เรายังไม่ได้ใช้มันสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาสักเท่าไร
พอผมรู้ตัวว่าเริ่มสนใจการเมือง ก็มีโอกาสได้ทำงานศิลปะชิ้นแรก ในช่วงธีสิสตอนเรียน ป.ตรี ที่ศิลปากร งานของผมเป็นของเล่นกระดาษที่พับเป็นรูปนักการเมืองคนต่างๆ ได้ ตอนนั้นเรายังมองเรื่อง ‘การเมือง’ เป็นแค่เรื่องของนักการเมืองอยู่เลยนะ มันสุดอยู่แค่นั้น เพราะผมใส่คำอธิบายของงานไว้เพียงว่า เมื่อคุณพับกระดาษเป็นบุคคลทางการเมืองแล้ว คุณจะบูชา จะเผา หรือขยำมันทิ้งก็ได้นะ จบ งานสุดอยู่แค่นั้น ซึ่งมัน ignorance สุดๆ แต่นึกย้อนไปแล้วก็ยังดีที่ได้ลองเริ่มทำ
ส่วนงานสร้างสรรค์ที่มีประเด็นเรื่องการเมืองที่จริงๆ จังๆ ผมว่ามันเริ่มตอนธีสิส ป.โท แต่ระหว่างเรียนต่อผมไม่ได้ทำงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองสักพัก ผมมุ่งไปศึกษาเรื่องเทคนิคและทฤษฎีเกี่ยวกับศิลปะอย่างเดียว เพราะหลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง บรรยากาศของการต่อสู้ก็หายไป มันหลงเหลือแต่ความเจ็บปวดที่คนเสื้อแดงต้องเจอ
ช่วงที่กำลังคิดกับงานตัวเองว่าจะทำธีสิสอะไร ผมไม่ได้อยากให้งานของตัวเองมีแค่คอนเทนต์เชิงเทคนิคหรือทฤษฎีศิลปะน่ะ ผมอยากใส่ประเด็นที่ชอบไปด้วย เลยทำให้ได้กลับไปทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมอีกครั้ง บวกกับผมเริ่มศึกษางานของ จิตร ภูมิศักดิ์ และอาจารย์ทัศนัย (เศรษฐเสรี) รวมถึงงานของศิลปินอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่มีบทบาทต่อวงการศิลปะไทย จนสุดท้ายผมพบว่างานศิลปะทุกชิ้นมันต้องแตะประเด็นการเมืองอยู่ดีว่ะ ผมหนีไปไม่พ้น
ธีสิสชิ้นนั้น คุณทำอะไรบ้าง
งานของผมคือการตั้งคำถามว่า ชาวบ้านที่อยู่ในรอบรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรวังท่าพระ เขามีความเข้าใจในองค์ความรู้ที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยไหม
ผมเริ่มทำงานผ่านการลงไปสัมภาษณ์กับคนตัวเล็กตัวน้อยจริงๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้มันเรียลมาก มันสะท้อนให้เห็นชีวิตของความเป็นชนบท เห็นความเป็นคนชายขอบ
พอผมเริ่มทำงานวิจัยจริงๆ พบว่าคนเหล่านี้เขาไม่ได้มีองค์ความรู้ในสิ่งที่มหาวิทยาลัยมีหรอก
แต่ความประหลาดคือเขามีความรู้ทางศิลปะในแบบของเขา และเขาปรับใช้มันด้วยวิธีการที่สุดยอดมาก เช่น การจัดหน้าร้าน การเจรจา การพูดคุย การแต่งตัว การใช้ชีวิตของเขาทั้งหมด พวกนี้มันมีองค์ประกอบศิลป์หมดเลย เราเลยไม่รู้ว่าจะเอามาอธิบายในแง่ศิลปะอย่างไร ผมก็เลยจัดประกวดงานศิลปะ โดยให้พ่อค้าแม่ค้ารอบรั้วศิลปากรเป็นกรรมการ
คุณตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโททันที เป็นเพราะอะไร
ระหว่างที่เรียนปริญญาตรี อาจารย์บางท่านเขาก็มาถามผมว่า เธออยากเป็นอาจารย์ไหม เขาพยายามมาหยอดๆ เรื่องพวกนี้ไว้ในตัวเราตลอด ซึ่งเราชอบตัวเองเวลาสอนนะ จึงตัดสินใจเรียนต่อเลย ช่วงนั้นยังไม่มีเอกสาขาการสอนศิลปะในไทย การที่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ก็ต้องจบปริญญาโท ก็เลยตัดสินใจเรียนปริญญาโทต่อ แต่พอเรียนไปถึงจุดหนึ่งเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ คือเราอยากสอนนะ แต่ดูเหมือนโครงสร้างการศึกษา มันซับซ้อนกว่านั้นและเกินกำลังที่เราจะเปลี่ยน
ผมเห็นตัวอย่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่พยายามเข้าไปเปลี่ยนระบบ แต่กลับโดนระบบราชการกลืนไปหมด เช่น เขาต้องทุ่มเวลาไปกับการทำแผนการสอน หรือภาระงานที่มากเกิน ก็ทำให้การสอนคุณภาพลดลง
ดังนั้นหลังจากที่ผมเรียนจบ ผมก็ตัดสินใจไม่เป็นอาจารย์แล้ว เราเลยหางานประจำทำและทำงานศิลปะอยู่พักหนึ่ง
ผมทำงานประจำในบริษัทในตำแหน่ง Art Director ทำภาพประกอบ ทำวิดีโอเบื้องหลัง ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่ทำให้เราสนุก
ในช่วงระหว่างนั้น ผมเคยทำงานศิลปะที่มีประเด็นทางการเมืองชุดหนึ่ง และหัวข้อสุดท้ายที่ผมทำ คือบันทึกทางประวัติศาสตร์ในกรณีการสวรรคตของ ร.8 โดยผมเอาชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์ต่างๆ มาทำเป็นงานแสดง แต่ท้ายที่สุดงานชุดนี้มันจัดแสดงไม่ได้ เพราะบังเอิญว่าช่วงที่งานเสร็จ เป็นช่วงที่ ร.9 สวรรคตพอดี ทำให้เจ้าของแกลเลอรีกังวลและไม่อยากจัดแสดงงานของเรา
ซึ่งผมเข้าใจว่ามันอ่อนไหวจริงๆ นั่นแหละ แต่ตัวงานของผมไม่ได้โจมตีหรือหมิ่นอะไรนะ ผมมั่นใจว่างานผมมันปลอดภัยแน่ๆ มันเป็นแค่การนำเสนอส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง
สุดท้ายผมก็ต้องเก็บงานชุดนี้ไว้ในบ้านประมาณ 1 ปี เวลาผ่านไปจนผมรู้สึกเกลียดมันไปแล้ว ความรู้สึกมันเหมือนผมอยู่กับมันมานาน สุดท้ายผมเลยตัดสินใจเอางานชุดนี้ไปเผา แล้วก็เอาขี้เถ้าไปแสดงในแกลเลอรีอีกที และเมื่อจบงานก็ทิ้งขี้เถ้านั้นไปหมดเลย ตอนนั้น พอเผางานเสร็จผมก็ประกาศกับตัวเองว่า ‘ฉันจะไม่ทำงานศิลปะอีกต่อไป’ ‘ฉันจะไม่แสดงงานศิลปะในแกลเลอรีอีกแล้ว’
และไทม์ไลน์ของการทำงานศิลปะก็จบลง ผมกลับมาทำงานประจำอย่างเต็มตัว
งานที่เก็บไว้ 1 ปี ทำไมคุณถึงเกลียดมันล่ะ
ผมรู้สึกโกรธที่ไม่ได้แสดงน่ะ การเห็นมันทุกวันอยู่ในบ้านทำให้ผมเอือม
เป็นความรู้สึกที่ว่าทำไมฉันต้องมาอยู่ในสภาวะแบบนี้ งานก็ไม่ได้รุนแรง แต่ทำไมถึงแสดงไม่ได้ ในมุมหนึ่งผมเข้าใจเจ้าของแกลเลอรีว่าสถานการณ์มันอ่อนไหวจริงๆ แต่เราใส่พลังเข้าไปเยอะมากในงานชิ้นนี้ เรายอมรับความเสี่ยงทุกอย่างด้วยตนเอง เราเปิดชื่อจริง แต่ทำไมเราถึงไม่มีอำนาจในการแสดงมัน
เชื่อไหม ผมไม่เคยพูดว่าผมทำงานชิ้นนั้นมานานมาก จนปีนี้ผมถึงกล้าพูดว่าผมทำงานเรื่องการสวรรคตของ ร.8 คือมันเป็นความรู้สึกที่ไม่แม้แต่จะอยากพูดถึงมันด้วยซ้ำ
แล้วเมื่อไรถึงคลี่คลายมาวาดงานเชิง Political Art
ผมทำงานประจำที่บริษัทที่มีเจ้าของบริษัทเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเขาให้อิสระเราเยอะมาก ช่วงนั้นการเคลื่อนไหวในบ้านเราก็เริ่มขึ้นพอดี ผมจึงเริ่มมีความรู้สึกกระตือรือร้นในการอยากวาดรูปอีกครั้ง
ช่วงแรกผมเริ่มวาดรูปลงเฟซบุ๊คส่วนตัวก่อน ก่อนหยุดไปเพราะงานประจำในออฟฟิศเยอะ จนถึงกลางปีที่แล้วก็กลับมาวาดรูปเกี่ยวกับการชุมนุมเต็มตัว จนเรารู้สึกว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไปด้วย
การวาดรูปของเรามันเป็นการวาดรูปที่ไปกับการเคลื่อนไหว ผมไม่ได้ต้องการใช้รูปของเราออกมานำใคร หรืออยากให้ใครมาติดตาม ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไปม็อบมาแล้วเห็นวิธีการคนที่เขียนป้ายด้วยถ้อยคำต่างๆ แล้วรู้สึกมันเจ๋งมาก! จนอยากสร้างสรรค์อะไรที่เป็นของตัวเองบ้าง
ซึ่งหลายๆ ครั้งศิลปะที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหว มันออกมาในรูปแบบรูปล้อ มุกตลก มีม หรือการเสียดสี ซึ่งผมคิดว่าผมมีศักยภาพที่จะทำแบบนั้น ก็แค่อยากเริ่มวาดบ้างโดยใช้แพลตฟอร์มในเฟซบุ๊คนี่แหละ
งานวาดในเพจของคุณดูโหดขึ้นเรื่อยๆ ขีดจำกัดของงานคุณอยู่ตรงไหน
ต้องแบ่งพาร์ทนะ งานส่วนตัว งานเกี่ยวกับขบวนการ และส่วนที่เป็นงานเครือข่ายที่เราไปทำร่วมกับคนอื่น
ส่วนแรกที่ทำเพื่อตนเองคือ การวาดรูปลงบนแพลตฟอร์มเพจเฟซบุ๊คของตนเอง ในส่วนนี้คิดว่า มันคือการดันเพดานจริงๆ สังเกตได้ว่าผมจะเปิดชื่อจริงตลอด เพราะผมต้องการดันเพดาน เปิดให้คนที่กล้าถ้าอยากตามก็ตามมาเลย อันนี้เป็นความตั้งใจส่วนตัว
ส่วนที่สองเป็นการทำงานวาดร่วมกับขบวนการ เราเริ่มวาดรูปให้กับเครือข่ายต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะเราไม่มีเงินพอที่จะบริจาคให้กับกองทุนต่างๆ ซึ่งสิ่งเดียวที่ผมพอจะทำได้คือใช้รูปวาดของตัวเองเคลื่อนไหวนี่แหละ
ส่วนที่สามคืองานเครือข่าย เราเปิดกลุ่ม ‘นักวาดภาพประกอบประชาธิปไตย’ ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้มันไปไกลแล้ว เกิดเป็นคอมมูนิตี้ขึ้นมา โดยตัวผมแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย ผมคิดว่าในส่วนนี้มุมหนึ่งมันก็ช่วยสื่อสารในประเด็นใหญ่ๆ ได้เหมือนกัน บางชิ้นงานของคนในกลุ่มมันก็ดันเพดานให้ทะลุไปแล้ว
ผมยกตัวอย่าง เราเคยช่วยกันวาดเรื่องของทนายอานนท์ขึ้นมา มันเป็นโปรเจ็คต์ที่คิดเร็วๆ แต่ไปไกลมาก กลายเป็นแคมเปญวาดรูปพร้อมติดแฮชแท็ก #ได้โปรดช่วยชีวิตพวกเราด้วย นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าคอมมูนิตี้เล็กๆ ทำให้การเคลื่อนไหวมันแข็งแรงมากขึ้นได้
วาดงานในประเด็นการเมืองเช่นนี้ เคยโดนล่าแม่มดไหม
เคยสิ ถ้าย้อนกลับไปช่วง ป.โท ผมจะเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาพูดเรื่องการรับน้องในศิลปากร และผมไปร่วมลงชื่อ ครก.112 (คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112)
สองเรื่องนี้ทำให้ผมโดนล่าแม่มดจนเกือบทำให้ผมไม่สามารถเรียนต่อได้ คือมันเป็นความรู้สึกภายในน่ะ ไม่ได้มีการทำร้ายร่างกาย แต่ผมรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย มีการเปิดเพจ ซุบซิบนินทา คนที่เคยรู้จักผม เริ่มกระซิบบอกต่อว่าผมเป็นพวกเสื้อแดง จนมันรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ
ผมยอมรับว่าตอนนั้นเรายังเด็ก จึงเกิดความกลัว อยากจะหนีไปไกลๆ ไม่อยากเรียนแล้ว จนวันนี้ที่เราวาดรูปลงเพจเฟซบุ๊ค ผมก็โดนล่าแม่มดอีก สิ่งที่ผมเจอคือการแคปหน้า และชื่อนามสกุลจริงของผมไปลงในกลุ่มต่างๆ
ผมรู้สึกว่าอันนี้ไม่โอเค ผมกังวลนะ ผมต้องตื่นเช้าแล้วรีบออกไปดูหน้าบ้านว่ามีหมายเรียกหรือมีใครมายืนด้อมๆ มองๆ หรือเปล่า มันเป็นความวิตกกังวล
ผมยืนยันเหมือนเดิมอีกครั้งว่า งานของผมไม่ได้ต้องการจะหมิ่นตัวบุคคลหรือหมิ่นใคร เพียงแค่ต้องการใช้รูปวาดของผมเป็นเครื่องมือบันทึกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันอาจจะมีสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งมันสามารถตีความไปถึงใคร แต่นั่นก็เป็นความคิดของคุณที่ตีความเอาเองไม่ใช่เหรอ
แต่วันนี้โอเคขึ้นบ้างแล้ว หลังจากที่ผมเข้ากระบวนการเวิร์คช็อป และได้ทบทวนกับตัวเองว่า ผมเชื่อว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด กรณีที่แย่ที่สุดถ้าผมติดคุก ผมก็คิดซะว่าผมยังมีความสามารถ ผมมีมือ มีแขนขา มีสมองที่อาจจะเอามันไปใช้ต่อในคุกได้ด้วยซ้ำ ผมร้องเพลงได้ ผมก็จะไปร้องเพลงให้คนในคุกฟัง (หัวเราะ)
คือผมพยายามถามตัวบ่อยๆ ว่าความต้องการของเราคืออะไรและมันยังอยู่ดีใช่ไหม ระหว่างทางมันอาจจะท้อ เหนื่อย ป่วย เจ็บ อะไรก็ได้ แต่ในทางจิตใจต้องเติมพลังให้ตัวเอง ต้องเชื่อว่าเรายังมีพลังนั้นอยู่ ผมเชื่อว่าผมจะผ่านไปได้ ก็เลยทำให้ตอนนี้ไม่ค่อยกังวลแล้ว
ฟังเหมือนว่าคุณจะรับมือสถานการณ์โดนล่าแม่มดได้ดีขึ้น แต่อย่างกรณีที่เกิดขึ้นตอนเรียนปริญญาโท สภาพจิตใจเป็นอย่างไรบ้าง
ที่รู้สึกดาวน์เพราะเกิดจากการที่คนอื่นมองเราแล้วเข้าใจผิด หลายคนที่นินทาผมก็เป็นคนที่ผมรู้จักทั้งนั้น เคยนั่งกินเหล้าด้วยกัน ไปดูงานศิลปะด้วยกัน แต่พอเห็นว่าเขาไม่ชอบเราเพราะประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นรับน้อง ประเด็นที่ผมไปลงชื่อยกเลิก ม.112 เราเลยรู้สึก เอ้า! เรื่องแค่นี้เอง เราคุยกันได้สิ
แต่พอผ่านจุดนั้นมาหลายคนก็กลับมาคุยกับผมนะ จริงๆ ต้องโทษสื่อกระแสหลักด้วย มันทำให้ภาพของคนที่ออกมาเรียกร้อง ไม่ว่าจะเรียกร้องประชาธิปไตย หรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่คิดต่าง ถูกมองว่ากลายเป็นคนอื่น คนอื่นที่เราสามารถด่า เกลียด หรือกระทำการกดขี่อะไรก็ได้
การตายของคนเสื้อแดงจึงไม่ถูกเคารพไง คนที่เขาสะใจกับการตายของคนอื่น เพราะรู้สึกว่าตัวเขามีพาวเวอร์ในทางสังคม และก็เขาสามารถเอาพาวเวอร์นั้นมากดคนอื่นต่อได้ และกว่าพาวเวอร์นั้นจะค่อยๆ หมดไป ต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี
คุณพูดเหมือน ไม่กลัวการติดคุกเลยนะ
ผมเคยมีโอกาสได้เจอ ไผ่ ดาวดิน ตอนไปร่วมในกิจกรรมเดินทะลุฟ้า
ผมว่าไผ่เป็นคนที่ทำให้ผมรู้สึกว่าการติดคุกไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เขาจะหัวเราะ ยิ้ม ตลอดเวลา ไม่ได้ทำให้ใครรู้สึกเครียดหรือกดดันอะไรเลย โอเค มันอาจจะเกิดกับคนใกล้ตัว หรือคนในครอบครัวต้องเสียใจอยู่แล้ว
แต่ในแง่ของการเคลื่อนไหว ไผ่ไม่เคยหวั่นไหว หรือทำให้ตัวเองรู้สึกว่าฉันแพ้
ถ้ามีกล้องถ่ายไผ่ตอนลงจากรถผู้ต้องหา เขายิ้มพร้อมกับชูสามนิ้ว และผมคิดว่ารอยยิ้มนั้นมันไม่ใช่พลังที่ทำเพื่อกลบเกลื่อนความเศร้าด้วย ไผ่เป็นคนแบบนั้นจริงๆ เขาเปล่งพลังออกมาให้คนอื่นๆ ได้
ผมคิดว่าถ้าผมต้องโดนถึงจุดนั้น ผมจะเป็นแบบไผ่ให้ได้ ไผ่เป็นไอดอลผมจริงๆ เราต้องไม่ยอมแพ้เหมือนเมื่อก่อนที่แบบว่าหงอยออกมา เราต้องเป็นคนแบบไผ่สิ
ประสบการณ์จากการถูกล่าแม่มด ช่วยยืนยันได้ไหมว่าการทำงานศิลปะภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารมันแย่
ใช่ครับ สำหรับผมนะ เอาเข้าจริงรัฐบาลเผด็จการทหารเขาตามไม่ค่อยทันวัฒนธรรมที่มันเปลี่ยนไปเท่าไร
เขาคือคนยุคเก่า แค่รับมือกับการชุมนุมวันต่อวันก็หนักพอแล้ว
ซึ่งงานเชิงวัฒนธรรมในยุคนี้มันวิ่งเร็วมาก เพราะมันเกิดจากการผนึกกำลังจากหลายฝ่าย นักวาดภาพประกอบ ศิลปิน ดีไซเนอร์ กราฟฟิตี้ แร็ปเปอร์ ในทุกแวดวงที่เขาทนไม่ไหวกับอำนาจเผด็จการ เขาก็ลุกขึ้นมาทำงานสร้างสรรค์กันทั้งนั้น
แต่ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่ง ฝ่ายรัฐก็คงสามารถขยับบาร์ของความรุนแรงขึ้นมาได้ เขาอาจจะใช้อำนาจปิดกั้นการแสดงออกจากศิลปินได้ ผมว่ามันถึงจุดนั้นได้ ประเทศจะฉิบหายกว่านี้ เพราะมันมีความรุนแรงทางกายภาพเกิดขึ้นบนวัฒนธรรมใหม่
ประโยชน์ของงานศิลปะที่พูด ‘ความจริง’ จะช่วยเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไร
ผมคุ้นๆ กับคำที่คนชอบใช้ว่า soft power ผมคิดว่ามันจัดอยู่ในหมวดนี้ ข้อดีของงานเชิงวัฒนธรรมไม่ต้องพูดแค่ศิลปะอย่างเดียว คือมันสามารถขยายขอบเขต เปิดการรับรู้ของคนได้มากขึ้น งานเชิงวัฒนธรรมมันไม่มีลิมิต เราสามารถจำลองเหตุการณ์ ใส่งานศิลปะภาพวาด กราฟิกลงไป แล้วสื่อสารออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา
ยกตัวอย่างเช่น มีช่วงหนึ่งที่ผมพยายามวาดรูปที่ทำให้ผู้ชุมนุมมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่
คือผมไม่อยากวาดรูปที่ผู้ชุมนุมถูกกระทำอย่างเดียวอีกต่อไปแล้วน่ะ อยากเห็นเจ้าหน้าที่ถูกกระทำบ้าง ผมเลยคิดว่าไอ้งานศิลปะหรือวัฒนธรรมนี่แหละ ที่มันเปิดโอกาสให้ผมสามารถทำได้
และสุดท้ายงานชิ้นนี้มันอาจจะเกิดประโยชน์ โดยเสริมกำลังใจกับมวลชนด้วยซ้ำว่า ถึงแม้ว่าเราถูกตี ถูกกระทำ แต่เราสามารถวาดรูปที่เรากระทำเขากลับได้ในทางความคิด อย่างน้อยเราก็ได้ลดความมีอำนาจของผู้นำบางคนจากในภาพวาดได้
การเสียดสี ล้อเลียนเหล่านี้ก็เป็นการต่อสู้ในทางอำนาจเหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องวาดคนที่กระทำเราให้ยิ่งใหญ่เสมอไป เราสามารถวาดให้เขาเล็กลง ไม่มีพลัง มือเต็มไปด้วยเลือด เป็นคนที่ใช้ความรุนแรง ฯลฯ สามารถสื่อสารผ่านงานศิลปะได้ทุกแบบ
ตั้งแต่ปีที่แล้วจนวันนี้ การวาดรูปของคุณเป็นไปตามธงที่ตั้งใจไว้หรือยัง
ผมคิดว่าทะลุเพดานที่ตนเองตั้งไว้ไปไกลมาก แล้วหลายชั้นมากด้วย เหมือนมันมีฝ้าหลายชั้นและภาพวาดเรามันก็ทะลุไปเรื่อยๆ ตอนนี้ก็อาจจะเดินให้ช้าลง ย้ายตัวเองไปทำงานกับเครือข่ายและขบวนการอื่นๆ มากขึ้น ผมคิดว่าผมมาไกลกว่าลิมิตที่ตัวเองตั้งไว้มาก
เวลานักสร้างสรรค์จะคิดงานสักชิ้น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม อำนาจ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อความคิดไหม
ทั้งหมดมันคือองค์ประกอบของชีวิตมนุษย์อยู่แล้ว ถ้าไปดูในกลุ่มนักวาดภาพประกอบจะเห็นคนทุกชนชั้น มีคนที่ทั้งวาดในกระดาษ สมุดโน้ต จนกระทั่งวาดจากโปรแกรมในคอมฯ ระดับสูงๆ ศิลปะเปิดโอกาสให้คนทุกคน
แน่นอนว่าทุกคนมีต้นทุนไม่เท่ากัน คนที่ลำบากย่อมมีเวลาน้อยกว่าคนที่มีทุนอยู่แล้ว พอพูดถึงตรงนี้ผมว่านี่คือโจทย์ที่ตั้งคำถามได้ว่า เราจะมีโมเดลไหนที่ทำให้ประเทศไทยขยายพื้นที่ของการทำงานด้านศิลปะมากขึ้น
ผมคิดว่าที่ศิลปินหลายคนช่วงนี้กระโดดเข้ามาทำงานสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น เพราะเขาคิดว่าศิลปะกับขบวนการเคลื่อนไหวมันคือเรื่องเดียวกันน่ะ การต่อสู้ทุกวันนี้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวแบบก่อน และบางครั้งงานสร้างสรรค์มันก็อาจไม่ใช่ทุนนิยมอีกต่อไป แต่มันเกิดขึ้นเพื่อสื่อสารอะไรบางอย่าง ศิลปินไม่ได้ต้องการหาเงินจากมัน ฉันวาดเพราะต้องการอยากให้ทุกคนรับรู้สิ่งที่เน่าเฟะ
ทำไมศิลปะจึงเป็นเรื่องการเมือง
ถ้าตอบจากประสบการณ์ตั้งแต่เรียนจนถึงจบ ผมคิดว่าศิลปะไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากสังคม ไม่มีแกลเลอรีไหนจะแสดงงานได้โดยไม่มีคนดู
หรืออย่างเช่น การถามว่างานชิ้นนี้สวยหรือไม่สวย มันก็คือการเมืองแล้ว เพราะมันจะสะท้อนว่าคุณคิดกับมันอย่างไร อะไรที่ทำให้คุณมองมันเช่นนั้น คุณเจออะไรมา คุณอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน
ผมขอยกตัวอย่างเพื่อตอบคำถามว่าทำไมงานศิลปะจึงเป็นเรื่องการเมือง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ศิลปินได้ทุนจากรัฐบาลในการทำงานเพื่อช่วยกันสร้างสังคมที่มีประโยชน์ต่อประชาชนหมู่มาก งานศิลปะมีค่า มีราคา มีรัฐสวัสดิการ
แต่ในขณะที่ประเทศไทย งานศิลปะยังต้องเจอกับภาวะที่รัฐไทยไม่อนุญาตและไม่ยอมให้เกิดงานศิลปะที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง นี่ก็คือเรื่องที่สะท้อนว่าการเมืองในบ้านเราเป็นยังไง
ศิลปะที่มีอุดมการณ์ตรงข้ามกับรัฐ ศิลปะที่เป็นประชาธิปไตย หรือศิลปะที่วิพากษ์ศาสนาและสถาบันต่างๆ มักจะอยู่ไม่ได้ ถูกจับตามองอยู่เสมอ ดังนั้นไม่ว่าเราจะมองศิลปะจากมุมไหน มุมศิลปิน มุมคนดู มุมรัฐบาล มันก็คือการเมืองหมดนั่นแหละ
ในยุคหนึ่งเรามองศิลปะคือความหรูหรา สงวนไว้ให้คนบางชนชั้น เท่ๆ หรือคนมีการศึกษาที่จะมีโอกาสเข้าถึง ตอนนี้ยังเป็นเช่นนั้นหรือไม่
ผมว่าความเป็นไปในทางศิลปะในประวัติศาสตร์โลก มันไปไกลแล้ว
แน่นอนว่างานศิลปะต้องมีทุน ทั้งทุนทางเศรษฐกิจหรือความคิด ซึ่งทุนที่ว่าปัจจุบันมันมีมากมายหลายรูปแบบมากขึ้น
เมื่อก่อนเราอาจจะเห็นเพียงแค่ศิลปะจากศิลปินที่แบกทุนทางอุดมการณ์จากรัฐ ศิลปะที่ออกมามันก็จะอิงแอบไปกับทุนแบบนั้น สไตล์งานก็จะเป็นแบบนั้น เช่น ศิลปะที่สนับสนุนความดีงามต่อรัฐหรือความจงรักภักดีต่อสถาบันต่างๆ
แต่ผมว่าตอนนี้คุณค่าและความสร้างสรรค์ของงานศิลปะมันก็เปลี่ยนไป คนที่ศิลปะสื่อสารด้วยก็เปลี่ยนไปด้วย
การเมืองดี ศิลปะจะดีขึ้นอย่างไร
ผมว่าศิลปะควรเป็นสวัสดิการจากรัฐ ตั้งแต่ศิลปะพื้นบ้าน งานดีไซน์ ดนตรี ศิลปะร่วมสมัย ไปจนถึงงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ควรมีการสนับสนุนอย่างจริงจังทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศ คุณไปต่างจังหวัดการเจอมิวเซียมหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ มันยากมาก
ทุกวันนี้ศิลปะถูกผลักให้เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย เป็นภาระของคน คนต้องคิดหน้าคิดหลังทุกครั้งที่จะพาตัวเองมาเจอศิลปะ แค่เดินทางออกจากบ้านก็ลำบากแล้วน่ะ ไหนจะค่าแรงขั้นต่ำ รายได้ การคมนาคม เมื่องานศิลปะไม่ถูกทำให้เข้าถึงโดยรัฐสวัสดิการ มันก็เชื่อมโยงกันหมด มีแค่ศิลปะบางอย่างเท่านั้นแหละที่รัฐเอาแต่ประคบประหงม ศิลปะแบบอื่นที่ตรงข้ามกับรัฐมีแต่ความขรุขระ
แต่ผมไม่อยากให้รู้สึกแย่นะ เพราะปัจจุบันเราเห็นความพยายามของกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ที่ไม่ได้พึ่งพารัฐ ต่างฉกฉวยแพลตฟอร์มเท่าที่พอจะมีเป็นโอกาสในการแสดงงานของตัวเอง เพราะถ้าหากต้องรอรัฐ ศิลปินก็คงไม่ได้ทำอะไรสักที ผมเองก็เหมือนกัน ถ้าประเทศไม่ฉิบหายผมคงไม่มาวาดงานอะไรแบบนี้หรอกครับ (หัวเราะ) คือมันวิกฤติแล้วอะ เพราะถ้ารัฐไม่ห่วยก็คงไม่เห็นศิลปินออกมาวาด ไม่เห็นคนออกมาแต่งเพลงแร็ปหรอกครับ
มองอนาคตข้างหน้าของตัวเองอย่างไร
ตั้งแต่มีการชุมนุม ผมไม่ได้หยุดวาดรูปเลย คนใกล้ตัวทั้งครอบครัวและแฟนก็เริ่มสังเกตว่าเราเครียดขึ้น เพราะต้องตามข่าวตลอด วาดรูปตลอด ไหนจะต้องเช็คคอมเมนต์ต่างๆ งานประจำก็ต้องทำ คือจมอยู่กับหน้าจอตลอดเวลา ผมอยากนอนดูซีรีส์และเล่นเกมทั้งวัน อยากเริ่มออกกำลังกาย ทำอาหาร เลี้ยงแมว อยากกลับไปทำรูทีนเดิมๆ ให้มีความหมาย รดน้ำต้นไม้ ปลูกต้นไม้ ค่อยกลับไปวาดรูปต่อ
อนาคตผมน่ะเหรอ ผมอาจจะติดคุกมั้งครับ (หัวเราะ) จริงๆ นะ คือผมยอมรับมันได้แล้ว แต่ถ้าไม่ติดคุกก็คงทำงานเครือข่ายมากขึ้น เพราะตอนนี้เรารู้จักนักวาดเยอะขึ้น อยากทำให้วงการคนทำงานสร้างสรรค์มันดีขึ้นนั่นแหละ ผมมองตัวเองเป็นคนวาดรูปเฉยๆ ไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นศิลปิน ผมแค่อยากใช้งานปลดปล่อยความคิดของตัวเองออกมา แต่ถ้าโชคดี เราบังเอิญมีต้นทุนทางสังคมที่มากกว่าเดิม ก็อยากจะทำอะไรบางอย่าง เช่น ตั้งสหกรณ์สำหรับกลุ่มนักวาด หรือทำให้เกิดตลาดศิลปะใหม่ๆ ที่มีการจ้างงาน
เพราะที่ผ่านมารัฐไทยไม่ให้อะไรกับกระบวนการทางศิลปะอยู่แล้ว
ฟังความฝันของคุณ ตั้งแต่อยากเป็นอาจารย์ จนตอนนี้ที่โฟกัสไปที่การสร้างเครือข่าย เหมือนคุณจะมองไปที่ภาพใหญ่ นี่คือธงที่คุณตั้งไว้หรือเปล่า
อืม มันอาจจะกลายเป็นธรรมชาติของผมไปแล้วก็ได้ครับ คือผมไม่สามารถกลับไปทำงานเพื่อตัวเองได้แล้ว
ถ้าผมได้มีโอกาสแสดงงานของตัวเองในแกลเลอรีที่ใดที่หนึ่ง ก็คงเป็นทางผ่านที่ดีที่เราจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ แต่มันคงไม่ใช่สิ่งที่ผมใช้ขับเคลื่อนชีวิตน่ะ ผมยังอยากทำงานเครือข่ายในขบวนการเคลื่อนไหว เพื่อใช้มันเป็นพลังชีวิตมากกว่าครับ
เห็นว่าคุณจะไปร่วมโปรเจ็คต์ Lost&Found ด้วย ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม มันคืออะไร
มันคือโปรเจ็คต์ที่รวมตัวของคนทำงานสร้างสรรค์ ชวนกันมาทำแกลเลอรีออนไลน์ ในรูปแบบของ virtual gallery แล้วก็ขายงานให้แก่ผู้ที่สนใจ เพื่อนำเงินสมทบกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในการใช้เป็นทุนช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองหรือเรื่องต่างๆ ซึ่งผมก็จะไปร่วมแสดงงานในโปรเจ็คต์นี้ด้วย
ทราบว่าแกลเลอรีในโปรเจ็คต์นี้ แม้จะเป็นแบบ Virtual แต่ก็อิงมาจากสถานที่จริง เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ถ้าคุณสามารถเลือกแสดงงานบนพื้นที่จริงๆ ได้ คุณอยากไปแสดงงานที่ไหน
ม็อบครับ ม็อบคือพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับผมน่ะ ปีที่แล้วผมเคยไปนำงานโปสเตอร์ของตัวเอง 10 ชิ้น ไปแสดงในม็อบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือตลอดชีวิตที่ผมทำงานมา ผมว่าวันนั้นเป็นวันที่คนได้เห็นงานของผมมากที่สุดในชีวิต มีคนเดินเข้ามาดู มีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนพูดคุยความคิดกันจริงๆ ผมไม่เคยได้สัมผัสความรู้สึกนั้นเลยตั้งแต่เกิดมา เราเห็นคนจริงๆ ที่มีเลือดเนื้อเข้ามาแชร์เรื่องราวกับผม
เรื่องนี้มันสะท้อนว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มเดิม ไม่ต้องมีแกลเลอรี ไม่ต้องมีคิวเรเตอร์ ไม่ต้องมีพื้นที่หรือองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะแบบเดิมเลย งานเราเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว แล้วเราได้แสดงงานในพื้นที่ของการเคลื่อนไหวจริงๆ มันเติมเต็มผมมากครับ
“ศิลปะไม่รับใช้ใคร ไม่เป็นขี้ข้าใคร” จริงๆ ใช่ไหม
ก็แล้วแต่ ถ้าคนทำงานรับเงินจากใครมาก็รับใช้คนนั้นแหละ (หัวเราะ)
แต่สิ่งที่คนทำงานศิลปะต้องระลึกไว้เสมอคือถ้าคุณใช้ศิลปะยอมรับสิ่งใดก็ตาม แปลว่าคุณรับใช้สิ่งนั้นทางอ้อมอยู่ดี แต่คุณเลือกได้นะครับ ไม่จำเป็นต้องรับใช้ใครก็ได้ คนทำงานมีสิทธิเต็มที่ในการเลือกเสมอว่าจะไปอยู่ภายใต้โครงสร้างใด
และถ้าวันใดวันหนึ่งศิลปะถูกศิลปินเอาไปรับใช้โครงสร้างที่ไม่ถูกต้องซ้ำไปซ้ำมา สังคมก็มีสิทธิตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ตัวคุณเองเช่นเดียวกัน ว่าคุณจะใช้ศิลปะไปรับใช้สิ่งนั้นอีกนานแค่ไหน
เพราะใน 5-10 ปีข้างหน้า สังคมไม่มีวันเหมือนเดิม
ที่สำคัญวัฒนธรรมของศิลปะแบบเก่ามันถูกเปิดประตูแล้ว ไม่มีใครห้ามคนทำงานศิลปะให้อยู่ในกรอบเดิมๆ หรือบังคับให้ศิลปะต้องเชิดชูคนนั้น บูชาคนนี้ มันทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว