ท้าทายเพื่อถ่ายทอดความจริง: มองบทบาทของสื่อผ่านนิทรรศการภาพถ่าย ‘Mekong is Blued and Dried’

ผืนน้ำสีครามอาจเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม แต่ไม่ใช่สำหรับแม่น้ำโขงที่แสดงถึงสัญญาณอันตราย เบื้องหลังแม่น้ำโขงสีครามยังมีรายละเอียดที่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมอีกมาก สื่อมวลชนจึงมีหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้ประชาชนรับรู้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และมีจริยธรรม

วันที่ 20 มีนาคม 2564 ณ พื้นที่มุมสามเหลี่ยมชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นิทรรศการ ‘The Mekong is Blued and Dried: แม่น้ำโขง สีคราม แห้งขอด’ จัดแสดงภาพถ่ายสะท้อนวิถีชีวิตและสภาพวิกฤติของแม่น้ำโขงที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนท้องถิ่น ภาคบ่ายสื่อมวลชนที่ทำงานสื่อสารประเด็นแม่น้ำโขงตั้งวงเสวนาสะท้อนเบื้องหลังการทำงาน ทั้งจากสื่อออนไลน์ ชนาง อำภารักษ์ จาก The Mekong Butterfly และ สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ จาก Bangkok Tribune สื่อสิ่งพิมพ์ ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล จาก นิตยสารสารคดี และสื่อโทรทัศน์ มนตรี อุดมพงษ์ จาก ข่าว 3 มิติ

ออนไลน์-โทรทัศน์-สิ่งพิมพ์ พื้นที่แตกต่าง แต่จุดหมายเดียวกัน

ปัจจุบันเป็นยุคสมัยที่สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือหลักในการรับข้อมูลข่าวสาร สื่อออนไลน์ไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และเวลา อีกทั้งยังสามารถแนบแหล่งข้อมูลไว้ให้ผู้อ่านที่สนใจได้ไปหาความรู้ต่อ สื่อออนไลน์สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้มาก แต่ก็มีอายุงานที่สั้นเช่นกันเมื่อเทียบกับสื่อชนิดอื่น เพราะกระแสเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ แต่ก็สามารถนำมาถ่ายทอดซ้ำได้เรื่อยๆ เพื่อดึงความสนใจของผู้คนแล้วแต่ช่วงเวลา

ขณะที่การนำเสนอประเด็นเรื่องแม่น้ำโขงในสื่อโทรทัศน์ต้องเผชิญข้อจำกัดมากมาย ตั้งแต่วัฒนธรรมองค์กร พื้นที่ เวลา และบุคลากร เนื่องจากกระแสหรือเรตติ้งเป็นปัจจัยสำคัญ ฉะนั้น จึงต้องอาศัยความเร็วและความแรงของหัวข้อเพื่อดึงความสนใจผู้คนให้ได้มากที่สุด ในขณะที่ยังไม่ได้ทำความเข้าใจข้อมูลเชิงลึกได้มากเพียงพอ อีกทั้งนักข่าวหรือบุคลากรที่สนใจติดตามประเด็นแม่น้ำโขงอาจมีจำนวนจำกัดจนกลายเป็นความชำนาญเฉพาะบุคคล เมื่อนักข่าวที่ติดตามประเด็นเป็นประจำติดพันกับประเด็นอื่นก็ไม่มีใครได้รับความไว้วางใจให้ไปติดตามประเด็นนี้ต่อ

เช่นเดียวกันกับสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ การบอกเล่าผ่านรูปภาพอาจถูกจำกัดไว้เพียงไม่กี่รูปในหน้านิตยสาร แต่ในขณะเดียวกันเนื้อหาที่ละเมียดละไมด้วยภาษาแต่หนักแน่นด้วยข้อมูลก็เป็นจุดแข็งสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์เช่นกัน  ด้วยอายุการใช้งานที่นาน ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือโทรทัศน์ก็สามารถหยิบเนื้อหาจากสิ่งพิมพ์มาอ้างอิงได้เสมอ สิ่งพิมพ์จึงมีข้อได้เปรียบด้านเนื้อหาเชิงลึก

แม้ว่าวิธีการสื่อสารของสื่อทั้งสามประเภทจะต่างกันอย่างไร แต่จุดมุ่งหมายของสื่อที่สนใจถ่ายทอดปัญหาของแม่น้ำโขงคือการทำให้คนในสังคมรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องตั้งคำถามกับบทบาทของตนเองว่าสามารถยกระดับในการถ่ายทอดเรื่องราวให้ไปไกลกว่าเดิมได้อย่างไร 

Then & Now แม่น้ำโขงในสื่อ กับการรับรู้ของสังคม

ในอดีต สื่อมักถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลได้ง่าย การรายงานข่าวเกี่ยวกับแม่น้ำโขงจึงมักเป็นเรื่องความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน และสภาพแม่น้ำที่แห้งแล้งจนน่าตกใจ แต่ไม่ไปถึงสาเหตุต้นทาง เช่น เขื่อน รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชน เนื่องจากโครงสร้างของการทำงานของสื่อที่มีข้อจำกัด แต่เมื่อสื่อออนไลน์เกิดขึ้นมาพร้อมกับการทลายข้อจำกัดของสื่อเก่าๆ ส่งผลให้สังคมกล้าพูดถึงปัญหาต้นทางอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น แม้กระทั่งคนที่ไม่เคยเห็นแม่น้ำโขงมาก่อนในชีวิตก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้

มนตรี อุดมพงษ์ จาก ข่าว 3 มิติ เผยว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าเอ่ยว่าผลกระทบต่อแม่น้ำโขงมาจากเขื่อน แต่หากถามชาวบ้านที่ถึงแม้ไม่เคยเห็นเขื่อนมาก่อนก็ตระหนักได้ว่ามาจากเขื่อน แต่ความตระหนักดังกล่าวไปไม่ถึงรัฐบาล กลายเป็นอุปสรรคในการสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือชาวบ้าน 

ในขณะที่สายัณห์ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับแม่น้ำโขงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อาจเป็นเพราะระบบการศึกษาที่ทำให้เราเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแม่น้ำโขงกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศไทยได้ ทำให้การสะท้อนภาพปัญหาต่างๆ เป็นการมองด้านเดียว เช่น แม่น้ำโขงแห้งขอดเพราะฤดูกาลตามธรรมชาติที่ช่วยให้ระบบนิเวศดำเนินไปได้ ไม่จำเป็นต้องมีน้ำอยู่ตลอดเวลา แต่หากไม่สื่อสารให้เกิดความเข้าใจ คนในสังคมก็จะคิดว่าเป็นความผิดปกติ สิ่งที่ผิดปกติคือความผันผวนที่น้ำแห้งหรือท่วมไม่ตรงตามฤดูกาลจนเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คน การถ่ายทอดปรากฏการณ์แม่น้ำโขงผ่านสื่อจึงไม่ควรเป็นแค่น้ำแล้ง-น้ำท่วมเท่านั้น แต่ต้องทำให้สังคมเข้าใจอย่างรอบด้านเพื่อให้เห็นมุมมองของปรากฏการณ์ที่กว้างขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนทำสื่อออนไลน์ ชนาง อำภารักษ์ จาก The Mekong Butterfly เห็นว่าปัจจุบันสื่อต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับประชาชน เนื่องจากกระแสในสื่อออนไลน์ทำให้เห็นความต้องการข้อมูลของผู้รับสื่อและพร้อมเผยแพร่หรือติดตามต่อหากสนใจประเด็น บางครั้งประชาชนเป็นคนนำสื่อเสียด้วยซ้ำ สื่อจึงต้องถ่ายทอดข้อมูลให้ได้มากที่สุด แล้วให้บทบาทการกระจายข่าวไปอยู่ในมือของประชาชน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้างและทำให้บรรลุเป้าหมาย

แนวทางและความท้าทายของหน้าที่สื่อในอนาคต 

เมื่อสื่อแต่ละรูปแบบมีจุดอ่อนและจุดแข็งที่แตกต่างกัน สื่อจึงควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานร่วมกันมากขึ้นในประเด็นที่อยากสื่อสาร โดยเฉพาะข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประเด็นละเอียดอ่อนของแม่น้ำสายนานาชาติแห่งนี้

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล จาก นิตยสารสารคดี มองว่านักข่าวจับประเด็นเรื่องไฟฟ้าน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะข้อมูลที่ยาก ต้องใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจ อีกทั้งยังเกี่ยวพันกับองค์กรยักษ์ใหญ่ ทำให้มีความเสี่ยงในการเผยแพร่ข้อเท็จจริง จึงคิดว่าทางออกของปัญนี้คือการรายงานข่าวเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เช่น การวิเคราะห์ค่าไฟ การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ควบคู่กับการรายงานข่าวผลกระทบต่อชาวบ้านที่ทำอยู่แล้ว ในขณะที่สายัณห์เสนอว่า ควรเพิ่มขอบเขตของเครือข่ายสื่อไปยังสื่อต่างประเทศด้วย เพื่อให้เห็นมุมมองที่กว้างขวางขึ้นและหาวิธีแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

สุดท้าย มนตรีก็หวังว่าสื่อโทรทัศน์ที่กำลังแข่งขันกันเพื่อหาคำตอบที่ลึกกว่าน้ำโขงแห้งหรือน้ำโขงท่วมให้กับผู้ชม จะมีไมค์ที่กล้าถามธนาคารต่างชาติมากขึ้นว่าในฐานะทุนจะทำอย่างไร จะมีไมค์ที่ถามบริษัทเอกชนที่ลงทุนว่าปูนทุกกระสอบ อิฐทุกก้อน ที่นำไปทำเขื่อนจะประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไร มีไมค์ที่กล้าถามนักกฎหมายว่า EIA ซึ่งยังไม่ครอบคลุมผลกระทบข้ามพรมแดนจะมีการปรับปรุงหรือไม่ ทั้งหมดนี้เพื่อให้บทบาทของสื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

สำหรับผู้ที่สนใจฟังเสวนาย้อนหลัง สามารถติดตามได้ที่ Facebook Fanpage: SEA-Junction และชมนิทรรศการภาพถ่ายได้ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2564

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า