Slave to Sirens: ถ้อยวจีเมทัล จากร็อกเกอร์หญิงหัวขบถแห่งเลบานอน

ซีนดนตรีเฮฟวีเมทัล (heavy metal) กระจัดกระจายไปทั่วแถบถิ่นของกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน มีวงดนตรีแนวนี้ถือกำเนิดมากมาย บางวงก็มีเพศชายหญิงคละกันไป (แน่นอนว่าส่วนมากเป็นวงชายแท้มาดเข้มดิบดุ) แต่กลับมีเพียง Slave to Sirens ที่เป็นวงหญิงล้วนวงแรกและวงเดียวในดินแดนอาหรับแห่งนี้

“ทุกคนล้วนเป็นทาสกันทั้งนั้น เป็นทาสของเงิน สงคราม สังคม พวกเราล้วนพยายามหลบหนีอะไรบางอย่างในตัวเอง” ลีลาซ เมยาสซี (Lilas Mayassi) พูดถึงที่มาของชื่อวง Slave to Sirens

ภาพสมาชิก (วนตามเข็มนาฬิกา) นับจากซ้ายบน อัลมา ดูมานี, ทาเทียนา บูกาห์บา, ลีลาซ เมยาสซี, มายา ไครัลลอฮ์ และ เชอรี เบชารา ถ่ายโดย ริชาร์ด แซมมัวร์

ย้อนไปในปี 2015 เมยาสซี มือกีตาร์ริธึม ต้องการเติมเต็มความฝันของเธอด้วยการฟอร์มวงดนตรีแทรชเมทัล (thrash metal) ซึ่งเป็นแนวเพลงย่อยจากเฮฟวีเมทัล แทรชเมทัลเป็นขนบที่เล่นยากระดับพริกร้อยเม็ด ลักษณะเด่นของมันคือ ความเร็ว ความแรง และความก้าวร้าวในจังหวะจะโคน รวมไปถึงริฟฟ์กีตาร์ ไลน์เบส และกระเดื่องกลอง จำต้องสาดเสียงประสานกันอย่างรวดเร็วในคลื่นพลังงานระดับบ้าคลั่ง

เมยาสซีพบสหายร่วมอุดมการณ์ในปี 2015 เธอได้รู้จักกับ เชอรี เบชารา (Shery Bechara) มือกีตาร์ลีดผ่านเพื่อนๆ ของเธอ และได้พบปะกันจริงจังในการชุมนุมประท้วงวิกฤตขยะที่กรุงเบรุต เบชารากล่าวว่า “สิ่งแรกที่เราคุยกันก็คือเรื่องดนตรี เราตื่นเต้นมากที่ได้พบกัน”

จากนั้น ในปี 2019 เลบานอนเกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งสำคัญ คือ เหตุการณ์ปฏิวัติ 17 ตุลาคม ผู้ชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีลาออก โดยมีเหตุไล่เลียงตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความล้มเหลวของรัฐในการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้าและสุขาภิบาล แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งทางการเมืองตามการเรียกร้องของผู้ชุมนุม แต่ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้รื้อถอนระบบคอร์รัปชันที่ฝังรากลึก ดังนั้น การชุมนุมประท้วงจึงดำเนินต่อไป และตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ท่าเรือในกรุงเบรุตระเบิดในปี 2020 พร้อมคร่าชีวิตไปกว่า 200 คน ท่ามกลางสภาวะคุกรุ่นทางการเมืองและวิกฤตโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอย่างหนักในช่วงเวลาดังกล่าว

กล่าวได้ว่า ความปั่นป่วนของเลบานอนที่ละเลงเป็นฉากหลัง มีสภาพคล้ายดนตรีเมทัลในตัวเอง และตัวอย่างหนังสารคดี Sirens (2022) กำกับโดย ริตา แบกห์ดาดี (Rita Baghdadi) ที่เล่าเรื่องการต่อสู้ดิ้นรนของพลพรรค Slave to Sirens ได้มีช็อตสั้นๆ ที่ไฟดับขณะซ้อมดนตรีอย่างงงๆ สิ่งนี้สะท้อนว่าขนบแทรชเมทัลดูจะสอดคล้องกับเบ้าหลอมสังคมที่ก่อรูป Slave to Sirens ขึ้นมาอย่างแนบชิดสนิทกัน

วัฒนธรรมเมทัล คู่ปรับตลอดกาลของคนหัวโบราณ

เบชาราเล่าว่า เธอชอบจังหวะที่รวดเร็วและเสียงร้องที่หนักหน่วง “ฉันท้าทายตัวเองให้เล่นเร็วขึ้นและเร็วขึ้น เล่นหนักขึ้นและหนักขึ้น”

ทั้งเบชาราและเมยาสซี เห็นว่าแทรชเมทัลส่งเสริมให้เนื้อเพลงมีบรรยากาศของความเป็นการเมืองมากกว่าแนวดนตรีอื่น เมยาสซีกล่าวต่อไปว่า “มันพูดเกี่ยวกับการถูกกดขี่ แสดงออกถึงความคับข้องใจ เศร้า โกรธ เจ็บปวด และยังเป็นการให้ ‘เสียง’ กับ ‘ผู้ไร้เสียง’”

“เรามักได้ยินแต่เสียงนักร้องชายร้องคำราม (growl) แต่กลับยากที่จะได้ยินเสียงแบบนั้นจากผู้หญิง” เมยาสซีกล่าว

“ถ้าฉันบอกคนอื่นว่า ฉันอยู่ในวงเมทัล มันจะมีเสียงวิจารณ์ว่า ‘โอ้ คุณเป็นผู้หญิงที่เล่นเมทัลเหรอ ผู้หญิงควรเป็นผู้หญิงและเป็น Hello Kitty สิ’” อัลมา ดูมานี (Alma Doumani) มือเบส เล่าถึงความอิหยังวะที่เธอพบเจอ 

จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อคนนอกซีนดนตรีเมทัลจะพากันตัดสินพวกเธออย่างรุนแรง เมยาสซีเล่าว่า มีคำเรียกพวกเธอมากมายในทางลบ “พวกเขาสาปแช่งเรา เรียกเราว่าอีโสเภณี”

“แต่เราก็ไม่สนใจหรอกนะ” เบชารากล่าวเสริม

แม้เลบานอนจะมีภาพลักษณ์ที่เป็นเสรีนิยมและเป็นสากลมากที่สุดประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง ทั้งยังมีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ชุมชนคริสเตียนและมุสลิมเจริญรุ่งเรืองเคียงคู่กัน ทว่าขึ้นชื่อว่าสายเมทัล ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมไหนก็ตาม ย่อมต้องเผชิญปัญหากับฝั่งอนุรักษนิยมเสมอ แสดงให้เห็นว่า ในด้านหนึ่งพวกเธอเผชิญการกดทับจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ขณะที่อีกด้านก็เผชิญการถูกเบียดขับจากการโอบรับวัฒนธรรมเมทัล 

ในทศวรรษ 1990 คริสตจักรในเลบานอนประกาศต่อต้านวัฒนธรรมเมทัล โดยให้เหตุผลเชื่อมโยงกับการฆ่าตัวตายของวัยรุ่น และเรียกร้องให้แบนดนตรีเมทัลทั้งหมด เพลงของ Metallica และ Nirvana ถูกแบนออกจากประเทศ รวมไปถึงแฟนเพลงเมทัลที่ใส่เสื้อวงลายหัวกะโหลกจะถูกกล่าวหาว่าบูชาซาตานและถูกจับกุม กระทั่งต่อมาทัศนคติของฝ่ายขวาในเลบานอนต่อดนตรีเมทัลเริ่มผ่อนคลายลงมาก ส่งผลให้ซีนดนตรีเมทัลแม้จะมีขนาดเล็ก แต่มีความผูกพันกันมากขึ้น ถึงกระนั้น ในปี 2018 ยังพบทัศนคติด้านลบเกิดขึ้นประปราย ตัวอย่างคือ ในงานแต่งของคู่รักสายเมทัล เจ้าบ่าวเจ้าสาวสวมชุดสีดำและมีเค้กรูปหัวกะโหลก ทำให้เกิดกระแสดราม่าอย่างรุนแรงในโซเชียลมีเดีย และมิวายถูกกล่าวหาว่าแต่งงานในโบสถ์ของซาตาน 

“เมทัลถูกตราหน้าอย่างหนักในเลบานอน” แบกห์ดาดีกล่าว “หลายคนเรียก Slave to Sirens ว่าเป็นสมุนซาตาน เวลาคุณเห็นผู้หญิงชุดดำเล่นดนตรีเมทัลและอยู่จนดึกดื่น ในแง่นี้ มันค่อนข้างต่อต้านบรรทัดฐานมากน่ะ”

ทาสกินรีผู้ต่อต้านขนบหลายชั้นในสังคม

สมาชิกของ Slave to Sirens มีทั้งหมด 5 คน ประกอบด้วย เมยาสซี (กีตาร์ริธึม) เบชารา (กีตาร์ลีด) ดูมานี (เบส) ทาเทียนา บูกาห์บา (Tatyana Boughaba) (มือกลอง) และ มายา ไครัลลอฮ์ (Maya Khairallah) (ร้องนำ) ขณะนี้พวกเธอมีผลงานเพียง EP. เดียว คือ Terminal Leeches (2018) และซิงเกิลล่าสุดอย่าง Salomé (2022) โดยคาดว่าอัลบั้มแรกจะปล่อยออกมาเร็วๆ นี้

พวกเธอยืนยันว่าสิ่งต่างๆ กำลังดีขึ้น เพลงเมทัลไม่ถูกแบน และแฟนเพลงไม่มีความเสี่ยงถูกจับกุม อุปนิสัยหัวขบถอันเป็นสิ่งยึดโยงพวกเธอเข้าไว้ด้วยกัน สะท้อนผ่านรอยสัก ห่วงเหล็ก เสื้อหนัง อาภรณ์ดำล้วน เพียงเท่านี้พวกเธอก็โดดเด่นเฟี้ยวฟ้าวที่สุดในกรุงเบรุต การทำงานร่วมกันช่วยให้พวกเธอเติบโตขึ้น และยังส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงคนอื่นต่อสู้เพื่อความฝันของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ คำครหาภายนอกจึงไม่สามารถสั่นคลอนพวกเธอได้

“ไม่ว่าคนจะพูดอะไรในทางลบ หรือคนจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ เราก็แค่ยักไหล่ เรามาถึงขั้นนั้นแล้ว เพราะถ้าเราจะโฟกัสไปที่เรื่องพรรค์นั้นอีก มันก็รังแต่จะรั้งเราไว้” ไครัลลอฮ์กล่าว

สำหรับบูกาห์บา มือกลองผู้เตร็ดเตร่แจมกับหลายต่อหลายวงก่อนหน้า เธอเล่าว่า “ฉันชอบความจริงที่ว่าเราทุกคนเป็นผู้หญิง นั่นทำให้เราต้องเผชิญความท้าทายมากมายและต้องเรียนรู้หลายอย่างร่วมกัน ในทางดนตรี ฉันพัฒนามากขึ้นเมื่ออยู่ในวงนี้ ซึ่งฉันไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแง่ฝีมือของตัวเองในวงอื่นเลย”

ตัวตนของบูกาห์บาดูน่าสนใจยิ่งขึ้น เมื่อเธอมีปูมหลังทางครอบครัวที่ดูเคร่งศาสนาเป็นพิเศษ ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Revolver เธอเล่าว่า แม่ของเธอเป็นแม่ชี ส่วนพ่อของเธอกำลังเรียนบาทหลวง ทั้งคู่จึงพบรักกัน และแต่งงานในเวลาต่อมา

“ทาเทียนาเป็นพวกบูชาปีศาจน่ะ” เมยาสซีพูดติดตลก

“มันยากมากในตอนแรก” บูกาห์บาอธิบาย “ฉันต้องถกเถียงกับพวกท่านเยอะมากเพื่อให้ฉันได้เป็นแบบนี้ สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ใช่การตัดสินใจของพวกท่านหรอก ฉันไม่ต้องรอให้ใครมาอนุญาต… คือการที่ฉันแต่งชุดสีดำมันเป็นปัญหาใหญ่ของพ่อเลยล่ะ เขาคิดว่า ‘สีดำมันเป็นสีของปีศาจ ลูกควรใส่สีแดง สีขาว หรือสีชมพูสิ’”

มากไปกว่าการถูกกดทับด้วยจารีตในบ้านเกิด The Guardians เผยว่าในสารคดี Sirens (2022) เมยาสซียอมรับว่าเธอชื่นชอบผู้หญิง ถึงแม้เธอจะมีแฟนสาวชาวซีเรียมาแล้วระยะหนึ่ง แต่ครอบครัวเธอกลับยังไม่รับรู้ว่าเธอมีเพศวิถีหรือตัวตนแบบใด และไม่มีทางได้รับรู้จากสารคดีเป็นแน่ เนื่องจากกระแสต่อต้าน LGBTQ+ เพิ่มขึ้นรุนแรงต่อเนื่อง สารคดีดังกล่าวจึงยังไม่ถูกเผยแพร่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

“ในช่วงหลังๆ เราถดถอยในประเด็นนี้อย่างหนักในเลบานอน” เมยาสซีกล่าว “พวกหัวรุนแรงทางศาสนาเริ่มมีเป้าหมายโจมตีกลุ่ม LGBTQ+ และใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง พวกนั้นจะคุกคามถึงขั้นทุบตีหรือขู่ฆ่า ตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงประกาศห้ามการชุมนุมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+” เมยาสซีเล่าว่า เธอรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะพูดเรื่องเพศในเลบานอน แต่ก็ไม่เสียใจที่เปิดเผยตัวในสารคดี เธอกล่าวว่า “ฉันต้องจัดการกับมัน พวกเราทุกคนในวงต้องรับมือกับมันไปด้วยกัน”

ก้าวต่อไปของพลพรรค Slave to Sirens กับปรากฏการณ์ย้ายประเทศ

แม้สมาชิกในวงจะมีความแน่นแฟ้นกลมเกลียว แต่เมื่อต่างคนต่างมีเป้าหมายของตน การก้าวเดินต่อไปอย่างเข้มแข็งย่อมเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในโมงยามที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ 

Slave to Sirens อาจต้องเสียนักร้องกับมือกลองในอนาคตอันใกล้ “พวกเขาตัดสินใจว่าต้องการสิ่งอื่นในชีวิตน่ะ” เมยาสซีอธิบาย “วงเราต้องการความมุ่งมั่น 100% ไม่มีเรื่องบาดหมางหรืออะไรมากกว่านั้นหรอก”

ทำให้ตอนนี้พวกเธอมีสมาชิกปักหลักกัน 3 คน หากแต่ก็เริ่มแตกกระสานซ่านเซ็นกันไป ดูมานีย้ายไปอยู่ออร์แลนโด สหรัฐฯ เธอยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวงอยู่ โดยอาศัยการบันทึกเสียงพาร์ทเบสของตนและทำงานระยะไกล การย้ายประเทศของดูมานีเป็นส่วนหนึ่งของการพลัดถิ่นที่เพิ่มขึ้นของชาวเลบานอนในสหรัฐฯ สอดคล้องกับงานศึกษาในปี 2021 ของ ซูซานน์ เมนเฮม (Suzanne Menhem) ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักวิจัยจาก Lebanese University ที่เผยว่า กลุ่มตัวอย่างเยาวชนเลบานอนอายุระหว่าง 18-29 ปี จำนวน 1,023 คน คิดเป็นร้อยละ 75.6 ที่มีความคาดหวังต่อการย้ายประเทศ และร้อยละ 26.7 อยู่ในขั้นตอนเตรียมเอกสารแล้ว

ถ่ายโดย ริชาร์ด แซมมัวร์

สิ่งนี้สะท้อนความเรื้อรังของปัญหาการเมืองในเลบานอนเป็นอย่างมาก ส่วนเบชาราและเมยาสซีกล่าวว่า พวกเธอก็กำลังวางแผนย้ายประเทศให้เร็วที่สุด ระหว่างนี้ พวกเธอง่วนอยู่กับการทำอัลบั้มเดบิวต์และค้นหาเพื่อนร่วมวงใหม่

โจทย์ของอัลบั้มที่กำลังคลอด คือ การสะท้อนชีวิตของผู้หญิงที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น “มันเป็นบาดแผลที่เราได้รับจากรุ่นพ่อแม่และรุ่นปู่ย่า” เมยาสซีอ้างอิงมวลอารมณ์เจ็บปวดนี้จากเหตุการณ์สงครามกลางเมืองระหว่างปี 1975 จนถึง 1990 ซึ่งสร้างความเสียหายในเลบานอนอย่างใหญ่หลวง

“พ่อแม่ชอบคิดว่าเราจะมีชีวิตที่ดีกว่า แต่ตอนนี้พวกเขาบอกว่า ‘ไม่นะ พวกเธอมีชีวิตที่แย่กว่ารุ่นฉันเสียอีก’” เบชารากล่าว 

“นักการเมืองของเราเป็นรากเหง้าของความเลวทรามก็จริง แต่ฉันจะโทษคนอย่างเราๆ ด้วย เพราะพวกเขาทำผิดซ้ำๆ ซากๆ อย่างการเลือกตั้งหนล่าสุด พวกเขายังเลือกคนหน้าเดิมที่เคยทำประเทศวอดวาย” เมยาสซีเอ่ย “การปฏิวัติดำเนินไปคนละทางจากจุดเริ่มต้น ทุกคนพยายามฝ่ากระแสคลื่น แต่วาระทางการเมืองมากมายกลับทำลายคลื่นนั้น”

แม้สถานการณ์ของประเทศ (เลบานอน) จะดูหมองหม่นเพียงใด แต่พวกเธอก็พบแสงสว่างเล็กๆ จากการสร้างสรรค์งานดนตรี “การเล่นเมทัลทำให้เรามีความหวัง” เมยาสซีแย้ม “มันมอบที่พักพิงและทำให้เราอยากก้าวไปข้างหน้า”

เหมือนอีกหลายๆ วงดนตรีจากตะวันออกกลาง พวกเขามีความรู้สึกเป็นอื่นในบ้านตัวเอง หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของผู้คนแดนไกล ในปี 2019 Slave to Sirens ได้รับเชิญให้ขึ้นแสดงที่งาน Glastonbury เทศกาลดนตรีระดับตำนานบนเกาะอังกฤษ แม้จากภาพตัวอย่างในสารคดี Sirens จะเห็นว่ามีไม่กี่คนเป็นผู้ชมของพวกเธอ แต่มันก็ไม่ได้ลดทอนมวลพลังงานด้านบวก ความตื่นเต้น และความหวังของพวกเธอลงแม้แต่น้อย

สำหรับสารคดี Sirens เริ่มฉายที่นิวยอร์ก ในวันที่ 30 กันยายน และฉายในลอสแองเจลลิส วันที่ 7 ตุลาคม ส่วนในไทยคงต้องติดตามต่อไปว่า จะได้รับชมผ่านช่องทางใด

อ้างอิง

‘It’s the language of rebellion’: the story of Slave to Sirens, the all-female Lebanese metal band

SLAVE TO SIRENS: THE FIERCE RISE OF LEBANON’S FIRST ALL-FEMALE METAL BAND

Lebanese youths seek a brighter future abroad amid economic, political crises

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า