เรื่อง: สายฝน ประทุมมา
ภาพ: บางปะกง สายน้ำแห่งชีวิต
คุณ…
เราคิดว่านี่เป็นครั้งที่เราเข้าใกล้ความตายมากที่สุดในชีวิต เราจมน้ำ เรือคายัคสามที่นั่งที่พวกเราพายมาจมน้ำ ตอนที่รู้ตัวว่าเรือคว่ำแล้วพยายามจะดันตัวให้พ้นผิวน้ำ มันรวดเร็วมากเท่าที่สัญชาตญาณมนุษย์จะสั่งสมองให้เราเอาตัวรอดได้เลยนะ แต่ขาเราติด ขาเราติดอยู่กับไม้พายและเรือที่ถูกดันเข้ามาด้วยความแรงของกระแสน้ำ… น่าจะเป็นหินและตอไม้ที่พาดกลางลำคลอง ซึ่งเป็นเหตุให้คายัคถูกน้ำผลักให้คว่ำลง
พอรู้ตัวว่าขาติด เราก็ดื้ออยากชักออก แต่ยิ่งชักก็ยิ่งกลัว เพราะตระหนักว่าตัวเราพันติดกับสายเชือกที่ผูกกล้องโกโปรไว้ หัวของเราชนกับท้องเรือ และยังต้องพยายามเกี่ยวตัวเองไม่ให้ลอยไปกับแรงดันน้ำที่ประดังเข้ามาด้วย ผลคือ ดิ้นยังไงก็ไม่หลุดออกมา
เราได้ยินเสียงพี่สาวพยายามถีบเรือขึ้นและเรียกชื่อเราให้ทะลึ่งตัวขึ้นหายใจ ได้ยินเสียงพี่ชายที่อยู่ข้างหลังบอกว่าอย่าดื้อดึง ให้ใจเย็น และเข้าใจว่าเขากำลังทำอะไรสักอย่างกับเรือ
แม้หัวจะยังไม่โผล่พ้นน้ำ เรารู้ว่ามีคนเรียกอยู่ แต่ไม่สามารถขยับตัวออกจากใต้ท้องเรือได้ เพราะขายังติดอยู่กับไม้พาย ตอไม้ หรือซอกหินอะไรสักอย่าง แล้วน้ำยังซัดมาไม่หยุด
แต่เราเก่งมาก… เราสั่งให้ตัวเองหยุดหายใจ แล้วพุ่งตัวออกมาเท่าที่ทำไหว ค่อยๆ หามุมให้กับขาและชักมันออก พอดีกับที่ใครสักคนแง้มเรือให้เปิดขึ้น เราจำไม่ได้ว่าขาเราหลุดก่อนหรือโผล่หัวขึ้นมาหายใจก่อนกัน รู้ตัวอีกที ชูชีพก็พยุงตัวขึ้นมา ขาเป็นอิสระ
รองเท้าสีชมพูคู่เก่ง… ฉีกขาด
ตลกมากเลย ก็ประโยคแรกที่ตะโกนออกมาหลังรู้ว่ารอดแล้วคืออะไรรู้ไหม มันคือ ‘กล้อง กล้อง… โอยยย กล้องยังอยู่’ กล้องยังอยู่นะคุณ ดีที่เชื่อคำสั่งของท่านประธาน ผูกโกโปรไว้กับสายนกหวีดของชูชีพอีกที ไม่งั้นคงได้เสียชีวิตเพราะล้มละลาย ไม่ก็ไม่กล้าแบกหน้ากลับออฟฟิศแน่ๆ ก็มันเป็นกล้องของออฟฟิศ แถมเพิ่งซื้อด้วยนี่นา #ขอบคุณเจ้าป่าเจ้าเขา #ต่อไปลูกจะไม่ทะลึ่งทำล้นอีกแล้ว #เปลี่ยนเป็นคำว่าจะพยายามดีกว่า #ต่อไปลูกจะพยายามไม่ทะลึ่งทำล้นอีกแล้ว
การคว่ำครั้งแรกถือเป็นบทเรียน (และความกลัว) แต่การคว่ำอีก 4 ครั้งต่อมาของคายัคใน ‘คลองสียัด’ จากใต้อ่างเก็บน้ำคลองสียัดจนถึงฝายวังวุ้ง ระยะทางกว่า 12 กิโลเมตร #ไม่อาจมีข้อแก้ตัว คุณคิดว่าคนเราผิดพลาดและจะได้รับการอภัยได้สักกี่ครั้งกัน?
(เขียนแบบเศร้าๆ พยายามจะให้เป็นโศกนาฏกรรมนี่ยากจริง ขอเปลี่ยนโหมดไปสดใสร่าเริง อธิบายไปพร้อมแก้ตัวไปแล้วกันนะ #โอ๊ยเมื่อยจริต)
ข้อแก้ตัวมีอยู่ว่า…
เพราะคลองนี้ได้ชื่อว่า ‘คลองสียัด’ ไง ยัดน่ะ… ยัด น้ำยัดเข้ารกเข้าพงเข้ากอไปเลย
ประเสริฐ พรมภิบาล ผู้ใหญ่บ้านท่ากลอย หมู่ 4 ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา หัวเรือใหญ่ผู้จัดงาน ‘SIYAT ADVENTURE KAYAKING’ ร่วมกับโครงการมหาวิทยาลัยยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Greennews) อธิบายที่มาของชื่อ ‘สียัด’ ว่า
“เพราะคลองมันมีลักษณะคดโค้งมาก แล้วน้ำจะซัดเรือยัดเข้าไปตามโค้ง ซึ่งเต็มไปด้วยหนามไผ่ป่า”
ผู้ใหญ่เล่าต่อว่า คลองสียัดเป็นต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกง เป็นเส้นทางน้ำที่ไหลรวมจากเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ถอยเวลาจากปัจจุบันไปไม่ไกลกว่าร้อยปี พื้นที่ป่าและธารน้ำตรงนี้เคยเป็นจุดตัดไม้และล่องซุงให้ลอยผ่านคลองขึ้นไปทางทิศเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำกว่า ไปบรรจบที่ ‘คลองระบม’ บริเวณ อำเภอสนามชัยเขต และไหลต่อไปยังแม่น้ำบางปะกง
แต่ถ้าให้อธิบายลักษณะความ ‘ยัด’ ของคลองสียัด ในคำพูดเราก็จะอธิบายว่า…
เส้นทางโค้งของคลองมันเอสในเอสในเอส เพิ่งเอสไปก็กลับไปเอสกลับหัวอีกแล้ว ทั้งบางโค้งยังหักเป็นตัวทีไปเฉยเลยด้วย บางทีหัวเรือหักหลบเหมือนจะพ้น แต่น้ำกลับดันท้ายเรือไหลเข้าพงไปเลยก็มี ลำบากหน้าต้องเป็นรอยถากจางๆ จากกิ่งไม้ริมสองข้างทางอีก และเข้าพงที่ว่านี้ก็คือ ‘พง’ จริงๆ นะ คือระหว่างโค้งจะมีถ้ำต้นไม้หรือเถาวัลย์อยู่ ซึ่งถ้ามองจากที่ไกลๆ นี่โรแมนติกเป็นบ้า แต่ถ้าเราโดนน้ำซัดเข้าไป (เพราะพายเรือไม่แข็ง ก็เคยพายแต่น้ำนิ่งๆ ในบึงนี่) ก็คงจะค้อนให้กับความโรแมนติกของมัน
ผู้ใหญ่ประเสริฐ อธิบายว่าถ้าความโค้งเอสของคลองสียัดจะทำให้การพายเรือเร้าใจแล้ว ความ ‘คลองระบม’ ซึ่งเป็นคลองอีกสายที่ไหลมาบรรจบกับคลองสียัด ก็เร้าใจไม่น้อย
‘คลองระบม’ ในความหมายของผู้ใหญ่ประเสริฐอธิบายไว้ว่า มันเป็นความระบมจากหนามของไผ่ป่า
“ไผ่ปกติจะไม่มีหนามใช่ไหม แต่ที่คลองระบมจะเป็นไผ่ป่า มีหนามยาวเป็นนิ้ว เรือชาวบ้านที่ถูกน้ำยัดเข้าโค้ง ก็จะระบมจากหนามของไผ่นี่แหละ”
ถึงเราจะพายไปไม่ถึงคลองระบม เพราะขึ้นเรือตรงฝายวังวุ้ง บ้านวังวุ้ง อำเภอท่าตะเกียบเท่านั้น แต่ก็ลิ้มรสความระบมจนได้แผลถากๆ จากการถูกยัดเข้าถ้ำไม้ย้อยและเถาวัลย์ตามโค้งคลองไปเสียเพียบเลย
เขียนมาถึงตรงนี้ เหมือนว่าเส้นทางมันอันตราย จนเราแทบจะเอาชีวิตไปทิ้งยังไงยังงั้น
มันก็มีข้อแก้ตัวอยู่เล็กน้อยค่ะ
จริงๆ แล้วคลองสียัดเส้นนี้ไม่เคยเป็นเส้นทางท่องเที่ยว ไม่เคยมีการจัดทัวร์ให้พายคายัคมาก่อน แต่มันเป็นการเริ่มต้นของผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ. ร่วมกับ Greennews อย่างที่เล่าไปตอนต้น พวกเขาต้องการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เส้นทางใหม่
ก่อนหน้านี้ 1 เดือน ทีมข่าว Greennews และอาจารย์ปริญญาถือจอบถือมีดเข้าไปถากถางเส้นทางให้คลองทั้งสายไหลลื่น เฉพาะระยะทาง 6 กิโลเมตรแรก พวกเขาใช้เวลาไปกว่า 6 ชั่วโมง
“ถ้าคนได้สัมผัสและล่องเรืออยู่ในน้ำ ผมเชื่อว่าเขาจะทนไม่ได้ถ้าเห็นขยะอยู่ในลำคลอง” คือคำที่อาจารย์ปริญญาย้ำอยู่บ่อยครั้ง
การบุกเบิกเส้นทางพายเรือคายัคแห่งใหม่ที่คลองสียัด มิใช่เป็นเพียงเพื่อการท่องเที่ยวผจญภัยสำหรับผู้มาเยือนเท่านั้น แต่เป็นความพยายามที่จะแฝงแนวคิดเชิงอนุรักษ์แก่นักท่องเที่ยวให้ได้สัมผัสและซึมซับความอุดมสมบูรณ์ของคลองธรรมชาติบนผืนป่ารอยต่อเขาอ่างฤาไน
“ความกังวลที่ต้องจับตามองหลังจากนี้คือ จังหวัดฉะเชิงเทราเพิ่งถูกประกาศให้เป็น 1 ใน 5 จังหวัด ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทย (EEC) ซึ่งเราคาดหวังว่า ถ้าจะพัฒนาก็ต้องตอบโจทย์กับความต้องการของคนในพื้นที่ และอย่าลืมสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะแม่น้ำ ซึ่งเป็นหัวใจของฉะเชิงเทรา” – คือบทสนทนากับ กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง ผู้ซึ่งเฝ้าติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ฉะเชิงเทราไปจนถึงปากแม่น้ำบางปะกง
ก่อนหน้าวันพายจริงหนึ่งวัน กัญจน์พาเรานั่งรถสำรวจสภาพพื้นที่ตลอดเนินเขา แถมพาขึ้นไปดูพื้นที่เกษตรบริเวณเขาหินซ้อน ซึ่งแลดูเหมือนอุดมสมบูรณ์ดี แต่เขาอธิบายภายหลังว่า เมื่อก่อนเคยเป็นสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งเป็นผลไม้มีชื่อของคนฉะเชิงเทรา แต่ปัจจุบันชาวบ้านหันมาปลูกมันสำปะหลัง หรือไม่ก็ไม้ยางพารา เพราะสภาพดินและน้ำเปลี่ยน มะม่วงที่เคยติดช่อ กลับไม่ออกผล ชาวบ้านต้องล้มวิถีเดิม แล้วเปลี่ยนไปเพาะปลูกอย่างอื่นแทน
แน่นอนว่า ‘พืชเชิงเดี่ยว’ ได้กลายมาเป็นตัวเลือกที่ชาวบ้านไม่อาจปฏิเสธ
นักอนุรักษ์แห่งลุ่มน้ำบางปะกง อธิบายต่อว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายหลังจากมีการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 47.4 เมกะวัตต์ ที่บริเวณเขาหินซ้อน
ภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราได้เห็นแต่เพียงสวนยางเรียงรายสุดลูกหูลูกตา สลับกับ ‘ต้นกระดาษ’ ที่มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกจนเป็นอาณาจักรกว้างขวาง จนแทบลืมไปแล้วว่า มะม่วงน้ำดอกไม้เคยเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของฉะเชิงเทรา
เอ้อ… เราอาจเล่าข้ามไป คือตอนนี้เขามีโรงไฟฟ้าชีวมวลตั้งอยู่ก่อนแล้วใช่ปะ แต่ขณะนี้กำลังจะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่อีก 600 เมกะวัตต์ด้วยนะ อย่างที่เราได้ยินเขาโฆษณากันว่า ‘ถ่านหินสะอาด’ น่ะ ทำเลก็อยู่แถวๆ เหนือคลองระบมขึ้นไปนั่นแหละ แต่จนป่านนี้รู้ไหมว่า โครงการถ่านหินที่ว่าสะอาดยังถูกชะลอไว้อยู่ เพราะยังไม่ผ่านการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แม้จะมีการยื่นขออนุมัติไปเป็นครั้งที่ 4 แล้วก็เถอะ (อ่าว… ไหนว่าสะอาด)
มันเห็นภาพนะว่า ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ตรงแหล่งต้นน้ำพอดิบพอดี ใครล่ะที่จะต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงก่อนกัน ชัดเจนก็คือ ชาวบ้านที่ต้องโค่นต้นมะม่วงไปทำสวนยางนั่นแหละเนอะ และไม่ได้อยากจะโจมตีทุนนิยมหรอกนะ กระดาษที่เราก็ใช้ทิ้งขว้างอยู่ทุกวัน แต่ภายใต้ความไม่แน่นอนว่าการพัฒนาจะไปยังทิศทางใด อะไรที่ต้องแลกมากับความพิเศษที่ว่า การให้พื้นที่เป็นการท่องเที่ยว และเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ชุมชนเป็นผู้ลุกขึ้นสร้างและทำก่อน ก็อาจเป็นกติกาหรือโครงสร้างค้ำยันป้องกันความเห็นชอบของนายทุนหรือผู้มีอำนาจบางกลุ่มคนก็ได้นะ
สุดท้ายแล้วไม่รู้สินะว่า พายคายัคสนุกจริงหรือเปล่า แต่ก็เก็บความทรงจำนั้นมาโม้ได้เป็นวรรคเป็นเวร เรายังจำช่วงเวลาที่ปล่อยเรือให้ลอยนิ่ง กินอากาศ ฟังเสียงน้ำ อดทนกับแดด และการบังคับตัวเองให้นิ่งแล้วเพ่งคิดว่า จะราน้ำด้านซ้ายหรือขวาเพื่อเบี่ยงลำเรือดี ก็ให้สนุกแบบแฟนตาซีฉบับชนชั้นกลางที่โตมากับเวลาว่างในเซ็นทรัลลาดพร้าวและการ์ตูนเน็ตเวิร์คดีเหมือนกัน
โดยเฉพาะจังหวะที่เห็นฝายวังวุ้งทอดตัวงามสง่าอยู่ตรงหน้า ก็เข้าใจเลยว่า ทำไมพิธีเข้าสู่เส้นชัย มันจึงสำคัญ
จบแล้วแหละ หวังว่าคุณจะสบายดี
ไว้พบกันนะ…
เราเอง