Small Smile Center: คุยเรื่องเพศกับสาวปาน พี่ปาน และยายปาน

เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์
ภาพ: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

เชียงของ, เชียงราย

วันนั้นเป็นวันที่ฉันสังเกตการณ์ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่มารวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เด็กและเยาวชนในพื้นที่พวกเธออาศัย

ผู้หญิงกว่าสิบชีวิตนั่งล้อมกันเป็นวงกลม สวมเสื้อเชิ้ตสีฟ้าที่ด้านหลังสกรีนตัวหนังสือภาษาอังกฤษเขียนเหมือนกันว่า ‘women for change’ ต่างคุยกันด้วยสำเนียงท้องถิ่นที่ยากจะเข้าใจสำหรับฉัน

หนึ่งในนั้นมี ปาน-ปภาดา ทะอาจ ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุขด้านสุขภาวะทางเพศเด็กและเยาวชน ‘Small Smile Center’ ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เราแนะนำตัวกันก่อนที่ฉันจะถามเธอคร่าวๆ เกี่ยวกับปัญหาที่เธอกำลังเผชิญ

ปภาดาเล่าอย่างกระชับถึงต้นตอปัญหาเรื่องเพศของเด็กและเยาวชนในทุกวันนี้มาจาก ‘ความไม่รู้’ จากวิชาเพศศึกษาที่สอนให้เข้าใจแบบผิดๆ ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ สังคมที่ชายเป็นใหญ่ และ ‘โครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ระหว่างเด็กในเมืองและชานเมือง ที่ผลักให้เด็กวิ่งเข้าลู่ มุ่งสู่ระบบแกนกลาง

ฉันขุดคุ้ยต่ออีกสักพักจึงพบว่าเธอเริ่มเส้นทางนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเธอเป็นผู้ติดเชื้อ HIV

แน่นอนว่า บริบทที่เธออาศัยอยู่แวดล้อมไปด้วยอคติที่เลวร้าย

กลายเป็นความต้องการของเธอที่อยากจะปลูกฝังความคิดเกี่ยวกับเพศให้กับเด็กในชุมชนตัวเองใหม่ เพื่อให้พวกเขารู้และรับมือได้อย่างถูกต้องปลอดภัย จึงเริ่มจากเปิดบ้านตัวเองเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขฯ ที่เธอบอกว่าทุกวันนี้ ไม่ได้มีแค่เรื่องเพศและไม่ใช่แค่เด็กอย่างเดียวแล้วที่เดินเข้ามาหาเธอ

“ถ้าเด็กเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การเข้าสู่วัยรุ่น วิธีจัดการกับอารมณ์ทางเพศของตนเอง วิธีการป้องกัน การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย มันไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการความรักอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ความรักของคุณปลอดภัย”

ฉันขอพักบทสทนาของเราสักพัก ก่อนจะมองหาที่นั่งที่เหมาะแก่การพูดคุยและค่อยๆ เริ่มรื้อฟื้นชีวิตในอดีต การทำงานในปัจจุบันและความหวังต่อจากนี้เพื่อเด็กๆ ในเชียงของคืออะไร


สาวปาน

ย้อนกลับไปเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว สมัยที่สังคมไทยไม่รู้จักโรค HIV/AIDS คืออะไรอย่างถ่องแท้ อีกทั้งยังถูกสื่อในสมัยนั้นให้ภาพแบบผิดๆ ส่งผลให้คนทั่วไปเข้าใจเกี่ยวกับโรคดังกล่าวตามมาจนทุกวันนี้ เช่น

ติดเชื้อ HIV เป็นเอดส์ เพราะมักมากในกาม

ห้ามอยู่ใกล้ ห้ามสัมผัสผู้ป่วยเพราะจะติดเชื้อ

หรือ ห้ามดื่มน้ำแก้วเดียวกัน

สร้างความหวาดกลัวและตีตราให้ผู้ที่ติดเชื้อกลายเป็นคนบาปของสังคมคือ บริบทที่ ปาน-ปภาดา ทะอาจ พบเห็นอยู่ทุกวัน โดยเธอในตอนนั้นมองว่าโรคดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่โรคที่คนบ้านนอกอย่างเธอน่าจะมาเกี่ยวข้อง

จนวันหนึ่ง หลังจากสามีของเธอเสียชีวิตด้วยโรคนั้น จึงพบว่าเธอเองก็เป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อ HIV และแน่นอนว่า ชาวบ้านปฎิบัติกับเธอเปลี่ยนไป จากหน้ามือเป็นหลังมือ

“ประมาณช่วงปี 2536-2537 เป็นช่วงที่โรคเอดส์เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นในเชิงแง่ลบอยู่ ใครเป็นเอดส์เท่ากับตายหรือเป็นเอดส์เพราะว่าส่ำส่อน จะถูกรังเกียจ จะถูกเลือกปฏิบัติ เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่โดนกระทำ”

เหมือนมนุษย์ทั่วไป เธอก็มีความคิดวูบหนึ่งที่อยากจะฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจว่า ‘ไม่’

“เมื่อก่อนเวลาจัดงานศพชาวบ้านภาคเหนือเขาจะล้มวัวล้มควายกัน แต่ถ้าบ้านไหนมีใครตายเพราะโรคเอดส์ แม้แต่จะล้มวัวล้มควายก็ไม่มีใครช่วย คือตายแล้วก็ยังเป็นคนนอกสังคมอยู่ดี พี่ไม่อยากเป็นแบบนั้น”

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอฉุดตัวเองขึ้นมาจากอารมณ์ดิ่งได้ ปภาดาบอกว่าโดยพื้นฐานแล้ว เธอเป็นคนคิดบวก มองโลกในแง่ดี กลายเป็นแรงใจให้เธอเดินเข้าสู่เส้นทางอาสาสมัคร

ปภาดาบอกอย่างมั่นใจว่า เธอเป็นผู้ติดเชื้อ HIV รุ่นแรกๆ ที่กล้าเปิดเผยตัว

“ช่วงปี 2540-2541 มีโครงการที่ขออาสาสมัครผู้ติดเชื้อที่กล้าเปิดเผยตัว ยอมให้ถ่ายรูปเห็นหน้าได้ ประมาณ 42-43 คน ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้น คือเข้ามาถ่ายรูปกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราว่า วันหนึ่งๆ เราทำอะไรบ้าง เป็นอยู่อย่างไร มีชีวิตอย่างไร”

ต่อมา เธอจึงเริ่มเข้าไปเป็นอาสาสมัครกับ ‘โครงการเคียงริมโขง’ และ ‘ชมรมอุ่นไอรัก’ ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ติดเชื้อ HIV เพื่อเรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองและคนในครอบครัวของเธอ โดยพยายามปรับเปลี่ยนแนวคิดให้เป็นเชิงบวก มองโลกในแง่ดีเพื่อฟื้นฟูจิตใจของตัวเองและผู้ติดเชื่อคนอื่นๆ ตามมาด้วยการพัฒนาตัวเอง โดยปภาดาบอกว่าเธอตั้งใจที่จะเป็นนักสื่อสาร เป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้และสร้างความใจกับคนทั่วไปใหม่เกี่ยวกับโรคดังกล่าว

ถามว่าทำไม ปภาดาตอบว่า

“เรามองว่างานแบบนี้สามารถต่อยอดอะไรได้มาก อีกทั้งเด็กในชุมชนก็ยังประสบปัญหา ประมาณปี 2548 เราเลยลุกขึ้นมาทำงานอย่างเต็มตัวเพื่อเด็กในชุมชนของตัวเอง เราอยากให้พวกเขาปลอดภัยมากที่สุด อยากสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชน เรามองแบบนี้”

แม่ปานกำลังพูดคุยกับเด็กและเยาวชนที่เป็นแกนนำ (ภาพจาก ปภาดา ทะอาจ)

แม่ปาน

แม่ปาน คือ สรรพนามที่เด็กๆ เรียกเธอหลังจากเธอเปิดบ้านตนเองเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขด้านสุขภาวะทางเพศ ชื่อว่า ‘Small Smile Center’ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างสุขภาวะทางเพศของเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัย

“ชื่อนี้เป็นชื่อที่เด็กๆ เขาคิดกันเพราะว่า สิ่งที่เราทำมันเป็นจุดเล็กๆ ความรู้สึกเล็กๆ ที่ก่อให้เกิดยิ้มเล็กๆ” ปภาดายิ้มกว้าง

แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เธอตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาวะทางเพศของเด็กและเยาวชน เธอตอบว่า

ต้นตอของปัญหาเรื่องเพศในเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นท้องในวัยเรียน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จนไปถึงติดเชื้อ HIV หรือโรคเอดส์ ทั้งหมดทั้งมวล มาจากการที่พวกเขาไม่มีความรู้ด้านสุขภาวะทางเพศและมีทัศนคติเชิงลบต่อเรื่องเพศของตนเอง

และสิ่งที่ปภาดาเห็นตามมาคือ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ สังคมชายเป็นใหญ่และการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

“อย่างถ้าในหมู่บ้านมีเด็กที่ตั้งครรภ์ในสภาวะที่ตนเองไม่พร้อม มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแค่ตัวเขาและครอบครัวอย่างเดียวมันไปถึงสังคมในหมู่บ้านนั้นด้วย ทำให้เด็กต้องออกจากโรงเรียน ยุติการศึกษา ไม่สามารถเรียนต่อได้ เพราะพอเอาเข้าจริง สังคมก็จะไม่เข้าใจ ไม่มีความเท่าเทียมทางมนุษย์ ผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอ”

ซ้ำร้าย เมื่อสังคมเริ่มชินชากับเรื่องราวดังกล่าว พวกเขาก็จะมองว่าเป็นเรื่องปกติ

“ด้วยความที่เราทำงานลักษณะนี้และได้คลุกคลีกับปัญหาด้วยตนเองมันทำให้เราเห็นภาพและเข้าใจว่าปัญหามันคืออะไร บางคนเขาไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาด้วยซ้ำ”

การทำงานของ Small Smile Center จึงไม่ใช่เพียงแค่ให้คำปรึกษาหรือสถานที่ๆ เด็กเดินเข้ามาขอถุงยางอนามัย เพราะเธอมองว่า ปัญหามันมาจากความคิดของคนในสังคม ฉะนั้นต้องเริ่มจากปรับความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศและสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้ได้เสียก่อน

“เมื่อสังคมไม่มีความเข้าใจตรงนี้ มองผู้หญิงผู้ชายไม่เท่ากัน เราก็ต้องลงไปที่การสร้างความคิดของสังคมใหม่เสียก่อน ทำอย่างไรให้พวกเขาเปลี่ยนความคิด ไม่ว่าจะคุณเป็นเพศไหน คุณมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน และถ้าเรามีความเข้าใจตรงนี้ พี่เชื่อว่าทุกคนก็จะไม่ทำร้ายกาย วาจา ใจ คนอื่น”

กิจกรรมที่เธอจัดเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ ยังคงมีตัวละครหลักเป็นเด็กและเยาวชนอยู่ดี

‘เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า’ เขา (ที่เราไม่เคยเห็นหน้า) ว่าไว้

ปภาดาเล่าถึงวิธีการเข้าไปให้ความรู้กับเด็กๆ ว่าไม่ใช่การจัดอบรมให้นั่งฟังบรรยาย 3-4 ชั่วโมง แต่เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้เขาคิด ให้เขาสงสัย ช่วยกันวิเคราะห์และหาคำตอบร่วมกันเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศตนเอง

เราอยากให้พวกเขามองเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ต้องดูแลเหมือนดูแลผิวหน้า ผิวกาย เราพยายามทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาหมายความว่า ธรรมดาที่ต้องเรียนรู้ รู้จักวิธีดูแล ไม่ใช่ปล่อยปะละเลย จนไม่สามารถดูแลตัวเองได้

แล้วอะไรที่ทำให้เด็กๆ ไว้ใจในตัว ‘แม่ปาน’

เธอคิดสักพักก่อนจะตอบว่า อาจเป็นเพราะเธอเคารพในความคิดของพวกเขา และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การไม่แพร่งพรายความลับ

“แม้เราจะอายุห่างกันแต่เราต้องเคารพเขา เวลาเด็กเจอปัญหาเขาต้องการคนที่เข้าใจ สองคือ การรักษาความลับ เราจะไม่แพร่งพราย ถ้าจะส่งเด็กไปยังหน่วยงานอื่นต่อ พี่จะขออนุญาตเด็กก่อนเสมอ เด็กก็จะรู้ว่ามาที่นี่แล้วจะปลอดภัย สามารถคุยได้ทุกเรื่อง มีผู้ใหญ่ใจดีให้คำปรึกษา”

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้เธอเอาชนะใจเด็กๆ ได้คือ เธอยังทำหน้าที่เป็นเหมือนกั้นชนเล็กๆ ระหว่างผู้ปกครองและเด็ก อีกทั้งเป็นตัวกลางระหว่างครอบครัวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้ถึงที่สุด

“อย่างกรณีเด็กเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่ไม่กล้าบอกผู้ปกครอง เราก็เดินหน้าเข้าไปดูแล เข้าไปรับเขาถึงที่บ้านเพื่อพาไปรักษาโรงพยาบาลและพูดคุยกับพ่อแม่ให้ หรือมีเด็กท้องไม่พร้อมที่จะเอาลูกไว้ เราก็จะส่งเด็กไปยังหน่วยงานโดยตรงเพื่อยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย” ปภาดายกตัวอย่าง

เธอเน้นย้ำด้วยเสียงหนักแน่นว่า จะไม่ยอมให้ผู้ปกครองและเด็กปะทะอารมณ์กันเด็ดขาด โดยเธอจะรับหน้าที่เป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อทำให้ทั้งสองฝ่ายอารมณ์เบาลงแทน

ฉันถามเธอกลับว่า แล้วถ้าเด็กหัวร้อนใส่เธอล่ะ

“พี่ก็จะคิดว่าลูกร้อยพ่อพันแม่ ต้องย้อนไปดูว่าพื้นฐานครอบครัวเขาเป็นแบบไหน อ๋อ เป็นแบบนี้หรอ เราก็จะเข้าใจเขามากขึ้น”

เธอตบท้ายอีกหนึ่งเหตุผลที่เด็กๆ เลือกใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุขแห่งนี้ว่า

“ศูนย์ของเราเหมือนกับเซเว่นอีเลฟเว่น”

เหมือนเธอจะเห็นเครื่องหมายสงสัยบนหน้าเราจึงอธิบายต่อว่า

“คือเปิดทุกวัน 24 ชั่วโมง โทรศัพท์ก็ไม่ปิด เด็กสามารถทักแชทไลน์ แชทเฟซได้ตลอดเวลา”

ปภาดามองว่าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของรัฐที่เด็กเข้าไม่ถึงหรือไม่เข้าเลย มีเหตุผลหลักๆ อยู่สามประการ

หนึ่ง – กรอบเวลาราชการคือ 8.30-16.30 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เด็กเรียนหนังสือ

สอง – ทัศนคติในเรื่องเพศของเจ้าหน้าที่ในศูนย์บริการที่มักมองเด็กติดลบ

สาม – สายตาคนนอกส่งผลให้เด็กไม่กล้าเดินเข้าไปปรึกษา

เพื่อแก้โจทย์ดังกล่าวและให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิตอลหรือที่เรียกว่าไทยแลนด์ 4.0 มากที่สุด ปภาดาจึงเปิดศูนย์ของเธอ 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด การเปิดพื้นที่ให้ปรึกษาจึงมีในระดับออนไลน์ด้วย สำหรับเด็กบางคนที่ไม่กล้าเข้ามาปรึกษาโดยตรง ก็สามารถทักแชทไลน์หรือแชทเฟซบุ๊คหน้าเพจมาคุยกับเธอได้ตลอดเวลา

“ศูนย์เราไม่ได้มีลักษณะการเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขแบบเป็นทางการ คือหน้าศูนย์ก็เป็นร้านน้ำปั่น มีไวไฟฟรีให้เด็กเล่น มีชั้นหนังสือให้เด็กอ่าน เหมือนเป็นสถานที่มานั่งคุย นั่งแอ๊วกันมากกว่า พอผู้ใหญ่ในชุมชนเดินผ่านแล้วเห็นก็จะไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องแปลกหรือเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างไร”

บางครั้งสถานที่เพื่อปรึกษาพูดคุยจึงไม่ได้อยู่แค่ที่ Small Smile Center เสียอย่างเดียว เช่น จับเข่านั่งคุยกับริมน้ำหรือเปิดอกพูดคุยกันระหว่างนั่งกินส้มตำด้วยกัน ซึ่งจุดนี้เธอชี้ว่าช่วยให้เธอเข้าถึงพวกเขาได้มากขึ้น เหมือนเป็น ญาติพี่น้องหรือเพื่อนนั่งปรับสารทุกข์สุกดิบกันมากกว่า

“เราเปิดพื้นที่ให้สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ที่เด็กมาคุยได้ทุกเรื่อง หอบข้าว หอบส้มตำมานั่งกินด้วยกัน ชวนกันทำกับข้าว เราก็จะได้เข้าใจพวกเขาได้ลึกมากขึ้นด้วย เราไม่ตำหนิว่าเขาคิดผิด เขาทำผิด”

นอกจากนั้น ปภาดายังสร้างกลุ่มวัยรุ่นที่เรียกว่า ‘แกนนำวัยรุ่น’ เป็นกลุ่มคนเพื่อเชื่อมสายสัมพันธ์ ลดช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งเธอเล่าว่า ก่อนที่พวกเขาจะเป็นแกนนำวัยรุ่นได้จะต้องถูกอบรม ถูกพัฒนาความคิดให้มีศักยภาพและเข้าใจสุขภาวะทางเพศอย่างถูกหลัก โดยพยายามดึงให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบศูนย์และกิจกรรม ร่วมกิจกรรมบางอย่างที่พวกเขาสามารถทำได้

“เด็กที่เข้ามาปรึกษาที่ศูนย์ของเราไม่ได้มีแค่ในตำบลห้วยซ้อแต่ทั้งอำเภอเชียงของด้วยระยะทางที่ไกล แกนนำวัยรุ่นของเราจึงเป็นตัวเชื่อมระหว่างแต่ละกลุ่ม เด็กก็จะรู้ว่าเพื่อนคนนี้เป็นแกนนำวัยรุ่นนะ สามารถเข้ามาปรึกษาในระบบเบื้องต้นหรือเข้ามาขอถุงยางอนามัยได้”

เมื่อถามถึงปัญหาหลักๆ ที่เด็กเข้ามาปรึกษาและขอความช่วยเหลือที่นี่ ปภาดาตอบว่า ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงจะเรื่องท้องไม่พร้อม ส่วนเด็กผู้ชายจะเป็นเรื่องการใช้สารเสพติด

แน่นอนว่าสิ่งที่เธอพูดกับพวกเขาไม่ใช่การตำหนิ

“มีคนว่าเขามากพอแล้ว เขาคงไม่อยากเข้ามาหาเราแล้วถูกตำหนิอีกเป็นคนที่ 4-5 เราจะไม่ตำหนิใคร แต่เราจะชวนให้เขาคิด ‘จริงเหรอ? แม่ว่าแบบนี้ดีกว่านะ’ หรือ ‘แม่ว่าลองแบบนี้ดีกว่าไหม’ เราชวนเขาคิด เขาชวนเราคิด มันเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันน่ะ เป็นการสื่อสารสองทาง ที่สำคัญคืออย่าไปตัดสินว่าใครถูกใครผิด ให้เขาคิดเอง”

เด็กและเยาวชนในจังหวัดเชียงรายกำลังทำกิจกรรมภายใต้การดูแลของ แม่ปาน

ยายปาน

ปัญหาเรื่องเพศในวัยรุ่น โดยเฉพาะกระแสคุณพ่อคุณแม่วัยใสที่มาแรงอย่างไม่ได้ตั้งใจ กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่ผู้ปกครองต่างวิตกกังวลและไม่อยากให้เกิดมากที่สุด

เมื่อถามในมุมมองของปภาดาว่าอะไรที่ทำให้กระแสนี้แตกต่างจากในอดีต เธอยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยี กล่าวคือ ช่องว่างในอดีตที่สมัยก่อนเราทำอะไรไม่ได้ ถูกเทคโนโลยี สมาร์ทโฟนและโลกออนไลน์เข้ามาเติมเต็มแทน

“สมัยพี่เวลาจะจีบกันต้องส่งจดหมาย มีคำว่า ‘ผิดผี’ เป็นเส้นแบ่งไม่ให้เราทำไรได้มาก แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว แค่ลูกปิดประตูห้องนอนเราก็ไม่รู้แล้วว่าเขาคุยกับใครอยู่”

ส่วนอีกอย่างปภาดามองว่าเป็นเพราะช่องว่างระหว่างครอบครัวที่เกิดจากโครงสร้างทางการศึกษาไทยที่กระจุกอยู่แค่ในเมืองส่งผลให้เด็กในต่างอำเภอต้องย้ายเข้าไปเรียนในจังหวัดห่างไกลครอบครัว – แม้จะไม่ใช่เด็กทุกคนที่ห่างพ่อห่างแม่แล้วจะเป็นแบบนี้ แต่นี่ก็เป็นแบ็คกราวด์ของคุณแม่วัยใสที่ปภาดามักเจออยู่บ่อยๆ

มันไม่ใช่แค่เรื่องของการขาดความอบอุ่นหรือการขาดการสั่งสอน พี่ยังยืนยันคำเดิม ไม่มีเด็กคนไหนอยากสร้างปัญหาหรือทำตัวมีปัญหาหรอก ที่เขาทำไปเพราะไม่รู้และเราก็มีหน้าที่ตรงนั้นคือให้ความรู้

นั่นเป็นสิ่งที่เธอพยายามพูดกับทั้งเด็กและผู้ปกครองเพื่อให้พวกเขาเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศของตัวเอง

แต่ใช่ว่าจะไม่มี ‘ไม้แก่ดัดยาก’ มาสร้างความปวดหัว ปภาดาเล่าว่า จากประสบการณ์เธอแล้วผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป คุยด้วยยากที่สุดเพราะพวกเขาถูกปลูกฝังแนวคิดมาเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าช่วงอายุ 20-30 ปียังคุยได้ ชวนกันคิด ช่วนเปรียบเทียบความแตกต่างของบริบทสังคมได้

“เมื่อเขาเห็นว่าสถานการณ์มันแตกต่างกัน บริบทแตกต่างกัน เขาก็จะรู้ว่าโลกของเขากับโลกของลูกแตกต่างกัน โลกมันพัฒนา โรคมันก็พัฒนา ยิ่งทำให้เราต้องทำงานให้เท่าทันให้มากขึ้น เรียนรู้ยุคของเขาไปพร้อมกับเขา เราเอายุคเราไปเปลี่ยนไม่ได้แล้ว”

และเธอจะรู้สึกหัวใจพองโตทุกครั้งที่ผู้ปกครองในชุมชนเดินเข้ามาปรึกษาถึงแนวทางและวิธีการเลี้ยงลูกในศตวรรษที่ 21 ที่หมุนเร็ว หมุนแรงจนผู้ใหญ่วิ่งตามไม่ทัน

มันทำให้เรารู้สึกว่ายังมีพ่อแม่ที่ต้องการเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของตัวเองได้ เปลี่ยนแปลงไปถึงพฤติกรรมที่มีต่อเด็ก ยิ่งทำให้เราเห็นว่ามันมีช่องทางที่เราสามารถลงไปทำงานกับเด็กและผู้ปกครองได้

ปภาดายิ้มเล็กๆ พร้อมกับความหวังที่เปล่งประกายออกมาจากแววตาของเธอ


สนับสนุนโดย

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า